‘อยุธยา ยุทธการ’ เกมอำนาจเมืองท่าขุมทองโลก ตอนที่ 10

บทความโดย นายปฎิพล อภิญญาณกุล

ในปี ค.ศ. 1680 (พ.ศ. 2223) สมเด็จพระนารายณ์ทรงแต่งคณะทูตชุดแรก เดินทางไปเชื่อมสัมพันธไมตรีที่ฝรั่งเศส ประกอบด้วย ออกพระพิพัฒน์ราชไมตรี เป็นราชทูต , ออกหลวงศรีวิศาลสุนทร เป็นอุปทูต และออกขุนนครศรีวิชัย เป็นตรีทูต พร้อมเจ้าพนักงานกว่า 20 คน

โดยได้นำเอาเครื่องบรรณาการหลายอย่างไปถวายพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 – อาทิ โต๊ะ ตู้ หีบแปลก ๆ ที่สยามได้มาจากญี่ปุ่น โถเงิน โถทอง ผ้าไหม และที่สำคัญคือ ได้ส่งช้างตัวเล็ก ๆ ไปด้วย 2เชือก

“ช้าง” ได้กลายเป็นสัญลักษณ์ในการเป็นเครื่องบรรณาการเชื่อมสัมพันธไมตรี

เครื่องบรรณาการช้าง เริ่มต้นตั้งแต่เมื่อไรไม่ปรากฏชัดได้ แต่เท่าที่ผู้เขียนค้นคว้าอ่านพบ ปรากฏขึ้นในยุคต้นกรุงศรีอยุธยา จากบันทึกการเดินเรือของ “เจิ้งเหอ” ที่บอกถึงเครื่องราชบรรณาการของอยุธยาถูกนำไปถวายแด่จักรพรรดิจีน ซึ่งประกอบด้วย พริกไทย ไม้ฝาง ไม้กฤษณา เต่าหกขา (เต่ากระ) งาช้าง และ ช้าง – ตรงกับรัชสมัยของสมเด็จพระอินทราชา (หรือเจ้านครอินทร์)

หรือนั้นคือจุดเริ่มต้นของ “ช้างสยาม” ทำให้เป็นที่รู้จักทั่วโลกมานาน จนกลายเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ของชาติไทย

แต่คณะทูตชุดแรกของอยุธยา ประสบเหตุทางทะเลในบริเวณเกาะมาดากัสการ์ โดนพายุใหญ่โถมกระหน่ำจนเรืออับปาง ลูกเรือและสิ่งของบรรณาการทั้งหมด จมหายอยู่ใต้ท้องสมุทร

ทางด้านกรุงศรีอยุธยาไม่ทราบเหตุเรือล่ม และระหว่างที่รอทางบริษัทการค้าของฝรั่งเศสส่งเรือสินค้าของชาติตนมาเพิ่มขึ้น เพื่อทำการค้าอย่างจริงจังในสยาม ทางอยุธยาได้ให้บริษัทฝรั่งเศสยืมเรือของสยามเพื่อใช้บรรทุกสินค้าไปขายค้าก่อนได้ โดยไม่กีดกันว่า ฝรั่งเศสจะต้องการสินค้าชนิดใด

ดูเหมือนกรุงศรีอยุธยา ช่วยเหลือและเปิดเสรีเต็มที่ให้กับฝรั่งเศส ด้วยการจูงใจอย่างเต็มที่

และกรุงศรีอยุธยายังพร้อมจะยกเมืองยะโฮร์ให้กับบริษัทฝรั่งเศสตั้งเป็นสถานีทางการค้า (เมืองยะโฮร์ หรือรัฐยะโฮร์ในปัจจุบันอยู่ในเขตของมาเลเซีย – เวลานั้นหัวเมืองมลายูต่าง ๆ เป็นประเทศราช ได้ส่งเครื่องบรรณาการมาถวายแก่กษัตริย์กรุงศรีอยุธยาปีละ 3 ครั้ง)

เหตุที่กรุงศรีอยุธยาเสนอเมืองยะโฮร์ยกให้ฝรั่งเศส ถ้าสังเกตกันดี ๆ เพราะตอนนั้นฮอลันดาได้ขยายอิทธิพลยึดเอาเมืองต่าง ๆ ของหมู่เกาะชวา มีการปล้นสะดมพลเมืองและจับเอาเจ้าเมืองต่าง ๆ ไปกักขัง กรุงศรีอยุธยาน่าจะกังวลว่า ฮอลันดาอาจหมายตารุกคืบมายึดเอาถึงเกาะถลาง (ภูเก็ตในปัจจุบัน) และเมืองตะเนาศรี (ปัจจุบันอยู่ในเขตประเทศพม่า) ของสยามได้

ดังนั้นการยกเมืองยะโฮร์ให้ฝรั่งเศส เท่ากับเป็นการใช้ฝรั่งเศสเป็นด่านหน้า เพื่อต่อต้านอิทธิพลของฮอลันดาที่อยู่แถบมลายูทางใต้แผ่นดินสยาม – ผู้แทนบริษัทการค้าฝรั่งเศสเห็นชอบในเบื้องต้น และขอส่งตัวแทนไปสำรวจที่เมืองยะโฮร์ก่อนตัดสินใจตอบรับ

สามปีผ่านไป จากคณะทูตชุดแรกของสยามเงียบหาย (ที่เรือล่มจมทะเล) ไม่มีข่าวอันใดส่งกลับมา ครั้นในปี พ.ศ. 2226 สมเด็จพระนารายณ์ทรงได้แต่งคณะทูตชุดที่ 2 ประกอบด้วย ขุนพิชัยวาทิตและออกขุนพิชิตไมตรีไปฝรั่งเศสอีกครั้ง เพื่อตรวจสอบว่าเกิดอะไรขึ้น

ในช่วงระยะเวลาการเดินทางของคณะทูตชุดที่ 2 ไปสร้างความสัมพันธ์ไมตรีกับฝรั่งเศส ภายในกรุงศรีอยุธยาได้เกิดเหตุการณ์ 2 เรื่องขึ้น

เรื่องแรกคือ – กลุ่มกองอาสาทหารเปอร์เซีย ไม่พอใจในตัวออกพระศรีเนาวรัตน์ (อกา มะหะหมัด) ต่างพากันฟ้องร้องกับสมเด็จพระนารายณ์ ว่าออกพระศรีเนาวรัตน์โกงเบี้ยหวัดของพวกเขา อีกทั้งประชาคมชาวอิหร่านก็แสดงความไม่พอใจกล่าวหา ออกพระศรีเนาวรัตน์เล่นพรรคเล่นพวก ส่งเสริมเฉพาะคนของตนเองเท่านั้น

ดูเหมือน ออกพระศรีเนาวรัตน์ ที่สมเด็จพระนารายณ์หวังให้เป็นหัวหน้าประชาคมชาวเปอร์เซีย เพื่อควบคุมดูแลกลุ่มมุสลิมที่มีอยู่มากมายในกรุงศรีอยุธยา บารมีความนับถือเสื่อมถอยลง จนไม่สามารถควบคุมการเกิดกลุ่มอันธพาลและขโมยขึ้นภายในกรุงศรีอยุธยา รวมถึงเกิดการฆ่าฟันกันเองวุ่นวาย เป็นเหตุให้สมเด็จพระนารายณ์ตัดสินใจปลด อกา มะหะหมัด ออกจากตำแหน่งออกพระศรีเนาวรัตน์

ไม่นาน อกา มะหะหมัด ก็เสียชีวิตลง และสมเด็จพระนารายณ์ทรงแต่งตั้งให้ คอนสแตนติน ฟอลคอน เข้ามาดูแลการค้าและการจัดการต่าง ๆ แทน

ครั้งนี้พระองค์ไม่แต่งตั้งชาวมุสลิมเปอร์เซียให้ดำรงตำแหน่งสำคัญเช่นนี้เหมือนที่ผ่าน ๆ มา คาดคะเนว่า สมเด็จพระนารายณ์ทรงเริ่มไม่ไว้วางใจกลุ่มชาวเปอร์เซียอีกแล้ว พระองค์กำลังมองหากลุ่มใหม่ให้เข้ามาทำหน้าที่แทน

เรื่องที่สองคือ – ออกญาโกษาธิบดี (เหล็ก) ได้ออกความเห็นยับยั้งการสร้างป้อมปราการซึ่งจะสร้างขึ้นมา ออกญาโกษาธิบดี (เหล็ก) ให้เหตุผลว่า ป้อมปราการมันไม่ใช่รูปแบบการป้องกันของสยามมาตั้งแต่อดีต อย่างเช่นป้อมที่มีอยู่ในทวีปยุโรป มันไม่เหมาะสมกับพื้นที่ราบของดินแดนแถบนี้

และถ้าทหารสยามถูกล้อม ติดอยู่แต่ในป้อม ทหารสยามก็ไม่รู้จะแก้ไขอย่างไร – ในทางตรงกันข้าม ถ้าศัตรูยึดเอาป้อมปราการไว้ได้ ศัตรูก็สามารถใช้มันเป็นประโยชน์เหนือกว่าเรา

แนวคิดการสร้างป้อมปราการนี้ถูกนำเสนอโดย คอนสแตนติน ฟอลคอน โดยอาศัยรูปแบบที่พบเห็นในยุโรป เสนอต่อสมเด็จพระนารายณ์ และพระองค์ทรงเห็นชอบด้วย
การคัดค้านการสร้างป้อมของออกญาโกษาธิบดี (เหล็ก) กลับถูกพบว่า มีพวกไพร่จำนวนหนึ่งที่ไม่ต้องการถูกเกณฑ์แรงงานไปก่อสร้างป้อมปราการ ได้นำเงินมาเป็นสินบนมอบให้กับออกญาโกษาธิบดี (เหล็ก)

จากแนวคิดไม่เห็นด้วยกับรูปแบบการป้องกันประเทศของยุโรป จึงถูกพลิกให้กลายเป็นเรื่องการรับสินบนจากไพร่ ทำให้สมเด็จพระนารายณ์ที่ทรงเห็นออกญาโกษาธิบดี (เหล็ก) เป็นเสมือนญาติมิตรพี่น้องและคนโปรด พลันทรงโกรธขึ้นมาอย่างมาก ได้สั่งลงอาญาด้วยไม้โบยตี

การโบยตี ถ้ามองจากสายตาปัจจุบัน คือการป่าเถื่อน .. แต่การดูประวัติศาสตร์อย่างเข้าใจ ต้องมองด้วยสายตาของคนในอดีต โดยไม่พยายามเอาความคิดเห็น ค่านิยม และการเปลี่ยนแปลงของสังคมปัจจุบันไปเป็นเกณฑ์วัด

เราไม่อาจจะรู้เลยว่า เครื่องบินนั้นเป็นอย่างไร ถ้าเราอยู่ในอดีต
เราอาจจะคิดว่ามันเป็นเทวดาองค์หนึ่งที่บินได้ ก็ได้ / หรือเราอาจจะคิดว่ามันเป็นปีศาจ ผี จนอาจทำให้เกิดการกลัวท้องฟ้าขึ้นมา ก็ได้ .. ฯลฯ

การโบยหวาย เฆี่ยนตี เป็นการลงโทษปกติของสมัยโบราณ .. ไม่ใช่เฉพาะที่แผ่นดินสยาม แผ่นดินประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกก็มีการลงโทษคล้าย ๆ กัน

การโบยตีลงโทษในความผิดฐานรับสินบนครั้งนี้ ทำให้ออกญาโกษาธิบดี (เหล็ก) ถึงกับล้มป่วย และเสียชีวิตลงในเวลาต่อมา สร้างความรู้สึกเสียใจกับสมเด็จพระนารายณ์เป็นอย่างมาก เพราะนายเหล็กเป็นหนึ่งในจำนวนน้อยคน ที่พระองค์ทรงไว้วางใจ

….

[* ป้อมปราการที่คอนสแตนติน ฟอลคอน เสนอให้สร้างโดยใช้วิศวกรชาวฝรั่งเศส และออกญาโกษาธิบดี (เหล็ก) คัดค้านการก่อสร้าง มีอยู่ 2 ป้อม สร้างไว้ฝั่งซ้ายและฝั่งขวาของแม่น้ำเจ้าพระยา โดยฟอลคอนให้เหตุผลว่าเป็นการป้องกันเรือรบของฮอลันดา ที่จะเข้ามารุกรานเข้ามาทางแม่น้ำเจ้าพระยา

  1. ป้อมปราการทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำเจ้าพระยา มีชื่อว่า ป้อมวิไชยเยนทร์ (ซึ่งอยู่บริเวณโรงเรียนราชินี)
  2. ป้อมปราการทางฝั่งขวาของแม่น้ำเจ้าพระยา มีชื่อว่า ป้อมวิไชยประสิทธิ์ (ปัจจุบันอยู่ในพื้นที่ของกองทัพเรือ พระราชวังเดิมกรุงธนบุรี ตรงข้ามโรงเรียนราชินี)

เมื่อสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ ในปี พ.ศ. 2325 โดยย้ายจากฝั่งธนบุรีมาสร้างเมืองใหม่ทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำเจ้าพระยา ทรงโปรดให้รื้อป้อมวิไชยเยนทร์ออกเสีย เหลือแต่เพียงป้อมวิไชยประสิทธิ์ หรือป้อมบางกอก ในปัจจุบัน ]

ออกพระศรีเนาวรัตน์ (อกา มะหะหมัด) จากไป , ออกญาโกษาธิบดี (เหล็ก) ก็จากไป .. คอนสแตนติน ฟอลคอน จึงโดดเด่นเพียงลำพัง เขาเข้าควบคุมอำนาจกรมพระคลังการค้าของกรุงศรีอยุธยาทั้งหมด ภายใต้ความเชื่อถือจากสมเด็จพระนารายณ์ที่พระองค์พยายามเดินทรงตัวอยู่บนเส้นลวดของอำนาจ ให้ผ่านได้ตลอดรอดฝั่ง

คอนสแตนติน ฟอลคอน ได้รับบรรดาศักดิ์ตำแหน่งเป็น “ออกญาวิไชเยนทร์” หรือ พระยาวิไชเยนทร์ / และไม่รู้ทำไมในยุคสมัยปัจจุบัน ข้อเขียนต่าง ๆ จึงถูกเขียนว่าเป็น เจ้าพระยาวิไชเยนทร์ ซึ่งเป็นการอวยยศตำแหน่งเกินจริง

เมื่อออกญาวิไชเยนทร์ มีอำนาจเป็นที่โปรดปรานของกษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา บาทหลวงฝรั่งเศสจึงถือโอกาสเข้าหาเพื่อใช้เขาเป็นช่องทางในการเผยแพร่ศาสนา โดยพุ่งเป้าใหญ่ไปที่กษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา ด้วยความหวังว่าพระองค์จะเปลี่ยนมานับถือคริสต์ศาสนา

ออกญาวิไชเยนทร์ จากกะลาสีเรือของอังกฤษ ก้าวสู่อำนาจใหม่และยิ่งใหญ่ของกรุงศรีอยุธยา แม้นจะไม่ใช่อำนาจทางการปกครอง แต่ก็กุมอำนาจสำคัญทางเศรษฐกิจไว้ในมือ

ข้อด้อยที่ออกญาวิไชเยนทร์มีอยู่ในตอนนั้นก็คือ ขาดกำลังพลหรือทหารอาสาในสังกัด การมองหาพันธมิตรใหม่อย่างฝรั่งเศส จึงเป็นการลงตัวทั้งสองฝ่าย

ออกญาวิไชเยนทร์ ได้กองทหารอาสาฝรั่งเศสมาใช้งาน และได้ผลประโยชน์ทางการค้าที่ฉ้อราษฎร์บังหลวงจนร่ำรวย

ทางฝรั่งเศส มุ่งหมายเพียงอย่างเดียวเท่านั้นคือ มุ่งขยายอิทธิพลทางศาสนาให้กว้างขวางในดินแดนแถบนี้ และมีเพียงการยึดครองทางศาสนาเท่านั้น จึงจะสามารถทำให้ยึดครองอาณาจักรนั้น ๆ ได้อย่างสมบูรณ์ มั่งคง ยาวนาน

ทั้งสองฝ่าย บาทหลวงฝรั่งเศสและออกญาวิไชเยนทร์ ดูจะร่วมมือกันอย่างสมประสงค์ แต่เหตุการณ์บนโลกไม่อาจเป็นที่อย่างที่มนุษย์วางแผนและคาดคิดเสมอไป

การเข้ามาของฝรั่งเศส การขึ้นมามีอำนาจของออกญาวิไชเยนทร์ ส่งผลต่อคณะสงฆ์พุทธศาสนาของคนไทย ส่งผลต่อความรู้สึกภายในของขุนนางราชสำนัก ส่งผลต่อกลุ่มมุสลิมที่เคยมีบทบาทในอยุธยามาก่อน

ฝ่ายฮอลันดาก็เฝ้าดูการเปลี่ยนแปลงอย่างนิ่ง ๆ เหมือนแมวใหญ่ที่อดทนเฝ้ารอหนูให้เคลื่อนไหว
ฝ่ายอังกฤษเริ่มรู้สึกไม่พอใจกับเล่ห์เหลี่ยมของออกญาวิไชเยนทร์กับสมัครพรรคพวกของเขา

โปรดติดตามในตอนต่อไป

ติดตามอ่าน อยุธยา ยุทธการเกมอำนาจเมืองท่าขุมทองโลก ครบทุกตอนได้ที่นี่

อ้างอิง :

[1] พงศาวดารกรุงศรีอยุธยา. ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ
[2] พงศาวดารกรุงศรีอยุธยา. ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม)
[3] พงศาวดารกรุงศรีอยุธยา. ฉบับ วลิต
[4] ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 79 จดหมายเหตุวันวลิต – หอสมุดแห่งชาตินครศรีธรรมราช 
[5] สำนักงานวิจัยแห่งชาติ (ว.ช) ภูมิรัฐศาสตร์กับความมั่นคงของประเทศไทย
[6] กรมศิลปากร. เอกสารของฮอลันดา สมัยอยุธยา
[7] กรมศิลปากร. ประชุมพงศาวดาร เล่ม 27 , เล่ม 34 , เล่ม 42
[8] กรมพระยาดำรงราชานุภาพ. พงศาวดารไทยรบพม่า
[9] มิวเซียมไทยแลนด์. (Museum Thailand) อยุธยาในบันทึกของสเปน
[10] นิธิ เอียวศรีวงศ์. การเมืองไทยในสมัยพระนารายณ์
[11] ลำจุล ฮวบเจริญ. เกร็ดพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา
[12] สถาปัตย์ เชื้อมงคล. สยามประกาศสงครามกับอังกฤษ 
[13] อานนท์ จิตรประภาส. การค้าและการเมืองในสมเด็จพระนารายณ์
[14] ศิลปวัฒนธรรม. ฉากแรกสัมพันธ์อยุธยา-โปรตุเกส การรับทูตตะวันตกครั้งแรกในอยุธยา
[15] นันทา สุตกุล. (แปล) เอกสารฮอลันดาสมัยกรุงศรีอยุธยา
[16] ภาณุดา วงศ์พรหม. พลิกแผ่นดิน จากใต้เงาปีกมหาอำนาจสู่อิสรภาพของประเทศในเอเซีย
[17] วชิรญาณ. จดหมายเหตุฟอร์บัง

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมร