“คณะก้าวหน้า” สนับสนุนการ์ดเกมบิดเบือนประวัติศาสตร์ “Patani Colonial Territory” ล้างสมองเยาวชน

บทความโดย จีรวุฒิ (อุไรรัตน์) บุญรัศมี

ทุกวันนี้ยังมีความเชื่อที่ผิด ๆ ทั้งในความรับรู้ของคนไทยทั่วไป รวมถึงนักวิชาการในกรุงเทพฯ บางท่านว่า “4 อำเภอของสงขลา อันได้แก่ จะนะ เทพา สะบ้าย้อย และนาทวี เคยเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรปัตตานี” โดยความเชื่อดังกล่าวมีพื้นฐานมาจากโฆษณาชวนเชื่อของขบวนการแบ่งแยกดินแดนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งแต่เดิมนั้นพวกเขาต้องการพื้นที่ของจังหวัดสตูล และตอนบนของสงขลาและพัทลุงด้วย หากแต่แผนการดังกล่าวไม่ประสบผลสำเร็จ เนื่องจากแผนการแทรกซึมกลุ่มจับอาวุธ (ญูแว) เข้าไปในพื้นที่ดังกล่าวเกิดความล้มเหลว ทำให้ขบวนการตัดสินใจปรับลดพื้นที่ในการเคลื่อนไหวลงเหลือเพียงแค่ 4 อำเภอของสงขลาเท่านั้นที่มีการส่งกองกำลังเข้าไปฝังตัวได้สำเร็จ เนื่องจากมีภูมิรัฐศาสตร์ที่ใกล้ชิดกับ 3 จังหวัดชายแดนใต้มากกว่า

ด้วยเหตุดังกล่าว ประชาชนในพื้นที่ 4 อำเภอของสงขลา ทั้งพุทธและอิสลามจึงตกในคราวซวย เพราะต่างจับต้นชนปลายไม่ถูก ว่าทำไมอยู่ดี ๆ บ้านเกิดเมืองนอนของพวกเขาที่อาศัยมาอย่างสงบสุขตั้งแต่บรรพบุรุษ จึงถูก “เคลม” ว่าเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของอาณาจักรปัตตานี (ปตานี) ทั้ง ๆ ที่ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์นั้น ไม่มีหลักฐานชั้นต้น หรือกระทั่งโบราณวัตถุใด ๆ มาสนับสนุนความเชื่อนี้เลย

โดยรายละเอียดของการค้นคว้าข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ ผู้เขียนได้เคยกล่าวถึงและตอบโต้ความเชื่อที่ผิดอย่างมหันต์นี้แล้ว ในหลายบทความก่อนหน้านี้คือ

อำเภอ ‘เทพา’ และ ‘สะบ้าย้อย’ ไม่เคยเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรปัตตานี

เปิดประวัติศาสตร์ ตีแผ่คำโกหกของนักวิชาการนายู ‘จะนะ’ และ ‘เทพา’ ไม่เคยเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรปัตตานี

อย่างไรก็ดี เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2565 เฟซบุ๊กเพจ “Urban Creature” ซึ่งเป็นเพจแมกกาซีนออนไลน์ในกรุงเทพฯ ได้ลงข้อมูลที่บิดเบือนอย่างมากเกี่ยวกับกรณี 4 อำเภอของสงขลา อันสืบเนื่องมาจากการประชาสัมพันธ์และการสนับสนุน บอร์ดเกม “Patani Colonial Territory” (ซึ่งได้รับเงินทุนสนับสนุนจากคณะก้าวหน้า) ซึ่งเป็นที่เหลือเชื่อว่า บอร์ดเกมบิดเบือนประวัติศาสตร์ดังกล่าว ได้ระบุแผนที่ของอาณาจักรปัตตานีโดยรวม 4 อำเภอของจังหวัดสงขลาเข้าไปด้วย (ดังปรากฏที่กล่องด้านหลัง) ซึ่งเป็นข้อมูลที่ผิดและไม่ตรงกับข้อเท็จจริงใด ๆ

ต่อมา เฟซบุ๊กเพจ “Urban Creature” ได้ทึกทักเอาเองแบบไร้หลักฐานว่า “ปตานีเคยมีพื้นที่ครอบคลุมบางส่วนในบางอำเภอของจังหวัดสงขลา” และการที่เพจนี้มีผู้ติดตามกว่า 4 แสนคน จึงเท่ากับว่า ได้ทำการผลิตซ้ำข้อมูลที่บิดเบือนประวัติศาสตร์ การกระทำเช่นนี้เป็นสิ่งที่ผู้เขียนซึ่งเป็นคนในพื้นที่สงขลายอมรับไม่ได้ ทั้งนี้ ผู้เขียนคอนเทนต์ของเพจดังกล่าวควรต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงให้เรียบร้อยก่อนที่จะนำเสนอ (ถ้าไม่ทราบก็ควรถาม ยินดีจะตอบ) เพราะการระบุข้อมูลที่ผิดพลาดเช่นนี้ อาจจะทำให้ผู้อ่านที่ไม่มีภูมิรู้ในเรื่องนี้เกิดความเข้าใจผิดเอาได้

ในบทความนี้ ผู้เขียนจะไม่กล่าวถึงข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ซ้ำอีก เพราะได้เคยนำเสนออย่างที่เรียนไว้เบื้องต้นแล้ว แต่จะกล่าวถึงข้อมูลจากทั้งฝ่ายความมั่นคง ฝ่ายประชาชนในพื้นที่ และฝ่ายขบวนการฯ ที่ออกมายอมรับเองว่าพื้นที่ 4 อำเภอนั้นไม่เคยข้องเกี่ยวกับความขัดแย้งทางชาติพันธุ์เช่นที่เกิดใน 3 จังหวัด (ปัตตานี ยะลา นราธิวาส) มาก่อน และเหตุการณ์ไม่สงบที่เกิดต่อเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้ เป็นเพราะการ ‘จัดตั้ง’ ของกลุ่มติดอาวุธ (ญูแว) จากเขตปัตตานีที่ขยายพื้นที่ก่อเหตุเข้าไปในสงขลาเป็นหลัก

หลักฐานชิ้นแรกเป็นบันทึกความทรงจำของนายแพทย์ท่านหนึ่ง ที่ทำงานในพื้นที่ 3 จังหวัด ซึ่งเขียนบันทึกขึ้นในวันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2548 หรือ 1 ปี หลังจากเหตุการณ์ไม่สงบระลอกใหม่ประทุขึ้น (พ.ศ. 2547) คุณหมอท่านนี้ระบุอย่างตรงไปตรงมาถึงความไม่สงบที่เกิดขึ้นในพื้นที่ 4 อำเภอของสงขลา ว่า

…วันนี้มีข่าวลือออกมาว่าคนร้ายจะก่อเหตุความไม่สงบในพื้นที่ 4 อำเภอของ จ.สงขลา (หลังจากทางรัฐบาลไม่ได้ประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินในพื้นที่ดังกล่าว) เพื่อจะทำให้ดูเหมือนว่าพื้นที่ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลาก็มีเหตุการณ์ความไม่สงบเหมือนกัน ซึ่งจะส่งผลให้เศรษฐกิจและการท่องเที่ยวของ จ.สงขลา และ อ.หาดใหญ่ ได้รับผลกระทบเสียหาย…”

อย่างไรก็ดี ข่าวนี้ก็ไม่ใช่ข่าวลือที่ไร้มูลความจริงไปเสียทีเดียว เพราะในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันปรากฏว่า คนร้าย (โจรใต้/ฝ่ายกำลังติดอาวุธ) ได้ก่อเหตุยิงนายมานพ เถี้ยมแก้ว ครูโรงเรียนไม้แก่นประชาอุทิศได้รับบาดเจ็บสาหัส เหตุเกิดในพื้นที่หมู่ 6 ตำบลจะนะ อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ซึ่งควรกล่าวไว้ด้วยว่า แต่เดิมนั้นคนมุสลิมในพื้นที่อำเภอจะนะมีขนบธรรมเนียม ประวัติศาสตร์ และสำเนียงภาษามลายูที่แตกต่างกับคนมุสลิมในพื้นที่ 3 จังหวัดอย่างชัดเจน ดังนั้น การเกิดเหตุขึ้นในพื้นที่อำเภอจะนะจึงเป็นความผิดปกติอย่างชัดเจนในเวลานั้น

จากเหตุการณ์ยิงครูอย่างอุกอาจครั้งนี้ เห็นได้ว่าพวกขบวนการแบ่งแยกดินหาได้ขู่กันเล่น ๆ แต่เอาจริงในการขยายพื้นที่เข้ามาก่อเหตุความไม่สงบ เพื่อให้คนในพื้นที่จังหวัดสงขลาอยู่ไม่เป็นสุข และดูเหมือนจะเป็นการบังคับกลาย ๆ ให้รัฐบาลประกาศใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉินในพื้นที่ 4 อำเภอของสงขลาด้วย (ซึ่งก่อนหน้านี้ประกาศใช้ในพื้นที่ 3 จังหวัดไปก่อนแล้ว)

ข้อมูลของนายแพทย์ท่านนี้ สอดคล้องกับข้อมูลเชิงสถิติของฝ่ายความมั่นคง (ทหาร) ที่ระบุว่า การเคลื่อนไหวก่อเหตุความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดสงขลา เพิ่งปรากฏขึ้นอย่างจริงจังในช่วง 1-2 ปี หลังเหตุการณ์ความไม่สงบใน 3 จังหวัดที่ประทุขึ้นในปี 2547 ซึ่ง พล.ท. นันทเดช เมฆสวัสดิ์ เจ้าหน้าที่ความมั่นคงระดับสูง ได้บันทึกในปี พ.ศ. 2549 (2 ปีหลังเหตุการณ์ประทุ) อย่างสั้น ๆ และกระชับใจความ ว่า “พื้นที่ของจังหวัดสงขลา เพิ่งเริ่มมีการก่อเหตุร้ายเท่านั้น

น่าสนใจว่า ข้อมูลทั้งจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงระดับสูงและบุคลากรทางสาธารณสุข ที่เขียนขึ้นในช่วง พ.ศ. 2548 – 2549 สอดคล้องกับ “คำสารภาพ” ของขบวนการแบ่งแยกดินแดน (กลุ่ม BRN) ที่มีการพิมพ์เผยแพร่ผ่านวิทยานิพนธ์ชิ้นหนึ่งในปี พ.ศ. 2554 ซึ่งระบุข้อมูลที่ชี้ชัดทุกอย่างได้ว่า การก่อเหตุในพื้นที่จังหวัดสงขลานั้น เป็น “โจรนำเข้า” กล่าวคือ เป็นคนนอกพื้นที่จังหวัดสงขลาที่เข้ามาก่อเหตุ ดังข้อความตอนหนึ่งว่า

“…BRN มีการแบ่งพื้นที่ออกเป็น 3 กัส คือ กัสปัตตานี กัสยะลา และกัสนราธิวาส โดยกัสปัตตานีนั้นจะรวมเอาพื้นที่ในอำเภอจะนะ เทพา นาทวี และสะบ้าย้อย ในจังหวัดสงขลาไว้ด้วย…”

มิพักต้องสงสัยว่า เมื่อคนในขบวนการแบ่งแยกดินแดน ได้ออกมายอมรับเช่นนี้แล้วว่า พวกเขาเองได้ขยายพื้นที่ก่อเหตุจากปัตตานีเข้าไปในสงขลา ดังนั้น สิ่งที่คนสงขลากำลังเผชิญอยู่ตอนนี้คือ การที่ ‘คนนอกกำลังชักศึกเข้าบ้าน’ ซึ่งทำให้บ้านของพวกเขาเองนั้น กลายเป็นสุสานฝังศพตนเอง

ความเดือดแค้นคับข้องใจและความหวาดกลัวของชาวสงขลา ต่อกลุ่มขบวนการที่เข้ามาทำร้ายพวกเขา สามารถพิจารณาได้จากการที่ชาวบ้านไทยพุทธที่อาศัยในตำบลเปียน อำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา ได้ออกมาชุมนุมในวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2550 เพื่อเรียกร้องไม่ให้ทางการถอนทหารออกจากพื้นที่หมู่บ้านของตน เพราะกลัวว่าพวกขบวนการ (โจรใต้) จะเข้ามาตลบหลังทำร้าย แม้กระทั่งผู้ใหญ่บ้านท่านหนึ่งในตำบลเปียน อำเภอสะบ้าย้อย (ขอสงวนชื่อและนามสกุล) ยังได้กล่าวอย่างเปิดเผยต่อทางการว่า

“…ชาวบ้านไม่ต้องการให้ทหารพรานและ ตชด. ถอนกำลังออกจากพื้นที่ตามกระแสข่าวที่มีมาก่อนหน้านี้ เราจึงต้องการปืนเอาไว้สู้กับคนร้าย แม้ตอนนี้จะไม่รู้ว่าคนร้ายเป็นใครบ้าง แต่ถ้ารู้ เรื่องร้าย ๆ จะได้จบ…

จากที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ จะเห็นได้ว่าประชาชนคนสงขลา โดยเฉพาะผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ 4 อำเภอ (จะนะ เทพา สะบ้าย้อย และนาทวี) มาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ ได้อยู่ร่วมกับชาวมุสลิมในพื้นที่อย่างสงบสุขไม่มีปัญหา แต่เมื่อพวกขบวนการแบ่งแยกดินแดน ขยายจัดตั้งเข้ามาในพื้นที่ 4 อำเภอของสงขลาดังกล่าว ทำให้ความสงบสุขที่เคยมีกลับกลายเป็นเสียงแห่งความหวาดกลัวที่อบอวลไปด้วยกลิ่นความตายของชาวบ้านสงขลาผู้บริสุทธิ์ ที่ไม่ได้ข้องเกี่ยวอะไรกับลัทธิคลั่งประวัติศาสตร์ปัตตานีที่ฝ่ายขบวนการได้บิดเบือนขึ้น และปลูกฝังฝ่ายกองกำลังให้ใช้เป็นเงื่อนไขในการฆ่าคน

ดังนั้น การกระทำใด ๆ ที่จะเป็นการทำให้คนสงขลาในพื้นที่ 4 อำเภอต้องได้รับความเจ็บปวดใจ เช่น การบิดเบือนโดยอ้างว่า 4 อำเภอของสงขลาเคยเป็นของปัตตานี ทั้ง ๆ ที่ข้อเท็จจริงทางประวัติสาสตร์และข้อมูลแวดล้อมอื่น ๆ ระบุแล้วว่าไม่เป็นความจริง การกระทำดังกล่าวของเฟซบุ๊กเพจ “Urban Creature” และผู้จัดทำบอร์ดเกม “Patani Colonial Territory” (ซึ่งได้รับเงินทุนสนับสนุนจากคณะก้าวหน้า) จึงเป็นข้อหาฉกรรจ์ สมควรต้องออกมารับผิดชอบ และขอโทษพี่น้องชาวสงขลา รวมทั้งดำเนินการแก้ไขโพสต์ต้นเหตุและบอร์ดเกมเจ้ากรรมนั้นโดยเร่งด่วนที่สุด มิใช่ปล่อยให้ความผิดพลาดยังคงปรากฏอยู่ แล้วมาทำตัวลอยเหนือปัญหาโดยไม่มีความสำนึกใดๆ

อ้างอิง :

[1] ศูนย์เฝ้าระวังเชิงองค์ความรู้สถานการณ์ภาคใต้. สัญญาณอันตราย… สงครามกลางเมือง : หนังสือชุดเรียนรู้และเข้าใจชายแดนใต้. (2550)
[2] รุ่งรวี เฉลิมศรีภิญโญรัช. ถอดความคิดขบวนการเอกราชปตานี. (ปัตตานี : ศูนย์เฝ้าระวังเชิงสถานการณ์ภาคใต้ ม.อ. ปัตตานี) 2556.
[3] กันต์กวี. เรื่องเล่าจากตันหยงลิมอ : ทำไมไม่ช่วยตัวประกัน ?. (กรุงเทพ : Animate Group). 2548.
[4] พล.ท. นันทเดช เมฆสวัสดิ์. ปฏิบัติการลับดับไฟใต้. (กรุงเทพ : สำนักพิมพ์ร่วมด้วยช่วยกัน) 2549.

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุก