รัชกาลที่ 1 กับเส้นทางการรับราชการ เปิดความจริงทางประวัติศาสตร์ โต้ประวัติเสี้ยมของนักบิดเบือน

จากกระแสข่าวอินฟลูเอนเซอร์นักธุรกิจชื่อดังในทวิตภพ ผู้ออกตัวว่า “ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์” ได้อาศัยข้อมูลไม่กี่บรรทัดจากหนังสือที่นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ตีความผิดๆ นำมาสร้างคอนเทนต์เรียกร้องความสนใจ ด้วยการกระแนะกระแหน ในหลวง ร.1 ว่า เริ่มเข้ารับราชการครั้งแรก ตอนอายุ 32 ปี “แม้เริ่มช้ากว่าเพื่อน ใช้เวลาทำงาน 14 ปี ก็ประสบความสำเร็จในการงาน ขึ้นเป็นกษัตริย์ได้”

และ “ผู้ไม่เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์” ท่านดังกล่าวนี้ ยังได้บอกแก่ผู้ที่เข้ามาโต้แย้งในทวิตเตอร์ว่า เพิ่งเคยอ่านประวัติในหลวง ร.1 ครั้งแรกในชีวิต “จากหนังสือเล่มหนึ่ง” ซึ่งเพิ่งตีพิมพ์และออกจำหน่าย เมื่อปี พ.ศ. 2564 (ปีที่ผ่านมา) โดยอ้างว่าข้อมูลที่ท่านเอามาพูดนั้นนำมาจากหนังสือเล่มดังกล่าว ถ้าหากใครข้องใจก็ให้ไปโต้แย้งเอากับผู้ที่แต่งหนังสือเอง

ในวงวิชาการเมื่อได้ทราบกระแสข่าวที่เป็นประเด็นร้อนนี้ ก็รู้กันในทันทีว่า ผู้เขียนหนังสือเล่มที่ว่านั้นคงไม่แคล้วจับแพะชนแกะ จากการไปอ่านหนังสือ “ปฐมวงศ์” พระราชนิพนธ์ในล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 4 แต่ก็คงจะอ่านได้แค่บรรทัดเดียว หรืออ่านทั้งย่อหน้าแต่อ่านไม่เข้าใจ ถึงได้โมเมทึกทักว่า ในหลวง ร.1 ไม่เคยรับราชการเลยในยุคกรุงศรีอยุธยา

ในพระราชนิพนธ์ปฐมวงศ์ ของล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 4 มีข้อความเต็มๆ กล่าวไว้ว่า …

“พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์นั้น เมื่อครั้งกรุงเทพทวาราวดีศรีอยุทธยา หาได้ทำราชการในหลวงไม่ เพราะเสด็จไปอยู่กับสมเด็จพระอมรินทรามาตย์ ณ ตำบลอัมพวา โดยนัยที่กล่าวมาแล้วแต่หลัง เป็นแต่เข้าแอบอิงอาไศรยมีสังกัดอยู่ในพระองค์เจ้าอาทิตย์ ซึ่งเป็นพระเจ้าหลานเธอในพระบาทสมเด็จพระบรมธรรมิกราชาธิราช … ครั้นเมื่อแผ่นดินสุริยามรินทร ได้เป็นพระองค์เจ้า โปรดปรานในพระเจ้าแผ่นดิน มีผู้นิยมนับถือมาก ครั้นมาถึงแผ่นดินกรุงธนบุรี ได้ทรงทำราชการในตำแหน่งเป็นพระราชวรินทร์ เจ้ากรมพระตำรวจนอกขวา”

คำว่า “หาได้ทำราชการในหลวงไม่” ตามพระราชนิพนธ์ของล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 4 ท่านทรงหมายถึง ในหลวง ร.1 ไม่ได้เป็นมหาดเล็กของพระเจ้าแผ่นดินในสมัยกรุงศรีอยุธยา จึงไม่ได้มีโอกาสรับตำแหน่งสำคัญๆ ในสมัยอยุธยา เพราะว่าค่านิยมในอดีตการเข้าสู่ตำแหน่งในทางราชการเป็นระบบอุปถัมภ์ผ่านการแนะนำตัวโดยสายสัมพันธ์ส่วนตัว ดังนั้นการได้ตำแหน่งราชการที่สำคัญจะมาจากการเข้ารับราชการในกรมมหาดเล็ก ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับใช้ใกล้ชิดกับพระเจ้าแผ่นดิน หากไม่เข้าถวายตัวเป็นมหาดเล็กก็จะไม่มีโอกาสรับตำแหน่งที่สำคัญ ยิ่งถ้าหากมหาดเล็กคนใดถวายตัวกับพระเจ้าแผ่นดินตั้งแต่ก่อนขึ้นเสวยราชย์ ก็จะมีฐานะพิเศษเป็น “ข้าหลวงเดิม” ซึ่งจะส่งผลให้ข้าราชการผู้นั้นได้รับความไว้ใจมากกว่าผู้ที่เพิ่งถวายตัวเป็นมหาดเล็กภายหลังที่พระเจ้าแผ่นดินเสวยราชย์แล้ว

ทั้งนี้ยังจะเห็นได้ว่า ในหลวง ร.4 มีพระราชกระแสอรรถาธิบายต่อไปถึงว่า ที่ในหลวง ร.1 ไม่ทำราชการในหลวงเพราะ “เสด็จไปอยู่กับสมเด็จพระอมรินทรามาตย์ ณ ตำบลอัมพวา โดยนัยที่กล่าวมาแล้วแต่หลัง” แปลว่าก่อนหน้านั้นในหลวง ร.1 ย่อมรับราชการอยู่ เมื่อทรงสมรสกับสมเด็จพระอมรินทรามาตย์ จึงได้ออกจากราชการ ซึ่งสอดคล้องกับพระราชพงศาวดาร ฉบับพิมพ์ ร.ศ.120 ที่ระบุว่า ในสมัยกรุงธนบุรี สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท (พระอนุชาของรัชกาลที่ 1) เมื่อครั้งมีตำแหน่งเป็นพระมหามนตรี ได้กราบทูลต่อสมเด็จพระเจ้าตากสินว่า จะขอไปรับหลวงยกกระบัตรราชบุรีผู้พี่ เข้ามาถวายตัวทำราชการ

แสดงให้เห็นว่า เดิมจริงๆ ในหลวง ร.1 เป็นข้าราชการสัญญาบัตรในบรรดาศักดิ์ชั้นหลวง มีตำแหน่งเป็นหลวงยกกระบัตร อยู่ที่เมืองราชบุรี แต่เมื่อสมรสแล้ว ก็ออกมาอยู่บ้านภรรยาที่ตำบลอัมพวา

โดยที่พระราชนิพนธ์ปฐมวงศ์ ได้กล่าวต่อไปว่า ขณะที่ในหลวง ร.1 อยู่อัมพวา ไม่ได้รับราชการ แต่ก็ได้ขึ้นอยู่ในสังกัดของ “พระองค์เจ้าอาทิตย์”

“พระองค์เจ้าอาทิตย์” พระองค์นี้เป็นพระโอรสของเจ้าฟ้าธรรมธิเบศไชยเชษฐ์สุริยวงศ์ หรือเจ้าฟ้ากุ้ง ในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ แต่ต่อมาเกิดเหตุการณ์ที่นำไปสู่การลงพระราชอาญาจนเจ้าฟ้ากุ้งสิ้นพระชนม์ โดยมีที่มาจาก “เจ้าสามกรม” เป็นต้นเหตุ

เมื่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศสวรรคต ในขณะนั้นเจ้าฟ้าชายอุทุมพรราชกุมาร กรมขุนพรพินิต ซึ่งดำรงตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคล เป็นพระราชทายาทที่จะต้องได้ขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์ ทว่าเกิดเหตุการณ์ “เจ้าสามกรม” เตรียมการจะก่อกบฏ แต่เจ้าฟ้าชายอุทุมพรก็สามารถระงับเหตุได้ทันท่วงทีเสียก่อน และได้มอบหมายให้พระองค์เจ้าอาทิตย์ ผู้เป็นพระโอรสของเจ้าฟ้ากุ้ง เป็นผู้ดำเนินการลงโทษเจ้าสามกรม นัยว่าเปิดโอกาสให้พระองค์เจ้าอาทิตย์ได้ชำระแค้นแก่พระราชบิดา

เมื่อเจ้าฟ้าชายอุทุมพรเสด็จขึ้นครองราชย์ และในเวลาต่อมาได้ทรงสละราชสมบัติให้แก่ เจ้าฟ้าชายเอกทัศน์ กรมขุนอนุรักษ์มนตรี ซึ่งเป็นพระอนุชา ในรัชกาลของสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์นี้เอง ที่พระองค์เจ้าอาทิตย์ได้รับสถาปนาเป็น “กรมหมื่นพิทักษ์ภูเบศร์” ทั้งยังได้รับพระบรมราชานุญาตให้ประทับที่วังหน้าอีกด้วย แสดงให้เห็นว่ากรมหมื่นพิทักษ์ภูเบศร์ทรงได้รับความโปรดปรานจากสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์เป็นอย่างมาก และน่าจะมีสิทธิในราชบัลลังก์ได้ เพราะถึงขั้นได้ประทับ ณ วังหน้า ซึ่งเป็นที่ประทับของพระรัชทายาท

ซึ่ง “กรมหมื่นพิทักษ์ภูเบศร์” ท่านนี้เอง คือผู้ที่ในหลวง ร.1 ได้เข้าเป็นสังกัดในพระองค์

จะเห็นได้ว่า เส้นทางการรับราชการของในหลวง ร.1 นั้น ทรงมีฐานะเป็นข้าหลวงเดิมของสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร และในสมัยของสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ ก็ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ชั้นสัญญาบัตรครั้งแรก ในตำแหน่งหลวงยกกระบัตร และต้องออกไปรับราชการที่ราชบุรี ซึ่งเป็นเมืองชายแดน ก่อนที่จะทรงออกจากราชการไปอยู่ที่บ้านภรรยา ณ ตำบลอัมพวา และต่อมาจึงได้กลับเข้ารับราชการอีกครั้งในสังกัดของ กรมหมื่นพิทักษ์ภูเบศร์ นั่นเอง

ครั้นเข้าสู่ยุคกรุงธนบุรี เมื่อในหลวง ร.1 ได้ถวายตัวเข้ารับราชการต่อสมเด็จพระเจ้าตากสิน เป็น พระราชวรินทร์ เจ้ากรมพระตำรวจนอกขวา ทรงมีบทบาทนำกองทัพไปทำศึกมากมาย และชนะศึกทุกครั้งจนทำให้พระราชอาณาเขตของกรุงธนบุรีกว้างไกลเสียยิ่งกว่าสมัยที่ก่อนกรุงศรีอยุธยาจะถูกกองทัพพม่าทำลายเสียอีก

ด้วยเหตุนี้ แม้ในหลวง ร.1 จะไม่ใช่ข้าหลวงเดิมของสมเด็จพระเจ้าตากสินที่ร่วมตีฝ่าวงล้อมออกมาจากกรุงศรีอยุธยาด้วยกัน แต่สมเด็จพระเจ้าตากสินก็ทรงพิจารณาความดีความชอบ มอบตำแหน่งที่สำคัญและยศอันสูงส่งให้ ด้วยพระราชวินิจฉัยอันสุขุมคัมภีรภาพ และด้วยความสามารถรวมถึงผลงานอันเป็นที่ประจักษ์ของในหลวง ร.1 ที่สร้างคุณประโยชน์มากมายให้แก่บ้านเมือง

อ้างอิง :

[1] ประชุมพงษาวดาร ภาคที่ 8. พระนคร: โรงพิมพ์ไทย ณถนนรองเมือง. [พระยาศรีภูริปรีชา รามาธิปติราชภักดี ศรีสาลักษณวิสัย อภัยพิริยพาห (กมล สาลักษณ) พิมพ์แจกในงานศพคุณหญิงศรีภูริปรีชา (พึ่ง) ปีมเสง พ.ศ. 2460].
[2] ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 65 พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม)
[3] หนังสือพระราชพงษาวดาร. โรงพิมพ์พิศาลบรรณนิติ์. ร.ศ. 120 (พ.ศ. 2444)
[4] พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา
[5] พระราชพงศาวดาร ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพน

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า