การนำพาสยามพ้นวิกฤติโดยรัชกาลที่ 5 และความช่วยเหลือของมหาอำนาจผู้เป็นมิตร

เป็นที่ทราบกันดีว่าคุณูปการที่ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 5 ทรงสร้างไว้ให้กับประเทศชาตินั้นมีมากมายหลายประการ และหนึ่งในผลงานที่สำคัญของท่านคือการนำพาสยามให้รอดพ้นจากการล่าอาณานิคมของชาติตะวันตก

การล่าอาณานิคม หรือ ลัทธิจักรวรรดินิยม คือนโยบายขยายอำนาจของชาติตะวันตก ในการเข้าควบคุมหรือมีอำนาจบังคับบัญชาเหนือดินแดนต่างชาติ แล้วดูดกลืนทรัพยากรและความมั่งคั่งนำกลับสู่ประเทศแม่ เพื่อรักษาจักรวรรดิให้ดำรงอยู่ต่อไป โดยเหตุผลในการรุกรานของชาติตะวันตกคือ การมองว่าดินแดนอาณานิคมคือประเทศล้าหลัง และจำเป็นที่จะต้องเข้ามาสร้างความเจริญให้ ภายใต้แนวความคิด “White Man’s Burden” หรือ “ภาระของคนขาว”

ซึ่งประเทศในแถบอาเซียนนั้น ล้วนเป็นเป้าหมายในการแผ่ขยายอำนาจของชนชาติยุโรปแทบทั้งสิ้น เนื่องจากเป็นดินแดนที่อุดมสมบูรณ์ มั่งคั่งด้วยทรัพยากร อีกทั้งเป็นเส้นทางเศรษฐกิจสำคัญที่เชื่อมยุโรปเข้ากับเอเชีย โดยเฉพาะการเป็นเส้นทางบกสายใหม่เข้าสู่จีนแทนการเดินเรือไปค้าขายในอดีต

ประเทศสยามในขณะนั้นได้เล็งเห็นภัยอันตรายในข้อนี้ และเตรียมพร้อมรับมือการรุกรานของชาติตะวันตกมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 ดังที่พระองค์ทรงมีพระราชดำรัสไว้ว่า …

“การต่อไปภายหน้า การศึกสงครามข้างญวนข้างพม่าก็เห็นจะไม่มีแล้ว จะมีอยู่ก็แต่ข้างพวกฝรั่งให้ระวังให้ดี อย่าให้เสียทีแก่เขาได้ การงานสิ่งใดของเขาที่ดีควรจะเรียนร่ำเอาไว้ก็เอาอย่างเขาแต่อย่าให้นับถือเลื่อมใสไปทีเดียว”

จนมาถึงรัชสมัยของรัชกาลที่ 4 พระองค์ทรงเล็งเห็นภัยในข้อนี้ดังที่รัชกาลที่ 3 ทรงเตือน พระองค์จึงทรงแต่งตั้งคณะราชทูตแห่งสยามเพื่อเจริญสัมพันธไมตรีกับประเทศมหาอำนาจทางยุโรปอย่างอังกฤษและฝรั่งเศส และได้มีการอัญเชิญพระราชสาส์นรวมทั้งเครื่องมงคลราชบรรณาการต่างๆ ไปถวายแด่พระเจ้านโปเลียนที่ 3 เพื่อแสดงถึงไมตรีจิตและความมีอารยะของสยาม เพื่อลบล้างข้ออ้างที่มหาอำนาจจะหยิบมาใช้ในการล่าอาณานิคม

กระทั่งล่วงเข้าสู่สมัยรัชกาลที่ 5 พระองค์ทรงพยายามทุกวิถีทางที่จะพัฒนาและปรับปรุงสยามให้ทัดเทียมนานาอารยประเทศเพื่อให้หลุดพ้นจากการตกเป็นเป้าล่า พระองค์ทรงปฏิรูปบ้านเมืองในทุกด้าน ทั้งด้านระบบราชการ การศึกษา ตุลาการ สถาปัตยกรรม รวมถึงด้านสังคมและวัฒนธรรมโดยทรงยกเลิกการหมอบกราบเข้าเฝ้า รวมทั้งทรงเปลี่ยนวัฒนธรรมการแต่งกายให้มีความเป็นสากลมากขึ้น

นอกจากนี้ ในหลวงรัชกาลที่ 5 ยังทรงเล็งเห็นว่า การกระชับสัมพันธไมตรีกับบรรดาชาติต่างๆ ในยุโรป ถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยยกระดับความทัดเทียมระหว่างสยามกับชาติมหาอำนาจตะวันตก พระองค์จึงทรงส่งพระราชโอรสไปศึกษาต่อในต่างประเทศที่สถาบันกษัตริย์มีบทบาทและอิทธิพลทางการเมือง โดยใช้ความเป็นราชวงศ์เป็นพื้นฐานเชื่อมโยง ซึ่งนอกจากเพื่อศึกษาวิทยาการต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ในการพัฒนาประเทศแล้ว การกระจายกันไปประทับอยู่ตามราชสำนักใหญ่ๆ ที่ทรงอิทธิพลในยุโรปของพระราชโอรส ย่อมเป็นการประชาสัมพันธ์ราชสำนักสยามกับโลกภายนอก และเป็นใบเบิกทางชั้นเยี่ยมก่อนการเสด็จไปเยี่ยมเยือนด้วยพระองค์เอง ซึ่งต่อมาการเสด็จประพาสยุโรปได้ถือเป็นพระราชกรณียกิจอันยิ่งใหญ่ของในหลวงรัชกาลที่ 5 ที่เป็นส่วนสำคัญในการนำพาสยามให้รอดพ้นจากการล่าอาณานิคมของชาติตะวันตก

อนึ่ง การตัดสินพระทัยเสด็จเยือนยุโรปนั้น เนื่องมาจากวิกฤตการณ์ ร.ศ.112 ที่ฝรั่งเศสเข้ารุกรานอธิปไตยของสยาม พ่วงด้วยสนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งเหตุการณ์ในครั้งนั้นได้สร้างความโทมนัสอย่างใหญ่หลวงแก่ล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 และต่อมาได้ทำให้พระองค์ทรงมีขัตติยมานะอย่างแรงกล้าที่จะต่อสู้เพื่อสร้างความมั่นคงให้แผ่นดินสยาม เพื่อมิให้ใครมากระทำย่ำยีเอาได้ง่ายๆ อีก

และจากการปรึกษาหารือกับเหล่าเสนาบดีที่ได้รับความไว้วางพระราชหฤทัย ทำให้ในหลวงรัชกาลที่ 5 ตัดสินพระทัยเสด็จประพาสยุโรปเป็นครั้งแรก เพื่อสร้างสัมพันธไมตรีอันดีกับบรรดาชาติตะวันตก โดยในครั้งนั้น พระองค์ได้รับการแนะนำจาก โรลังยัคมินส์ ที่ปรึกษาราชการแผ่นดินชาวเบลเยี่ยม ว่าควรจะเสด็จไปเข้าเฝ้าพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 ของรัสเซียก่อน เพราะเวลานั้นฝรั่งเศสกำลังผูกพันอยู่กับรัสเซีย ภายใต้สนธิสัญญาทวิภาคี และเป็นที่เชื่อได้ว่าการต้อนรับอย่างอบอุ่นของรัสเซียในฐานะที่ซาร์ทรงรู้จักมักคุ้นกับพระเจ้าอยู่หัวมาก่อนจะส่งผลบวกทางการเมืองต่อสยามและสร้างลักษณ์ที่ดีในสายตาชาวยุโรป

ประการสำคัญ ในหลวงรัชกาลที่ 5 กับพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 เป็นพระสหายที่สนิทและมีความสัมพันธ์อันดีกันมาก่อน จากเมื่อครั้งที่พระเจ้าซาร์เสด็จเยือนสยาม ในปี พ.ศ. 2436 เมื่อครั้งทรงดำรงตำแหน่งมกุฎราชกุมารแห่งรัสเซีย

การต้อนรับมกุฎราชกุมารแห่งรัสเซียครั้งนั้น เป็นไปอย่างมโหฬารที่สุดเท่าที่เคยมีมา ตลอดเส้นทางประดับประดาอย่างสวยงาม โดยมีข้อความต้อนรับเป็นภาษารัสเซีย และทหารกองเกียรติยศสยามบรรเลงเพลงชาติรัสเซียรับเสด็จและส่งเสด็จอย่างสมพระเกียรติ ในหลวงรัชกาลที่ 5 ทรงนำเสด็จทางชลมารคไปยังพระราชวังบางปะอิน เพื่อทรงพระราชทานการรับรองแบบปิกนิก ซึ่งประกอบด้วยชาวสยามและชาวรัสเซียคณะใหญ่ถึง 4000 คน พร้อมขบวนเรือหลายร้อยลำ นอกจากนี้ มกุฎราชกุมารแห่งรัสเซียยังได้ทอดพระเนตรพระราชพิธีเก่าแก่อย่างการคล้องช้างป่าที่มากมายถึง 300 เชือก ซึ่งเป็นพิธีคล้องช้างที่ยิ่งใหญ่และสมบูรณ์แบบที่สุดในสยาม

มีเรื่องเล่ากันว่า ครั้งนั้นในหลวงรัชกาลที่ 5 ได้มีพระราชดำริว่า สยามและรัสเซียนั้นแม้อยู่ห่างไกล แต่ทั้ง 2 พระราชวงศ์ได้ดำเนินพระราชไมตรีด้วยดีเสมือนหนึ่งแผ่นดินเดียวกัน ในการที่มกุฎราชกุมารแห่งรัสเซียเสด็จจากแดนไกลมาถึงเพียงนี้ มีพระหฤทัยประสงค์จำนงสิ่งใดในราชอาณาจักรนี้ก็จะทรงจัดหาให้ไม่ขัดข้อง มกุฎราชกุมารแห่งรัสเซีย จึงอยากทดลองน้ำพระราชหฤทัยในสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง จึงได้กราบบังคมทูลขอ “พระแก้วมรกต” ไปประดิษฐานที่กรุงรัสเซีย

เมื่อในหลวงรัชกาลที่ 5 ได้ทรงสดับดังนั้นแล้ว ทรงนิ่งไปชั่วครู่ จากนั้นทรงมีพระราชดำรัสตอบตกลง ที่จะพระราชทานพระแก้วมรกตแก่รัสเซีย ซึ่งทำให้มกุฎราชกุมารแห่งรัสเซีย ทรงตกพระทัยไม่น้อย เพราะทรงทราบดีว่าพระแก้วมรตกเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของพระราชวงศ์และอาณาประชาราษฎร์ทุกคน

มกุฎราชกุมารแห่งรัสเซียจึงตระหนักดีว่าฝ่ายสยามมีน้ำใจไมตรีที่แท้จริง จึงทรงมีพระดำรัสตรัสขอบพระทัยอย่างสุดซึ้ง และขอให้ฝ่ายสยามได้ขอสิ่งใดๆ จาก รัสเซียเพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนบ้าง ในหลวงรัชกาลที่ 5 จึงทรงมีพระราชดำรัสตอบกลับโดยทันทีว่า พระองค์ทรงขอ “พระแก้วมรกต” กลับคืนสู่ราชอาณาจักรไทย เพื่อเป็นที่ยึดเหนี่ยวของปวงชนทั้งราชอาณาจักรเช่นเดิม

มกุฎราชกุมารแห่งรัสเซีย ได้ทรงสดับดังนั้น ก็ทรงเลื่อมใสในพระปรีชาสามารถ และในน้ำพระราชหฤทัยของในหลวงรัชกาลที่ 5 เป็นอย่างมาก และทรงถวายพระแก้วมรกตคืน ซึ่งการถวายการต้อนรับอย่างอบอุ่นของรัฐบาลสยามในครั้งนั้นได้ผูกพระทัยมกุฎราชกุมารแห่งรัสเซียกับสยามประเทศไว้อย่างเหนียวแน่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับในหลวงรัชกาลที่ 5 ที่รักกันแน่นแฟ้นราวกับเป็นพี่น้องในสายพระโลหิต

ภายหลังจากที่มกุฎราชกุมารแห่งรัสเซียได้เสด็จขึ้นครองราชสมบัติเป็นกษัตริย์รัสเซีย ทรงพระนามว่า สมเด็จพระจักรพรรดิซาร์นิโคลัสที่ 2 ก็ถึงคราวเสด็จประพาสรัสเซียของในหลวงรัชกาลที่ 5 ในปี พ.ศ. 2440 ซึ่งอยู่ในแผนการเสด็จประพาสยุโรปเพื่อใช้กลยุทธ์ทางการทูตผูกสัมพันธไมตรีกับประเทศมหาอำนาจต่างๆ และประเทศที่พระองค์ทรงมุ่งหวังมากที่สุดก็คือรัสเซียที่มีความสัมพันธ์แน่นแฟ้นกันมาก่อน

เมื่อในหลวงรัชกาลที่ 5 เสด็จถึงรัสเซีย การพบกันในครั้งนั้นของพระองค์กับพระเจ้าซาร์ ถือเป็นครั้งแรกที่ต่างพระองค์ทรงดำรงพระอิสริยยศเสมอกันในฐานะพระประมุข และต่างถวายพระเกียรติสูงสุดแก่กัน โดยพระเจ้าอยู่หัวสยามทรงเครื่องราชอิสริยาภรณ์มหาจักรีบรมราชวงศ์ ส่วนพระประมุขรัสเซียก็ทรงเครื่องเต็มยศอย่างจอมพลประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์เซนต์แอนดรูว์

และในเวลาเสวยพระกระยาหารค่ำของวันที่ 4 กรกฎาคม ในหลวงรัชกาลที่ 5 ทรงถือโอกาสปรับทุกข์เรื่องการรุกรานของมหาอำนาจยุโรปกับพระเจ้าซาร์ โดยบทพระราชนิพนธ์ของพระราชนัดดาในสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงกล่าวไว้ว่า เมื่อได้รับทราบว่าพระสหายเก่าถูกรังแก ในเช้าวันรุ่งขึ้นพระเจ้าซาร์จึงทรงจัดให้มีการฉายพระรูปร่วมกันที่พระราชวังปีเตอร์ฮอฟ และทรงรับสั่งให้ราชสำนักรัสเซียนำภาพที่คิงจุฬาลงกรณ์จากสยามประทับคู่กับพระองค์ ส่งไปยังหนังสือพิมพ์ในเมืองหลวงของทุกประเทศในยุโรป รวมทั้งหนังสือพิมพ์ลิลลุสตราซิอง เดอ ปารี บอกว่าเป็นพระบรมราชโองการของพระเจ้าซาร์ให้ขยายเต็มหน้าแรกลงในหนังสือพิมพ์นั้น อีกทั้งยังทรงเขียนคำอธิบายภาพด้วยพระองค์เองว่า “สยามเป็นประเทศที่กำลังพัฒนา หาใช่ประเทศล้าหลังซึ่งมหาประเทศจะอาศัยเป็นมูลเหตุเข้ายึดของมิได้”

ภาพที่พระมหากษัตริย์จากเอเชีย ประทับคู่เสมอกันกับพระเจ้าจักรพรรดิแห่งรัสเซีย ได้สร้างความสั่นสะเทือนยุโรปมากพอสมควร และทำให้การเสด็จพระราชดำเนินประเทศต่างๆ ในยุโรปในช่วงต่อมา จึงมีผู้เข้าชมพระบารมีอย่างเนืองแน่น ซึ่งได้สร้างผลดีแก่ราชอาณาจักรสยามอย่างมหาศาล และส่งผลให้ฝรั่งเศสต้องจำใจลดพฤติกรรมกดขี่รุกรานสยามดุจหมาป่าจ้องตะครุบลูกแกะลง ซึ่งความช่วยเหลือของพระเจ้าซาร์ในครั้งนั้น เป็นที่ซาบซึ้งพระราชหฤทัยของในหลวงรัชกาลที่ 5 เป็นอันมาก

ด้วยความช่วยเหลือของมหามิตรรัสเซีย และสถานการณ์ทางการเมืองในยุโรปก็เริ่มเปลี่ยนแปลง มีการจับขั้วพันธมิตรครั้งใหม่ในหมู่ประเทศมหาอำนาจยุโรปที่ทำให้นโยบายล่าเมืองขึ้นเปลี่ยนไปจากเดิม มีการหันมาประสานผลประโยชน์ร่วมกัน เพื่อหลีกเลี่ยงความขัดแย้งซึ่งอาจจะก่อให้เกิดสงครามอันไม่พึงปรารถนา ซึ่งทำให้ประเทศสยามได้รับผลพลอยได้ทางความมั่นคงไปด้วย

แต่ก่อนจะไปถึงจุดนั้น ในหลวงรัชกาลที่ 5 ทรงพยายามทำทุกวิถีทาง ทั้งทางตรงและทางอ้อมเพื่อรักษาเอกราชอธิปไตยของสยามไว้ด้วยพระขัตติยมานะและพระปรีชาสามารถจนถึงที่สุด สิ่งเหล่านี้ย่อมแสดงให้เห็นถึงพระปรีชาญาณของพระองค์ รวมไปถึงความชำนาญด้านการทูต การต่อรอง และการวางแผนอย่างมีระบบ ประกอบกับการที่พระองค์ทรงมีมหาอำนาจผู้เป็นมิตรอย่างพระเจ้าซาร์คอยให้การช่วยเหลือ อีกทั้งทรงมีที่ปรึกษาผู้รอบรู้และกล้าหาญจงรักภักดี จึงทำให้ประเทศสยามสามารถผ่านวิกฤติครั้งใหญ่มาได้ในที่สุด

ด้วยคุณูปการอันใหญ่หลวงที่ในหลวงรัชกาลที่ 5 ทรงสร้างไว้แก่ชาติบ้านเมือง ทรงนำพาประเทศให้รอดพ้นจากวิกฤติและก้าวไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองจนเป็นที่ยอมรับของชาวต่างชาติ นำมาซึ่งความผาสุกของพสกนิกรชาวสยาม พระองค์จึงได้รับการถวายพระราชสมัญญานามว่า “สมเด็จพระปิยมหาราช” ซึ่งมีความหมายว่า พระมหากษัตริย์ที่ทรงเป็นที่รักยิ่งของปวงชน ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาที่คุณ รัฐบาลจึงประกาศให้วันที่ 23 ตุลาคม ของทุกปี เป็นวันปิยมหาราช

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า