เมื่อเรื่องนายกฯ พระราชทาน เป็นได้แค่คำหลอกลวง

มีข่าวลือกันว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะถอดใจก้าวลงจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
มีข่าวลือกันว่า จะมีการแต่งตั้ง “นายกฯ พระราชทาน” ขึ้นเป็นผู้นำใหม่ในการเปลี่ยนม้ากลางศึกครั้งนี้
สุดท้ายไม่ทันค่อนคืน ข่าวลือก็ปะทุจากเชื้อฟืนขึ้นเป็นกองไฟ ลามไหม้กลายเป็นกระแสปั่น สร้างความสับสนขึ้นในภาวะวิกฤตนี้อีกจนได้

เรื่องโกหกปั่นกระแส

มีการปั่นแฮชแท็กในโลกออนไลน์ว่า จะมีการแต่งตั้ง “นายกฯ คนนอก” ขึ้น ถ้าพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออกจากการเป็นนายกรัฐมนตรี

และมีการสร้างวาทกรรมคลุมเครือว่า “นายกฯ คนนอก” คือ “นายกฯ พระราชทาน” ด้วยคำกล่าวที่ว่า “ตอนทำรัฐธรรมนูญปี 2550 มีมาตราที่เปิดทางให้องค์กรอรหันต์เข้ามาแก้วิกฤตการเมือง พอมารัฐธรรมนูญปี 2560 ยิ่งไปกันใหญ่ เพราะได้มีการกำหนดในมาตรา 272วรรคสอง เปิดทางให้มีนายกรัฐมนตรีนอกบัญชีได้ และนี่คือการ ‘ติดตั้งนายกฯ พระราชทาน’” ซึ่งถือเป็นการแทรกแซงทางการเมืองของพระมหากษัตริย์

ข้อเท็จจริง

เรื่องนี้เป็นการบิดเบือนชนิด จับแพะชนแกะเป็นอย่างมาก

โดยการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนนอก (บัญชีรายชื่อพรรคการเมือง) ได้ถูกกำหนดชัดเจน และรับรองเป็นลายลักษณ์อักษรในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 272 วรรคสอง ซึ่งการตัดสินใจสุดท้ายระดับชาติว่าจำเป็นจะต้องมี “นายกฯ คนนอก” หรือไม่ ปัจจัยชี้ขาดอยู่ที่ “รัฐสภา” โดยต้องอาศัยเสียงของรัฐสภา ทั้ง สภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา ตามขั้นตอนต่อไปนี้

  1. ส.ส. 250 เสียง ยื่นเรื่องเสนอต่อสภาฯ ขอเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีที่อยู่นอกบัญชีรายชื่อพรรคการเมือง
  2. หากได้รับการรับรองจากเสียง 2 ใน 3 ของทั้งสภาฯ (500 จาก 750) ก็สามารถเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีได้
  3. เมื่อผู้ได้รับการเสนอชื่อ ได้รับ “เสียงข้างมาก” เกินกึ่งหนึ่ง (251+) จากสภาผู้แทนราษฎร คนที่ได้รับเลือกก็จะเป็นนายกรัฐมนตรี

การถืออำนาจสภาฯ เป็นใหญ่นี้ ถือเป็นประเพณีการปกครองแบบประชาธิปไตย โดยอำนาจสูงสุดเป็นของรัฐสภา (Parliamentary Supremacy) โดยที่ฝ่ายบริหารมาจากรัฐสภา และต้องรับผิดชอบต่อรัฐสภา เพราะเป็นผู้แทนของประชาชน

ขั้นตอนข้างต้น เป็นขั้นตอนที่พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ (Royal Prerogative) ไม่สามารถแทรกแซงได้ ไม่ว่าวิธีการใด ๆ การตัดสินใจของรัฐสภาถือเป็นข้อชี้ขาด

ดังนั้นกระบวนการให้ได้มาซึ่งนายกรัฐมนตรีคนนอกนี้ จึงเป็นมติตามเสียงข้างมากของสภาผู้แทนราษฎร และไม่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์แต่ประการใด จึงไม่ใช่ “นายกฯ พระราชทาน”

แล้ว “นายกฯ พระราชทาน” คืออะไร ?

“นายกฯ พระราชทาน” หรือ นายกฯ ที่มาจากการแต่งตั้งของพระมหากษัตริย์ เป็นรูปแบบการใช้พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ (Royal Prerogative) ในระบอบประชาธิปไตยที่สืบทอดมาจากประเพณีการปกครองดั้งเดิม

โดยในอดีต มักมีการระบุข้อความไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว (หลังจากเกิดการปฏิวัติรัฐประหาร) ว่า “ในเมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้บังคับแก่กรณีใด ให้วินิจฉัยกรณีนั้นไปตามประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข”

ข้อความข้างต้นถือเป็นการอุดช่องว่างทางกฎหมาย เนื่องจากธรรมชาติของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวมักมีเนื้อหาสั้นและไม่ละเอียด ข้อความดังกล่าวจึงเป็นการตีความภายหลังว่า การตั้งนายกรัฐมนตรีโดยพระมหากษัตริย์นั้นสามารถกระทำได้

หลายคนจึงเรียกขั้นตอนดังกล่าวอย่างไม่เป็นทางการว่า “นายกฯ พระราชทาน”

กระทั่งมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 มาตราจากที่เคยระบุไว้ในฉบับชั่วคราว ก็ได้มาปรากฏในรัฐธรรมนูญฉบับถาวรเป็นครั้งแรก ในมาตรา 7 ต่อมาจึงมีการเรียก  “นายกฯ พระราชทาน”  เสียใหม่ว่า “นายกมาตรา 7”

โดยฉบับปัจจุบัน รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ได้ระบุไว้ในมาตรา 5

แต่ทั้งนี้มาตรา 5 พระมหากษัตริย์ทรงไม่สามารถใช้ในสถานการณ์ปกติได้ ต้องสงวนไว้ใช้ในสถานการณ์พิเศษเท่านั้น เช่น เกิดวิกฤตทางการเมืองอย่างรุนแรง กระทั่งไม่มีผู้ใดรับเป็นผู้สนองพระบรมราชโองการ หรือไม่มีตำแหน่งนายกรัฐมนตรีที่จะอำนวยการในการบริหารประเทศ ณ ขณะนั้น

วิกฤตการณ์เช่นนี้ การโปรดเกล้าตั้งนายกรัฐมนตรีเป็นสิ่งที่กระทำได้ เนื่องจากเป็นรูปแบบการใช้พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ (Royal Prerogative) ตามระบอบประชาธิปไตยที่สืบทอดมาจากประเพณีการปกครองในอดีต ซึ่งในกรณีนี้ประเทศอังกฤษก็รับรองมาจนถึงปัจจุบัน

ดังนั้น “นายกฯ คนนอก” กับ “นายกฯ พระราชทาน” จึงเป็นคนละเรื่องกัน ต่างมาตราและต่างสถานการณ์กันอีกด้วย

กล่าวคือ “นายกฯ คนนอก ตามมาตรา 272” สามารถใช้ได้ในสถานการณ์ที่ “รัฐสภา” อันเป็นองคาพยพที่สำคัญที่สุดในระบอบประชาธิปไตยยังสามารถทำงานต่อไปได้

แต่ “นายกฯ พระราชทาน ตามมาตรา 5” ถือว่าเป็น “ไพ่ใบสุดท้าย” ในการแก้ไขวิกฤตการณ์ทางการเมือง เนื่องจากองคาพยพที่สำคัญของประเทศ เช่น รัฐบาล และ รัฐสภา ไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ทางการเมืองให้เป็นปกติได้อีกต่อไป

ซึ่งในกรณีของประเทศไทย ภายใต้บทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 กระทั่งถึง พ.ศ. 2560  พระมหากษัตริย์ไทยทรงยังมิเคยมีพระราชโองการแต่งตั้ง นายกฯ พระราชทานตามบทบัญญัติดังกล่าวแม้แต่ครั้งเดียว

ยิ่งในสถานการณ์ปัจจุบัน ไม่ว่าไพ่จะออกหน้าไหน “นายกฯ พระราชทาน” ก็ไม่มีทางเป็นไปได้ เพราะรัฐสภายังมีเอกภาพ สามารถทำงานต่อไปได้ และปัญหาทางการเมืองย่อมต้องแก้ด้วยการเมือง พระมหากษัตริย์จะไม่ทรงลงมายุ่งเกี่ยวกับฝ่ายการเมืองแน่นอน

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนคือ กรณีวิกฤตการณ์การเมือง พ.ศ. 2548 ที่กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และฝ่ายค้านในเวลานั้นอย่างพรรคประชาธิปัตย์ พยายามเสนอขอ “นายกฯ พระราชทาน” แต่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ไม่ทรงตอบรับ และทรงมีรับสั่งชัดเจนในวันที่ 25 เมษายน 2549 ว่าเป็นเรื่องไม่ถูกต้องและไม่เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย

ทั้งหมดนี้เป็นข้อพิสูจน์ว่า พระมหากษัตริย์ทรงอยู่เหนือการเมือง อย่างแท้จริง ทั้งยังเป็นสิ่งที่ควรมองและชั่งน้ำหนักให้ถ่องแท้ เมื่อได้รับข่าวสารที่ส่งต่อกันมารอบด้าน เพื่อสถานการณ์ที่ดีขึ้นท่ามกลางวิกฤตที่เรากำลังเผชิญอยู่ทุกนาที

ซึ่งเราค่อนข้างมั่นใจว่าหลาย ๆ คนตอนนี้ กำลังมีมุมมอง และความเข้าใจไปในทิศทางที่ “ถูกต้อง”

ที่มา :

ไชยันต์ ไชยพร, ประเพณีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข : บทวิเคราะห์มาตรา 7 จากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2540 ถึงรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน (จากมุมมองรัฐศาสตร์)  (กรุงเทพ : 2560) จัดพิมพ์โดย สภาบันพระปกเกล้า

พระราชดำรัสของในหลวงรัชกาลที่ 9 เรื่องการขอนายกฯ พระราชทาน ในวันที่ 25 เมษายน 2549