ย้อนประวัติศาสตร์การ ‘ยุบสภา’ ในอังกฤษ จากพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ สู่กลไกสำคัญที่ช่วยขจัดปัญหาความขัดแย้งของกลุ่มการเมือง

การยุบสภาผู้แทนราษฎรมีที่มาจากประเทศอังกฤษ โดยถือเป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ที่ทรงยุบสภาสามัญได้ เนื่องจากเป็นสภาผู้แทนของราษฎรที่ได้รับการเลือกตั้งจากประชาชน (โดยทั่วไปแล้วในระบบรัฐสภา สภาผู้แทนของประเทศต่างๆ อาจถูกยุบได้โดยฝ่ายบริหารเพื่อจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่) สภาที่สองหรือสภาสูงไม่อาจถูกยุบโดยฝ่ายบริหารได้ แต่ยังมีบางประเทศที่สภาที่สองถูกยุบได้ ได้แก่ สภาที่สองของประเทศเบลเยียม เป็นต้น ซึ่งอาจถูกยุบโดยฝ่ายบริหารในเวลาใดก็ได้และอาจยุบสภาที่สองพร้อมกับสภาที่หนึ่ง (สภาผู้แทนราษฎร) หรือจะยุบสภาใดสภาหนึ่งก่อนก็ได้ การที่สภาสูงของประเทศเบลเยียมซึ่งมาจากการเลือกตั้งทั่วไปแต่ด้วยวิธีการที่แตกต่างไปจากสภาผู้แทนราษฎรอาจถูกยุบได้นั้น เป็นหลักการที่แตกตางไปจากประเทศอื่นๆ ที่ใช้ระบบรัฐสภา ทั้งนี้เพราะโดยทั่วไปแล้ว สภาสูงของประเทศที่ใช้ระบบการปกครองแบบรัฐสภาหรือประธานาธิบดีก็ตามมักจะไม่ถูกยุบ เพียงแต่ว่า ถ้าสภาผู้แทนราษฎรถูกยุบ สภาสูงจะประชุมต่อไปไม่ได้

หลักการที่สภาสูงไม่อาจถูกยุบได้นี้ เป็นหลักการของระบบรัฐสภาแบบประเทศอังกฤษ เพราะสภาสูงของประเทศอังกฤษหรือสภาขุนนางนั้นสมาชิกดำรงตำแหน่งอยู่ได้ตลอดชีวิต และยังมีสมาชิกประเภทสืบตระกูลอีกด้วย สภาสูงของประเทศอังกฤษจึงเป็นสัญลักษณ์ของความต่อเนื่องและมีความเป็นการเมืองน้อยกว่าสภาล่างหรือสภาสามัญอย่างมาก

การที่สภาสูงของประเทศอังกฤษไม่อาจถูกยุบได้และมีระยะเวลาอยู่ในตำแหน่งนานกว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรก่อให้เกิดประโยชน์แก่ระบบการเมืองประเทศอังกฤษเป็นอย่างมาก เพราะสภาสูงของประเทศอังกฤษกลายเป็นสภาที่เต็มไปด้วยผู้ทรงคุณวุฒิในด้านต่างๆ และสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้โดยสุจริตโดยมิต้องกังวลต่อการหาเสียงเลือกตั้ง สภาสูงของประเทศอังกฤษจึงทำหน้าที่เป็นสภาพี่เลี้ยงและทำหน้าที่กลั่นกรองและตรวจสอบความหลงหูหลงตาของสภาผู้แทนราษฎรได้เป็นอย่างดี

ประเทศอังกฤษในสมัย Magna Carta นั้น การยุบสภาได้ถือกำเนิดขึ้นแล้ว ซึ่งการยุบสภามีความเชื่อมโยงกับระบบรัฐสภาด้วยระบบตัวแทนของรัฐบาล ต่อมาในศตวรรษที่ 17 และในเวลาต่อๆ มาหลังจากนั้น รัฐสภามีการรวมตัวกันโดย Septennial Act 1716 มีการกำหนดให้อายุของสภาอยู่ได้นานที่สุด (มีพระมหากษัตริย์ปกครองแผ่นดินแต่เพียงผู้เดียว โดยได้รับการยอมรับจากรัฐสภา ซึ่งการพัฒนาแบบค่อยเป็นค่อยไปของรัฐบาลประเทศอังกฤษ สามารถพบได้ในสมัยโรมันเท่านั้น) เหตุการณ์นี้ถือได้ว่าเป็นการพัฒนาที่สำคัญมากสำหรับการยุบสภา เพราะรัฐสภาที่ได้รับเลือกอาจสิ้นสุดวาระก่อนเวลาที่กำหนด (โดยผ่านการยุบสภา) ได้

อย่างไรก็ตาม วิกฤตการณ์ในประเทศอังกฤษในช่วงศตวรรษที่ 17 ได้นําไปสู่การพัฒนาแนวความคิดสมัยใหม่เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญภายหลังจากการกระตุ้นเล็กน้อยด้วยหลักการแบ่งแยกอำนาจที่ได้รับการลงมติจากรัฐบาลในปี ค.ศ.1653 รัฐธรรมนูญฉบับแรกและฉบับเดียวของอังกฤษที่ได้ถูกบัญญัติขึ้นมีการผสมผสานกันระหว่างรัฐธรรมนูญแบบผสมกับความจําเป็นของระบบการตรวจสอบและการถ่วงดุลอำนาจ ซึ่งท้ายที่สุดแล้วได้นําไปสู่รูปแบบระบบรัฐสภาแบบดั้งเดิมในศตวรรษที่ 19

ในช่วงสงครามจักรพรรดินโปเลียน รูปแบบรัฐบาลของประเทศอังกฤษได้ถูกนำมาใช้เป็นแม่แบบแม้แต่ในประเทศฝรั่งเศส ซึ่งตลอดเวลาที่ผ่านมานั้นใช้การแบ่งแยกอำนาจในเรื่องทางศาสนา มิได้ใช้กับการยุบสภาก็ยังนํารูปแบบหลักปฏิบัติของประเทศอังกฤษไปใช้ในปี ค.ศ.1814 และในรัฐธรรมนูญฉบับปี ค.ศ.1830 หลังจากนั้นในปี ค.ศ.1848 หลักดังกล่าวก็ได้ลดความสำคัญลงไป แต่ก็ได้มีการนําหลักการยุบสภากลับมาใช้อีกโดยรัฐธรรมนูญฉบับปี ค.ศ.1875 ซึ่งส่งผลให้สาธารณรัฐที่ 1 ของประเทศฝรั่งเศสได้รับการยอมรับ ระบบรัฐสภาจึงขยายเข้ามาทางยุโรปพร้อมกับหลักการยุบสภาซึ่งช่วยขจัดปัญหาความขัดแย้งระหว่างฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติในช่วงที่มีการจ่ายส่วยเพื่อให้ได้กุมอำนาจสูงสุดในหมู่ผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง

ข้อดีของระบบนี้ทำให้ระบบเป็นที่ยอมรับในสมาชิกสภานิติบัญญัติแม้แต่ในช่วงหลังจากที่ระบบสังคมนิยมกําลังเปลี่ยนแปลงจนกระทั่งหายไป การเติบโตของกลุ่มทางการเมืองสมัยใหม่นี้ ได้มีผลกระทบเป็นอย่างมากต่อระบบการยุบสภา แต่เป็นอีกครั้งที่ระบบการยุบสภาได้รอดพ้นจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมโดยรอบ ในช่วงศตวรรษที่ 19 ระบบการยุบสภาได้แยกตัวเป็นอิสระจากส่วนของพระมหากษัตริย์ในอดีต ดังนั้น ในศตวรรษที่ 20 ระบบการยุบสภาจึงได้กลายมาเป็นอาวุธที่ทรงประสิทธิภาพของกลุ่มทางการเมือง

เงื่อนไขและองค์ประกอบของการยุบสภาผู้แทนราษฎรในประเทศอังกฤษ

ผู้มีอำนาจในการยุบสภาผู้แทนราษฎร

การยุบสภาในทางกฎหมายเป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ แต่เดิมนั้นพระมหากษัตริย์ทรงยุบสภาและกำหนดวาระของสภาได้เพราะไม่มีข้อจำกัดกำหนดวาระของสภาไว้จึงขึ้นอยู่กับพระมหากษัตริย์ ต่อมาพระมหากษัตริย์ทรงยุบสภาได้แต่ไม่สามารถกำหนดวาระของสภาได้โดยอิสระ ทั้งนี้เนื่องจากมี Triennial Act 1694 บัญญัติให้สภาอยู่ในวาระได้ 3 ปี ต่อมา ตาม Septennial Act 1715 สภาอยู่ในวาระได้ 7 ปี และตาม Parliament Act 1911 สภาอยู่ในวาระได้ 5 ปี ในช่วงเวลาก่อนการปฏิวัติปี ค.ศ.1688 สภาต้องถูกยุบเนื่องจากการสิ้นพระชนม์ของพระมหากษัตริย์ด้วย ต่อมาภายหลังตาม Succession to the Crown Act 1707 สภาจะสิ้นสุดลงเมื่อพระมหากษัตริย์สิ้นพระชนม์แล้ว 6 เดือน จนกระทั่งมี Reform Act of 1867 สภาจะไม่ถูกยุบหรือสิ้นสุดโดยการสิ้นพระชนม์ของพระมหากษัตริย์อีกต่อไป และตั้งแต่การยุบสภาโดยพระเจ้าชาลส์ที่ 2 เมื่อวันที่ 28 มีนาคม ค.ศ.1681 พระมหากษัตริย์มิได้ยุบสภาโดยลำพังพระองค์เองอีกเลย จนกระทั่งในวันที่่ 10 มิถุนายน ค.ศ.1818 พระเจ้ารีเยนท์ทรงยุบสภาโดยลำพังพระองค์เอง แต่หลังจากนั้นก็ไม่ปรากฏการยุบสภาโดยพระมหากษัตริย์โดยลำพังพระองค์เองอีกเลย

ตาม Parliament Act 1911 กำหนดว่า “รัฐสภา (สภาผู้แทนราษฎรหรือสภาสามัญ) มีอายุ 5 ปีนับจากวันที่มีหมายเรียก…รัฐสภาจะถูกกำหนดให้ทำการประชุมกัน นอกจาก…รัฐสภานั้น…จะถูกยุบโดยกษัตริย์รัชทายาทหรือผู้สืบสันตติวงศ์” ตามบทบัญญัตินี้แสดงให้เห็นว่า ตามกฎหมายแล้วเป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์

การเติบโตของระบบรัฐสภา คณะรัฐมนตรีและหลักความรับผิดชอบของรัฐมนตรี (doctrine of ministerial responsibility) มีส่วนสำคัญอย่างมากในการลดพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์จุดเริ่มต้นของระบบรัฐสภาส่วนใหญ่นั้นเป็นผลมาจากการควบคุมพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ซึ่งส่งผลให้มีเพียงไม่กี่สถานการณ์เท่านั้นที่พระราชินีสามารถกระทำการโดยไม่มีหรือตรงข้ามกับคำแนะนําของรัฐมนตรี ดังนั้นการยุบสภาจึงเป็นพระราชอำนาจในความหมายที่ว่า เป็นการกระทำที่ฝ่ายบริหารสามารถกระทำได้โดยชอบด้วยกฎหมายโดยไม่ต้องอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติ (Act of Parliament) แต่อย่างใด กล่าวคือ การยุบสภานั้นทางทฤษฎีเป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ แต่ในทางปฏิบัติแล้ว ฝ่ายบริหารเป็นผู้ริเริ่มขึ้นด้วยการถวายคําแนะนําต่อพระมหากษัตริย์ ซึ่งจากประวัติศาสตร์การยุบสภาในประเทศอังกฤษก่อให้เกิดกฎเกณฑ์ว่า นายกรัฐมนตรีเป็นผูู้มีอำนาจถวายคำแนะนําให้พระมหากษัตริย์ทรงยุบสภาโดยจะปรึกษาหรือไม่ปรึกษาคณะรัฐมนตรีก่อนก็ได้

จากแง่มุมทางรัฐธรรมนูญและการเมืองเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไปว่า พระมหากษัตริย์อาจไม่เคยใช้พระราชอำนาจเกี่ยวกับการยุบสภาในลักษณะอำนาจเบ็ดเสร็จโดยเป็นความรับผิดชอบของพระมหากษัตริย์แต่เพียงผู้เดียว จำเป็นต้องมีรัฐมนตรีที่จัดเตรียมเรื่องและรับผิดชอบต่อการกระทำของพระมหากษัตริย์เสมอเพื่อกันพระมหากษัตริย์จากการถูกโจมตี เช่น ในตอนที่รัฐบาลของ Lord Melbourne ถูกปลดออก เซอร์โรเบิร์ต พีล (Sir Robert Peel) เป็นเกราะป้องกันพระเจ้าวิลเลียมที่สี่ (King William IV) โดยแถลงว่า โดยตำแหน่งหน้าที่เขาเป็นผู้รับผิดชอบต่อการที่รัฐบาลก่อนออกจากจำแหน่ง หรือในปี ค.ศ.1913 เมื่อพระเจ้าจอร์จที่ห้า (King George V) ขอคําปรึกษาจาก Lord Esher ในเรื่องการถวายคำแนะนํา Lord Esher ให้คําตอบว่า ความรับผิดชอบของรัฐมนตรีคือปกป้องพระมหากษัตริย์ หากไม่มีการปกป้องนี้ ราชบัลลังก์ก็ย่อมไม่สามารถอยู่ท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมืองได้ ดังนั้น หากพระมหากษัตริย์ทรงต้องการคำแนะนําในการยุบสภา แต่รัฐมนตรีปฏิเสธ พระมหากษัตริย์ทรงทำได้เพียงปลดรัฐมนตรีออกและตั้งคนใหม่ที่เห็นด้วยกับพระองค์เท่านั้น แต่อย่างไรก็ดีพระองค์ไม่ทรงควรทำเช่นนั้น เพราะจะขัดกับการที่ต้องวางตัวเป็นกลางทางการเมือง

เมื่อการยุบสภาต้องมีการถวายคำแนะนําแก่พระมหากษัตริย์จึงต้องมีการพิจารณาว่า บุคคลใดเป็นผู้มีอำนาจนั้น จากการศึกษาประวัติศาสตร์การยุบสภาที่ผ่านมาของประเทศอังกฤษ ทำให้ทราบว่าในสมัยแรกๆ ที่มีการยุบสภานั้น เป็นการถวายคำแนะนําที่ส่วนใหญ่แล้ว คณะรัฐมนตรีเป็นผู้ตัดสินใจ แต่ตั้งแต่ปี ค.ศ.1916 เป็นต้นมา นายกรัฐมนตรีเป็นผู้มีอำนาจถวายคําแนะนําให้พระมหากษัตริย์ทรงยุบสภาโดยจะมีการปรึกษากับคณะรัฐมนตรีก่อนหรือไม่ก็ได้

ในปี ค.ศ.1868 แกล็ดสโตน (Gladstone) ได้เสนอร่างพระราชบัญญัติยกเลิกโบสถ์ไอร์แลนด์ (Disestablishment of the Irish Church) ซึ่งทำให้ดิสเรลลี่ (Disraeli) เขียนหนังสือถึงพระราชินีเพื่อขอคําแนะนําว่าควรจะปรึกษาคณะรัฐมนตรีและสภาหรือไม่ พระราชินีไม่ทรงเห็นด้วย และตอบกลับมาว่า ให้รัฐบาลพิจารณาเรื่องนี้ด้วยตนเองและแจ้งการตัดสินใจที่คิดว่าสมควรต่อพระองค์ ดังนั้น ดิสเรลลี่ จึงประชุมกับคณะรัฐมนตรีในวันที่ 22 เมษายน ปรากฏว่า คณะรัฐมนตรีไม่เห็นด้วยกับการยุบสภา อีกสองวันต่อมาดิสเรลลี่ได้เขียนจดหมายไปถึงพระราชินีอีกฉบับ หลังจากที่รัฐบาลแพ้ในสภาดิสเรลลี่ได้เข้าพบพระราชินีและถวายคําแนะนําให้ทรงยบสภา โดยไม่ได้ปรึกษาคณะรัฐมนตรีก่อน Monypenny และ Buckle กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า เป็นสิ่งที่แตกต่างจากแนวปฏิบัติที่เคยทำมา ดิสเรลลี่ไม่แม้แต่จะบอกใครคนใดคนหนึ่งในคณะรัฐมนตรีซึ่งเป็นเรื่องที่แปลกมาก คณะรัฐมนตรีไม่พอใจอย่างมากที่ดิสเรลลี่ไปพบพระราชินีโดยไม้ได้มีการปรึกษาคณะรัฐมนตรีก่อน

เมื่อการยุบสภาผู้แทนราษฎรเริ่มต้นจากการถวายคำแนะนําของนายกรัฐมนตรีต่อพระมหากษัตริย์ให้ทรงยุบสภา ปัญหาจึงมีว่า พระมหากษัตริย์ทรงปฏิเสธคำแนะนําได้หรือไม่

มีนักกฎหมายหลายคนได้ให้ความเห็นในเรื่องนี้ไว้ เช่น Dr. Evatt เห็นว่าพระมหากษัตริย์ไม่ทรงสามารถปฏิเสธการยุบสภาของคณะรัฐมนตรีที่ได้รับเสียงสนับสนุนจากรัฐสภาได้ เพราะว่าการได้รับเสียงสนับสนุนนั้นได้ตัดโอกาสที่จะมีคณะรัฐมนตรีใหม่ไปแล้ว นี่ไม่ได้เพียงแต่หมายความเพียงว่าคณะรัฐมนตรีใหม่ต้องเต็มใจรับความรับผิดชอบต่อการกระทำของพระมหากษัตริย์เท่านั้น แต่ยังหมายถึงการแน่ใจว่าคณะรัฐมนตรีใหม่จะสามารถทำงานต่อไปได้ในสภาเดิมที่ยังคงอยู่ มิฉะนั้นพระมหากษัตริย์จะถูกผูกพันให้ทรงยอมยุบสภาในครั้งนี้ และพบว่าตนเองอยู่ในสถานะที่ยอมให้ผู้นําคนหนึ่งยุบสภาแต่ปฏิเสธอีกฝ่ายให้ยุบสภา ส่วน Professor Harrold Laski มีความเห็นว่า เนื่องจากไม่มีการปฏิเสธคำแนะนําของรัฐมนตรีในประเทศอังกฤษมาเป็นเวลาหลายร้อยปี พระราชอำนาจที่จะปฏิเสธคำแนะนําจึงไม่เป็นที่ยอมรับอีกต่อไป

แต่มีผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับความเห็นดังกล่าวข้างต้นเป็นจำนวนมาก Edward Short ผู้ดำรงตำแหน่งประธานสภาสามัญในปี ค.ศ.1974 ได้กล่าวถึงเรื่องดังกล่าวว่า เป็นที่แน่ชัดแล้วว่านักกฎหมายรัฐธรรมนูญชั้นนําในประเทศเห็นว่า พระมหากษัตริย์ไม่ทรงผูกพันในทุกกรณีในการที่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้มีการยุบสภาตามคำแนะนําของนายกรัฐมนตรี เป็นไปไม่ได้ที่จะมีการระบุถึงเหตุการณ์หรือเงื่อนไขที่ทรงสามารถใช้พระบรมราชวินิจฉัยส่วนพระองค์ปฏิเสธคำแนะนําของนายกรัฐมนตรีที่ขอให้มีการยุบสภาไว้เป็นการล่วงหน้าได้

ความเห็นดังกล่าว สอดคล้องกับความเห็นของแอสควิท (Asquith) ซึ่งได้วิพากษ์วิจารณ์ไว้ในปี ค.ศ.1923 กรณีที่ MacDonald นายกรัฐมนตรีในรัฐบาลเสียงข้างน้อยได้ถวายคําแนะนําต่อพระมหากษัตริย์ให้มีการยุบสภาว่า ไม่ได้หมายความว่าพระมหากษัตริย์ควรใช้พระราชอำนาจวินิจฉัยส่วนพระองค์ในการใช้พระราชอำนาจโดยปราศจากคำแนะนําของนายกรัฐมนตรี แต่หมายความว่าพระมหากษัตริย์ไม่ทรงผูกพันต่อคำแนะนําของรัฐมนตรีซึ่งจะทำให้เกิดความสับสนวุ่นวายและยุ่งยากต่อประชาชนในการที่จะต้องไปใช้สิทธิเลือกตั้งช้ำอีกหลายครั้ง พระมหากษัตริย์ไม่ทรงผูกพันต่อคำแนะนําดังกล่าวตราบเท่าที่พระองค์ทรงสามารถที่จะหานายกรัฐมนตรีคนที่จะเข้ามาบริหารประเทศแทนนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันได้

ในกรณีตรงกันข้าม หากรัฐบาลเสียงข้างมากถวายคําแนะนําให้ยุบสภาเพื่อที่จะให้ได้เสียงสนับสนุนรัฐบาลเพิ่มขึ้น พระมหากษัตริย์ทรงปฏิเสธคำแนะนําได้หรือไม่

มีข้อถกเถียงกันอย่างมาก แต่กรณีดังกล่าวนี้ได้ชัดเจนขึ้นในปี ค.ศ.1950 เมื่อ Clement Attlee นายกรัฐมนตรีจากพรรคแรงงานต้องการที่จะยุบสภาเพื่อให้มีการเลือกตั้งทั่วไปใหม่ เนื่องจากเห็นว่า แม้พรรคของตนจะมีคะแนนเสียงข้างมากในสภาสามัญ แต่ก็มีคะแนนมากกว่าฝ่ายค้านเพียง 6 คะแนนเท่านั้น จึงต้องการให้มีการเลือกตั้งใหม่เพื่อพรรคของตนจะได้เสียงสนับสนุนเพิ่มมากขึ้นอีก ทำให้เกิดปัญหาว่ากรณีดังกล่าวนี้ พระมหากษัตริย์ควรทำเช่นใด เซอร์วินสตัน เชอร์ชิล (Sir Winston Churchill) ให้ความเห็นว่า สภาสามัญมีสิทธิที่จะปฏิบัติหน้าที่ของสภาตราบเท่าที่ยังสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้และสภาสามัญไม่ควรถูกยุบก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์ใดๆ ที่จะต้องอาศัยเสียงของประชาชนให้เป็นผู้ตัดสิน

แต่ Alan Lascelles เลขานุการส่วนพระองค์ของพระเจ้าจอร์จที่ 6 (King George VI) ได้ถวายคำแนะนําในกรณีดังกล่าวต่อพระเจ้าจอร์จที่ 6 ว่า พระมหากษัตริย์ทรงสามารถปฏิเสธคำแนะนําของนายกรัฐมนตรีที่จะให้ยุบสภาได้ หากเข้าเงื่อนไขดังนี้

(ก) รัฐสภายังคงอยู่ในสภาพที่จะสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ต่อไป
(ข) การที่จะให้มีการเลือกตั้งทั่วไปใหม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจของชาติ
(ค) พระมหากษัตริย์ทรงสามารถหานายกรัฐมนตรีที่สามารถนําพารัฐบาลใหม่ให้ทำหน้าที่ได้ต่อไปได้อีกเป็นระยะเวลาพอสมควร ทั้งนี้โดยได้รับความสนับสนุนเสียงข้างมากในสภาสามัญ

จากข้อแนะนํานี้เองที่ทำให้เห็นเป็นที่ชัดเจนว่า หากพระมหากษัตริย์ไม่ทรงสามารถหานายกรัฐมนตรีและคณะรัฐบาลใหม่ที่จะปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันได้ พระองค์ก็ไม่ทรงสามารถปฏิเสธคำแนะนําของนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันที่ต้องการให้มีการยุบสภาได้

เงื่อนไขทั้งสามประการตามคําแนะนําของ Alan Lascelles นั้นมีความเป็นไปได้น้อยมากที่เงื่อนไขทั้งหมดจะสำเร็จลงได้ และยังมีการโต้แย้งเกิดขึ้นว่าเรื่องเหล่านั้นเป็นอำนาจการตัดสินใจของนายกรัฐมนตรีในขณะที่ดำรงตำแหน่งอยู่ นอกจากนี้ยังเป็นการยากที่พระมหากษัตริย์จะมั่นใจได้ว่านายกรัฐมนตรีคนใหม่นั้นจะสามารถควบคุมเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรเมื่อต้องบริหารราชการแผ่นดินต่อไปได้ และพระมหากษัตริย์อาจจะถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากหากปฏิเสธคำแนะนําของนายกรัฐมนตรีคนก่อน แต่ต่อมาต้องมาเผชิญหน้ากับคําร้องขอจากนายกรัฐมนตรีคนใหม่ให้มีการยุบสภาอีกในเวลาที่ไม่ห่างกันนัก

พอสรุปได้ว่า โดยทั่วไปแล้วพระมหากษัตริย์ทรงยุบสภาตามคำแนะนําของนายกรัฐมนตรีแต่ก็ทรงมีพระราชอำนาจที่จะปฏิเสธคําแนะนําให้ยุบสภาได้หากมีสถานการณ์หรือเหตุผลที่สมควรปฏิเสธอย่างชัดเจนเหมาะสมเพียงพอ

ที่มา :

[1] กาญจนา เกิดโพธิ์ทอง, การยุบสภาในประเทศไทย, วิทยานิพนธ์นิติศาสตรมหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2530)
[2] B. S. Markesinis, The theory and practice of dissolution of parliament : a comparative study with special reference to the United Kingdom and Greek experience, (Cambridge : Cambridge University Press, 1972)
[3] เจษฎา พรไชยา, พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ของประเทศไทยกับประเทศอังกฤษ, (กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2546)

TOP