‘อยุธยา ยุทธการ’ เกมอำนาจเมืองท่าขุมทองโลก ตอนที่ 12

บทความโดย นายปฎิพล อภิญญาณกุล

การเกิดกบฏมักกะสัน สะท้อนถึงอำนาจที่อ่อนลงในปลายรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์อย่างเห็นได้ชัด เดิมนั้นกลุ่มประชาคมมุสลิมจะอยู่เคียงข้างกับพระองค์ โดยช่วงต้นรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ทรงใช้กลุ่มมุสลิมเปอร์เซียในการก่อการแย่งชิงอำนาจ

หลังพระองค์ครองราชบัลลังก์ ทรงได้แต่งตั้งชาวเปอร์เซียให้ดำรงตำแหน่งขุนนางใหญ่ด้วยกันถึง 2คน คือ – ออกญาพิิชิต หรือ นายอับดุล ราซัค , เมื่อสิ้นสุดออกญาพิชิต ทรงได้แต่งตั้งออกพระศรีเนาวรัตน์ หรือนายอกา มะหะหมัด เป็นขุนนางในเวลาต่อมา

แขกเปอร์เซียทั้งสองคน นอกจากจะดูแลการค้ากรมท่าขวาแล้ว ยังมีบทบาทในการประสานงานและสร้างความสมดุลกับกลุ่มมุสลิมจากที่อื่น ๆ ไม่ให้ก่อการวุ่นวายจนเสียหาย อีกทั้งแสดงให้เห็นว่าราชสำนักสยามยังมีความไว้วางใจต่อประชาคมชาวมุสลิมมิได้น้อยหน้ากว่าชนชาติศาสนาใด

แต่เมื่อหมดจากออกพระศรีเนาวรัตน์ ชนชาวมุสลิมไม่มีใครได้รับตำแหน่งสำคัญเป็นขุนนางใหญ่ที่สร้างสมดุลกับประชาคมมุสลิมอีกเลย

อำนาจทั้งหมดตกอยู่กับชนชาวกรีก ที่ชื่อ ออกญาวิไชเยนทร์ (คอนสแตนติน ฟอลคอน) ผู้ที่่ประกาศตนจะสนับสนุนคริสต์ศาสนาให้แพร่หลายบนแผ่นดินสยาม

การประกาศตัวและการแสดงออกสนับสนุนในคริสต์ศาสนาของออกญาวิไชเยนทร์ จนถึงข่าวลือการจะเปลี่ยนศาสนาของสมเด็จพระนารายณ์ รวมถึงมีการสึกพระสงฆ์ต่าง ๆ ที่อยู่ในวัด ให้ออกมาทำงานโยธา สร้างป้อมปราการ และอื่น ๆ ทำให้เกิดแรงสั่นสะเทือนอย่างหนักในความรู้สึกของพุทธศาสนิกชน และส่งผลถึงความมั่นคงต่อประชาคมมุสลิมด้วยเช่นกัน

กบฏมักกะสัน จึงเป็นการก่อกบฏเพื่อหวังหาความมั่นคงใหม่ให้กับกลุ่มของตนเอง

เรื่องกบฏมักกะสัน มีบันทึกรายละเอียดอยู่ในจดหมายเหตุของฟอร์บัง (หรืออยู่ในประชุมพงศาวดารภาคที่ 80)

แล้วฟอร์บังต์ คือใคร ?

เขาคือ เรือโท เชวาเลียร์ เดอ ฟอร์บังต์ ที่เดินทางมาเจริญสัมพันธ์ไมตรีเป็นคณะแรก (โดยมี เชวาลิเอร์ เดอะ โชมองต์ เป็นราชทูต)

เมื่อคณะราชทูตชุดแรกเดินทางกลับฝรั่งเศส สมเด็จพระนารายณ์ได้ทรงขอเรือโท ฟอร์บังต์ อยู่รับราชการช่วยอยุธยา และแต่งตั้งให้เป็นนายพลดูแลกองทัพเรือสยาม มีบรรดาศักดิ์เป็น “ออกพระศักดิ์สงคราม” รวมทั้งเป็นผู้ว่าราชการเมืองบางกอก ควบคุมดูแลงานก่อสร้างป้อมบางกอก

กบฏมักกะสัน – มักกะสัน หรือมะกะสัน เป็นคำที่เพี้ยนเสียงมาจากชื่อ หมู่เกาะมากัสซาร์ ประเทศอินโดนีเซีย เดิมนั้นแขกกลุ่มนี้เคยอยู่ในหมู่เกาะอินเดียตะวันออก แต่ถูกชาติฮอลันดาซึ่งตีเอาอินเดียเพื่อทำสถานการค้า พวกแขกกลุ่มนี้ได้หนีมาหลบอยู่แถบมลายูและหมู่เกาะอินโดนีเซีย

ต่อมาหมู่เกาะอินโดนีเซีย ถูกฮอลันดาตามมาตีเพื่อยึดเป็นเมืองท่าอีก กลุ่มแขกที่อยู่ในเกาะมากัสซาร์และรอบ ๆ ก็หนีอีกครั้งเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารในกรุงศรีอยุธยา ในการอพยพลี้ภัยครั้งนี้มีเจ้าชายแขกคนหนึ่งเข้ามาด้วย สมเด็จพระนารายณ์ทราบเรื่องจึงทรงเมตตารับอุปการะไว้ และพระราชทานที่ดินให้สร้างบ้านเรือน โดยได้ชื่อว่า ทุ่งมักกะสัน

กรุงศรีอยุธยา ถึงจะมีกลุ่มมุสลิมหลายกลุ่ม ทั้งจากเปอร์เซีย อินเดีย หรือจากทางตอนใต้มลายู อินโดนีเซีย แต่ก็สามารถอยู่กันอย่างสงบ เพราะตลอดที่ผ่านมาจะมีหัวหน้าประชาคมมุสลิมถูกตั้งขึ้นเป็นขุนนางราชสำนัก ทำหน้าที่เป็นตัวแทนดูแลความเดือนร้อน ควบคุมและเจรจาเรื่องต่าง ๆ จนไม่เคยรู้สึกว่าศาสนาของตนจะถูกกีดกันหรือใกล้ถูกเบียดให้หายหรือถูกทำลายลง

การขึ้นมามีอำนาจของออกญาวิไชเยนทร์ ด้วยการประกาศอย่างโจ่งแจ้งทั่วอยุธยาว่าจะให้มีการส่งเสริมทางศาสนาคริสต์ ประกอบกับการไม่มีหัวหน้าชาวมุสลิมเป็นขุนนางใหญ่เพื่อสมดุลแห่งอำนาจทำให้กลุ่มมุสลิมดังกล่าวรู้สึกถึงความไม่มั่นคงบนแผ่นดินสยาม จึงคิดหวังจะเปลี่ยนตัวกษัตริย์

กบฏมักกะสัน มองว่า ทั้งหมดเกิดจากนโยบายของสมเด็จพระนารายณ์

ความรู้สึกไม่มั่นคงที่จะอยู่บนแผ่นดินนี้ กบฏมักกะสันซึ่งนำโดยเจ้าชายมากัสซาร์วางแผนใช้กำลังประมาณ 300 คน ที่ประกอบด้วยมุสลิมมลายู แขกจาม จะบุกเข้าพระราชวังเพื่อปลงพระชนม์สมเด็จพระนารายณ์ และยกเอาพระอนุชา เจ้าฟ้าอภัยยศ ขึ้นมาเป็นกษัตริย์แทน

แต่การวางแผนของกลุ่มมักกะสัน พลันเกิดข้อผิดพลาดขึ้นมาก่อนการก่อการไม่กี่ชั่วโมง

ด้วยกบฏแขกคนหนึ่ง ได้แอบส่งจดหมายไปให้พี่ชายของตนที่เป็นข้าราชการอยู่ในลพบุรี ให้รีบปลีกตัวหนีออกมาก่อนการบุก ข้าราชการแขกคนนั้นจึงนำข่าวนี้ไปแจ้งข่าวให้กับออกญาวิไชเยนทร์ทราบ ออกญาวิไชเยนทร์จึงใช้อำนาจบุกปราบกบฏ

ออกญาวิไชเยนทร์ระดมพลครั้งใหญ่ ประกอบด้วยกองทหารอาสาฝรั่งเศส อังกฤษ โปรตุเกส ที่อยู่ในลพบุรี เคลื่อนกำลังไปปราบกบฏมักกะสันที่อยู่ในอยุธยา – เกิดการต่อสู้อลหม่านขึ้น กลุ่มกบฏมักกะสันมีความเชี่ยวชาญในการต่อสู้ระยะประชิด โดยมีอาวุธที่เรียกว่า “กริช” เป็นอาวุธสังหารประจำตัวที่แต่ละคนต้องมีพกติดตัว

เมื่อการต่อสู้ทั้งสองฝ่ายผ่านไปพักหนึ่ง จึงมีการขอเจรจาเพื่อลี้ภัยออกจากอาณาจักรอยุธยา โดยฝ่ายกบฏจะไปกันเพียงผู้ก่อการ 53 คน นอกนั้นที่เป็นเพียงกองกำลังสนับสนุนที่ถูกเกณฑ์หรือหลอกลวงมา ยอมถูกจับดำเนินคดีอยู่ในอยุธยา

ออกญาวิไชเยนทร์ รับปากให้พวกเขาลี้ภัยลงเรือออกจากอยุธยา แต่แท้ที่จริงออกญาวิไชเยนทร์ได้ส่งข้อความถึง ฟอร์บังต์ หรือ ออกพระศักดิ์สงคราม ที่เฝ้าอยู่ด่านป้อมบางกอก โดยออกคำสั่งไม่ปล่อยให้กบฏมักกะสันหนีไป ออกญาวิไชเยนทร์ต้องการจับตัวทุกคนให้ได้ ไม่ว่าจะเป็นหรือตาย

เรือสำเภาของกบฏมักกะสัน ล่องจากอยุธยามาถึงป้อมบางกอง พลันเจอเอาโซ่ที่กั้นขึงกลางแม่น้ำเข้า จึงไม่สามารถผ่านไปได้ นายพลฟอร์บังต์เจรจาอยู่ครู่หนึ่ง แต่ถูกกบฏมักกะสันพุ่งใส่ทำลาย ฟอร์บังต์จึงออกคำสั่งให้ทหารใช้กำลังเข้าจับกุม จนเกิดเป็นการต่อสู้ครั้งใหญ่อีกหน

พวกแขกใช้ผ้าที่นุ่งอยู่ ถอดมาพันกับแขนเพื่อทำเป็นโล่ และใช้กริชไล่ฆ่า แหวะท้องทหารฝรั่งเศสและทหารไทย จากนั้นก็พากันลงจากเรือและหลบหนีเข้าป่า

การหลบหนีเข้าป่าของพวกกบฏ เมื่อพบชาวบ้านก็ฆ่าชาวบ้าน เมื่อหนีเข้าไปในวัดพบพระสงฆ์ ก็ฆ่าพระสงฆ์ นายพลฟอร์บังต์ต้องใช้เวลาไล่ล่านานนับเดือน ถึงจะปราบปรามพวกกบฏที่หลบหนีได้หมด

เหตุการณ์ครั้งนี้ มีชาวสยาม ชาวบ้าน ทหารไทยและทหารฝรั่งเศส สูญเสียรวมกว่า 1,366 คน – หลังเหตุการณ์ทำให้กลุ่มมุสลิมในอยุธยา ทั้งแขกขาวแขกดำหมดอำนาจลง , สมเด็จพระนารายณ์ไม่ได้ลงพระราชอาญากับพวกกลุ่มมุสลิมที่หลงเหลือ ไม่ว่าจะเกี่ยวข้องหรือถูกหลอกลวงให้ร่วมกบฏก็ตาม พระองค์ไม่ต้องการสร้างแรงกดดันให้กับกลุ่มประชาคมมุสลิมอีก

เพราะอย่างไรก็ตามการเดินเรือและการค้า ราชสำนักอยุธยาก็ยังต้องใช้ความสามารถของกลุ่มประชาคมมุสลิมอยู่เช่นเดิม

แม้การปราบปรามกบฏมักกะสันสำเร็จลง แต่ข้อขัดแย้งทั้งการทำงานและลักษณะนิสัยบุคลิก ระหว่างออกญวิไชเยนทร์ ผู้สั่งการปราบกบฏ กับ นายพลฟอร์บังต์ หรือ ออกพระศักดิ์สงคราม ผู้ลงมือนำทหารปราบกบฏ พลันถึงจุดแตกหัก 

ทั้งสองคนเป็นไม้เบื่อไม้เมากันมาตั้งแต่เริ่มต้นแล้ว เหตุอาจเป็นเพราะ ออกพระศักดิ์สงคราม (ฟอร์บังต์) ถูกสมเด็จพระนารายณ์เชื้อเชิญโดยตรง ให้มาเป็นแม่ทัพกองเรือสยาม ดูแลป้อมบางกอกและเป็นผู้ว่าราชการบางกอก ออกพระศักดิ์สงครามจึงไม่ขึ้นอยู่ใต้อำนาจของออกญาวิไชเยนทร์

ความคิดในการสร้างป้อมบางกอก แม้จะเริ่มต้นจากความคิดของออกญาวิไชเยนทร์ (คอนสแตนติน ฟอลคอน – ชาวกรีก) แต่การควบคุมดูแลการก่อสร้าง อยู่ภายใต้การควบคุมของ ออกพระศักดิ์สงคราม (เชวาเลียร์ เดอ ฟอร์บังต์ – ชาวฝรั่งเศส)

หลังการปราบกบฏมักกะสัน มีคนมาเตือนออกพระศักดิ์สงคราม ซึ่งอาศัยอยู่ในสยามได้เพียง 3 ปีกว่า ๆ ให้ระวังออกญาวิไชเยนทร์ จะวางแผนฆ่าเอา เพราะออกพระศักดิ์สงครามได้รู้ความลับเกี่ยวกับการที่ออกญาวิไชเยนทร์ สมคบพวกบาทหลวงฝรั่งเศสหลอกลวงข้อมูลทูลเท็จกับพระเจ้าหลุยส์ที่ 14

หลังการปราบกบฏมักกะสัน ออกพระศักดิ์สงคราม ทำหนังสือขอลาออกจากราชการถวายสมเด็จพระนารายณ์ และพระองค์อนุญาตตามคำขอ

วันที่นายเรือโท เชวาเลียร์ เดอ ฟอร์บังต์ (กลับมาใช้ชื่อเดิม เพราะลาออกจากราชการแล้ว) กำลังจะเดินทางออกจากปากน้ำ ได้มีทหารโปรตุเกสนายหนึ่ง ถือหนังสือมาบอกเขาว่า ออกญาวิไชเยนทร์แจ้งมาว่า มีคำสั่งจากสมเด็จพระนารายณ์ให้ฟอร์บังต์ ไปเข้าเฝ้า

ฟอร์บังต์เห็นความผิดปกติว่า ทหารที่มาไม่ใช่ทหารรักษาพระองค์ แต่เป็นทหารในสังกัดของออกญาวิไชเยนทร์ สร้างความสงสัยให้ฟอร์บังต์ ว่าอาจเป็นแผนของขุนนางชาวกรีกเพื่อลวงตนไปสังหารปิดปาก ครั้นวันรุ่งขึ้นนายฟอร์บังต์ได้หลบหนีขึ้นเรือสำเภาลำหนึ่ง แล้วออกจากสยามกลับไปฝรั่งเศส

เมื่อถึงฝรั่งเศส ฟอร์บังต์ ได้บันทึกเรื่องราวที่อยู่ในสยาม และบันทึกเรื่องราวที่ได้มีโอกาสเข้าเฝ้าพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แล้วพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ทรงสอบถามเกี่ยวกับสยาม

ฟอร์บัง กราบทูลว่า “ราษฎรกินแต่ผลไม้และข้าวซึ่งมีบริบูรณ์มาก อาณาจักรสยามนั้นเป็นรูปแหลม เป็นที่เหมาะสำหรับตั้งคลังสินค้าทำการค้ากับมัธยมประเทศ เพราะตั้งอยู่ระหว่างสองทะเล จึงเป็นที่ชุมนุมสินค้าที่มีประเทศต่าง ๆ ขนเข้าไปทุกปี

ส่วนสินค้าของสยาม มีข้าว หมาก ดีบุก และช้าง ส่วนหนังสัตว์ป่าก็มีมาก แต่คนไทยไม่มีสินค้าหัตถกรรมเลย นอกจากการทอผ้าบาง ๆ ที่พวกขุนนางเท่านั้นที่มีสิทธิที่จะนำไปตัดเย็บเป็นเสื้อใช้ในงานพระราชพิธี”

พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ทรงถามว่า “สมเด็จพระนารายณ์มีพระราชดำริจะเข้ารีตหรือไม่ ?”
ฟอร์บัง กราบทูล “สมเด็จพระนารายณ์ไม่มีพระราชดำริจะเข้ารีตเลย ในวันที่ราชทูตเชวาเลียร์ เดอ โชมองต์ เข้าเฝ้าถวายพระราชสาส์น มีข้อความที่เกี่ยวกับศาสนาคริสต์ แต่ออกญาวิไชเยนทร์ซึ่งทำหน้าที่เป็นล่าม ก็เว้นข้ามโดยไม่แปลความนั้น เจ้าคณะบาทหลวงที่เข้าอยู่เฝ้าด้วย มีความเข้าใจในภาษาไทยดี ก็ไม่กล้าทักท้วง เกรงว่าจะได้รับความลำบาก”

พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ทรงพระสรวล แล้วตรัสว่า “เคราะห์ร้ายมากที่พระเจ้ากรุงสยามต้องใช้ล่ามที่ไม่แปลข้อความด้วยความสุจริต” จากนั้นพระองค์ถามว่า “คณะบาทหลวงทำการเผยแพร่ศาสนาได้ผลเพียงไร”

ฟอร์บัง กราบทูลตอบว่า “คณะบาทหลวงชักชวนคนไทยเข้ารีตไม่ได้แม้แต่คนเดียว มีแต่คบหาสมาคมอยู่ในกลุ่มของชาวโปรตุเกส คนญวน คนญี่ปุ่นที่นับถือศาสนาคริสต์เท่านั้น”

ฟอร์บัง ได้อธิบายเหตุผลเพิ่มเติมว่า “การที่ศาสนาคริสต์ไม่สามารถเผยแพร่ได้อย่างสำเร็จนั้น เป็นเพราะบาทหลวงผู้เผยแพร่ไม่ได้มีความเคร่งครัดในศาสนาเหมือนพระภิกษุสงฆ์ ซึ่งพระสงฆ์ในพุทธศาสนามีความอดทนและเคร่งครัด ไม่ยุ่งเกี่ยวทางเพศกับสตรีใด นอกจากจะสึกออกมาแต่งงาน ไม่เสพสุราเมรัย

พระจะฉัน (กิน) แต่สิ่งของที่มีคนนำมาถวายทำบุญเท่านั้น ของใช้ต่าง ๆ ก็ได้จากชาวบ้านนำมาถวาย ถ้าได้มาเกินก็จะมอบต่อให้ชาวบ้าน พระจะไม่ออกจากวัดไปไหน นอกจากตอนเช้าไปบิณฑบาต พระไม่วิงวอนให้ใครมาใส่บาตร แต่จะยืนถือบาตรเฉย ๆ ซึ่งก็มีคนมาใส่จนเต็ม

คนสยามเป็นคนใจบุญ ไม่นิยมการบูชายัญ ไปฟังเทศน์ในวัด ไม่ฟังเทศน์หรือสวดมนต์กลางแจ้ง ผู้หญิงสยามเป็นผู้หญิงบริสุทธิ์ ผู้ชายไม่ดุร้าย เด็ก ๆ จะเชื่อฟังพ่อแม่ – ฉะนั้นการจะเปลี่ยนให้ชาวสยามหันมานับถือศาสนาคริสต์จึงเป็นเรื่องที่ยากมาก”

เหตุการณ์ความวุ่นวายทั้งหมดที่เกิดขึ้น ทางด้านพระเพทราชาไม่ได้เข้ามายุ่งเกี่ยวด้วย พระองค์ไม่ได้อยู่ท่ามกลางความขัดแย้งของกลุ่มอำนาจต่างชาติ

ข่าวการประชวรของสมเด็จพระนารายณ์เริ่มหนาหูกว่าเก่า อำนาจของออกญาวิไชเยนทร์มีมากขึ้นทุกวัน ฝรั่งเศสกำลังจะเป็นประชาคมใหม่ที่มีอำนาจ แทนที่ประชาคมอื่น ๆ ทั้งจีน อินเดีย แขก มอญ โปรตุเกส อังกฤษ ที่อยู่ในสยาม

พระเพทราชาลงพื้นที่พบปะชาวบ้านและพระสงฆ์เพื่อพูดคุยด้วยห่วงใยในพุทธศาสนา รวมถึงสถานการณ์ต่าง ๆ ของชาวต่างชาติที่เข้ามาในกรุงศรีอยุธยา ชาวบ้านประชาชนต่างเห็นด้วยกับสิ่งที่พระเพทราชาเป็นห่วง ประชาชนและพระภิกษุที่เห็นด้วยเริ่มกลายเป็นมวลชน ที่มีความรู้สึกดีต่อพระเพทราชา

อ้างอิง :

[1] พงศาวดารกรุงศรีอยุธยา. ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ
[2] พงศาวดารกรุงศรีอยุธยา. ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม)
[3] พงศาวดารกรุงศรีอยุธยา. ฉบับ วลิต
[4] ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 79 จดหมายเหตุวันวลิต – หอสมุดแห่งชาตินครศรีธรรมราช 
[5] สำนักงานวิจัยแห่งชาติ (ว.ช) ภูมิรัฐศาสตร์กับความมั่นคงของประเทศไทย
[6] กรมศิลปากร. เอกสารของฮอลันดา สมัยอยุธยา
[7] กรมศิลปากร. ประชุมพงศาวดาร เล่ม 27 , เล่ม 34 , เล่ม 42
[8] กรมพระยาดำรงราชานุภาพ. พงศาวดารไทยรบพม่า
[9] มิวเซียมไทยแลนด์. (Museum Thailand) อยุธยาในบันทึกของสเปน
[10] นิธิ เอียวศรีวงศ์. การเมืองไทยในสมัยพระนารายณ์
[11] ลำจุล ฮวบเจริญ. เกร็ดพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา
[12] สถาปัตย์ เชื้อมงคล. สยามประกาศสงครามกับอังกฤษ 
[13] อานนท์ จิตรประภาส. การค้าและการเมืองในสมเด็จพระนารายณ์
[14] ศิลปวัฒนธรรม. ฉากแรกสัมพันธ์อยุธยา-โปรตุเกส การรับทูตตะวันตกครั้งแรกในอยุธยา
[15] นันทา สุตกุล. (แปล) เอกสารฮอลันดาสมัยกรุงศรีอยุธยา
[16] ภาณุดา วงศ์พรหม. พลิกแผ่นดิน จากใต้เงาปีกมหาอำนาจสู่อิสรภาพของประเทศในเอเซีย
[17] วชิรญาณ. จดหมายเหตุฟอร์บัง

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า