กรณี ‘ปลากุเลาตากใบ’ ความไร้จริยธรรมซ้ำซากของ Thai PBS และการตัดตอนผลการสอบสวน ด้วยการชิงลาออกของผู้บริหาร

จากกรณีสื่อ Thai PBS นำเสนอข่าวปลากุเลาตากใบหนึ่งในเมนูอาหารงานเลี้ยงกาลาดินเนอร์งานประชุม APEC 2022 ว่าไม่ได้เป็นปลาที่มาจากตากใบ จนนำมาซึ่งการถูกจับโป๊ะเสียเอง ต่อมาวันที่ 25 พฤศจิกายน 2565 Thai PBS ได้ออกแถลงแสดงความรับผิดชอบกรณีการนำเสนอข่าว “ปลากุเลาเค็มตากใบ” โดยมีสาระสำคัญคือ

  1. นายเทพชัย หย่อง ผู้อำนวยการอาวุโส กลุ่มงานข่าว ขอลาออกจากตำแหน่ง โดยจะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566
  2. ผู้อำนวยการสำนักข่าว และ บรรณาธิการบริหารด้านข่าวรายวันและข่าววิเคราะห์ ขอรับผิดชอบด้วยการให้ตัดเงินเดือนตนเองร้อยละ 10 เป็นเวลา 1 เดือน
  3. ผู้อำนวยการ ส.ส.ท. มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยผู้เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดแนวทางและมาตรการการดำเนินงานที่จะป้องกันไม่ให้เกิดความผิดพลาดขึ้นอีกในอนาคต

จากท่าทีของ Thai PBS และบุคคลที่เป็นผู้บริหารข้างต้น ชัดเจนว่าการนำเสนอข่าวของ Thai PBS มีความผิดพลาดเกิดขึ้นจริง และ Thai PBS ได้ยอมรับความผิดพลาดดังกล่าว ซึ่งการชิงลงมือแสดงความรับผิดชอบของเหล่าผู้บริหารข้างต้น ทีมงานฤา มีข้อสังเกตเพิ่มเติมดังนี้คือ

ผู้บริหาร Thai PBS คือใคร และควบคุมการทำงานข่าวอย่างไร

องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทยเป็นนิติบุคคล เรียกโดยย่อว่า “ส.ส.ท.” มีผู้บริหารขององค์กรคือ คณะกรรมการนโยบายองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (คณะกรรมการนโยบาย) โดย มาตรา 42 ของพระราชบัญญัติองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2551 กำหนดให้ คณะกรรมการนโยบายจัดทำข้อบังคับด้านจริยธรรมของวิชาชีพเกี่ยวกับการผลิตและการเผยแพร่รายการเพื่อใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติงาน การผลิต การจัดหาและการเผยแพร่รายการ ซึ่งข้อบังคับด้านจริยธรรมของวิชาชีพข้างต้น จะต้องครอบคลุมเนื้อหาสาระในเรื่อง

(1) ความเที่ยงตรง ความเป็นกลาง และความเป็นธรรม

(2) ความเป็นอิสระของวิชาชีพ และความรับผิดชอบต่อสาธารณชน

นอกจากนั้น มาตรา 46 ยังระบุต่อไปอีกว่า “ให้คณะกรรมการนโยบายจัดให้มีคณะอนุกรรมการรับและพิจารณาเรื่องร้องเรียนจากประชาชนในกรณีที่องค์การ ผู้ผลิตรายการ หรือพนักงานหรือลูกจ้างขององค์การกระทำการหรือผลิตรายการที่ขัดต่อข้อบังคับด้านจริยธรรมของวิชาชีพ โดยคณะอนุกรรมการรับและพิจารณาเรื่องร้องเรียนจากประชาชนต้องพิจารณา และตรวจสอบเรื่องร้องเรียนดังกล่าวอย่างรวดเร็ว ถูกต้อง และเป็นธรรม

กระบวนการพิจารณาของคณะอนุกรรมการตามวรรคหนึ่งจะต้องครอบคลุมถึงวิธีการแก้ไขหรือเยียวยาในกรณีที่มีการผลิตรายการที่ขัดต่อข้อบังคับด้านจริยธรรมของวิชาชีพ รวมทั้งมีวิธีการแก้ไขข้อความที่เป็นเท็จ สิทธิการโต้แย้ง และการขออภัยในกรณีที่เกิดความผิดพลาด”

คดีตัวอย่างที่ Thai PBS ถูกร้องเรียน

เมื่อ พ.ศ. 2562 Thai PBS เคยถูกประชาชนร้องเรียนจากกรณีทำข่าวที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานจริยธรรมคือ “รายการความจริงไม่ตาย ตอน หุบเขานรก โศกนาฏกรรม เฮลิคอปเตอร์ตก” โดยมีรายละเอียดดังนี้

ข้อร้องเรียน : ร้องเรียนรายการ “ความจริงไม่ตาย ตอน หุบเขานรก โศกนาฏกรรมเฮลิคอปเตอร์ตก” ซึ่งออกอากาศวันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2562 โดยรายการได้นำเสนอเหตุการณ์เฮลิคอปเตอร์ตกในป่าแก่งกระจาน ซึ่งมีเนื้อหาผิดจากข้อเท็จจริง อันก่อให้เกิดความเสียหายและความเข้าใจผิดในสังคมต่อชาวกระเหรี่ยงแก่งกระจาน ทั้งนี้ขอให้ ส.ส.ท. ขอโทษชาวกระเหรี่ยงที่ได้รับผลกระทบจากการนำเสนอครั้งนี้ผ่านทุกช่องทาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรายการดังกล่าว

ผลการวินิจฉัย : คณะอนุกรรมการมีมติเป็นเอกฉันท์ว่า ผู้ถูกร้องเรียนประพฤติผิดจริยธรรมของวิชาชีพตามข้อบังคับองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทยว่าด้วยจริยธรรมของวิชาชีพเกี่ยวกับการผลิตและการเผยแพร่รายการ พ.ศ. 2552 ตามข้อกำหนดดังนี้

ข้อ 4.จริยธรรมด้านความถูกต้อง เที่ยงตรง

(4.1) การนำเสนอข่าวหรือข้อมูล ต้องยึดถือข้อเท็จจริง ความถูกต้อง เที่ยงตรง โดยการเลือกแหล่งข่าว แหล่งข้อมูล หารใช้ภาษา การกำหนดเนื้อหา และวิธีการหรือรูปแบบการนำเสนอ ต้องดำเนินการด้วยความรอบคอบระมัดระวัง มีการตรวจสอบ ตรวจทานเป็นหลักปฏิบัติสำคัญ

(4.2) การรายงานข่าวหรือเหตุการณ์ ต้องรายงานตามความเป็นจริง ไม่แทรกความเห็น ไม่บิดเบือน ไม่คาดเดา ไม่ชี้นำ ไม่สร้างความเข้าใจผิด หรือไม่ทำให้เกิดการตื่นกลัวอย่างเกินเหตุ

ข้อ 5.จริยธรรมด้านความสมดุล เป็นธรรม

(5.1) การรายงานข่าวหรือการผลิตรายการ โดยเฉพาะในประเด็นสำคัญหรือประเด็นที่มีความขัดแย้งสูง ต้องนำเสนอข้อมูล ความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้องอย่างรอบด้าน สมดุลและเป็นธรรม

ทั้งนี้ให้ผู้อำนวยการ ส.ส.ท. ว่ากล่าวหรือแจ้งตักเตือนสำนักข่าวและโปรดิวเซอร์ รวมถึงผู้ผลิตรายการ “ความจริงไม่ตาย” เพื่อมิให้กระทำผิดซ้ำอีก แต่เนื่องจากสำนักข่าวได้แก้ไขเยียวยาด้วยการขออภัยในความผิดพลาดที่เกิดขึ้นแล้ว จึงให้ยกเว้นไม่ต้องดำเนินการพิจารณาผู้กระทำความผิดทางวินัย แล้วแจ้งผลการดำเนินการกลับมายังคณะอนุกรรมการเพื่อทราบ

ข้อเสนอแนะ : กรณีในลักษณะเช่นนี้ ให้ผู้ที่รับผิดชอบในการผลิตรายการ ดำเนินการแก้ไขเยียวยาต่อผู้เสียหายอย่างทันท่วงทีและมีระบบตรวจสอบข้อมูลของข่าวและให้บันทึกการกระทำผิดไว้ หากกระทำผิดซ้ำในลักษณะเดียวกันอีก ให้ดำเนินการทางวินัย

การดำเนินการ : นอกเหนือจากทีมผู้ผลิตรายการขอโทษชาวกระเหรี่ยงแก่งกระจานผ่านรายการในสัปดาห์ถัดไป รวมทั้งเว็บไซต์ของไทยพีบีเอส และเพจเฟซบุ๊กรายการ “ความจริงไม่ตาย” แล้ว ผู้บริหาร ส.ส.ท. ยังได้จัดประชุมหารือกับทีมผู้ผลิตรายการ “ความจริงไม่ตาย” โดยย้ำหลักการนำเสนอเนื้อหาที่ไม่ละเมิดศักดิ์ศรี ตามหลักจริยธรรมของวิชาชีพที่ได้ถือปฏิบัติมาโดยตลอด ส่วนเนื้อหาที่ถูกร้องเรียนนั้น เป็นส่วนหนึ่งของการสัมภาษณ์บุคคล ซึ่งทีมผู้ผลิตรายการจำเป็นต้องระมัดระวังให้มากขึ้น

เมื่อได้ตรวจสอบเรื่องเก่าที่ Thai PBS เคยถูกร้องเรียนเมื่อปี พ.ศ. 2562 แล้วนำมาวิเคราะห์เปรียบเทียบกับกรณี “ปลากุเลาเค็ม” ในปัจจุบัน ทีมงานฤา มีข้อสังเกตสำคัญดังนี้

  1. จากกรณีศึกษาแนวทางคำวินิจฉัยของเรื่องร้องเรียนเดิมที่คณะกรรรมการฯ ได้กำหนดไว้ คือ สำนักข่าวฯ ได้แก้ไขเยียวยาด้วยการขออภัยในความผิดพลาดที่เกิดขึ้นแล้ว จึงให้ยกเว้นไม่ต้องดำเนินการพิจารณาผู้กระทำความผิดทางวินัย
  2. ท่าทีความรับผิดชอบต่อผู้เกี่ยวข้องในกรณีปลาเค็มกุเลาตากใบ คือ นายเทพชัย หย่อง ผู้อำนวยการอาวุโส กลุ่มงานข่าว ขอลาออกจากตำแหน่ง ผู้อำนวยการสำนักข่าว และ บรรณาธิการบริหารด้านข่าวรายวันและข่าววิเคราะห์ ขอรับผิดชอบด้วยการให้ตัดเงินเดือนตนเองร้อยละ 10 เป็นเวลา 1 เดือน และมีการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยผู้เกี่ยวข้อง
  3. เมื่อพิจารณาแนวทางคำวินิจฉัยเรื่องร้องเรียนเดิมที่วางหลักการเอาไว้คือ เมื่อขออภัยแล้ว ก็ยกเว้นไม่ต้องสอบวินัย

จากข้อสังเกต 3 ข้อข้างต้น จึงเป็นเรื่องน่าพิจารณาว่า กรณีความผิดพลาดในการนำเสนอข่าวปลาเค็มกุเลาตากใบ มีการแถลงการณ์ขออภัยแล้ว ผู้บริหารบางท่านได้แสดงความรับผิดชอบแล้ว รวมถึงมีการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยผู้เกี่ยวข้องอื่นแล้ว สุดท้ายผลออกมาจะเป็นอย่างไร

นี่จึงเป็นคำถามที่ Thai PBS จะต้องมีคำตอบที่ชัดเจน ว่าคณะกรรมการสอบสวนวินัยจะมีความเห็นต่อกรณีนี้อย่างไร นอกจากการแถลงขอโทษ และการรับผิดชอบของผู้บริหารข้างต้นแล้ว ผู้เกี่ยวข้องอื่นๆ จะได้รับการยกเว้นความผิดหรือไม่ และจะมีหลักประกันใดที่รับรองได้ว่า ต่อไป Thai PBS จะไม่มีการนำเสนอข่าวที่ไร้ความรับผิดชอบในลักษณะนี้อีก

ที่มา :

[1] “เทพชัย หย่อง” ขอลาออก ผอ.อาวุโสไทยพีบีเอส รับผิดชอบกรณีข่าวปลากุเลาเค็มตากใบ
[2] รายงานการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการรับและพิจารณาเรื่องร้องเรียนจากประชาชน พ.ศ.2562
[3] ระบบรับเรื่องร้องเรียน Thai PBS