อำนาจของคณะราษฎร บนความโทมนัสของพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า

หลังการปฏิวัติสยามในปี พ.ศ. 2475 อำนาจต่าง ๆ ตกอยู่ที่กลุ่มคณะราษฎรมาโดยตลอด ดังจะเห็นได้จากการกราบบังคมทูลเชิญในหลวงรัชกาลที่ 8 เสด็จนิวัตพระนคร ในปี พ.ศ. 2481 ทั้ง ๆ ที่พระองค์ยังทรงพระเยาว์และอยู่ในวัยศึกษาเล่าเรียน หรือแม้กระทั่งการกล่าวหาและจับกุมดำเนินคดีกรมขุนชัยนาทนเรนทร ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ด้วยข้อหากบฏในปี พ.ศ. 2482

ซึ่งหนึ่งในผู้ที่ออกมาปกป้องในหลวงรัชกาลที่ 8 และกรมขุนชัยนาทนเรนทร คือ สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ที่เปรียบเสมือนผู้ปกครองของในหลวงรัชกาลที่ 8 และเป็นผู้เลี้ยงดูกรมขุนชัยนาทนเรนทรมาแต่ครั้งทรงพระเยาว์

และบันทึกแห่งความโทมนัสของพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ก็แสดงให้เห็นว่า พระองค์ไม่สามารถทัดทานต่ออำนาจของคณะราษฎรได้เลย

เหตุการณ์เหล่านี้เป็นสิ่งยืนยันว่า คณะราษฎรในขณะนั้นมีอำนาจมากเพียงใด และพระมหากษัตริย์รวมถึงพระบรมวงศานุวงศ์ ก็ไม่ได้มีบทบาทและอำนาจใด ๆ ที่จะสามารถเข้าแทรกแซงทางการเมืองตามที่มีผู้กล่าวหาได้

ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในปี พ.ศ. 2481 เป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เสด็จนิวัตพระนครเป็นครั้งแรกตามคำขอของรัฐบาล ซึ่งได้ประสานกับคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ให้ติดต่อกราบทูลผ่านทางสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ซึ่งเปรียบเสมือนผู้ปกครองของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

โดยก่อนหน้านี้ ในปี พ.ศ. 2479 รัฐบาลได้ส่งพระยาวิชิตวงศ์วุฒิไกร ไปเข้าเฝ้าพระราชชนนีศรีสังวาลย์ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เพื่อทูลเชิญสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมเยียนพสกนิกร โดยพระราชชนนีได้กราบบังคมทูลขอประทานความเห็นชอบจากสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าก่อน แต่ดูเหมือนว่าสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ยังไม่ทรงเต็มพระทัยให้เสด็จนิวัตพระนคร ด้วยทรงห่วงความปลอดภัยของพระราชนัดดา และทรงเกรงว่าหากเสด็จนิวัตพระนคร รัฐบาลอาจยับยั้งมิให้เสด็จกลับไปทรงศึกษาต่อ

อย่างไรก็ดี ในเวลาต่อมา สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ได้ประทานความเห็นชอบให้พระราชนัดดาเสด็จนิวัตพระนครใน พ.ศ. 2481 โดยทรงมีลายพระหัตถ์ถึงพระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภาว่า

“เรื่องการเชิญเสด็จกลับเมืองไทยชั่วคราวนั้น ถ้ารัฐบาลยังคงมีความประสงค์ จะเชิญเสด็จกลับโดยความจงรักภักดีแล้ว ฉันก็ไม่ขัดข้อง … ขออย่าลืมว่า ถ้าหลานฉันกลับมาแล้วจะต้องให้กลับออกไปตามที่ได้สัญญาไว้ เพื่อประโยชน์ที่จะได้ทั้งความสุขและความรู้ เวลานี้ยังไม่มีความรู้ได้แต่ความสุข เพราะการเล่าเรียนยังเรียนอยู่ชั้นเด็ก”

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ซึ่งขณะนั้นทรงมีพระชนมายุ 13 พรรษา ทรงมีโอกาสเสด็จนิวัตพระนครเป็นครั้งแรก ในวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2481 โดยพระยาพหลพลพยุหเสนา ซึ่งขณะนั้นเป็นผู้รักษาการในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ได้กราบบังคมทูลรับเสด็จในนามข้าราชการและประชาชน

ระหว่างที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลประทับอยู่ในประเทศไทย ได้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่สำคัญ นั่นคือ หลังจากที่มีการยุบสภาผู้แทนราษฎรและจัดให้มีการเลือกตั้งแล้ว กลางเดือนธันวาคม พ.ศ. 2481 คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ได้มีพระบรมราชโองการแต่งตั้งให้ นายพันเอกหลวงพิบูลสงคราม (แปลก ขีตตะสังคะ) เป็นนายกรัฐมนตรี

จากนั้นในช่วงปลายเดือนธันวาคม พ.ศ. 2481 เจ้าพระยายมราช ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ได้ถึงแก่อสัญกรรม คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์จึงเหลือสมาชิกสองคน คือ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา และเจ้าพระยาพิชเยนทรโยธิน

ต่อมาในวันที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2482 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ได้มีกระแสพระราชดำรัสทางวิทยุกระจายเสียง ทรงขอบใจรัฐบาลและพสกนิกรที่ต้อนรับพระองค์อย่างดียิ่ง ทรงมีรับสั่งตอนหนึ่งว่า

“ข้าพเจ้าจะตั้งใจเรียนจนสำเร็จ เพื่อจะได้มาสนองคุณชาติที่รักของเรา ในการที่ข้าพเจ้าจะลาท่านไปนี้ ข้าพเจ้าขออวยพรให้ท่านทั้งหลายมีความสุขความเจริญทั่วกัน”

โดยพระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินออกจากประเทศไทย เมื่อวันที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2482

ประมาณสองสัปดาห์ต่อมา ในวันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2482 รัฐบาลซึ่งมีหลวงพิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรีได้เริ่มกวาดล้างจับกุมผู้ต้องสงสัยว่าจะก่อการกบฏจำนวนมาก โดยในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2482 รัฐบาลได้ทำการจับกุมพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนชัยนาทนเรนทร พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และทรงเป็นพระราชวงศ์ที่ใกล้ชิดกับสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลด้วย เนื่องจากก่อนที่สมเด็จพระราชบิดา เจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช กรมหลวงสงขลานครินทร์ จะสิ้นพระชนม์ ได้ทรงฝากฝังพระราชโอรส และพระราชธิดาให้กรมขุนชัยนาทนเรนทรทรงช่วยดูแล

เมื่อความทราบถึงสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ก็ทรงตกพระทัยและโทมนัสเป็นอันมาก เพราะทรงเป็นแม่เลี้ยงของกรมขุนชัยนาทฯ มาแต่ครั้งทรงพระเยาว์ ทรงตรัสสั่งให้หาเจ้าพระยาพิชเยนทรโยธิน ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เพราะเคยเป็นมหาดเล็กข้าหลวงเดิมในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ และทรงพระเมตตามาแต่ยังเยาว์ เมื่อเจ้าพระยาพิชเยนทรโยธินมาเข้าเฝ้าก็ทรงตรัสว่า

“เธอกับฉันก็เห็นกันมาตั้งแต่ไหน ๆ ครั้งนี้ทุกข์ของฉันเป็นที่สุด ขอให้เธอไปช่วยบอกจอมพลทีว่า อย่าจับกรมชัยนาทฯ เข้าห้องขัง มีผิดอะไรส่งมาให้ฉัน ฉันจะขังไว้ให้เอง ให้มาอยู่ที่บ้านนี้ ข้างห้องฉันนี่ เพราะฉันเลี้ยงของฉันมาตั้งแต่ 12 วัน พระพุทธเจ้าหลวงอุ้มมา พระราชทานเอง ถ้ากรมชัยนาท ฯ หนีหาย ฉันขอประกันด้วยทรัพย์สมบัติทั้งหมดที่ฉันมีอยู่ ถ้าหนีหายฉันก็จะยอมเป็นคนขอทาน”

ทั้งนี้ เจ้าพระยาพิชเยนทรโยธินได้ไปติดต่อกับทางรัฐบาลตามพระราชเสาวนีย์ แต่ไม่เป็นผลจึงกลับมากราบทูล เมื่อสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าทรงได้ฟังดังนั้น ก็ทรงพระกันแสงและตรัสกับเจ้าพระยาพิชเยนทรโยธินว่า

“เขาจะแกล้งให้ฉันตาย ฉันไม่รู้ว่าจะอยู่ไปทำไม ลูกตายไม่ได้น้อยใจ ช้ำใจเหมือนครั้งนี้เลย เพราะมีเรื่องหักได้ว่าเป็นธรรมดาโลก ครั้งนี้ทุกข์สุดที่จะทุกข์แล้ว … เธอจะไปทำอย่างไร ก็ได้ขอให้ช่วยด้วย เห็นแก่ฉันเถอะ ฉันไม่พูดหรอกกับพระองค์อาทิตย์ เพราะเธอเป็นเด็กและเป็นญาติด้วย”

วันที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2482 ศาลพิเศษอ่านคำพิพากษาให้ประหารชีวิตกรมขุนชัยนาทนเรนทร แต่ลดโทษให้จำคุกตลอดชีวิต โดยในวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2482 ได้มีประกาศถอดยศฐานันดรศักดิ์แห่งราชวงศ์ และบรรดาศักดิ์ของผู้ต้องหาคดีกบฏ ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือกรมขุนชัยนาทนเรนทรด้วย ต่อมาในวันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2482 สมเด็จพระราชชนนีศรีสังวาลย์ ทรงมีพระราชโทรเลขมาถึงพระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ว่า

“ได้ทราบว่า กรมขุนชัยนาทถูกพิพากษาลงโทษจำคุกตลอดชีวิต แทนที่จะลงโทษจำคุกไว้ตลอดชีวิตขอท่านได้ช่วยพิจารณาว่า จะมีทางที่จะเนรเทศไปต่างประเทศเสียตลอดชีวิตได้หรือไม่ ถ้ามีทางเช่นนั้น หม่อมฉันจะรู้สึกเป็นพระคุณอย่างยิ่ง ถ้าจำเป็น สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงเซ็นหนังสือขอร้องมาโดยพระองค์เอง โดยให้ทราบโดยเร็วที่สุด”

และในวันเดียวกันนี้ ราชเลขานุการในพระองค์ได้ส่งหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี เนื้อความเป็นพระดำริของประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ว่า คงทำตามพระประสงค์ของพระราชชนนีไม่ได้ เพราะศาลได้ให้ความกรุณาแก่กรมขุนชัยนาทนเรนทรมากเป็นพิเศษแล้ว โดยลดโทษเหลือเพียงจำคุกตลอดชีวิต หากทำตามพระประสงค์ย่อมเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อนักโทษคนอื่น และกรณีนี้เป็นการกระทำผิดอุกฤษฏ์โทษร้ายแรง ตระเตรียมการล่วงหน้า การเนรเทศไปต่างประเทศนอกจากจะขัดต่อความยุติธรรม ยังขัดต่อรัฐธรรมนูญ ตลอดจนกฎหมายระหว่างประเทศด้วย เพราะการเนรเทศบุคคลที่มีสัญชาติไทย ย่อมกระทำมิได้

ต่อมาในวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2482 หลวงพิบูลสงครามได้ส่งหนังสือทูลประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ว่า คณะรัฐมนตรีไม่สามารถจะถวายความเห็นยิ่งไปกว่าที่ศาลพิพากษาไว้ ส่วนทางพระมหากษัตริย์จะเห็นอย่างไร ทางรัฐบาลได้ถวายความเห็นและหลักฐานมาโดยบริบูรณ์แล้ว โดยในการนี้ได้ถวายฎีกานักโทษ 18 รายมาด้วย กระทั่งในวันรุ่งขึ้นราชเลขานุการในพระองค์ได้ส่งหนังสือกลับมาว่า คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์พิจารณาฎีกาทั้ง 18 รายถี่ถ้วนแล้ว ลงมติเป็นเอกฉันท์ให้ยกฎีกาทั้ง 18 รายนี้เสีย และให้ลงโทษไปตามคำพิพากษาศาลพิเศษ

จากเรื่องราวทั้งหมดนี้ แสดงให้เห็นถึงอำนาจทางการเมืองของคณะราษฎรที่มีต่อคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ไม่ว่าจะเป็นการกราบบังคมทูลเชิญในหลวงรัชกาลที่ 8 เสด็จนิวัตพระนคร ในขณะที่พระองค์ยังทรงอยู่ในวัยศึกษาเล่าเรียน หรือการดำเนินคดีกรมขุนชัยนาทนเรนทร ที่แม้แต่คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ก็ไม่สามารถเจรจาหรือเข้าไปแทรกแซงการดำเนินการของรัฐบาลได้ แม้จะถูกร้องขอจากสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าและพระราชชนนี

จึงทำให้เห็นภาพได้อย่างชัดเจนว่า ในขณะนั้น พระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ รวมไปถึงคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ มิได้มีอำนาจใด ๆ ทางการเมืองเลย ดังนั้น การกล่าวหาว่าสถาบันพระมหากษัตริย์เข้าแทรกแซงการดำเนินการของรัฐบาลคณะราษฎร จึงเป็นคำกล่าวอ้างที่ไม่มีน้ำหนักและฟังไม่ขึ้น

ที่มา :

[1] ราชทิพย์ ภพสยบ, บันทึก อานันทมหิดล ยุวกษัตริย์พระองค์แรกในระบอบประชาธิปไตย, (กรุงเทพมหานคร : บางกอกบุ๊ค, 2550)
[2] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ, ‘แผนชิงประเทศไทย’ ว่าด้วยรัฐและการต่อต้านรัฐสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ครั้งที่สอง (พ.ศ. 2491-2500), พิมพ์ครั้งที่ 3 (กรุงเทพมหานคร : พี.เพรส, 2553)
[3] เพลิง ภูผา, กบกฎสะท้านแผ่นดิน, (กรุงเทพมหานคร : เจ้าพระยา, 2557)
[4] รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร, ชุดที่ 3 สมัยที่ 2 ครั้งที่ 8/2481, สมัยสามัญ, 2 กุมภาพันธ์ 2481
[5] สมภพ จันทรประภา, สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า, พิมพ์ครั้งที่ 2 (พระนคร : ผดุงศึกษา, 2515)
[6] หม่อมเจ้าปิยะรังสิตรังสิต, เกิดวังไม้, (กรุงเทพมหานคร :อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, 2556)
[7] พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล, “โทรเลขของพระราชชนนีศรีสังวาลย์ : กรณีกรมขุนชัยนาทนเรนทรต้องโทษจำคุกตลอดชีวิตฐานสมคบก่อการกบฏเปลี่ยนระบอบการปกครอง”, ใน ธรรมชาติของการใช้อำนาจรัฐโดยกษัตริย์, (กรุงเทพมหานคร : ไชน์พับลิชชิ่งเฮ้าส์, 2556)

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุ