‘กิโยตีน’ เครื่องมือประหารคนเห็นต่าง แต่กลับถูกนำมาเป็นสัญลักษณ์ ‘ความเท่าเทียม’

ในการชุมนุมประท้วงของกลุ่มผู้ชุมนุมเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงสถาบัน บางครั้งมีการนำ “กิโยตีน” มาจัดแสดงเพื่อเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ของการต่อต้านชนชั้น และสถาบัน ซึ่งมูลเหตุของการเลือกนำกิโยตีนมาจัดแสดงนี้ มีที่มาจากเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของโลกในหน้าประวัติศาสตร์ “การปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ. 1789” นั่นเอง

การปฏิวัติฝรั่งเศส ถูกโรแมนติไซส์ วาดระบายให้ผู้คนชวนนึกถึงการมาถึงของ “เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ” ซึ่งเป็นคำขวัญสำคัญของการปฏิวัติในครั้งนั้น อีกทั้งยังเป็นคำขวัญของประเทศฝรั่งเศสในปัจจุบัน จึงไม่น่าแปลกใจที่กลุ่มผู้ชุมนุมกลุ่มนี้ จะเลือกใช้กิโยตีนในการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ สื่อความมุ่งหมายของพวกเขา

อย่างไรก็ตาม วัตถุประสงค์ของกิโยตีนตลอดการใช้งานของมันคือการทำหน้าที่เป็น “เครื่องมือพรากชีวิตมนุษย์” และมันก็ได้ทำหน้าที่พรากชีวิตมนุษย์ตลอดอายุการใช้งานของมันตลอด 200 ปี อย่างซื่อตรงตลอดมา

สำหรับชื่อ “กิโยตีน” มาจากชื่อของ โจเซฟ อิกเนซ กิโยตีน (Joseph-Ignace Guillotin) หมอชาวฝรั่งเศสเล็งเห็นถึงความทุกข์ทรมานของนักโทษประหารที่ได้รับความทรมานก่อนตาย และผลักดันให้มีการคิดค้นและใช้งานเครื่องมือประหารที่สามารถทำงานได้ง่าย รวดเร็ว ฉับไว รวมไปถึงการออกแบบเครื่องประหารที่เป็นต้นแบบของกิโยตีน

ภายหลังการปฏิวัติฝรั่งเศสไม่นาน เขาเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติที่เพิ่งถูกตั้งขึ้นใหม่ในวันที่ 10 ตุลาคม ค.ศ. 1789 ให้มีการใช้เครื่องประหารรูปแบบของเขา ซึ่งเขาโน้มน้าวสมาชิกสภาว่าเครื่องประหารของเขาคือ “ความเท่าเทียมในโทษประหาร”

และจากประสิทธิภาพของมันในการพรากชีวิตมนุษย์ บวกกับขนาดที่สูงใหญ่ของมัน สร้างความสนใจให้แก่ฝูงชนได้เป็นอย่างดี รัฐบาลสาธารณรัฐฝรั่งเศสที่ 1 จึงเลือกใช้กิโยตีนเพื่อการลงโทษประหารนับแต่นั้นมา

เหตุการณ์ที่ทำให้กิโยตีนเป็นเสมือนสัญลักษณ์ของการปฏิวัติฝรั่งเศสคือการปลงพระชนม์พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ในวันที่ 21 มกราคม ค.ศ. 1793 ซึ่งมูลเหตุของการตัดสินใจของรัฐบาลสาธารณรัฐในครั้งนั้นมาจากแรงกดดันจากออสเตรีย เรียกร้องให้มีการปล่อยตัวพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 และพระบรมวงศานุวงศ์ด้วยการใช้กำลังทหารเข้าคุกคาม แม๊กซิมิเลียน โรแบสปิแยร์ ซึ่งเป็นแกนนำที่สำคัญของการปฏิวัติโน้มน้าวต่อสภาว่า “หลุยส์ต้องตาย เพื่อให้ฝรั่งเศสคงอยู่ต่อไป”

แม้ฝรั่งเศสจะยังคงอยู่ต่อไปได้ภายหลังการปลงพระชนม์พระเจ้าหลุยส์ก็ตาม แต่ความขัดแย้งด้านความคิดในกลุ่มนักการเมืองรัฐบาลสาธารณรัฐเองก็ถ่างกว้างขึ้นด้วยเช่นกัน จากความพยายามที่มุ่งเน้นการใช้ความรุนแรงเด็ดขาด ไม่ประนีประนอมของโรแบสปิแยร์ และกลุ่มจาโคแบง สร้างความแตกแยกร้าวฉานในสังคมฝรั่งเศสในวงกว้าง เกิดการจลาจล ก่อกบฏขึ้นในหลายพื้นที่ทั่วฝรั่งเศส จนลามเข้ามาถึงในปารีส

เพื่อระงับความปั่นป่วนวุ่นวาย โรแบสปิแยร์ตัดสินใจใช้ความเด็ดขาด ลงโทษผู้เห็นต่างด้วยการกำจัดทิ้ง มีการจัดตั้งมวลชนที่ทำหน้าที่คล้ายคลึงกับตำรวจลับ ทำหน้าที่จับกุม “ผู้ต้องสงสัย” ว่าเป็นศัตรูกับประชาชน ประชาชน 300,000 ถูกจับกุม 40,000 คนถูกประหาร ซึ่งนักประวัติศาสตร์เรียกช่วงเวลาแห่งความวุ่นวายและนองเลือดนี้ว่า “ยุคแห่งความพรั่นสะพรึง” (Reign of Terror)

กิโยตีน เป็นเพียงสัญลักษณ์หนึ่งของการประหารชีวิตของผู้เห็นต่าง ซึ่งในเวลานั้นถูกเรียกโดยรัฐบาลสาธารณรัฐว่า “ศัตรูของประชาชน” แต่ในความเป็นจริงแล้ว ไม่ใช่ประชาชนทุกคนที่ได้รับสิทธิในการประหารอย่างเท่าเทียมในเวลานั้น ในบางเหตุการณ์ ประชาชนผู้เห็นต่างเหล่านั้น ถูกประหารด้วยวิธีอื่น อาทิเช่น การถ่วงน้ำ, การเหยียบด้วยกองทหารม้า และการสังหารหมู่ด้วยปืน

กิโยตีน อาจกล่าวได้ว่าเป็นสัญลักษณ์ของการใช้อำนาจรัฐเผด็จการ เพื่อกำจัดผู้เห็นต่าง กดขี่ประชาชนด้วยความหวาดกลัว

ภายหลังยุคแห่งความพรั่นสะพรึง ถึงแม้ว่าในฝรั่งเศสจะไม่มีการประหารประชาชนจำนวนมากเพื่อการควบคุมประชาชนด้วยความกลัวด้วยกิโยตีนไปจนกระทั่งมีการยกเลิกการใช้กิโยตีนไปใน ค.ศ. 1977 (พ.ศ. 2520) แต่กิโยตีน ได้รับการยอมรับเพื่อการใช้งานในการประหารชีวิตนักโทษโดยหลายประเทศในยุโรปในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 – 20

ในยุคสมัยของนาซี เยอรมนี พรรคนาซีใช้กิโยตีนเพื่อการกำจัดผู้เห็นต่างทางการเมืองคล้าย ๆ กับที่เคยเกิดขึ้นในยุคสมัยแห่งความพรั่นสะพรึงด้วยเช่นกัน โดยในยุคเรืองอำนาจของพรรคนาซี ระหว่าง ค.ศ. 1933 – 1945 มีนักโทษการเมืองถูกประหารด้วยกิโยตีนมากถึง 16,500 คนเลยทีเดียว

โดยวัตถุประสงค์ของกิโยตีน คือเครื่องมือในการพรากชีวิตคน และถึงแม้ว่าในช่วงแรก มันจะถูกโฆษณาว่าเป็นเครื่องมือการประหารที่มีมนุษยธรรม และความเท่าเทียม แต่ในความเป็นจริงแล้ว กิโยตีนมีข้อจำกัดด้านการใช้งานทางเทคนิคพอสมควร ซึ่งนั่นส่งผลให้ผู้รับโทษประหารบางคนมิได้เสียชีวิตในทันที หากแต่ต้องทนทุกข์ทรมานในช่วงเวลาหนึ่ง โดยเฉพาะในผู้ที่มีรูปร่างอวบ ที่อาจตัดคอไม่ขาดในมีดเดียว

จากรายงานของ มอร์นิเตอร์ (the Moniteur) ตีพิมพ์เดือนพฤศจิกายน ค.ศ.1795 รายงานว่านักโทษบางคนต้องทนทุกข์ทรมานหลายนาทีหลังหัวขาด ซึ่งข่าวนี้ทำให้โจเซฟ อิกเนซ กิโยตีน ผู้ผลักดันการใช้กิโยตีนรู้สึกเสียใจ และละอายต่อการใช้ชื่อของเขาตามชื่อเครื่องประหารชนิดนี้ไปตลอดชีวิต

นอกจากนี้ กิโยตีนยังถูกใช้เป็นเครื่องมือของเผด็จการในการกดขี่ประชาชนผู้เห็นต่างด้วยความหวาดกลัว ทั้งในยุคปฏิวัติฝรั่งเศส และยุคสมัยของพรรคนาซี เยอรมนี
ประชาชนคนไทยเราควรพิจารณาให้ดี ๆ ว่าเครื่องมือพรากชีวิตมนุษย์เช่นนี้ สมควรที่จะเป็น “สัญลักษณ์แห่งเสรีภาพและความเท่าเทียม” หรือ “สัญลักษณ์แห่งการกดขี่ประชาชนด้วยความหวาดกลัว”

อ้างอิง :

[1] Weird History, “What It Was Like to Witness the Guillotine”
[2] The Infographics Show, “The Guillotine – Worst Punishments in the History of Mankind”
[3] Daily Dose Documentary, “History of the Guillotine”
[4] Jack Rackam, “The Pacifist who Killed 20,000 | The Life & Times of Robespierre (French Revolution 2/3)”
[5] This is Barris! – French History, “Maximilien Robespierre and the Reign of Terror (Full Series)”
[6] The People Profiles, “Robespierre – Architect of Terror Documentary”
[7] FACT MONSTER, “DK History: French Revolution”
[8] Wikipedia, “Joseph-Ignace Guillotin”
[9] Wikipedia, “Guillotine”
[10] Wikipedia, “Reign of Terror”
[11] “พีรวุฒิ เสนามนตรี (พ.ศ.2562), “ปฏิวัติฝรั่งเศส”, สำนักพิมพ์ยิปซี
[12] William Doyle (2021), “ปฏิวัติฝรั่งเศส: ความรู้ฉบับพกพา”, ปรีดี หงส์สตัน แปล, สำนักพิมพ์บุ๊คสเคป

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า