เงินถุงแดง เรื่องลวงหรือเรื่องจริง

ไม่นานมานี้ ได้มีประเด็นพูดถึงกันอย่างกว้างขวาง ในโลกออนไลน์ว่า จากเหตุการณ์ ร.ศ. 112 ฝรั่งเศสได้เรียกร้องให้ไทย “ยกดินแดน” และ “ชำระค่าปฏิกรรมสงคราม” เป็นจำนวนสูงถึง 3 ล้านฟรังค์ และเงินทั้งหมดที่นำมาใช้จ่ายนั้น เป็นเงินภาษีจากการปฏิรูประบบต่าง ๆ ของประเทศในสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งเป็นเงินภาษีจากประชาชนทุกภาคส่วน

ไม่ใช่เงินถุงแดงในสมัยรัชกาลที่ 3 ซึ่ง “ไม่มีจริง” และเป็นแค่ตำนานบอกเล่าต่อ ๆ กันมา

คำพูดดังกล่าวข้างต้น มีความคลุมเครือไม่ถูกต้องหลายจุด และมุ่งแต่ประเด็นคำถามเรื่อง “การมีอยู่จริงหรือไม่” ของเงินถุงแดง จนคาบเกี่ยวอยู่บนเส้นของคำว่า “อคติ”

ข้อเท็จจริงที่ควรพิจารณา

ประการแรก ฝรั่งเศส “ไม่เคยเรียกร้อง” ให้ไทยยกดินแดน เพราะฝรั่งเศสใช้เล่ห์เหลี่ยม ตั้งประเด็นต่อสู้กับสยาม ตามข้อเรียกร้องที่ โอกุสต์ ปาวี ยื่นคำขาดในวันที่ 20 กรกฎาคม ร.ศ.112 ว่า ไทยไม่เคยมีกรรมสิทธิ์เหนือดินแดนลาว หากแต่ผืนแผ่นดินฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงเป็นกรรมสิทธิ์ของญวนมาตั้งแต่ต้นต่างหาก ดังนั้นความพิพาทที่เกิดขึ้น ฝรั่งเศสอ้างว่ามาจากการที่ไทยล่วงล้ำอธิปไตยประเทศราชของดินแดนอาณานิคมฝรั่งเศส

ประการต่อมา ฝรั่งเศสไม่ได้เรียกร้องค่าปฏิกรรมสงครามเป็นจำนวนเงิน 3 ล้านฟรังค์ และเงินดังกล่าวเป็นเงินวางมัดจำเพื่อยุติข้อพิพาท ซึ่งเป็นไปตามข้อเรียกร้องของ โอกุสต์ ปาวี โดยให้รัฐบาลสยามวางหลักประกันเป็นเงินเหรียญ จำนวน 3 ล้านฟรังค์ เพื่อค้ำประกันในการที่ไทยจะต้องจ่ายค่าทำขวัญทหารที่ได้รับบาดเจ็บ และหากไม่จ่ายเงินมัดจำ สยามจะต้องยอมยกสิทธิการเก็บภาษีในเมืองพระตะบองและเสียมราฐแทน

โดยรัฐบาลสยามต้องยอมรับข้อเรียกร้องทั้งหมดของฝรั่งเศสภายใน 48 ชั่วโมง ซึ่งทางรัฐบาลได้มีการตอบรับเรียบร้อย หากแต่ก็ได้มีการเจรจายืดเวลา เพื่อทำความเข้าใจในรายละเอียดข้อเรียกร้อง ออกไปจนถึงเดือนสิงหาคม

ดังนั้น การจ่ายเงิน 3 ล้านฟรังค์ จึงเป็นการ “วางเงินประกันให้แก่ฝรั่งเศส” ส่วนค่าปฏิกรรมสงคราม จะถูกแยกออกต่างหากเป็นจำนวนเงิน 2 ล้านฟรังค์

ในด้านเอกสาร หนังสือพิมพ์ Le Monde illustré วันที่ 18 พฤศจิกายน 1893 ได้ลงรายละเอียดว่าไทยจ่ายเงินมัดจำแก่ฝรั่งเศส 3 ล้านฟรังค์ เป็นจำนวนเหรียญ 801,282 เหรียญ ซึ่งสอดคล้องตรงกับเอกสารทางราชการของไทย ที่ระบุถึงการจ่ายเงินจากท้องพระคลังเป็นจำนวน 801,282 เหรียญดอลลาร์ กับอีก 50 เซนต์ และสอดคล้องกับหนังสือ The People and Politics of the Far East 1895 ที่ระบุว่าไทยจ่ายเป็นเงินดอลล่าร์(Silver Dollar) จำนวน 2.5 ล้านฟรังค์ และออกเป็นเช็คสั่งจ่าย 5 แสนฟรังค์

สำหรับเอกสารราชการของไทย กรมขุนนริศรานุวัติวงศ์ เสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ ได้ทำหนังสือกราบบังคมทูลถึงรายละเอียดการจ่ายเงินมัดจำ ณ เรืออาลูเอตต์ วันที่ 20สิงหาคม ร.ศ.112 ว่าเป็นการจ่ายเงินจากท้องพระคลัง (ไม่ใช่พระคลังข้างที่) จำนวน801,282.05 เหรียญ หรือเท่ากับ 1,335,470 บาท 05 อัฐ มูลค่าเท่ากับ 2.5 ล้านฟรังค์

ส่วนเงินที่เหลือ 160,256.41 เหรียญ หรือเท่ากับ 267,094 บาท 01 อัฐ มูลค่าเท่ากับ 5แสนฟรังค์ จ่ายเป็นเช็คสั่งจ่ายธนาคาร HSBC สาขาไซ่ง่อน โดยเสียค่าส่ง 1% คิดเป็นเงิน1,620.56 เหรียญ หรือ 2,670 บาท 60 อัฐ รวมเงินทั้งหมดที่จ่ายไป 963,141.02 เหรียญ หรือเท่ากับ 1,605,235 บาท 02 อัฐ

ดังนั้น ข้อเท็จจริงสำหรับการจ่ายค่าปรับ ไม่จำเป็นต้องไปคำนวนหรือเทียบเคียง เพราะเอกสารราชการฝ่ายไทย มีระบุไว้ชัดเจน ส่วนเอกสารการรับเงิน ก็ไม่ต้องไปค้นในบันทึกกระทรวงการต่างประเทศฝรั่งเศสให้เสียเวลา เพราะเรืออาลูเอตต์ ออกจากสยามมุ่งหน้าไปเทียบท่าที่ไซ่ง่อน และทางสยามสั่งจ่ายเช็คไปที่ธนาคาร HSBC สาขาไซ่ง่อน

นั่นหมายความว่า เงินส่วนนี้ไม่ได้วิ่งไปที่ฝรั่งเศส หากแต่ควรจะนำไปใช้จ่ายในกิจการดินแดนอาณานิคมอินโดจีนนั่นเอง

เงินถุงแดงมีจริงหรือไม่ ?

ในรัชสมัยของในหลวง รัชกาลที่ 3 อังกฤษได้ส่งร้อยเอกเฮนรี เบอร์นี เข้ามาเจรจาสนธิสัญญาทางการค้า ซึ่งเป็นสนธิสัญญาระหว่างประเทศฉบับแรก ทำให้สยามเริ่มเปิดเสรีทางการค้า โดยพระคลังสินค้าได้ลดบทบาทการผูกขาดลงมา และยอมเปิดโอกาสให้ชาวอังกฤษสามารถเข้ามาค้าขายกับเอกชนในสยามได้โดยตรงเป็นครั้งแรก

แม้สนธิสัญญาเบอร์นีจะส่งผลให้รายได้เงินแผ่นดินลดลง แต่ด้วยพระอัจฉริยภาพของในหลวง รัชกาลที่ 3 ที่ได้ทรงปฏิรูประบบภาษีอากรใหม่ โดยเปิดให้เอกชนประมูลเก็บภาษีแทนรัฐ และรวมถึงเริ่มหันมาเก็บอากรเป็นตัวเงินแทนการส่งส่วยสิ่งของ ซึ่งเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนหันมาค้าขายกันเองอย่างเสรีมากขึ้น

มาตราการเหล่านี้ ทำให้การค้าของสยามเฟื่องฟู พ่อค้าต่างชาติเข้ามาค้าขายกับเอกชนไทยมากขึ้น ในที่สุด “ตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราจึงเกิดขึ้น” ส่งผลให้รัฐต้องมีการสร้างทุนสำรองเงินตรา เพื่อพยุงเสถียรภาพของค่าเงินบาท

ดังนั้นการที่ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงมีความเห็นว่าเงินถุงแดงของรัชกาลที่ 3 มีไว้ใช้ในยามยุคเข็ญ อาจเป็นความเข้าใจส่วนตัว เพราะหลังจากรัชสมัยของในหลวง รัชกาลที่ 3 เป็นต้นมา รัฐบาลสยามได้ตั้งทุนสำรองเงินตราเอาไว้ สำหรับให้ชาวต่างชาติขอแลกเงินคืนได้ตลอดเวลา

ตราประทับรูปมงกุฎและจักรบนเหรียญนก : เครดิตภาพจาก Insignia_Museum Blog

เหรียญเงินนกผลิตที่เม็กซิโกในปี พ.ศ. 2079 (ค.ศ. 1536) : เครดิตภาพจาก Facebook โกวิท วงศ์สุรวัฒน์

ในรัชสมัยของในหลวง รัชกาลที่ 5 หลังพ.ศ. 2435 รายได้และรายจ่ายทุกประเภท จะถูกนับเป็นเงินแผ่นดินทั้งหมด ดังนั้นในวิกฤต ร.ศ.112 การที่ฝรั่งเศสเรียกร้องให้สยามจ่ายเงินค้ำประกันเพื่อการชดใช้ค่าปรับในข้อพิพาท “จึงเป็นการนำเงินแผ่นดินไปจ่ายอย่างแน่นอน”

ส่วนคำถามว่าเงินที่จ่ายเป็นเงินจากส่วนไหน สำหรับเรื่องนี้ สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ ได้ให้คำตอบไว้แล้วตามหนังสือคำกราบบังคมทูล ลงวันที่ 23 สิงหาคม 2436 ว่าจ่ายเงินจากท้องพระคลัง ดังนั้นเงินที่จ่ายค่ามัดจำให้ฝรั่งเศส จึงควรมาจากรายการงบประมาณประจำปี และรายการที่เป็นไปได้มากที่สุด ก็น่าจะเป็นเงินพระบรมราชโองการ เพราะเป็นรายจ่ายที่สูงเพิ่มขึ้นผิดปกติเฉพาะในงบประมาณปี พ.ศ. 2436 เพียงปีเดียว แล้วต่อมาก็ลดลงไปอยู่ในระดับปกติในปีงบประมาณอื่น ๆ

แต่ทั้งนี้ ก็ไม่ได้หมายความว่าเงินถุงแดงจะไม่มีอยู่จริง เนื่องจากพัฒนาการทางการค้าและเศรษฐกิจที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญหลังสนธิสัญญาเบอร์นี และการตั้งทุนสำรองเงินตราของสยาม ต่างตอกย้ำถึง “ความหมายที่แท้จริง” และ “การมีอยู่จริง” ของเงินถุงแดง หากแต่จำนวนมูลค่าของเงินถุงแดงจะมีสักเพียงไรนั่นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

จากข้อมูลทั้งหมด จึงสรุปได้ว่า “เงินถุงแดงมีอยู่จริง” จากการค้าเสรีที่เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 เรื่อยมาจนกระทั่งรัฐบาลได้ตั้งทุนสำรองเงินตราต่างประเทศเอาไว้ และเงินถุงแดงก็ได้ถูกใช้ในการจ่ายค่ามัดจำให้กับฝรั่งเศสจริง โดยสมทบเข้ากับเงินคงคลังของประเทศ ทำให้สยามผ่านพ้นวิกฤติ ร.ศ.112 มาได้

ดังนั้นการถกเถียงกันว่า เงินที่จ่ายค่าปรับฝรั่งเศสเป็นเงินถุงแดงทั้งหมด หรือเงินถุงแดงเป็นเพียงแค่ตำนานที่ไม่มีจริง จึงไม่ใช่สาระสำคัญในทางวิชาการเลย ถ้าหากกล่าวด้วยสำนวนของล้นเกล้ารัชกาลที่ 4 ก็ความประมาณว่า “ความไม่เป็นถ้อย หมอยไม่เป็นขน” ไม่ใช่เรื่องที่เราจะต้องเอามาเป็นธุระใส่ใจกันมากนัก

ที่มา :

[1] หอจดหมาเหตุแห่งชาติ สำเนาแปลที่ 8382 นายปาวีกราบทูลกรมหลวงเทวะวงศ์วโรปการ ลงวันที่ 20 กรกฎาคม (เรื่องข้อเรียกร้อง 6 ข้อ)
[2] หนังสือพิมพ์ Le Monde illustré วันที่ 18 พฤศจิกายน 1893
[3] หนังสือ The People and Politics of the Far East 1895
[4] หอจดหมาเหตุแห่งชาติ หนังสือกราบบังคมทูลของกรมขุนนริศรานุวัติวงศ์ ลงวันที่ 23 สิงหาคม ร.ศ.112
[5] สนธิสัญญาทางพระราชไมตรีระหว่างประเทศอังกฤษและประเทศสยาม จ.ศ.1188
[6] สาส์นสมเด็จ เล่ม 13
[7] พวงทิพย์ ไพรสัณฑ์. ประมวลรายรับและรายจ่ายของประเทศไทย ตั้งแต่ พ.ศ.2435-2517. กรุงเทพฯ: คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 2519
[8] ประชุมประกาศรัชกาลที่ 4 ภาคปกิณกะส่วนที่ 2

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า