ครูบาศรีวิชัย “เจ้าตนบุญแห่งล้านนา” ผู้ถูกกล่าวหาว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงในยุคเริ่มต้นแห่งประชาธิปไตย

ครูบาศรีวิชัย เป็นพระเถระผู้ได้รับศรัทธาจากพุทธศาสนิกชนมากที่สุดรูปหนึ่ง และเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการสร้างและบูรณะพุทธศาสนสถานหลายแห่งทั่วภาคเหนือของประเทศไทย จนได้รับการขนานนามว่า “ตนบุญแห่งล้านนา”

แต่ด้วยความศรัทธาจากทั้งชาวบ้านและพระสงฆ์จำนวนมากนี้เอง ได้กลายเป็นความไม่ไว้วางใจของเจ้าหน้าที่บ้านเมือง จนครูบาศรีวิชัยถูกตั้งข้อกล่าวหาจากรัฐบาลว่า กระด้างกระเดื่องต่อคำสั่งเจ้าคณะแขวง ซ่องสุมผู้คนตั้งตนเป็นผีบุญ เป็นภัยต่อความมั่นคง และได้ถูกลงโทษในสมัยของรัฐบาลคณะราษฎร

นับตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2445 มีการออก พรบ.ลักษณะปกครองสงฆ์ ร.ศ.121 ซึ่งมีการจัดระเบียบการปกครองคณะสงฆ์ให้เป็นแบบแผนเดียวกันทั้งประเทศ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อส่งเสริมองค์ความรู้ในพระธรรมวินัยให้พระภิกษุสงฆ์ ได้มีความรู้ความเข้าใจอย่างถ่องแท้สำหรับการครองสมณะเพศ ทำให้การปกครองคณะสงฆ์เปลี่ยนจากการปกครองกันเองในแต่ละเมือง กลายมาเป็นคณะปกครองจากส่วนกลางในกรุงเทพฯ เข้ามาปกครองคณะสงฆ์ตามเมืองต่างๆ ในภูมิภาค

สำหรับเมืองเชียงใหม่ในขณะนั้น การปกครองพระสงฆ์มักจะขึ้นอยู่กับพระอุปัชฌาย์ ซึ่งต่างจากการปกครองคณะสงฆ์รูปแบบใหม่ของกรุงเทพฯ ที่จะขึ้นตรงกับเจ้าคณะปกครองลดหลั่นลงไปตามสังกัดวัด ด้วยเหตุนี้ทำให้เมืองเชียงใหม่ มีคณะสงฆ์ที่ถือวัตรปฏิบัติแตกต่างกันมากถึง 18 คณะ ซึ่งแยกกันปกครองตามกลุ่มอุปัชฌายาจารย์ของตน

และด้วยการปกครองคณะสงฆ์รูปแบบใหม่ที่มีระเบียบพิธีและความซับซ้อนมากขึ้น ทำให้คณะสงฆ์ในท้องถิ่นเกิดความไม่เข้าใจและไม่ค่อยให้ความร่วมมือ จนกระทั่งเกิดเป็นความขัดแย้งกันอยู่เนืองๆ ในหมู่คณะสงฆ์ เดือดร้อนถึงสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส สมเด็จพระสังฆราชเจ้า ต้องทรงมีพระวินิจฉัยตัดสินกรณีความขัดแย้งต่างๆ และทรงส่ง พระธรรมวโรดม วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม ซึ่งเป็นพระสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ขึ้นไปกำกับให้เจ้าคณะเมืองเชียงใหม่เข้าใจวิธีปกครองแบบแผนใหม่ให้ชัดเจน รวมถึงดูแลวัตรปฏิบัติให้ถูกต้องตามพระธรรมวินัย จึงทำให้ความขัดแย้งในคณะสงฆ์ของเมืองเชียงใหม่คลี่คลายลง

ส่วนกรณีการกระทบกระทั่งกับเจ้าคณะปกครองของ ครูบาศรีวิชัย มีจุดเริ่มต้นมาจากการที่ครูบาศรีวิชัย ได้ทำการอุปัชฌาย์ลูกศิษย์โดยไม่ได้รับอนุญาตในพื้นที่อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน เนื่องจากคณะสงฆ์ได้วางระเบียบเอาไว้เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดกรณีการลักลอบบวชเพื่อหนีความผิดอาญา และเพื่อควบคุมการปกครองคณะสงฆ์ให้อยู่ในความดูแลที่ทั่วถึง โดยมีการกำหนดให้การแต่งตั้งอุปัชฌาย์นั้น อยู่ในอำนาจของเจ้าคณะปกครอง และต้องได้รับความเห็นชอบจากเจ้าคณะปกครองชั้นผู้ใหญ่

ทว่าข้อเท็จจริงมีอยู่ว่า ครูบาศรีวิชัย จะบวชเณรและอุปสมบทให้กับประชาชนตามประเพณี โดยเบื้องต้นได้ทำหนังสือขออนุญาตเจ้าคณะแขวงแล้ว แต่ไม่ได้รับคำตอบใดๆ จึงได้ทำการอุปัชฌาย์ ซึ่งเรื่องนี้ส่งผลให้เจ้าคณะแขวงลี้และนายอำเภอลี้ นำเจ้าหน้าที่มาเชิญครูนาศรีวิชัยไปกักบริเวณที่วัดเจ้าคณะแขวง 4 วัน แล้วส่งต่อให้เจ้าคณะจังหวัดสอบสวน แต่สุดท้ายไม่ปรากฏว่าเข้าความผิดสถานใด

ต่อมาไม่นานครูบาศรีวิชัยถูกเรียกไปสอบสวนอีก จากสาเหตุที่ พระครูมหาอินทร์ เจ้าคณะแขวงลี้ ได้มีหนังสือเรียกให้ครูบาศรีวิชัยและพระลูกวัดไปประชุมเพื่อรับทราบระเบียบกฎหมายใหม่ เมื่อครูบาศรีวิชัยไม่ได้ไปร่วมประชุม บรรดาพระลูกวัดจึงไม่ไปประชุมด้วย เจ้าคณะแขวงจึงให้เชิญครูบาศรีวิชัย ไปพบเจ้าคณะจังหวัดเพื่อสอบสวน และลงโทษกักบริเวณ 23 วัน แต่หลังจากนั้นครูบาศรีวิชัยก็ยังไม่เข้าร่วมประชุมตามคำเชิญอีก จึงถูกเจ้าคณะจังหวัดลำพูนลงโทษกักบริเวณอีกเป็นเวลา 1 ปี และมีการเรียกประชุมพระครูผู้ใหญ่ในจังหวัด ให้ปลดครูบาศรีวิชัยจากตำแหน่งหมวดวัด ไม่ให้เป็นอุปัชฌาย์ และให้กักบริเวณเพิ่มอีก 1 ปี

หลังจากพ้นอธิกรณ์ (คดี) แล้ว ปรากฏว่าเหตุการณ์นี้ยิ่งสร้างกระแสศรัทธาในหมู่ชาวบ้านเพิ่มขึ้น และเกิดเรื่องเล่าลือถึงปาฏิหาริย์ต่างๆ จนทำให้เจ้าคณะแขวงและนายอำเภอลี้ตั้งข้อกล่าวหาว่า ครูบาศรีวิชัย ซ่องสุมกำลังคนตั้งตนเป็นผีบุญ โดยแอบอ้างเวทย์มนต์ เจ้าคณะแขวงจึงขอให้เจ้าคณะจังหวัดสั่งลงโทษครูบาศรีวิชัย โดยการขับออกจากจังหวัดลำพูนภายใน 15 วัน แต่เนื่องจากครูบาศรีวิชัยยกข้อต่อสู้ว่า ตนทำผิดพระวินัยหรือผิดกฎหมายข้อใดบ้าง ปรากฏว่าเจ้าคณะจังหวัดให้คำตอบไม่ได้ เรื่องในครั้งนี้ก็จึงยุติลงเงียบๆ

ต่อมาเจ้าจักรคำขจรศักดิ์ เจ้านครลำพูน ได้เรียกครูบาศรีวิชัยและพระลูกวัดเข้ามาในเมือง ทำให้เกิดปรากฏการณ์ที่ประชาชนจำนวนมากพากันไปต้อนรับการเข้าเมืองของคณะครูบาศรีวิชัยและพระลูกวัด ซึ่งเหตุการณ์ในครั้งนี้อุปราชมณฑลพายัพเกรงว่าจะเกิดเรื่องบานปลาย จึงเชิญครูบาศรีวิชัยไปเชียงใหม่ โดยให้ไปอยู่กับรองเจ้าคณะเมือง วัดปากกล้วย (ศรีดอนไชย) แต่หลังจากนั้นครูบาศรีวิชัย กลับต้องอธิกรณ์ใน 8 ข้อหา คือ

  1. ตั้งตัวเป็นอุปัชฌายะ บวชพระเณรโดยไม่มีใบอนุญาต
  2. ไม่อยู่ในบังคับบัญชาของพระครูมหารัตนากร เจ้าคณะแขวงลี้
  3. เจ้าหน้าที่ฝ่ายอาณาจักรเรียกประชุมสงฆ์ท้องที่อำเภอลี้ เพื่อแจ้งระเบียบคณะสงฆ์และระเบียบราชการ แต่พระศรีวิชัยไม่ยอมไป
  4. ทางราชการให้วัดทั้งหลายตีฆ้องกลองในพิธีบรมราชาภิเษก แต่พระศรีวิชัยไม่ทำ
  5. เจ้าคณะสงฆ์ลี้เห็นว่า วัดอื่นขัดขืนคำสั่งคณะปกครองเอาอย่างพระศรีวิชัย เจ้าคณะจังหวัดจึงได้ว่ากล่าวตักเตือน แต่พระศรีวิชัยยังประพฤติเหมือนเดิม
  6. เจ้าหน้าที่ฝ่ายอาณาจักรขอสำรวจสำมะโนครัว แต่พระศรีวิชัยไม่ยอมให้สำรวจ
  7. เจ้าคณะแขวงลี้นัดประชุมพระอธิการวัดต่างๆ แต่ไม่มีใครมาประชุม เพราะเอาอย่างพระศรีวิชัย
  8. ลือกันว่าพระศรีวิชัยมีคุณวิเศษเวทย์มนต์

จากข้อกล่าวหาเหล่านี้ ครูบาศรีวิชัยจึงถูกส่งตัวมาไต่สวนที่กรุงเทพ ในปี พ.ศ. 2463 และสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส สมเด็จพระสังฆราชเจ้า ทรงมีพระวินิจฉัยว่า การที่ครูบาศรีวิชัยถูกตั้งข้อกล่าวหาเหล่านี้ เป็นเพราะความหวาดระแวงของเจ้าหน้าที่บ้านเมือง ซึ่งเมื่อดูตามข้อเท็จจริงแล้ว ไม่มีน้ำหนักพอที่จะเอาความผิดได้ จึงกลายเป็นการหาความผิดในทางคณะสงฆ์แทน

สำหรับความผิดในทางคณะสงฆ์ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงมีพระวินิจฉัย ว่า ครูบาศรีวิชัยมีความรู้ในทางพระธรรมวินัยยังไม่ค่อยดี การทำความผิดในครั้งนี้ เกิดจากความไม่รู้ ไม่ใช่เพราะดื้อดึง จึงไม่ทรงเอาผิด และทรงเห็นว่าอธิกรณ์ต่างๆ ทั้ง 8 ข้อนี้ มีจุดมุ่งหมายในทางการเมืองมากกว่า เพราะแต่ละเรื่องล้วนมาจากความขัดแย้งกันเองของคณะสงฆ์ในท้องที่ แต่กลับมาอ้างฝ่ายศาสนจักรและฝ่ายอาณาจักรเพื่อที่จะลงโทษครูบาศรีวิชัย

หลังพ้นอธิกรณ์ในครั้งนี้ ครูบาศรีวิชัยได้เดินทางกลับเมืองเชียงใหม่ และได้รับความนิยมศรัทธาจากประชาชนมากขึ้นกว่าเดิม ต่อมาครูบาศรีวิชัยก็ได้เข้าไปบูรณะพัฒนาศาสนสถานและโบราณสถานในเชียงใหม่เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างทางขึ้นพระธาตุดอยสุเทพ ซึ่งถือว่าเป็นผลงานที่สำคัญยิ่งของครูบาศรีวิชัย

ในเวลาต่อมา หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 เพียง 3 ปี ได้เกิดเหตุการณ์ที่พระสงฆ์จำนวนมากในเชียงใหม่ขอไปขึ้นตรงกับครูบาศรีวิชัย โดยขอออกจากเจ้าคณะปกครองของตน ทำให้เกิดความขัดแย้งของคณะสงฆ์ในเชียงใหม่ขึ้นและลุกลามบานปลาย จนทางรัฐบาลเห็นว่า ครูบาศรีวิชัยไม่เพียงแต่สร้างปัญหาให้กับคณะสงฆ์ หากแต่เป็นภัยต่อความมั่นคงอีกด้วย จึงได้กำชับให้กระทรวงมหาดไทยเข้ามาดูแลอย่างใกล้ชิด

นายปรีดี พนมยงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในขณะนั้น จึงได้ควบคุมตัวครูบาศรีวิชัยมาไว้ที่กรุงเทพฯ และกักบริเวณไว้ที่วัดเบญจมบพิตร ซึ่งคณะรัฐมนตรีและรองอธิบดีกรมตำรวจ มีมติเห็นว่าควรกักบริเวณครูบาศรีวิชัยไว้ที่กรุงเทพฯ ไม่ควรให้กลับเชียงใหม่

จากการที่รัฐบาลตั้งข้อกล่าวหาว่าครูบาศรีวิชัยเป็นภัยต่อความมั่นคง ทำให้ประชาชนในเชียงใหม่เกิดความไม่พอใจ และกดดันให้หลวงศรีประกาศ ส.ส.เชียงใหม่ ยื่นเรื่องให้คณะรัฐมนตรีปล่อยตัวครูบาศรีวิชัย โดยเสนอว่าให้ครูบาศรีวิชัยลงนามรับรองว่าจะเชื่อฟังและไม่ขัดขืนคณะสงฆ์ ซึ่งกว่าที่คณะรัฐมนตรีจะยอมรับเงื่อนไข ครูบาศรีวิชัยก็ถูกกักบริเวณอยู่ที่วัดเบญจมบพิตรเป็นเวลาปีกว่า

จากเหตุการณ์ครั้งนี้ รวมถึงปัญหาความขัดแย้งในคณะสงฆ์ของเชียงใหม่ ซึ่งครูบาศรีวิชัยได้ถูกคณะสงฆ์จ้องจับผิดอยู่ โดยที่ชนชั้นนำในเชียงใหม่ที่ศรัทธาครูบาศรีวิชัย ก็ไม่อาจช่วยเหลือท่านได้ ทั้งหมดนี้จึงนำไปสู่ที่มาของอมตะวาจาของครูบาศรีวิชัยที่ว่า …

“ถ้าน้ำแม่ปิงไม่ไหลย้อนขึ้นเหนือ ครูบาเจ้าศรีวิชัยจักไม่ขอมาเหยียบแผ่นดินเชียงใหม่อีก”

โดยต่อมา หลังออกจากกรุงเทพ ครูบาศรีวิชัยก็กลับไปจำพรรษาที่ลำพูน และมรณภาพที่ บ้านปาง อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน ในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2482 สิ้นพระเถระผู้เป็น “เจ้าตนบุญแห่งล้านนา” ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงในยุคเริ่มต้นแห่งประชาธิปไตย

อ้างอิง :

[1] สมาคมชาวลำพูน. ครูบาเจ้าศรีวิชัย เล่ม ๑ : สิริชีวประวัติ วัตรปฏิบัติ หลักธรรมคำสอน และมงคลบารมี. กรุงเทพฯ : พี.พี.เค.การพิมพ์, 2561
[2] สมาคมชาวลำพูน. ครูบาเจ้าศรีวิชัย เล่ม ๒ : ตามรอยการปฏิสังขรณ์ก่อสร้างปูชนียสถานโบราณวัตถุ จังหวัดลำพูนและเชียงใหม่. กรุงเทพฯ : พี.พี.เค.การพิมพ์, 2561
[3] สมาคมชาวลำพูน. ครูบาเจ้าศรีวิชัย เล่ม ๓ : ตามรอยการปฏิสังขรณ์ก่อสร้างปูชนียสถานโบราณวัตถุ จังหวัดลำปาง เชียงราย พะเยา แพร่ แม่ฮ่องสอน ตาก และสุโขทัย. กรุงเทพฯ : พี.พี.เค.การพิมพ์, 2561

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุ