‘แก้ไข ม.112’ การลดทอนคุณค่าสถาบันกษัตริย์ ที่ซ่อนอยู่ในวาทกรรม ‘ความเท่าเทียม’

หากจะพูดเรื่องประเด็นการแก้ไข ม.112 เราก็ควรต้องพูดกันบนพื้นฐานของเหตุผลและความเข้าใจที่ถูกต้องว่า แก้ทำไม แก้อย่างไร แก้ตรงจุดไหน และการแก้ไขนั้นนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ดีขึ้น รวมถึงไม่สร้างความขัดแย้งในสังคมได้หรือไม่ ซึ่งกฎหมายบ้านเมืองหากไม่เหมาะสมตามกาลสมัย หรือมีจุดใดล้าหลังควรปรับปรุง ก็สามารถแก้ไขได้ด้วยกระบวนการที่ถูกต้องสมเหตุสมผล

แต่ข้อเสนอแก้ไข ม.112 ของบางพรรคการเมืองในขณะนี้ หากดูในรายละเอียดดีๆ นั่นไม่ใช่การแก้ไขที่นำไปสู่ทางออกของปัญหาเลย แต่กลับเป็นการจงใจลดทอนคุณค่าของสถาบันพระมหากษัตริย์ลงด้วยซ้ำ

ตัวอย่างเช่น การเสนอแก้ไขให้ทางสำนักพระราชวังเท่านั้นเป็นผู้แจ้งดำเนินคดี ด้วยข้ออ้างว่าเพื่อไม่ให้ประชาชนนำ ม.112 มากลั่นแกล้งกัน สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือ ในหลวงจะกลายมาเป็นคู่ขัดแย้งกับประชาชนทันที ซึ่งเป็นสิ่งที่ขัดกับรัฐธรรมนูญ และในอีกด้านหนึ่ง เราก็เห็นกันอยู่ว่าในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีการละเมิด ม.112 ด้วยพฤติการณ์ดูหมิ่น กล่าวหา จาบจ้วง ไปจนถึงอาฆาตมาดร้ายสถาบันฯ กันมากแค่ไหน (แค่การใช้สัญลักษณ์กิโยตีนของคนบางกลุ่มก็น่าจะเป็นคำตอบได้ดี) นั่นเท่ากับยิ่งเป็นการเพิ่มภาระให้กับทางสำนักพระราชวังในการดำเนินคดีกับผู้ที่ละเมิดกฎหมาย กลายเป็นการสร้างปัญหาเพิ่มขึ้นมากกว่าที่จะแก้ปัญหาเสียอีก

ในข้อเท็จจริงของคดี ม.112 การรวบรวมสำนวนคดีของเจ้าหน้าที่ก่อนส่งให้อัยการพิจารณาฟ้องร้องนั้น เขามีการตั้งคณะกรรมการที่เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจชั้นผู้ใหญ่คอยกลั่นกรองก่อนอีกชั้นหนึ่ง เพื่อป้องกันและแก้ปัญหาการกลั่นแกล้งกัน ซึ่งเป็นขั้นตอนที่มีการดำเนินการอยู่แล้วในปัจจุบัน และการพิจารณาคดีในชั้นศาลหลายคดีก็มีการยกฟ้องเนื่องจากหลักฐานไม่มีมูลเพียงพอ ซึ่งก็ชี้ชัดว่า ม.112 นั้น ไม่สามารถเอามาใช้กลั่นแกล้งกันได้ โดยข้อมูลเหล่านี้สื่อบางสำนัก หรือนักการเมืองที่ขยันพูดเรื่องแก้ไข ม.112 ไม่เคยหยิบมาพูดถึง

หรือแม้แต่การเรียกร้องแก้ไขลดโทษ ม.112 ซึ่งรวมไปถึงการยกเลิกโทษจำคุกของกฎหมายหมิ่นฯ ทั่วไปเหลือเพียงโทษปรับนั้น สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือ ต่อไปใครมีเงินหน่อยก็สามารถดูหมิ่น กล่าวหาคนอื่น ดูหมิ่นศาล ดูหมิ่นในหลวง หรือแม้แต่ประมุขของต่างประเทศได้แล้ว ส่วนใครที่ไม่มีเงินหากไปดูหมิ่นใครเข้าก็ซวยกันไป กลายเป็นการสร้างความไม่เท่าเทียมมากกว่าที่จะแก้ปัญหา

ทั้งหมดนี้ ถามว่าเป็นการเรียกร้องแก้ไข ม.112 ที่มาจากความปรารถนาดีต่อบ้านเมือง ต่อสถาบันพระมหากษัตริย์จริงหรือ? เป็นข้อเรียกร้องที่ทำเพื่อเสรีภาพของประชาชนจริงหรือ?

อย่าลืมว่า “ประชาชน” ที่นักการเมืองบางคนอ้างถึงนี้ ไม่ใช่ประชาชนส่วนใหญ่หรือทั้งหมดของประเทศ แต่ยังมีประชาชนอีกหลายคนที่ไม่มีปัญหากับการใช้กฎหมายนี้ และยังมีประชาชนอีกเป็นจำนวนมากทั้งผู้ใหญ่และเยาวชน ที่ยังเคารพรักในสถาบันพระมหากษัตริย์ และไม่ได้ต้องการแก้ไขกฎหมาย ม.112

ซึ่งเราก็เห็นแล้วว่า การเรียกร้องแก้ไข ม.112 ของพรรคการเมืองดังกล่าว นอกจากไม่ได้มาจากความปรารถนาดีจริงๆ แล้ว ยังเป็นการเพิ่มความขัดแย้งแบ่งฝักแบ่งฝ่ายให้กับคนไทย จนอาจนำไปสู่ความแตกแยกในสังคมที่ไม่อาจผสานคืนได้อีก

ซึ่งก็ไม่แน่ว่านี่อาจเป็นเป้าหมายแท้จริงที่ซ่อนอยู่ในเปลือกของคำว่า “ประชาธิปไตยและความเท่าเทียม” ของพรรคการเมืองพรรคนี้ก็เป็นได้