‘จดหมายจากสมเด็จย่า’ เผยความยากลำบากที่ราชสกุลมหิดลต้องเผชิญ จากอำนาจของคณะราษฎร

หากพูดถึงการที่ใครสักคนได้รับโอกาสสูงส่งให้ขึ้นครองราชย์สมบัติเป็นพระมหากษัตริย์ หลายคนอาจวาดฝันว่าการได้เป็นพระมหากษัตริย์ย่อมเป็นสิ่งที่สบาย ปราศจากแรงกดดันหรือภาระที่ต้องรับผิดชอบ บางคนก็อาจนึกไปว่า พระมหากษัตริย์มีพระราชอำนาจที่จะกระทำสิ่งใดก็ได้ตามพระราชประสงค์

สิ่งเหล่านี้เป็นแค่เรื่องที่อยู่ในโลกนิยายเท่านั้น เพราะสิ่งที่พระมหากษัตริย์ไทยแต่ละพระองค์ได้ทรงประสบพบเจอในแต่ละรัชกาลนั้น ไม่มีสิ่งไหนที่ทำให้เชื่อได้เลยว่า ทรงเสวยสุขด้วยความสะดวกสบายพระราชหฤทัยโดยไม่ต้องรับภาระหรือแรงกดดันใดๆ

ตำแหน่งอันสูงส่งย่อมมาพร้อมภาระความรับผิดชอบเสมอ ดังที่พระมหากษัตริย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 มีหน้าที่จะต้องอำนวยความสุขสมบูรณ์ให้แก่พสกนิกรในพระราชอาณาจักร

อย่างไรก็ดี แม้ประเทศไทยจะเปลี่ยนแปลงการปกครองมาสู่ระบอบรัฐธรรมนูญแล้ว แต่ภาระอันหนักอึ้งของพระมหากษัตริย์ก็มิเคยได้ทุเลาลง พระมหากษัตริย์ได้ทรงถูกเปลี่ยนแปลงพระราชฐานะ จากทั้งตำแหน่งประมุขของชาติและประมุขฝ่ายบริหาร คงไว้เหลือแต่เพียงตำแหน่งประมุขของชาติเท่านั้น

สำหรับประเทศไทย ช่วงที่ดูเหมือนว่าพระมหากษัตริย์จะไม่ต้องรับผิดชอบต่อบ้านเมืองและพสกนิกรของพระองค์มากนัก มีปรากฏอยู่เพียงแค่ระยะเวลาสั้นๆ ในประวัตศาสตร์เท่านั้น นั่นคือช่วงปี พ.ศ. 2478 – 2488 ซึ่งเป็นรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8

พระองค์ทรงครองราชย์เมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2478 หลังจากที่ในหลวงรัชกาลที่ 7 ทรงประกาศสละราชสมบัติขณะที่ทรงประทับรักษาพระเนตรอยู่ ณ ประเทศอังกฤษ และด้วยความที่ในหลวงรัชกาลที่ 8 ยังมีพระชนม์ที่อ่อนพรรษาเพียงแค่ 9 พรรษาเท่านั้น เมื่อทรงครองราชย์ จึงทรงถูกเรียกว่า “ยุวกษัตริย์” ซึ่งตลอดระยะเวลาที่พระองค์ทรงศึกษาอยู่ที่ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ผู้ที่ทำหน้าที่แทน “ยุวกษัตริย์” ในฐานะประมุขของชาติ ก็คือ คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ซึ่งได้รับการคัดเลือกโดยรัฐบาลคณะราษฎร

อย่างไรก็ดี ใช่ว่า “ยุวกษัตริย์” พระองค์นี้จะทรงประสบแต่ความราบรื่นในขณะที่ทรงประทับและศึกษาอยู่ที่ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ในห้วงเวลานั้นพระองค์รวมถึงสมเด็จพระราชชนนี (สมเด็จย่า) กลับได้รับแต่แรงกดดัน และการแสดงออกถึงความรังเกียจจากบุคคลฝ่ายต่างๆ ที่พยายามลดทอนพระเกียรติยศของพระมหากษัตริย์อยู่เสมอ ดังปรากฏข้อความในลายพระหัตถ์ส่วนพระองค์ของสมเด็จย่า ลงวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2478 ความว่า …

“… ถ้าคนรังเกียจหม่อมฉันที่ไม่ใช่เจ้า ก็ควรรังเกียจนันทและลูกหม่อมฉันทุกองค์ ถึงพ่อจะเป็นเจ้าใหญ่นายโตก็ตาม แต่ลูกจะรับแต่เลือดพ่อเท่านั้นไม่ได้ ต้องมีแม่อยู่ครึ่งหนึ่ง ถ้ารังเกียจกันและเห็นว่าหม่อมฉันไม่สมควรเป็นแม่กษัตริย์ก็เอาออกเสียแล้วกัน ก็หากษัตริย์ใหม่ที่แม่เป็นเจ้าด้วย จะได้สมเกียรติยศ …”

หลังจากนั้นก็มีข่าวเท็จลงในหนังสือพิมพ์ กล่าวหาว่าสมเด็จย่าได้เปลี่ยนไปนับถือคริสเตียน ข่าวเท็จนี้ได้สร้างความกระทบกระเทือนแก่พระทัยของสมเด็จย่ามาก ดังมีลายพระหัตถ์ส่วนพระองค์ ลงวันที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2479 ความว่า …

“… คนอยากหาเรื่องว่านันทกับหม่อมฉันอยู่เสมอ จะได้ทำให้คนเห็นว่าเลวไม่สมที่นันทจะเป็นกษัตริย์ หม่อมฉันเบื่อเสียเหลือทนทีเดียว อย่างนี้เมืองไทยจะเจริญไปได้อย่างไรได้คอยแต่หาเรื่องว่ากัน ทำอะไรไม่ดีสักอย่างเดียว คอยแต่หาผิด สิ่งที่ดีไม่มีเลย … นันทก็เหมือนเด็กธรรมดา หม่อมฉันจะยอมให้เป็นตุ๊กตามีเครื่องให้ไขตามใจไม่ได้ หม่อมฉันได้เขียนหนังสือไปถวายพระองค์เจ้าอาทิตย์หนึ่งฉบับแล้วเกี่ยวกับเรื่องการพวกนี้ และบอกว่านันทยินดีลาออกที่สุด ที่ต้องทนอยู่ก็นึกว่าจะทำประโยชน์ได้บ้าง เมื่อมาทำแต่เรื่องเสียเกียรติยศแล้วจะมานั่งทนอยู่ทำไม … หม่อมฉันรู้สึกว่าเรื่องนันทนั้นทรงปรึกษากับสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนริศฯ และคณะผู้สำเร็จราชการว่าจะลาออกดีไหม ถ้าลาออกจะกระทำความกระทบกระเทือนอะไรบ้าง สำหรับหม่อมฉันเองยินดีและเต็มใจอย่างที่สุด เพราะเบื่อในการเล่นละครในเรื่องที่ไม่รู้จักจบ …”

จะเห็นได้ว่า กระแสแรงกดดันต่อในหลวงรัชกาลที่ 8 (สมัยทรงเป็นยุวกษัตริย์) และสมเด็จพระราชชนนี (สมเด็จย่า) ในระยะเวลานั้นรุนแรงและกระทบกระเทือนใจกระทั่งว่า สมเด็จพระราชชนนีทรงมีพระราชประสงค์จะให้ในหลวงรัชกาลที่ 8 ลาออกจากการเป็นพระมหากษัตริย์เลยทีเดียว

ทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นว่า ในช่วงที่ในหลวงรัชกาลที่ 8 ขึ้นครองราชย์นั้น เป็นช่วงเวลาที่เต็มไปด้วยแรงกดดันนานับประการ ของยุวกษัตริย์ผู้ซึ่งแทบไม่มีพระราชอำนาจใดๆ เลย และเป็นรัฐบาลคณะราษฎรเองต่างหากที่พยายามดึงพระองค์เข้ามาอยู่ในเกมการเมือง เพียงเพื่อผลประโยชน์ของคนบางกลุ่ม

และสมเด็จพระราชชนนีคือผู้ที่อยู่เคียงข้าง รวมทั้งคอยดูแลปกป้องในหลวงรัชกาลที่ 8 จากอำนาจของรัฐบาลคณะราษฎรมาโดยตลอด สิ่งเหล่านี้ย่อมพิสูจน์ชัดเจนว่า การที่มีผู้ออกมาโจมตีพระองค์ว่าทรงอยู่เบื้องหลังรัฐบาลและทรงต้องการซึ่งอำนาจนั้น จึงเป็นเพียงแค่คำกล่าวหาใส่ร้ายที่ไม่มีมูลความจริงใดๆ เลย

อ้างอิง :

[1] สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์, เจ้านายเล็ก ๆ – ยุวกษัตริย์. (กรุงเทพฯ : 2559). มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์.