จาก “บุคคลัภย์” สู่ “ธนาคารไทยพาณิชย์” การป้องกันการถูกล่าอาณานิคมทางการเงินของรัชกาลที่ 5

ในสมัยรัชกาลที่ 4 สยามได้เริ่มเปิดประตูทางการค้ากับต่างประเทศ ทำให้เริ่มมีธนาคารของชาติตะวันตกเข้ามาเปิดให้บริการในกรุงเทพฯ โดยเน้นให้บริการด้านการค้าระหว่างประเทศและการค้าเงินตราต่างประเทศ

ต่อมาเศรษฐกิจของไทยขยายตัวมากขึ้น ในยุคแห่งการปฏิรูปประเทศของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ถือเป็นแรงกระตุ้นสำคัญให้เกิดธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทย เพื่อเป็นตัวกลางในการหมุนเวียนเงินทุนสำหรับการสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โครงการคมนาคมขนาดใหญ่ช่วงปี พ.ศ. 2429 – 2430

ธนาคารของต่างชาติ จึงเริ่มหลั่งไหลเข้ามาเปิดให้บริการในสยาม โดยในวันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2431 ธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้ ธนาคารพาณิชย์ของอังกฤษ มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ฮ่องกง เข้ามาจัดตั้งสาขาในประเทศไทยเป็นธนาคารพาณิชย์แรก ต่อมาในปี พ.ศ. 2437 ธนาคารชาร์เตอร์ ธนาคารของอังกฤษอีกเช่นกัน ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงลอนดอน ก็ได้เข้ามาจัดตั้งสาขาขึ้นเป็นธนาคารพาณิชย์อันดับที่ 2 และ ในปี พ.ศ. 2439 ธนาคารแห่งอินโดจีนของฝรั่งเศส ก็ได้เข้ามาจัดตั้งสาขาเป็นธนาคารที่ 3

อีกทั้งในช่วงนี้ ยังมีชาวอังกฤษคบคิดกันจะตั้ง “แบงก์หลวงกรุงสยาม” กำหนดทุนจดทะเบียน 1 ล้านปอนด์สเตอร์ลิง โดยให้คนไทยซื้อหุ้นได้ไม่เกิน 50% ส่อเค้าว่าจะนำไปสู่การยึดการคลังของประเทศ

ด้วยเหตุนี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นมหิศรราชหฤทัย เสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ ซึ่งตามเสด็จประพาสยุโรป เพื่อดูงานการธนาคารมาเป็นเวลา 9 เดือน จึงทรงดำริตรงกันที่จะตั้งสถาบันการเงินของไทยขึ้นบ้าง

ในที่สุด “บุคคลัภย์” (Book Club) ก็ได้ถูกจัดตั้งขึ้นมา เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2447 ด้วยเงินทุนเพียง 30,000 บาท เป็นสถาบันการเงินแห่งแรกของคนไทย เริ่มทดลองดำเนินกิจการโดยใช้ตึกแถวสองชั้นของกรมพระคลังข้างที่ ตำบลบ้านหม้อ พระนคร เป็นสำนักงาน และทรงออกหนังสือแจ้งความเรื่องตั้งบุคคลัภย์ว่าเป็นกิจการห้องสมุดสาธารณะ ในขณะที่การดำเนินงานที่แท้จริงคือธุรกิจธนาคารพาณิชย์ เนื่องจากทรงไม่แน่ใจว่าการดำเนินการจะสำเร็จหรือไม่

ในระยะแรก บุคคลัภย์ดำเนินธุรกิจรับฝากและให้กู้เงิน ต่อมาในเดือนมกราคม พ.ศ. 2448 ก็เปิดบริการบัญชีกระแสรายวัน และเพื่อจะดำเนินการเกี่ยวกับการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นมหิศรราชหฤทัย จึงขอพระบรมราชานุญาตจัดตั้งเป็นบริษัทจำกัด

ต่อมาเมื่อการดำเนินงานประสบความสำเร็จ บุคคลัภย์จึงได้เปลี่ยนกิจการเป็นธนาคารอย่างสมบูรณ์แบบ โดยได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตพิเศษ จากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก่อตั้งเป็น “บริษัท แบงก์สยามกัมมาจล ทุนจำกัด” หรือ “แบงก์สยามกัมมาจล” เมื่อวันที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2449 ถือเป็นธุรกิจธนาคารพาณิชย์แห่งแรกของประเทศไทยอย่างเป็นทางการ โดยได้รับพระราชทาน ตราอาร์มแผ่นดินให้เป็นตราประจำธนาคาร

วันที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2482 “บริษัท แบงก์สยามกัมมาจล ทุนจำกัด” (The Siam Commercial Bank, Limited) ได้เปลี่ยนชื่อเป็น “ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด” ( The Thai Commercial Bank, Limited ) ตามการเปลี่ยนแปลงชื่อประเทศจาก สยาม เป็น ไทย โดยมีสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์และกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ และภายหลัง ในปี พ.ศ. 2489 ได้เปลี่ยนชื่อภาษาอังกฤษกลับมาเป็น The Siam Commercial Bank, Limited ดังเดิม

ต่อมาในปี พ.ศ. 2518 ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด ได้เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ แล้วเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น “ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)” (Siam Commercial Bank Public Company Limited) ซึ่งเป็นชื่อที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน โดยมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่บริเวณถนนรัชดาภิเษก ใกล้สี่แยกรัชโยธิน

ธนาคารไทยพาณิชย์ ถือเป็นธนาคารไทยแห่งแรก ก่อตั้งโดยพระบรมราชานุญาตในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีบทบาทสำคัญในการให้บริการทางการเงินในประเทศมาอย่างยาวนาน และเป็นหนึ่งเฟืองจักรสำคัญในการขับเคลื่อนพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ มาอย่างต่อเนื่องจวบจนถึงปัจจุบัน