‘ขบวนการเขมรแดง’ บทเรียนอำมหิต ที่ซ่อนอยู่ในอุดมการณ์คอมมิวนิสต์
จากวาทกรรมของนักการเมืองคนหนึ่ง ที่ออกมาเร่งเร้ามวลชนด้วยประโยค “จงโกรธแค้น ลุกขึ้นปฏิวัติ ทำลายสิ่งที่เป็นอยู่ แล้วสร้างใหม่” เห็นได้ชัดว่านี่คือการปลุกระดม โดยใช้พลังมวลชนเป็นเครื่องมือ ซึ่งวิธีแบบนี้ช่างละม้ายคล้ายกับแนวทางของลัทธิคอมมิวนิสต์ในอดีต ไม่ว่าจะเป็นคอมมิวนิสต์โซเวียต หรือ เหมาอิสต์
และสิ่งที่น่าตกใจยิ่งกว่าคือ เมื่อคนรุ่นใหม่บางกลุ่มพากันโหวตในสื่อโซเชียลมีเดียว่าอยากได้ “พลพต” เป็นนายกรัฐมนตรี ทั้ง ๆ ที่ไม่รู้ว่าผู้นำของ “ขบวนการเขมรแดง” คนนี้คือที่มาของโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์โลก อันเป็นผลผลิตจากแนวคิดซ้ายสุดโต่ง ที่สร้างความสูญเสียชนิดเรียกได้ว่าเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ซึ่งกลายเป็นบทเรียนที่ประเทศกัมพูชาต้องแบกรับไว้ด้วยความเจ็บปวด
ประวัติศาสตร์แห่งการนองเลือดโดยขบวนการเขมรแดง ได้เริ่มต้นขึ้นเมื่อมีการจัดตั้งกลุ่มปัญญาชนปารีส (Paris Student Group) ซึ่งเป็นกลุ่มนักศึกษาฝ่ายซ้ายชาวกัมพูชา ที่ได้รับทุนการศึกษาจากรัฐบาลให้มาศึกษาต่อที่ฝรั่งเศส ในช่วงทศวรรษที่ 1950 พวกเขาได้ร่วมกันจัดตั้งขบวนการคอมมิวนิสต์ขึ้นในฝรั่งเศส และได้แยกย้ายกลับไปกัมพูชาเพื่อสร้างฐานอำนาจแข่งกับกลุ่มของนโรดม สีหนุ (ฝ่ายกษัตริย์) และกลุ่มอำนาจของลอนนอล (ฝ่ายสาธารณรัฐ) ในช่วงเวลาต่อมา
แต่เดิมนั้น กัมพูชาสมัยนโรดม สีหนุ วางตัวเป็นกลางทางการทูต และตัวรัฐบาลของลอนนอลซึ่งเป็นรัฐบาลฝ่ายขวาก็ไม่ได้รับความนิยมจากประชาชน เนื่องจากเป็นรัฐบาลที่เกิดการฉ้อโกงขึ้นเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในกลุ่มของนายทหาร บ้านเมืองไม่มีขื่อมีแป มีแต่ความวุ่นวาย รวมทั้งแนวโน้มของกลุ่มอำนาจฝ่ายนโรดม สีหนุ ก็เริ่มให้การสนับสนุนกลุ่มอำนาจคอมมิวนิสต์ ทำให้กลุ่มคอมมิวนิสต์เพิ่มความนิยมในพื้นที่ชนบททั่วกัมพูชา และพุ่งเป้าโจมตีมาที่กรุงพนมเปญในขณะนั้น
ปี พ.ศ. 2518 รัฐบาลลอนนอลได้ถูกโค่นล้มโดยกองกำลังฝ่ายคอมมิวนิสต์แห่งกัมพูชา หรือที่รู้จักกันในนาม “เขมรแดง” (Khmer Rouge) ในครั้งแรกที่เขมรแดงเข้ายึดกรุงพนมเปญได้นั้น ประชาชนต่างรู้สึกยินดีเพราะคิดว่าการมาของกลุ่มเขมรแดงจะนำพาความสงบมาให้ประเทศ ตามนโยบายของเขมรแดงที่ต้องการโดดเดี่ยวทางการทูตของตนเอง แต่ทว่าสิ่งที่ตามมากลับตรงกันข้าม
ประเทศกัมพูชาตกอยู่ภายใต้อำนาจของ “พลพต” (Pon Pot) ผู้มีแนวคิดแบบคอมมิวนิสต์สุดโต่ง เขามีความเชื่อว่า ระบบสังคมนิยมจะทำให้กัมพูชากลับมารุ่งเรืองอีกครั้งเหมือนในอดีต โดยประเทศควรจะอยู่อย่างสันโดษ ไม่พึ่งพาวิทยาการทันสมัยใด ๆ ขอแค่มีอาหารเพียงพอก็อยู่ได้ เขาจึงกวาดล้างเหล่าปัญญาชนทั้งหลาย ซึ่งมีทีท่าว่าจะตั้งตนเป็นปฏิปักษ์กับแนวคิดของเขา ไม่ว่าจะเป็น หมอ พยาบาล ครู นักเขียน ศิลปิน ข้าราชการจากรัฐบาลก่อนหน้า และอีกหลาย ๆ อาชีพ ถึงขั้นกล่าวกันว่า “คนใส่แว่นสายตา” ที่ดูเหมือนเป็นผู้มีความรู้จะถูกฆ่าอย่างไร้เหตุผล เพราะเขาต้องการให้กัมพูชา “มีแต่ชนชั้นกรรมาชีพ” เพื่อสร้างปัจจัยการผลิตสู่ประเทศ และเสริมสร้างฐานอำนาจตนให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น
พลพต ได้เปลี่ยนระบบเศรษฐกิจเป็นแบบสังคมนิยมพึ่งพาตนเอง ปิดประเทศตัดขาดจากโลกภายนอก ยกเลิกระบบธนาคาร ระบบเงินตรา โรงเรียน โรงพยาบาล ยึดทรัพย์สินจากเอกชนทั้งหมด และได้สั่งอพยพผู้คนออกจากกรุงพนมเปญรวมทั้งเมืองใหญ่อื่น ๆ ไปยังชนบทเพื่อทำการเกษตร ซึ่งทุกคนได้แต่หวังว่าจะมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีกว่าเดิมในพื้นที่ชนบทที่ได้ย้ายไป โดยไม่รู้ว่าสิ่งที่รอพวกเขาทั้งหลายอยู่คือ “ความตายและความทุกข์ทรมาน”
ผู้คนที่ถูกหลอกให้ออกจากเมือง ถูกพามาใช้แรงงานเป็นเกษตรกรเยี่ยงทาส โดยไม่มีการหยุดพักและแทบไม่มีอาหารในการบริโภค เขมรแดงได้ปฏิบัติต่อประชาชนเหล่านี้อย่างป่าเถื่อนและเลวร้าย ตลอดสี่ปีที่กัมพูชาตกอยู่ภายใต้การปกครองของเขมรแดง มีผู้เสียชีวิตทั้งจากการถูกฆ่า อาการป่วย และการทำงานหนักเป็นจำนวนมหาศาล จนเป็นที่มาของการกำเนิด “ทุ่งสังหาร” และ “คุกตวลสเลง” อันเลื่องชื่อเรื่องความโหดเหี้ยมอำมหิต ชนิดแทบไม่มีใครอยากเชื่อว่านี่คือสิ่งที่มนุษย์กระทำกับเผ่าพันธุ์ตนเอง
แต่ในที่สุดความโหดร้ายทั้งหมดก็จบลง เมื่อทหารของเวียดนามได้บุกเข้าโจมตีเขมรแดง ผ่านทางพรมแดนของกัมพูชา จากการต่อสู้ครั้งนี้ ทำให้ขบวนการเขมรแดงล่มสลาย และได้ถอยร่นกลับมาตั้งศูนย์บัญชาการอยู่ที่ชายแดนไทย-กัมพูชา กระทั่งต่อมา พลพต ได้เสียชีวิตลงในปี พ.ศ. 2541 ขณะถูกคุมขังในบ้านพัก เป็นการปิดฉากอำนาจของขบวนการเขมรแดง ผู้ซึ่งเปลี่ยนกัมพูชาให้กลายเป็นพื้นที่สังหารขนาดใหญ่ด้วยอาวุธที่ชื่อว่า “ลัทธิคอมมิวนิสต์” และความโหดร้ายที่เกิดขึ้นนี้ ก็ถือเป็นบทเรียนราคาแพงที่กัมพูชาต้องแบกรับมาจนปัจจุบัน
ทั้งหมดนี้คือหน้าหนึ่งของประวัติศาสตร์การเมืองโลก คือหนึ่งหน้าความสูญเสียที่ไม่มีใครต้องการให้ถูกเขียนขึ้น ดังนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องศึกษาอดีต เพื่อให้รู้เท่าทันกลุ่มผู้ไม่หวังดีที่พยายามยัดเยียดวาทกรรม “ทำลายสิ่งที่เป็นอยู่ แล้วสร้างใหม่” ให้กับเยาวชนแล้วหลอกใช้พวกเขาเป็นเครื่องมือ ซึ่งแนวทางเหล่านี้คือสิ่งที่ขบวนการคอมมิวนิสต์ได้เคยสร้างความพินาศย่อยยับให้เกิดขึ้นมาแล้ว และสุดท้ายบันทึกการเคลื่อนไหวทางการเมืองของไทยในปัจจุบัน จะเดินทางซ้ำรอยประวัติศาสตร์แห่งการสูญเสียในอดีตหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับทุกคนว่าจะเขียนให้มันเดินไปในทิศทางใด