จากกาแฟเพียงต้นเดียว เปลี่ยนไร่ฝิ่นสู่เกษตรกรรมที่ยั่งยืน

บ้านแม่กลางหลวง คือหมู่บ้านกะเหรี่ยงชนเผ่าปกาเกอะญอ ซึ่งในอดีตมีสภาพเป็นถิ่นทุรกันดารไม่มีเส้นทางคมนาคม รวมทั้งมีการปลูกฝิ่นตัดไม้ทำลายป่ากันเป็นจำนวนมาก เป็นต้นตอของปัญหาใหญ่ทั้งความยากจนและยาเสพติด

กระทั่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ได้เสด็จพระราชดำเนินด้วยพระบาทผ่านป่าเขา และลำห้วยหลายชั่วโมง เพื่อมาเยี่ยมเยือนราษฎรชาวไทยภูเขาเหล่านี้ พระองค์ได้พระราชทานกาแฟอราบิก้าแก่เกษตรกรชาวเขาเพื่อปลูกทดแทนฝิ่น อันเป็นที่มาของการก่อตั้งโครงการหลวง เพื่อช่วยเหลือให้ชาวบ้านปกาเกอะญอ มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ตลอดจนขจัดปัญหายาเสพติดให้หมดไป

ในปี พ.ศ. 2505 กรมประชาสงเคราะห์ร่วมกับองค์การสหประชาชาติ ได้ทำการสำรวจพื้นที่ในจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย และตาก พบว่าบนดอยสูงอันเป็นที่อยู่อาศัยของชนเผ่าต่าง ๆ มีการปลูกฝิ่นเฉลี่ยครอบครัวละ 3 – 4 ไร่ และมีแนวโน้มการปลูกสูงขึ้นเรื่อย ๆ

จนกระทั่งปี พ.ศ. 2522 – 2523 ตัวเลขพื้นที่ปลูกฝิ่นในประเทศไทยมีสูงถึง 10 ล้านไร่ ดังจะเห็นได้จากช่วงฤดูหนาว ดอกฝิ่นจะบานสะพรั่งไปทั่วทั้งดอย ทอดยาวกว้างไกลไปจนสุดสายตา ไม่ว่าจะเป็นดอยอินทนนท์ ดอยอ่างขาง เชียงดาว และดอยคำ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณสามเหลี่ยมทองคำ ซึ่งเป็นพื้นที่รอยต่อของประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน คือ เมียนมาร์และลาว ในเขตอำเภอ เชียงแสน จังหวัดเชียงราย ได้กลายเป็นทางผ่านสำคัญของการลำเลียงยาเสพติดจากสามเหลี่ยมทองคำไปสู่ที่อื่นทั่วโลก

ยิ่งไปกว่านั้นบริเวณดอยสามหมื่น ซึ่งเป็นป่าต้นน้ำ นอกจากจะกลายเป็นภูเขาหัวโล้นและพื้นที่ปลูกฝิ่นจำนวนมากแล้ว ยังเป็นแหล่งซ่องสุมการผลิตเฮโรอีนแหล่งสำคัญ อันยากแก่การปราบปรามอีกด้วย

เนื่องจากปัญหาความยากจน ปัญหาเรื่องการศึกษา ตลอดจนปัญหาด้านการสาธารณสุข ทำให้ชนเผ่าทำลายทรัพยากรธรรมชาติด้วยการตัดไม้ทำลายป่า ทำไร่เลื่อนลอย และปลูกฝิ่น จนในที่สุดก็เข้าสู่วงจรของผู้ผลิต ผู้ค้า และผู้เสพยาเสพติดไปโดยปริยาย

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงตระหนักว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นปัญหาใหญ่ที่จะส่งผลเสียอย่างใหญ่หลวง หากไม่แก้ไข ดังนั้นการตั้งโครงการหลวงจึงเป็นวิธีหนึ่งที่จะช่วยแก้ปัญหาได้ด้วยพระองค์เองโดยไม่ต้องรอความช่วยเหลือจากภาครัฐ ทั้งยังทำให้เกิดการประสานงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ อีกด้วย

“กาแฟอราบิก้า” เป็นหนึ่งในพืชทางเลือก ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 พระราชทานแก่เกษตรกรชาวเขาเพื่อปลูกทดแทนฝิ่น

โดยสถานีวิจัยโครงการหลวงอินทนนท์ ได้ประสบความสำเร็จในการพัฒนาสายพันธุ์กาแฟอราบิก้าตั้งแต่ระยะเริ่มแรกของการก่อตั้งโครงการ นับเป็นสายพันธุ์กาแฟที่ดีและเหมาะสมกับพื้นที่ภาคเหนือ ทางโครงการจึงได้นำกาแฟพันธุ์นี้ ไปส่งเสริมให้ชาวเขาจำนวน 2,602 ครัวเรือน ในพื้นที่ศูนย์พัฒนาโครงการหลวง ทั้ง 24 แห่ง ได้ทดลองปลูกรวมทั้งสิ้น 9,500 ไร่

ปรากฏว่า ในแต่ละปีสามารถผลิตผลกาแฟเข้าสู่ตลาดกว่า 500 ตัน สร้างรายได้ให้แก่ชาวเขาได้มากกว่า 40 ล้านบาทต่อปี

การที่ประเทศไทยเป็นชาติเดียวที่ประสบความสำเร็จในการปลูกพืชทดแทนฝิ่น ทำให้โครงการควบคุมยาเสพติดแห่งสหประชาชาติ หรือ UNDCP ทูลเกล้าฯ ถวายเหรียญทองเพื่อสดุดีพระเกียรติคุณแด่ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เมื่อปี พ.ศ. 2537 เนื่องจากโครงการหลวง เป็นโครงการปลูกพืชทดแทนฝิ่นแห่งแรกของโลกที่ประสบผลสำเร็จ ทำให้สามารถแก้ไขปัญหาพื้นที่อันเป็นแหล่งต้นตอของยาเสพติดได้อย่างจริงจัง

และในวันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2541 ประธานาธิบดี บิล คลินตัน แห่งสหรัฐอเมริกา ได้กล่าวยกย่องประเทศไทย ถึงความสำเร็จในการปลูกพืชทดแทนฝิ่น ในที่ประชุมระดับนานาชาติเรื่องปัญหายาเสพติดของสหประชาชาติด้วย

จากกาแฟเพียงต้นเดียว สามารถเปลี่ยนไร่ฝิ่นให้เป็นเกษตรกรรมที่ยั่งยืนได้ ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชน ส่งผลเป็นรายได้หล่อเลี้ยงหลายชีวิตบนดอยอินทนนท์ เป็นการพลิกชีวิตให้กับชาวบ้าน และต่อยอดจนกลายเป็นพืชเศรษฐกิจมาถึงทุกวันนี้

ส่วนในแง่มุมที่เป็นประโยน์แก่รัฐบาล คือ ไม่สิ้นเปลืองทรัพยากรในการแก้ไขปัญหายาเสพติด ไม่สูญเสียชีวิตเจ้าหน้าที่รัฐในการปราบปราม อีกทั้ง พระราชกรณียกิจของในหลวงรัชกาลที่ 9 ยังเป็นการส่งเสริมเกื้อหนุนภาครัฐ ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของพลเมืองด้วย

จะเห็นได้ว่า นอกจากการพัฒนาวิถีชีวิตความเป็นอยู่ให้กับชาวบ้านอย่างยั่งยืนแล้ว บ้านแม่กลางหลวง ตำบลบ้านหลวง อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ ยังเป็นหมู่บ้านการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ที่บริหารจัดการโดยชุมชนอีกด้วย

เมื่อหมู่บ้านเป็นที่รู้จักมากขึ้น มีนักท่องเที่ยวหลากหลายกลุ่มเดินทางมาเยือนมากขึ้น เศรษฐกิจชุมชนก็จะมีความเข้มแข็งในระยะยาว และชาวบ้านก็จะใช้ชีวิตอยู่ในหมู่บ้านได้อย่างมีความสุข ตามวิถีที่ควรจะเป็นของชาวปกาเกอะญอ

อ้างอิง :

[1] UNODC, Eastern Horizons, Summer/Autumn 2005
[2] Executive Summary, The Royal Project Model, Best Practice Alternative Development Approach for Sustainable Economic, Social, and Environmental Development in the highlands
[3] ปลูกกาแฟอราบีก้าปลอดสารพิษ เชิงดอยอินทนนท์ : กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
[4] พัชรนันท์ คงเจริญ, MAEKALNGLUANG DIARY ความทรงจำจากแม่กลางหลวง, ประกาศนียบัตรบัณฑิตสาขาวิชาบัณฑิตอาสาสมัคร วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์