‘สถาปนาตนเอง’ แผนจอมพล ป. ที่คณะราษฎรตีตก เพราะขัดต่ออุดมการณ์

นับตั้งแต่การยุติกรณีพิพาทอินโดจีนเมื่อวันที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2484 เป็นต้นมา เรียกได้ว่าเกือบตลอดทั้งปีนั้นถือเป็นยุคเฟื่องฟูที่สุดของจอมพล ป. พิบูลสงคราม โดยในวันที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2484 ได้มีพระราชกฤษฎีกาแต่งตั้งให้ จอมพลพิบูลสงคราม (ตำแหน่งเรียกในขณะนั้น) มีอำนาจสิทธิ์ขาดแต่ผู้เดียว ในการสั่งทหารสามเหล่าทัพ อันเป็นอำนาจพิเศษยิ่งกว่าผู้บัญชาการทหารสูงสุดอื่น ๆ

แต่ดูเหมือน “ท่านผู้นำ” คนนี้ยังคงมีความพยายามมุ่งมั่น ในการสถาปนาตนเองให้มีฐานะและอำนาจสูงขึ้นไปอีก โดยไม่ไว้หน้าต่อเจตนารมณ์และอุดมการณ์ของเหล่าคณะราษฎรเลยแม้แต่น้อย

ดังเช่นกรณีวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2484 จอมพลพิบูลฯ ได้เสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ให้บัญญัติกฎหมายยกเลิกบรรดาศักดิ์ไทยเดิม โดยสถาปนา “ฐานันดรศักดิ์” (Lordshin) ตามแบบฝรั่งขึ้นใหม่ คือ ดยุค, มาควิส, เคานท์, ไวสเคานท์, บารอน ฯลฯ โดยตั้งศัพท์ใหม่ขึ้นเพื่อใช้สำหรับฐานันดรศักดิ์เจ้าศักดินาใหม่ คือ สมเด็จเจ้าพญา, ท่านเจ้าพญา, เจ้าพญา, ท่านพญา ฯลฯ ส่วนภรรยาของฐานันดรศักดินาใหญ่นั้นให้เติมคำว่า “หญิง” ไว้ข้างท้าย เช่น “สมเด็จเจ้าพญาหญิง”

ต่อมาหลวงวิจิตรวาทการ ได้เสนอเพิ่มเติมให้ฐานันดรศักดินามีคำว่า “แห่ง” (of) ต่อท้ายด้วยชื่อแคว้นหรือบริเวณท้องที่ เช่น สมเด็จเจ้าพญาแห่งแคว้น…, พญาแห่งเมือง… เหมือนกับฐานันดรเจ้าศักดินายุโรป เช่น ดยุค ออฟ… ซึ่งฐานันดรเจ้าศักดินาใหม่นี้จะประกาศแต่งตั้งให้แก่รัฐมนตรี ข้าราชการไทย ตามลำดับยศ ตำแหน่ง และเครื่องราชอิสริยาภรณ์สายสะพาย

นั่นหมายความว่า จะมีผู้ได้รับบรรดาศักดิ์ใหม่เป็น “สมเด็จเจ้าพญาชาย” ทันที ตามหลักเกณฑ์ที่ว่า ผู้ได้รับสายสะพายนพรัตน์เท่านั้นจึงจะได้รับตำแหน่งนี้ ซึ่งผู้นั้นจะเป็นใครไปไม่ได้นอกจาก จอมพลพิบูลสงคราม เพียงผู้เดียว ส่วนภรรยาของท่านผู้นำ ซึ่งได้ตำแหน่งท่านผู้หญิงและพันเอกหญิงไปแล้ว ก็จะได้รับบรรดาศักดิ์ใหม่เป็น “สมเด็จเจ้าพญาหญิง” เช่นกัน

โดยฐานันดรเจ้าศักดินาใหม่นั้น อนุญาตให้ทายาทสืบสันตติวงศ์ได้ เหมือนในยุโรปและญี่ปุ่น ฟังดูช่างคล้ายกับการกรุยทางขึ้นสู่อำนาจการปกครองของนายพล นโปเลียน โบนาปาร์ต ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่านายพล นโปเลียน ได้ขยับฐานะตัวเองขึ้นทีละก้าว จากผู้บัญชาการกองทัพ ขึ้นเป็นกงสุลคนหนึ่งในคณะกงสุล 3 คน ที่มีอำนาจสิทธิ์ขาดปกครองประเทศฝรั่งเศส และในที่สุดนายพล นโปเลียน โบนาปาร์ต ก็ได้เถลิงอำนาจขึ้นเป็นจักรพรรดินโปเลียนแห่งฝรั่งเศส ซึ่งมีสิทธิ์เด็ดขาดในการตั้งทายาทสืบตำแหน่งต่อไป

แต่ทว่ารัฐมนตรี ที่เป็นผู้ก่อการคณะราษฎรจำนวนหนึ่ง รวมทั้งนายปรีดี พนมยงค์ ได้โต้คัดค้านเสียงแข็งในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ว่าข้อบัญญัติกฎหมายดังกล่าว “ขัดต่ออุดมคติของคณะราษฎร” ทำให้จอมพลพิบูลฯ ไม่พอใจมาก เลยเสนอให้ที่ประชุมเลือกเอาสองทาง คือทางหนึ่งตกลงตามแผนสถาปนาฐานันดรเจ้าศักดินาอย่างใหม่ หรือไม่ก็ต้องเลือกทางที่สองคือ เวนคืนบรรดาศักดิ์เดิมทุกคน

ปรากฏว่ารัฐมนตรีส่วนมากลงมติเลือกทางเวนคืนบรรดาศักดิ์เดิม ทำให้จอมพลพิบูลฯ แพ้เสียงข้างมากในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี จากนั้นจอมพลพิบูลฯ จึงเสนอว่า เมื่อเวนคืนบรรดาศักดิ์แล้ว ผู้ใดจะใช้ชื่อและนามสกุลเดิม หรือเปลี่ยนนามสกุลตามชื่อบรรดาศักดิ์เดิมก็ได้

นายปรีดี พนมยงค์ กับรัฐมนตรีส่วนหนึ่งจึงกลับไปใช้ชื่อและนามสกุลเดิม ส่วนจอมพลพิบูลฯ ได้เปลี่ยนนามสกุลจาก “ขีตตะสังคะ” มาใช้ตามราชทินนามว่า “พิบูลสงคราม” และย่อชื่อ “แปลก” ลงเหลือแค่ ป. กลายเป็นชื่อเรียกที่รู้จักกันดีว่า จอมพล ป. พิบูลสงคราม

ทั้งหมดนี้คือภาพตั้งต้นของเหตุการณ์ที่สำคัญเรื่องหนึ่ง ในยุคที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม เรืองอำนาจ และพอจะคาดการณ์ให้เห็นภาพรวมต่อไปได้ว่า ถนนแห่งการสถาปนาตนเองของ “ท่านผู้นำ” คนนี้ จะมีปลายทางสิ้นสุด ณ จุดไหน

ดังจะเห็นได้จากคำกล่าวของ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา อดีตประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ที่ได้ให้การเป็นพยานในคดีอาชญากรสงคราม ที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม ถูกไต่สวนเป็นจำเลยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งมีความตอนหนึ่งรับกันกับคำฟ้องของนายปรีดี พนมยงค์ ดังนี้

ข้าพเจ้ารู้สึกว่า จอมพล ป.ฯ นั้น กระทำการเพื่อจะเป็นพระเจ้าแผ่นดินเสียเอง แล้วภรรยาจอมพล ป.ฯ ก็มีความมักใหญ่ใฝ่สูงทำนองเดียวกัน เอารูปไปฉายในโรงหนัง ให้คนทำความเคารพโดยมีการบังคับ ในการทำบุญวันเกิดก็ทำเทียมวันเฉลิมพระชนม์พรรษาของพระเจ้าแผ่นดิน เช่น มีตราไก่กางปีกประดับธงทิวทำนองเดียวกับตราครุฑ หรือตราพระบรมนามาภิไธยย่อ และได้สร้างเก้าอี้ขึ้นทำนองเดียวกับ เก้าอี้โทรนของพระเจ้าแผ่นดิน เว้นแต่ใช้ตราไก่กางปีกแทนตราครุฑเท่านั้น...