‘หลังยะสิ่ว’ ไม่ใช่ ‘ลังกาสุกะ’ ตีแผ่การสนับสนุนวาทกรรมบิดเบือนประวัติศาสตร์ จากความผิดพลาดของหน่วยงานภาครัฐ

บทความโดย จีรวุฒิ (อุไรรัตน์) บุญรัศมี

เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2566 ได้มีการเผยแพร่บทความจากหน่วยงานภาครัฐเรื่อง “ปัตตานี อาณาจักรเก่าแก่ทางประวัติศาสตร์” ซึ่งบทความดังกล่าวมียอดถูกใจกว่า 2 พันคน และมีการเผยแพร่จากประชาชนทั่วไปกว่า 1 พันครั้ง

เมื่อผู้เขียนได้อ่านบทความนี้จบ ก็พบกับความตกใจที่ว่า หน่วยงานรัฐซึ่งควรจะต้องมีหน้าที่และพันธกิจสำคัญ นั่นก็คือการสร้างความเข้าใจที่ดีระหว่างรัฐและประชาชน กลับเป็นหน่วยงานที่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเผยแพร่ข้อมูลทางประวัติศาสตร์ที่ยังมีความคลาดเคลื่อนให้แก่ประชาชน (ซึ่งผู้เขียนเชื่อว่าคงกระทำไปโดยไม่ได้ตั้งใจ)

ซึ่งประเด็นความคลาดเคลื่อนทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญที่สุด นั่นก็คือการระบุว่า ‘หลังยะซูว’  หรือ ‘หลังยะสิ่ว’ (Lang-ya-hsiu) ในเอกสารจีนโบราณ คือเมืองเดียวกับ ‘ลังกาสุกะ’ (Langasuka) ทั้ง ๆ ที่ปัจจุบันข้อมูลทางประวัติศาสตร์ได้ชี้ชัดแล้วว่า ความเชื่อดังกล่าวนั้นคลาดเคลื่อน เพราะหากยึดตามเนื้อหาในต้นฉบับแล้ว ‘หลังยะซูว’ หรือ ‘หลังยะสิ่ว’ ย่อมมิอาจเป็น  ‘ลังกาสุกะ’ อย่างเด็ดขาด

เพื่อไขข้อความเข้าใจผิดในประเด็นนี้ ผู้เขียนจะพาทุกท่านย้อนกลับไปสู่ต้นกำเนิดแห่ง ‘วาทกรรม’ ‘หลังยะซูว’  หรือ ‘หลังยะสิ่ว’ คือ  ‘ลังกาสุกะ’ เสียก่อน ซึ่งวาทกรรมนี้เพิ่งถูกสถาปนาขึ้นในช่วง พ.ศ. 2500 ต้น ๆ นี้เอง จากนักวิชาการชาวตะวันตก พอล เวตลีย์ (Pual Wheatley) นักภูมิศาสตร์ชาวอังกฤษ ใน The Golden Khersonese (2504)

การทำให้หลังยะสิ่วเป็นลังกาสุกะนี้ เวตลีย์เริ่มต้นด้วยการกล่าวว่า ลังกาสุกะยังเป็นประเด็นที่ถกเถียงในช่วงที่มลายาจะตั้งชื่อประเทศใหม่หลังได้รับเอกราชจากอังกฤษ ซึ่งรับรู้ทั่วกันในหมู่คนมลายูว่า ลังกาสุกะน่าจะตั้งอยู่บริเวณคาบสมุทรมลายูทางตอนเหนือ แต่ก็ยังไม่สามารถยืนยันถึงที่ตั้งที่แน่นอนของเมืองนี้ได้ และถึงแม้จะมีนักวิชาการจำนวนหนึ่งพยายามหาที่ตั้งของเมืองนี้โดยการใช้ภูมิศาสตร์เชิงประวัติสาสตร์ (historical geography) แต่เวตลีย์ก็สรุปว่า ยังมีความเห็นต่างกันพอสมควรตามความเข้าใจหลักฐานของนักวิชาการแต่ละท่าน

เวตลีย์เริ่มต้นการค้นหาและสร้างชุดความรู้ของเขาด้วยการเริ่มต้นจากเอกสารของจีนโบราณ จากการตามรอยเส้นทางการเดินเรือนี้ เขาสันนิษฐานเบื้องต้นว่าเมือง “หลังยะสิ่ว” (Lang-ya-hsiu) ที่ปรากฏในเอกสารจีนช่วงคริสต์วรรษที่ 7 น่าจะตั้งอยู่บริเวณที่ใดสักแห่งบนคาบสมุทรมลายูตอนเหนือ เอกสารจีนโบราณเหล่านี้ อาทิ ของ Ma Tuan-lin และหลวงจีนอี้จิง แม้จะมีการกล่าวถึงชื่อที่คล้ายกับ ลังกาสุกะ นั่นก็คือ หลังยะสิ่ว อย่างไรก็ดีเอกสารจีนกลับไม่ได้ระบุจุดที่ตั้งของเมืองนี้อย่างเด่นชัดเลย ทราบแต่เพียงว่าเมืองนี้อยู่บริเวณ “ทางตอนใต้” ของประเทศจีนและตั้งอยู่บริเวณ “ทางตะวันออก” เท่านั้น

ด้วยเหตุนี้ ศรีศักดิ์ วัลลิโภดม นักประวัติศาสตร์ชาวไทยได้ให้ความเห็นหนักแน่นมาตลอดหลายปีว่า “หลังยะสิ่ว” (Lang-ya-hsiu) ที่ปรากฏในเอกสารจีนช่วงคริสต์วรรษที่ 7 (ค.ศ.636 – 695) น่าจะเป็นเมืองที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ตะวันออกเฉียงใต้ของแคว้นศรีเกษตรในพม่า นั่นก็คือเมือง ‘นครชัยศรี’ เพราะเอกสารจีนของหลวงจีนอี้จิงระบุต่อไปว่าทางทิศตะวันออกของหลั่งยะสิ่วคือเมืองทวาราวดี (โตโลโปตี) ศรีศักดิ์แย้งว่าหากหลั่งยะสิ่วตั้งอยู่ในปัตตานีจริง เมืองทวาราวดี จามปา และอีศานปุระก็จะต้องเป็นเมืองที่ตั้งอยู่ในทะเลเป็นแน่หากยึดตามตำแหน่งแห่งที่ที่ปรากฏในเอกสารจีนนี้

ดังนั้น ข้อสรุปข้างต้นของนักวิชาการที่เชื่อว่า “หลังยะสิ่ว” ที่ปรากฏในเอกสารจีนตั้งอยู่ที่ปัตตานี จึงเป็นสิ่งที่ ศรีศักดิ์กล่าวไว้ชัดเจนว่า “ผิดทิศผิดทางขัดแย้งกับที่ปรากฏในเอกสารโบราณของหลวงจีนอี้จิง”

แนวคิดที่ว่าหลังยะสิ่วไม่ใช่ลังกาสุกะนี้ นอกจากศรีศักดิ์แล้ว มานิต วัลลิโภดม อดีตข้าราชการกรมศิลปากรผู้เป็นบิดาของศรีศักดิ์ก็ยืนยันหนักแน่นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2515 ว่า “หลังยะสิ่ว” น่าจะตรงกับ “หลั่งเกียฉู่” ที่ปรากฏในเอกเอกสารจีนฉบับอื่น ๆ และตามความจริงแล้ว “หลั่งเกียฉู่” (ที่พำนักของมังกร) ย่อมหมายถึงพื้นที่บริเวณลุ่มน้ำท่าจีน-แม่กลอง ซึ่งเป็นความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับรัฐในแนวระนาบ (แนวนอน) กล่าวคือ กล่าวถึงเฉพาะพื้นที่บริเวณตะวันตกของเทือกเขาตะนาวศรีมาทางตะวันออกผ่านไปยังอีสานและจามปาในเวียดนาม หาใช่กล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับรัฐในแนวตั้ง (บนลงล่าง) ระหว่างเมืองบริเวณสุวรรณภูมิ (เมืองบริเวณใจกลางแผ่นดินใหญ่) กับเมืองบริเวณคาบสมุทรตอนใต้แต่อย่างใด ปัจจุบันข้อเสนอที่ว่าหลังยะสิ่วคือบริเวณลุ่มภาคกลางของไทย และเป็นคนละเมืองกับลังกาสุกะในคาบสมุทรมลายูเริ่มได้รับการตอบรับจากนักวิชาการไทยอีกหลายคน อาทิ สุจิตต์ วงศ์เทศ และ ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ เป็นต้น

และหากกลับไปสำรวจเนื้อความต้นฉบับเกี่ยวกับ “หลังยะสิ่ว” ที่ปรากฏในเอกสารประวัติศาสตร์จีนในสมัยราชวงศ์สุย (Sui-shu) ซึ่งเขียนขึ้นในปี ค.ศ. 636 โดยอ้างเนื้อหาเอกสารโบราณมาอีกทอดหนึ่ง เอกสารดังกล่าวได้พูดถึงการเดินทางของราชทูตจีนไปยังอาณาจักร “ชื่อถั่วกั๋วจี้” (Chi tuKua chi) โดยต้องผ่านอาณาจักรจามปาซึ่งปัจจุบันคือพื้นที่บริเวณเวียดนามใต้ ต่อมาอีก 2-3 วัน ราชทูตจีนก็ได้ล่องเรือมาถึง “หลังยะสิ่ว” อันตั้งอยู่ทางทิศตะวันตก ข้อมูลเพียงเท่านี้คงจะเป็นที่แน่ชัดแล้วว่า “หลังยะสิ่ว” น่าจะตั้งอยู่ไม่ไกลจากพื้นที่แถบเวียดนามใต้ โดยใช้เวลาเดินทางถัดไปอีก 2-3 วันด้วยความเร็วระดับการล่องเรือเลียบชายฝั่ง ซึ่งก็พอดิบพอดีกับพื้นที่บริเวณลุ่มภาคกลางของไทยในปัจจุบันตามข้อสันนิษฐานของนักวิชาการฝ่ายค้านเวตลีย์ข้างต้น ควรต้องเน้นย้ำด้วยว่าระยะเวลาการเดินทางเพียงเท่านี้ย่อมเป็นไปไม่ได้อย่างแน่นอนที่ “หลังยะสิ่ว” จะหมายถึงเมืองที่ตั้งอยู่ในพื้นที่คาบสมุทรทางภาคใต้/แหลมมลายู เพราะเอกสารชิ้นเดียวกันนี้ก็ระบุเองว่าพวกเขาใช้เวลาเดินทางจากเมืองกวางตุ้งในจีนตอนใต้มาถึงดินแดนจามปากว่า 20 วันเลยทีเดียว

เป็นที่ประจักษ์ชัดว่า ย่อมเป็นไปไม่ได้ที่การเดินทางโดยเรือเพียง 2-3 วันของจีนจะล่องมาถึงคาบสมุทรทางใต้บริเวณแหลมมลายูได้ อีกทั้งยังเป็นไปไม่ได้อย่างเด็ดขาดที่เทคโนโลยีการเดินเรือยุคโบราณ (คริสต์วรรษที่ 7) จะสามารถทำความเร็วได้เทียบเท่ากับเรือกลไฟ (steamboat) ที่เพิ่งถูกนำเข้ามาในเอเชียตะวันออกเมื่อช่วงคริสต์วรรษที่ 19 เพราะแม้แต่การเดินทางไปยังแหลมมลายูในสมัยรัชกาลที่ 5 (คริสต์วรรษที่ 19-20) ซึ่งตั้งต้นจากพื้นที่ภาคตะวันออก-ภาคกลาง ก็ยังใช้เวลาเดินทางถึง 2-3 วัน ดังนั้น ไม่ว่าจะใช้ข้อพิสูจน์ทางทฤษฎีใด ๆ “หลังยะสิ่ว” ที่ปรากฏในเอกสารจีนช่วงคริสต์วรรษที่ 7 ย่อมไม่ใช่ “ลังกาสุกะ” เป็นแน่

และการที่เวตลีย์อาศัยข้อมูลจากเอกสารจีนโบราณช่วงคริสต์วรรษที่ 7 นี้มาผสมรวมกับเอกสารและแผนที่ของจีนที่ทำในยุคหลังลงมาอีกหลายร้อยปี ได้แก่ แผนที่ในเอกสาร “หวู เป่ย ซิ” (Wu-pei-chih) ซึ่งเขียนขึ้นในคริสต์ศตวรรษที่ 17 (1621) จากการอาศัยข้อมูลการเดินเรือของขุนนางจีนเจิ้งเหอในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 15 เอกสารนี้ระบุถึงเมือง “หลงไซกะ” (Long-Sai-ka) ไม่ใช่ “หลังยะสิ่ว” (Lang-ya-hsiu) อีกต่อไป  ด้วยเหตุนี้เวตลีย์จึงสมาทานไปว่า “หลังยะสิ่ว” และ “หลงไซกะ” น่าจะเป็น “เมืองเดียวกัน” ทั้งที่จริงแล้วประเด็นนี้ยังต้องถกเถียงกัน เพราะอายุเมืองทั้งสองห่างกันหลายร้อยปี และเอกสารฝั่งจีนก็ขาดช่วงการบันทึกเกี่ยวกับหลังยะสิ่วไปตั้งแต่คริสต์วรรษที่ 8

แต่เวตลีย์ได้นำข้อมูลดังกล่าวไปทึกทักเอาเองว่า “หลงไซกะ” (ลังกาสุกะ) ตั้งอยู่บริเวณทางใต้ของเมืองสงขลา (Sun-gu-na) อันอิงตามแผนที่ของ หวู เป่ย ซิ และแม้ว่าเขาจะไม่ทราบว่าแม่น้ำ Kun-ha-ti (Kun ha di) ตั้งอยู่ที่ไหน แต่เขาก็คาดการณ์ฟันธงไปเองว่าย่อมเป็นแม่น้ำปัตตานีเป็นแน่ (ที่จริงแล้วแม่น้ำ Kun ไม่ใช่แม่น้ำปัตตานีอย่างแน่นอน แต่ควรจะเป็นแม่น้ำบริเวณอำเภอโคกโพธิ์มากกว่า)

ควรบันทึกไว้ด้วยว่า นอกจากเอกสารจีนช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 17 ที่ระบุถึง “หลงไซกะ” แล้ว ใน คริสต์ศตวรรษที่ 13-14 ยังปรากฏชื่อเมือง “หลิงยาซีเกียะ” (Ling-ya-sii-kia) และ “ลังยาซีเกียะ” (Lung-ya-hsi-chiao) ในเอกสารจีนด้วย ซึ่งชื่อทั้งหมดนี้สามารถเข้าใจได้เป็น “ลังกาสุกะ” อันตั้งอยู่ในคาบสมุทรทางใต้ได้ เพราะเอกสารได้แสดงรายละเอียดของสถานที่ อาทิ การระบุว่าอยู่ใต้ลงไปจากอาณาจักรตามพรลิงค์ (นครศรีธรรมราช) ด้วยการเดินทางโดยเรือ 6 วัน ซึ่งสอดคล้องกับข้อเท็จจริงทางภูมิศาสตร์ในปัจจุบัน

น่าสังเกตว่าวิธีวิทยาของเวตลีย์ มีความแปลกประหลาดในการวิเคราะห์และสังเคราะห์หลักฐานและข้อมูลมาก การฟันธงให้แคบ (narrowing) ว่าที่ตั้งของลังกาสุกะอยู่บริเวณใต้สงขลาและแม่น้ำปัตตานีนั้น เขาเริ่มต้นพิจารณาจากชื่อของ “หลังยะสิ่ว” (Lang-ya-hsiu) ในเอกสารจีนโบราณที่เขียนขึ้นช่วงคริสต์วรรษที่ 7 ก่อนที่จะกล่าวถึงที่ตั้งจากแผนที่เดินเรือจีนที่ทำขึ้นในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 17 อันระบุว่าเมือง หลงไซกะ (Long-Sai-ka) สามารถเข้าถึง (access) ได้บริเวณทางใต้ของสงขลา ก่อนที่เวตลีย์จะย้อนขึ้นไปจับเอาข้อมูลจากเอกสารจีนที่เขียนขึ้นในช่วงหลายร้อยปีก่อนหน้านั้น (คริสต์วรรษที่ 7) มา “สวมทับ” เข้ากับแผนที่ของหวู เป่ย ซี อย่างพอดิบพอดี โดยเขาได้นำเอา “ลังกาสุกะ” เข้ามาแทนที่ “หลงไซกะ” และ “หลังยะสิ่ว” ตามลำดับจนเกิดเป็นชุดความรู้เบื้องต้นที่ว่า “ลังกาสุกะตั้งอยู่ที่บริเวณแม่น้ำปัตตานี/ตอนใต้ของสงขลา” วิธีวิทยาแบบ “ทึกทัก” ข้ามกาลเวลาข้ามบริบทเช่นนี้ไม่น่าจะถือเป็นแนวทางในการศึกษาประวัตศาสตร์ได้

ด้วยเหตุนี้ การเอาหลังยะสิ่วมาปะปนกับลังกาสุกะในงานเขียนทางวิชาการอาจจะทำให้วงการวิชาการประวัติศาสตร์ภาคใต้ของไทยตกอยู่ภายใต้ “วาทกรรมอำนาจเชิงความรู้” ที่มีลักษณะคลาดเคลื่อน ที่ถูกประทับรับรองให้ถูกต้องด้วยการดำเนินงานผ่านการผลิตเป็นหนังสือหรือตำราของหน่วยงานรัฐ นั่นก็คือมีการนำ “หลังยะสิ่วมารวมไว้กับลังกาสุกะ” (หน้า 89-90) มานำเสนอโดยหน่วยงานของรัฐ

ผู้เขียนรู้สึกแปลกใจที่ว่าเหตุใดหน่วยงานของรัฐจึงไม่มีท่าทีระแวดระวังในการใช้หลักฐานหรือวิเคราะห์เอกสารให้ถ้วนถี่ก่อนนำพิมพ์เผยแพร่ให้ประชาชนทั่วไปได้อ่าน โดยเฉพาะตรรกะความเป็นไปได้อย่างง่าย ๆ ของเนื้อหาที่ปรากฏในเอกสารจีนโบราณ หาใช่ไล่สอดส่องกวาดหาแต่คำที่คล้ายกัน เช่น หลังยะสิ่ว กับ ลังกาสุกะ แล้วด่วนสรุปฟันธงไปเลยว่าคือ “เมืองเดียวกัน” หากแต่ไม่อ่าน/ไม่สนใจบริบทแวดล้อม (context) ของเอกสารนั้น ๆ ประกอบด้วยว่า ผู้เขียนเอกสารโบราณหมายถึงเมืองเดียวกันหรือไม่ ก่อนจะปักใจเชื่อแล้วนำมาเขียนเป็นงานวิชาการและเผยแพร่ให้ประชาชนคนไทยได้อ่านและศึกษากันเพื่อให้คุ้มกับภาษีที่ได้เสียไปให้หน่วยงานรัฐนั้น ๆ ในแต่ละปี

อ้างอิง :

[1] Pual Wheatley.The Golden Khersonese. University of Malaya Press. (1961)
[2] กรมศิลปากร. ‘พัฒนาการทางโบราณคดีและประวัติศาสตร์ 3 จังหวัดชายแดนใต้’ (2565).
[3] สุจิตต์ วงษ์เทศ (บรรณาธิการ). รัฐปัตตานีในศรีวิชัย เก่ากว่ารัฐสุโขทัยในประวัติศาสตร์.(กรุงเทพ : สำนักพิมพ์ศิลปวัฒนธรรม.) 2547
[4] หลั่งยะสิว ไม่ใช่ลังกาสุกะที่ปัตตานี แต่เป็นลุ่มน้ำท่าจีน-แม่กลอง สืบเนื่องจากสุวรรณภูมิ / On History : ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ
[5] Roland Braddell. A study of ancient times in the Malay peninsula and the straits of Malacca. (1989)
[6] จดหมายเหตุพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสแหลมมลายู คราว ร.ศ. 107 และ 108.

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า