ความประนีประนอมหลังปฏิวัติ 2475 การตัดสินพระทัยของ รัชกาลที่ 7 เพื่อประเทศชาติและประชาชน : ตอนที่ 1

เช้าตรู่วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 พระยาพหลพลพยุหเสนาได้อ่านแถลงการณ์ ณ ลานพระบรมรูปทรงม้า ประกาศล้มล้างระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เปลี่ยนแปลงการปกครองเข้าสู่ระบอบรัฐธรรมนูญ อันเป็นจุดเริ่มต้นเส้นทางสายใหม่แห่งระบอบการปกครองของสยาม

ขณะนั้น ในหลวง ร.7 ทรงประทับอยู่ ณ วังไกลกังวล หัวหิน พระองค์ทรงทราบเรื่องพร้อมๆ กับตกอยู่ในห้วงเวลาแห่งการตัดสินพระทัยบนทางเลือกต่างๆ ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญยิ่งยวดในการกำหนดทิศทางต่อไปของบ้านเมืองในช่วงรอยต่อนี้

และช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองของสยาม ก็ได้สิ้นสุดลงเมื่อพระองค์ทรงเลือกเส้นทางแห่งการประนีประนอม พร้อมเสด็จกลับถึงพระนครในกลางดึกของวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2475

ล่วงเข้าสู่วันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2475 รัฐบาลของคณะราษฎรได้รับการรับรองสถานะเป็นรัฐบาลใหม่ที่ชอบด้วยกฎหมาย ทำให้ทั้งความกังวลของกลุ่มคณะราษฎรรวมถึงเหตุการณ์ตึงเครียดต่างๆ ผ่านไปได้ด้วยดีปราศจากความวุ่นวายและเหตุรุนแรง

จนกระทั่ง วันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2475 พระยามโนปกรณ์นิติธาดา พระยาปรีชาชลยุทธ พระยาศรีวิสารวาจา พระยาพหลพลพยุหเสนา หลวงประดิษฐ์มนูธรรม และกรรมการราษฎร ได้เข้าเฝ้าในหลวง ร.7 เพื่อกราบบังคมทูลขอพระราชทานอภัยโทษฯ ในวันดังกล่าวนั้นได้ปรากฏหลักฐานที่เป็น “บันทึกของเจ้าพระยามหิธร” ซึ่งได้ทำการจดบันทึกเหตุการณ์การเข้าเฝ้าอย่างละเอียด

บันทึกทางประวัติศาสตร์ชิ้นนี้ฉายภาพให้เห็นถึงการประนีประนอมที่เกิดขึ้น ระหว่างในหลวง ร.7 และรัฐบาลคณะราษฎร ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครองผ่านไปได้ด้วยความสงบ รวมทั้งยืนยันข้อเท็จจริงที่ว่า ประกาศของคณะราษฎรในวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ที่กล่าวหาว่ากษัตริย์บริหารประเทศผิดพลาด และไม่สนใจความต้องการของประชาชนนั้น ไม่เป็นความจริง

ในหลวง ร.7 ทรงอธิบายถึงข้อจำกัดทางการเมืองที่พระองค์ต้องประสบ ในขณะที่ทรงครองราชย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ อยู่ในบันทึกของเจ้าพระยามหิธร ความว่า …

“… ทรงเห็นว่าควรจะต้องให้ Constitution มาตั้งแต่รัชกาลที่ 6 แล้ว และเมื่อทรงรับราชสมบัติ ก็มั่นพระราชหฤทัยว่าเป็นหน้าที่ของพระองค์ที่จะให้ Constitution แก่สยามประเทศ ครั้นเมื่อพระยากัลยาณไมตรี (F.B. Sayre) เข้ามา ได้ทรงปรึกษาร่างโครงขึ้น ก็ไม่ได้รับความเห็นชอบจากอภิรัฐมนตรี

ในส่วนพระราชดําริ ในขั้นต้นอยากจะทำเป็น 2 ทาง ทั้งล่างทั้งบน ข้างล่างให้มีเทศบาลเพื่อสอนราษฎรให้รู้จักเลือกผู้แทน จึงโปรดให้กรมร่างกฎหมายร่างขึ้น ดังที่หลวงประดิษฐฯ ทราบอยู่แล้ว แต่การณ์ก็ช้าไป ในส่วนข้างบนได้ทรง ตั้งกรรมการองคมนตรีขึ้นเพื่อฝึกสอนข้าราชการ เพราะเห็นพูดจาไม่ค่อยเป็น จึงตั้งที่ประชุมขึ้น หวังให้มีที่คิดอ่านและพูดจา ครั้นเสด็จไปอเมริกาก็ได้ให้ interview ว่าจะได้ให้ Constitution เมื่อเสด็จกลับมายิ่งรู้สึกแน่ว่า จะกักไว้อีกไม่สมควรเป็นแท้ จึงได้ให้ปรึกษานายสตีเวนส์ นายสตีเวนส์กลับว่า ยังไม่ถึงเวลา ฝ่ายพระยาศรีวิสารฯ ที่โปรดให้ปรึกษาด้วยอีกผู้หนึ่ง ก็ influence ไปด้วยกับนายสตีเวนส์ เมื่อพระยาศรีวิสารฯ และนายสตีเวนส์ ขัดข้องเสียดังนี้ การก็เลยเหลวอีก …

… ถึงกระนั้นก่อนเสด็จไปหัวหิน ก็ได้ทรงพระราชดําริอีกที่จะให้มี Prime Minister ให้มีสภา interpolate เสนาบดีได้ ให้ถวายฎีกาขอเปลี่ยนเสนาบดีได้ และให้มีผู้แทนจากหัวเมือง แต่ว่าคละอย่างๆ จะเป็นได้ก็ลําบากเหลือเกิน หวังว่าจะเห็นด้วยว่าพระองค์ยากที่จะขัดผู้ใหญ่ ที่ได้ทำการมานานตั้ง 20 ปีก่อนพระองค์ …”

นอกจากนี้ ทรงมีรับสั่งเกี่ยวกับประกาศของคณะราษฎร และความตั้งพระราชหฤทัยของพระองค์ ที่จะไม่ทรงยุ่งเกี่ยวกับการเมืองอีก ความว่า …

“… ในวันนั้นได้ทรงฟังประกาศ ของคณะราษฎรทางวิทยุ ทรงรู้สึกเสียใจและเจ็บใจมากที่กล่าวหาร้ายกาจมากมายอันไม่ใช่ความจริงเลย … ในประกาศของคณะราษฎรที่กล่าวหาว่าพระองค์ตั้งแต่คนสอพลอนั้น ไม่จริง ได้ทรงปลดคนที่โกงออกก็มาก แต่ลำพังพระองค์ๆ เดียวจะเที่ยวจับคนที่โกงให้หมดเมืองอย่างไรได้ แม้คณะนี้ก็คอยดูไป คงจะได้พบคนโกงเหมือนกัน ทรงเชื่อว่าพระราชวงศ์ทุกพระองค์ได้ตั้งพระทัยช่วยราชการโดยจริง ที่ว่าเอาราษฎรเป็นทาสหรือว่าหลอกลวงก็ไม่จริง และเป็นการเสียหายอย่างยิ่ง แต่อาจจะเป็นได้ว่าได้ปฏิบัติการช้าไป ที่ว่าราษฎรช่วยกันกู้ประเทศนั้นก็เป็นความจริง แต่พระราชวงศ์จักรีเป็นผู้นํา และผู้นํานั้นสำคัญ เสียใจที่ได้ทิ้งเสีย ไม่กล่าวถึงพระคุณควบไปด้วย เป็นการเท่ากับด่าถึงบรรพบุรุษ เพราะฉะนั้นเสียใจมาก …

… เมื่อเขียนประกาศทําไมไม่นึก เมื่อจะอาศัยกัน ทําไมไม่พูดให้ดีกว่านั้น และเมื่อพูดทั้งนั้นแล้วทําไมไม่เปลี่ยนเป็น Republic เสียทีเดียว ไม่ทรงทราบว่าใครเป็นผู้เขียนประกาศนั้น แต่ทรงคิดว่าหลวงประดิษฐมนูธรรมเป็นผู้เขียน จึงทรงต่อว่าการเขียนประกาศกับการกระทำของคณะราษฎร เปรียบเหมือนเอาผ้ามาจะทำธง แล้วเอามาเหยียบย่ำเสียให้เปรอะเปื้อน แล้วเอามากชักขึ้นเป็นธงจะเป็นเกียรติยศงดงามแก่ชาติหรือ จึงทรงรู้สึกว่าจะรับเป็นกษัตริย์ต่อไปไม่ควร … จึงมีพระราชประสงค์จะออกเสีย เพราะรู้สึกว่าเสีย credit ทุกชั้น ทำให้คนเกลียดหมด แต่จะทรงยอมอยู่ไปจนเหตุการณ์สงบ … เมื่อการงานของประเทศเรียบร้อยแล้ว ขออนุญาตไปพักผ่อนเงียบๆ ไม่ได้ต้องการเงินทอง ขอแต่ให้ได้ใช้สอย ทรัพย์สมบัติเดิมที่ได้รับพระราชทานจากสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงพอกินไป …”

และในตอนท้ายของบันทึก เป็นการตอบรับจากฝ่ายคณะราษฎร รวมถึงการกราบบังคมทูลขอพระราชทานอภัยโทษ ความว่า …

“… หลวงประดิษฐมนูธรรม กราบบังคมทูลว่า พวกคณะราษฎรไม่ทราบเกล้า ว่าจะพระราชทาน Constitution คิดว่าการเปลี่ยนแปลงอาจไม่เสด็จกลับ อาจไม่พระราชทานตามที่ขอร้อง เป็นด้วยไม่รู้เท่าถึงพระบรมราชประสงค์ ไม่ใช่เป็นการมุ่งร้ายต่อพระองค์ เมื่อได้ทราบเกล้าฯ ดังนี้ ก็จะไม่มีความเข้าใจผิดอีกต่อไปและคงมีความเคารพนับถือในพระบารมีอยู่ตามเดิม …

… พระยาพหลพลหยุหเสนา กับหลวงประดิษฐมนูธรรม กราบบังคมทูลขอพระราชทานอภัยโทษที่ได้ล่วงเกิน โปรดพระราชทานอภัย และมีพระราชดํารัสว่า ในการที่ทรงพระราชดําริจะเปลี่ยนการปกครองนั้น ได้ทรงเคยตักเตือนแก่ผู้ที่ทัดทานไว้หลายครั้งว่า อย่าดูถูกคนไทยว่าจะไม่คิด และทำการเช่นนี้ได้ …

… พระยาพหลฯ กราบบังคมทูลว่าได้ยินคนพูดดูถูกดั่งนี้เหมือนกัน จึ่งได้คิดทำการโดยพลีชีวิต หลวงประดิษฐมนูธรรม รับจะไปพิจารณาหาทางร่างประการศถอนความที่ได้ปรักปรำ และขอพระราชทานอภัยให้เป็นที่สมพระเกียรติยศ …”

จากบันทึกทางประวัติศาสตร์ข้างต้น ล้วนเป็นข้อพิสูจน์ชัดเจนว่า คำประกาศการเปลี่ยนการปกครองของคณะราษฎรที่โยนความผิดเกี่ยวกับการบริหารบ้านเมืองให้ในหลวง ร.7 นั้น เป็นเรื่องไม่จริง เพราะข้อจำกัดทางการเมืองที่พระองค์ต้องประสบขณะทรงครองราชย์ และเหตุปัจจัยต่างๆ ล้วนมีที่มาที่ไปที่สามารถอธิบายได้

อีกทั้งความตั้งพระราชหฤทัยของพระองค์ที่จะมอบรัฐธรรมนูญให้กับประชาชน และไม่ประสงค์จะยุ่งเกี่ยวกับการเมืองอีก ย่อมเป็นการหักล้างในข้อกล่าวหาที่ว่า พระองค์หลีกเลี่ยงที่จะมอบประชาธิปไตยให้กับประชาชนเพราะทรงต้องการอำนาจ

เหนืออื่นใด ความพยายามในการประนีประนอมระหว่างในหลวง ร.7 กับรัฐบาลคณะราษฎรในช่วงเวลานั้น ถือเป็นส่วนที่ทำให้เหตุการณ์ต่างๆ ผ่านพ้นไปได้ด้วยความสงบ ไม่มีเหตุรุนแรง และปราศจากการแทรกแซงจากต่างชาติ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญอย่างยิ่งต่อประเทศชาติและประชาชน

ความประนีประนอมหลังปฏิวัติ 2475 การตัดสินพระทัยของ รัชกาลที่ 7 เพื่อประเทศชาติและประชาชน : ตอนที่ 2

ที่มา :

[1] พระราชบันทึกทรงเล่า พระนางเจ้ารำไพพรรณี
[2] เรื่องให้กระทรวงการต่างประเทศแจ้งข่าวเรื่องเปลี่ยนการปกครอง,” สำนักนายกรัฐมนตรี, สร.0201.16/6, หจช
[3] เรื่องของเจ้าพระยามหิธร (พระนคร: โรงพิมพ์ตีรณสาร, 2499. ที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพเจ้าพระยามหิธร (ลออ ไกรฤกษ์) ณ วัดเทพศิรินทร วันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2499)
[4] เอกสารสำนักนายกรัฐมนตรี, สร.0201.16/33, หจช.
[5] สนธิ เตชานันท์, แผนพัฒนาการเมืองไปสู่การปกครองระบอบ “ประชาธิปไตย” ตามแนวพระราชดําริของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พ.ศ. 2469-2475), (นนทบุรี: สถาบันพระปกเกล้า, 2545)

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า