‘วันเคียดแค้น’ บาดแผลฝังลึกที่คนลาวไม่เคยลืม บทเรียนจากประวัติศาสตร์การล่าอาณานิคม

ท่าแขก” เป็นเมืองศูนย์กลางของแขวงคำม่วน ประเทศลาว ในอดีตถือเป็นเมืองคู่แฝดที่ตั้งอยู่ฝั่งตรงข้ามแม่น้ำโขงของอำเภอเมือง จ.นครพนม นอกจากเป็นเมืองที่นักทองเที่ยวมักข้ามฝั่งไปเยี่ยมเยียนแล้ว ท่าแขกยังเป็นเมืองที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ลาวมายาวนาน

และยังเป็นดินแดนที่เคยเกิดเหตุการณ์เลวร้ายครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ ซึ่งเป็นบาดแผลฝังลึกในใจของคนลาวมาถึงทุกวันนี้

นั่นคือเหตุการณ์ที่ฝรั่งเศสยกกำลังทหารเข้ายึดครอง และสังหารชาวท่าแขกอย่างโหดร้ายป่าเถื่อน ในวันที่ 21 มีนาคม ค.ศ. 1946 เพราะต้องการกลับเข้ามาปกครองลาว และเป็นเจ้าอาณานิคมในดินแดนอินโดจีนต่อไป หลังญี่ปุ่นพ่ายแพ้และถอนกำลังออกจากลาวในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2

แม้จะเป็นการสู้รบเพียงแค่ 1 วัน แต่เหตุการณ์ครั้งนั้น ทำให้ชาวท่าแขกเสียชีวิตไปกว่า 3,000 คน โดย 1 ใน 5 ของผู้เสียชีวิตเป็นเด็ก

เมื่อสิ้นสุดสงครามโลก ญี่ปุ่นถอนกำลังออกจากอินโดจีน ฝรั่งเศสก็เริ่มเปิดศึกรุกในหลายทิศทาง หลายพื้นที่ รวมทั้งจากเซโปน เมืองพิน ดงเหน เซโน (XENO) ซึ่งก็คือพื้นที่สี่แยกที่เส้นทางเหนือ-ใต้ และเส้นทางตะวันออก-ตะวันตกในลาว มาตัดกันนอกตัวเมืองท่าแขก

แต่การรุกรานของฝรั่งเศสในครั้งนั้นก็ถูกต่อต้านจากประชาชนลาว ที่รวมตัวกันเป็น “ขบวนการลาวอิสระ” และจับมือกับกองกำลังเวียดนามซึ่งเคยร่วมรบเคียงบ่าเคียงไหล่กันมาในอินโดจีน ผนึกกำลังกันปกป้องเมืองท่าแขก ซึ่งถือเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญของกองกำลังขบวนการลาวอิสระ

จากหนังสือของท่านสีชะนะ สีสาน เรื่อง “นุวง ผู้นำปฏิวัติ” ได้บันทึกไว้ว่า รุ่งสางของวันที่ 21 มีนาคม 1946 ฝรั่งเศสได้เข้าโจมตีและทิ้งระเบิดที่ตัวเมืองท่าแขก ผู้คนล้มตายเกลื่อนกลาดไปทั่วบริเวณ ฝรั่งเศสเคลื่อนพลและขนยุทโธปกรณ์มากมายเข้าโจมตีท่าแขกอย่างต่อเนื่อง ทั้งเครื่องบิน รถถัง ปืนใหญ่ และทหารใหม่ซึ่งส่งมาจากพื้นที่ต่างๆ ร่วมกับกองกำลังที่ซ่องสุมตระเตรียมอยู่ก่อนหน้านี้อีกเป็นจำนวนมาก รวมกำลังพลของฝรั่งเศสที่ใช้ยึดเมืองท่าแขกครั้งนี้มีประมาณ 2 กองพัน

ทำให้โอกาสที่ขบวนการลาวอิสระ จะเอาชนะกองกำลังฝรั่งเศสได้ แทบกลายเป็นศูนย์

แม้ว่าคณะบัญชาการทหาร และคณะรับผิดชอบรักษาตัวเมืองท่าแขก ที่นำโดย เจ้าสุภานุวงศ์ หรือ ประธานสุภานุวงศ์ ในตำแหน่งผู้บัญชาการสูงสุด จะนำกำลังพลติดอาวุธของลาวและเวียดนาม เข้าต่อสู้อย่างดุเดือด และกล้าหาญอย่างที่สุดแล้วก็ตาม แต่ก็ไม่อาจปักหลักต้านทานการรุกรานของฝรั่งเศสได้ จนกระทั่งต้องถอยร่นลงเรือยนต์ข้ามลำน้ำโขง พร้อมๆ กับคนลาวอีกหลายร้อยชีวิตที่พร้อมใจกันลงเรือหนีตายมุ่งมายังฝั่งไทย

เหตุการณ์ทวีความป่าเถื่อนโหดร้ายขึ้น เมื่อฝรั่งเศสใช้เครื่องบินสปิตไฟร์ (Spitfire) 2 ลำ บินไปในทิศทางสู่แม่น้ำโขง ระดมยิงผู้คนที่หนีมาจากตลาดท่าแขกและจากจุดอื่นๆ ในเมือง อีกทั้งระดมยิงเรือที่อยู่ริมฝั่งและเรือที่ลอยอยู่กลางแม่น้ำ สังหารคนท่าแขกล้มตายกันเป็นใบไม้ร่วง

เรือยนต์ที่เจ้าสุภานุวงศ์และทหารจำนวนหนึ่งนั่งข้ามไป ก็ถูกเครื่องบินของฝรั่งเศสยิงขณะอยู่กลางแม่น้ำโขง โดยทหารชาวลาวผู้หนึ่ง กับชาวเวียดนามอีก 2 คน ได้เอาตัวเข้าบังกระสุนให้กับเจ้าสุภานุวงศ์ ทำให้ทหารเหล่านั้นเสียชีวิตคาที่ ส่วนเจ้าสุภานุวงศ์ได้รับบาดเจ็บสาหัส และถูกนำตัวไปรักษาอยู่ในโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง ในจังหวัดนครพนม

ในตัวเมืองท่าแขกนั้น ความทารุณโหดร้ายก็ดำเนินไปไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน เมื่อทหารฝรั่งเศสบุกเข้าสังหารเข่นฆ่าประชาชนลาวและชาวเวียดนามผู้บริสุทธิ์ ด้วยวิธีการอันโหดร้าย ได้แก่ ฆ่าผู้หญิงท้อง ด้วยการเอากระบี่แทงที่ท้อง จับตัวเด็กน้อยยัดใส่กระสอบป่านทั้งยังเป็นๆ มัดปากกระสอบ แล้วโยนทิ้งลงแม่น้ำโขง หรือจับส่งลงไปในครกมอง แล้วตำจนตาย รวมทั้งเอาปืนยิงกราดใส่ผู้คน แล้วโยนศพทิ้งลงแม่น้ำโขง

เหตุการณ์นองเลือดทั้งหมดนี้ดำเนินไปตลอดทั้งวันท่ามกลางเสียงปืน และเสียงร่ำไห้ของคนลาว จากการกระทำอันป่าเถื่อนของเจ้าอาณานิคมฝรั่งเศส ที่ได้เปลี่ยนสายธารของลำน้ำโขงให้กลายเป็นสีแดงด้วยเลือดและซากศพ

และการรุกรานอย่างโหดเหี้ยมครั้งนี้ ได้ถูกบันทึกไว้ด้วยสายตาของชาวนครพนม ที่บางส่วนได้นำเรือฝ่ากระสุนออกไปช่วยเหลือพี่น้องคนลาว โดยไม่เกรงกลัวต่อกองกำลังและอาวุธของฝรั่งเศส ทำให้ชาวลาวและชาวเวียดนามหลายชีวิตได้รับการช่วยเหลือขึ้นมายังฝั่งไทย หลายคนถูกพาไปหลบซ่อนทั้งในวัด ในโรงเรียน รวมถึงในบ้านของชาวนครพนม และหลายคนถูกส่งตัวไปรักษาตามโรงพยาบาลต่างๆ ในตัวเมือง

จากความทารุณโหดร้ายที่พวกล่าเมืองขึ้นอย่างฝรั่งเศสได้กระทำย่ำยีต่อชาวเมืองท่าแขก เหตุการณ์ในวันที่ 21 มีนาคม ค.ศ. 1946 จึงถูกบันทึกไว้ว่าเป็น “วันเคียดแค้นของประชาชนลาว” และต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น “วันผู้เสียสละร่างกายและเสียสละชีวิตเพื่อประเทศชาติ” เพื่อเป็นการรำลึกถึงความร่วมมือร่วมใจ ความกล้าหาญและเสียสละของเหล่าทหารชาวลาวและชาวเมืองท่าแขก ที่ร่วมต่อสู้รักษาบ้านเมืองเอาไว้

และจากสมรภูมิการสู้รบในครั้งนั้น ได้กลายเป็นแรงหนุนสำคัญให้แก่การปฏิวัติชาติ ประชาธิปไตยของชาติลาวในเวลาต่อมา จนก้าวไปสู่การปลดปล่อยประเทศชาติได้อย่างสมบูรณ์ และได้สถาปนาเป็น สปป.ลาว ในวันที่ 2 ธันวาคม ค.ศ. 1975

นี่คือบทบันทึกหน้าหนึ่งในประวัติศาสตร์ ที่แสดงให้เห็นถึงความโหดร้ายป่าเถื่อน ที่บรรดาชาติมหาอำนาจนักล่าเมืองขึ้นได้กระทำกับประเทศอาณานิคม และแม้จะผ่านมากว่า 7 ทศวรรษแล้วก็ตาม แต่เหตุการณ์ “วันเคียดแค้น” ก็ยังคงทิ้งบาดแผลฝังลึกในใจ และย้ำเตือนถึงความเจ็บปวดในอดีต ที่ชาวท่าแขกไม่เคยลืมเลือน

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า