๑๒๒ ปีฟุตบอลไทย และความเก่งกาจ ‘เหลือเชื่อ’ ของทีมชาติสยาม

บทความโดย : วังสามจันทร์

ในช่วงมหกรรมกีฬาที่เป็นที่โปรดปรานอย่างหนึ่งของคนทั่วโลก นั่นคือฟุตบอล ด้วยความที่กติกาของมันนั้นเข้าใจง่าย แค่คนลงสนามไปแย่งลูกบอล และคะแนนจะถูกนับเมื่อทีมใดทีมหนึ่งส่งมันเข้าตาข่ายฝ่ายตรงข้าม ถึงแม้กฎที่แท้จริงจะซับซ้อนมาก แต่เข้าใจเพียงเท่านี้ก็สนุกกับฟุตบอลได้แล้ว หากนึกอยากจะเล่นก็คว้าลูกบอลออกไปเตะได้ไม่ยุ่งยาก การถ่ายทอดสดนำเสนอหวือหวาเร้าใจ จึงไม่แปลกสักนิดที่มันจะเข้าถึงหัวใจของคนทุกวัยทุกเพศ

เมื่อพูดถึงประวัติศาสตร์ฟุตบอลโลกยุคใหม่ ทีมชาติไทยของเราดูจะวิ่งอยู่บนเส้นขนาน เนื่องจากโอกาสที่จะได้ไปโม่แข้งในเวทีโลกกับเขาก็เหมือนผี ที่รู้ว่ามีจริงแต่ก็ยากที่จะพบเจอกับตา ถึงแม้ว่าฟุตบอลไทยจะพัฒนาขึ้นกว่าเก่าก่อนเป็นลำดับ ทีมฟุตบอลชายชาติไทยหลายยุคมองดูแล้วมีหวัง แต่พอถึงฤดูกาลคัดเลือกฟุตบอลโลกทีไร มีอันต้องม้วนเสื่อกลับบ้าน ไปไกลที่สุดแค่รอบคัดเลือกรอบที่ 2 ทำเอาหัวใจแฟนบอลห่อเหี่ยวท้อแท้เสียทุกครั้ง

ในความลุ่มดอนที่เกิดขึ้นจนไม่เห็นอนาคต แต่รู้หรือไม่ว่า อดีตของฟุตบอลไทยนั้นเรืองรองเหลือหลาย ประเทศไทยนั้นเริ่มเล่นกีฬาฟุตบอลมานานมากแล้ว เท้าความกลับนับศักราชก็ได้ความว่า พวกเราเริ่มเตะฟุตบอลกันมาตั้งแต่สมัยยังเรียกตนเองว่าชาวสยาม ถ้าจะให้ชัดเจนเห็นภาพก็คือตั้งแต่สมัยพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือพระพุทธเจ้าหลวง รัชกาลที่ 5 ของเรานั่นเอง

เริ่มจากการที่รัชกาลที่ 5 ทรงมองการณ์ไกล ส่งพระโอรสและข้าราชบริพารของพระองค์ไปเก็บเกี่ยวความรู้จากฝรั่งที่เมืองนอก ให้กลับมาพัฒนาบ้านเมืองให้ทันสมัย อันที่จริงแล้วมีนวัตกรรมหลากหลายที่เกิดขึ้นจากวิสัยทัศน์ครั้งนี้ แต่เรื่องที่ติดเข้ามาด้วยก็คือฟุตบอล ที่นำเข้าตรงจากประเทศอังกฤษ โดยเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี หรือที่คนไทยรู้จักกันดีในนาม “ครูเทพ”

ถ้าใครไม่รู้จักตัวท่านก็ขอให้นึกถึงเพลง “กราวกีฬา” เพลงสุดยอดอมตะนิรันดร์กาลที่กลั่นออกมาจากใจความรักกีฬาของครูเทพ ซึ่งไม่แปลกใจที่ท่านจะตกหลุมรักกีฬาฟุตบอล และหอบกลับมาให้ชาวสยามเล่น

รัชกาลที่ 5 ทรงสนับสนุนกีฬาฟุตบอล ดังจะเห็นได้ว่ามีการเล่นกันอย่างแพร่หลายในบรรดาข้าราชการ โดยเฉพาะชาวอังกฤษที่อยู่ในประเทศไทย จนกระทั่งในปี 2443 วันที่ 2 กุมภาพันธ์ การแข่งขันฟุตบอลอย่างเป็นทางการครั้งแรกสุดในสยามก็ได้ถือกำเนิดขึ้นโดยเจ้าภาพคือกระทรวงธรรมการ ซึ่งมีชื่อโก้หรูว่า “การแข่งขันฟุตบอลตามข้อบังคับของแอสโซซิเอชัน” สมัยนั้นเขาเรียกว่า “แอสโซซิเอชันฟุตบอล (Association Football) ซึ่งก็น่าจะเป็นยุคแรกของสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยนั่นแหละ โดยการแข่งขันเป็นการพบกันของ “ทีมชุดบางกอก” ปะทะ “ทีมชุดกรมศึกษาธิการ”

ผลการแข่งขันจบลงที่สกอร์ 2-2 (ครึ่งแรก 1-0) ซึ่งนั่นเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ครูเทพจัดการแข่งขันฟุตบอลระดับนักเรียนโดยใช้กติกาทางการที่แปลจากฉบับสากล เรียกได้ว่าจริงจังเลยทีเดียว ทัวร์นาเมนท์นี้เป็นแบบน็อคเอาท์ (แพ้คัดออก) ภายใต้เจ้าภาพคือกรมศึกษาธิการ เหล่านักเรียนชายอายุไม่เกิน 20 ปีทั่วประเทศเข้าร่วมการแข่งขันกันเนืองแน่น สำหรับแชมเปียน 3 สมัยเท่านั้นที่จะได้ครอบครองโล่เกียรติยศ

ด้วยความก้าวหน้าของกีฬาฟุตบอลในสยาม ทำให้เกิดกลุ่มสมาชิกที่เป็นทางการขึ้นภายใต้ชื่อว่า “ฟุตบอลสมัคยาจารย์” ในปี 2448 เรียกได้ว่าเป็นก้าวแรกของสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ยิ่งไปกว่านั้นในปี 2450 มร.อี.เอส.สมิธ อดีตนักฟุตบอลอาชีพชาวอังกฤษ ก็ได้ย้ายถิ่นฐานมาทำหน้าที่ผู้ตัดสินในสยามเป็นเวลา 2 ปี ทำให้ชาวสยามหรือคนไทยได้เรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับฟุตบอลมากขึ้น สากลมากขึ้น

แต่ทว่าในปี พ.ศ. 2452 สยามก็ปกคลุมด้วยความโศกเศร้า เมื่อรัชกาลที่ 5 เสด็จสวรรคต นับเป็นการสูญเสียกับกีฬาฟุตบอลครั้งใหญ่ แต่ทุกอย่างก็ถูกสานต่อโดยล้นเกล้ารัชกาลที่ 6 ซึ่งมีความรักในกีฬาฟุตบอลไม่แพ้พระบิดาของพระองค์

รัชกาลที่ 6 ทรงจัดตั้งทีมฟุตบอลส่วนพระองค์ชื่อว่า “ทีมเสือป่า” โดยทรงติดตามชมการแข่งขันของทีมเป็นประจำ และจากสิ่งเหล่านี้ ทำให้ในรัชสมัยของรัชกาลที่ 6 จึงเรียกได้ว่าเป็นยุคทองของกีฬาฟุตบอลสยามอย่างแท้จริง

ในปี พ.ศ. 2458 หลังจากที่ฟุตบอลในสยามกำลังเบ่งบาน จากการปรับปรุงกฎระเบียบให้รัดกุมสากล คนทั้งวงการนับตั้งแต่พระบรมวงศานุวงศ์จนถึงสามัญชน ให้ความสนใจอย่างล้นหลาม ทัวร์นาเมนท์สำคัญอีกรายการก็ได้ถือกำเนิดขึ้น โดยเป็นถ้วยพระราชทานภายใต้ชื่อว่า “การแข่งขันฟุตบอลถ้วยทองของหลวง” จะว่าไปแล้วนี่คือทัวร์นาเมนท์ราชกรีฑาสโมสรระดับอาชีพของแท้ เพราะเป็นการแข่งขันระหว่าง ทหาร-ตำรวจ-เสือป่า มีผู้เล่นระดับชาติจากประเทศอังกฤษ ที่เข้ามาเป็นอาจารย์โรงเรียนราชวิทยาลัยร่วมแข่งขันด้วย มีทีมทั้งหมด 12 ทีม แข่ง 29 นัด ใช้เวลา 46 วัน ณ สนามเสือป่า และแน่นอนว่ารัชกาลที่ 6 ทรงเสด็จมาทอดพระเนตรด้วย ชาวบ้านนิยามกันสั้น ๆ ว่า “ฟุตบอลหน้าพระที่นั่ง” ที่มีแม่เหล็กอีกอย่างของรายการคือ “พวกฟุตบอลตลกหลวง” ที่เรียกเสียงเฮฮาเขย่าปอดผู้ชมในช่วงพักครึ่ง

จะว่าไประบบการแข่งขันที่มีคณะกรรมการดำเนินการที่ รัชกาลที่ 6 ทรงตั้งขึ้น นับถึงปัจจุบันก็ 107 ปีเข้าไปแล้ว

สำหรับทีมฟุตบอลสยาม ณ เวลานั้นก็ถือว่าเกรียงไกรใช่ย่อย หาได้เฟื่องฟูเพียงแค่ความนิยมไม่ เพราะในแมตช์การแข่งขันระดับชาติครั้งแรกในปี 2458 วันที่ 23 พฤศจิกายน ณ สนามราชกรีฑาสโมสร แบบเหย้าเยือน 2 นัด นัดแรกนั้นทีมชาติสยามก็ไล่เฉือน ทีมราชกรีฑาสโมสรหรือทีมรวมต่างชาติไป 2-1 และนัดที่ 2 เสมอกันแบบถ้อยทีถ้อยอาศัย 1-1

ในปี 2459 สมาคมฟุตบอลแห่งสยามได้ถูกตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 25 เมษายน และเข้าเป็นภาคีสมาชิกสมาพันธ์ฟุตบอลระหว่างชาติในวันที่ 23 มิถุนายน 2468 และขยับขยายต่อเนื่องเข้าสู่ยุคแห่งฟุตบอลไทยในปัจจุบัน

ทีมงาน ฤๅ ก็ได้แต่หวังว่าวงการฟุตบอลไทยจะพบกับจุดเปลี่ยน นำพาทีมชาติไทยเข้าสู่ลู่ทางที่ควรจะเป็น และประกาศศักดาความสามารถอันเอกอุแท้จริงให้นานาชาติได้เห็นอย่างทีมฟุตบอลสยามเข้าสักวันหนึ่ง

สู้เขาเจ้าช้างศึก!

ที่มา :

[1] ประวัติฟุตบอลในประเทศไทย, การกีฬาแห่งประเทศไทย

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า