เรื่องบิดเบือน 6 ประการ ของคณะราษฎร การเปลี่ยนแปลงการปกครองที่ไม่ได้เกิดขึ้นเพื่อประชาชน

การปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 โดยคณะราษฎรนั้น หลายคนมักจะได้อ่านข้อมูลหรือได้รับการบอกเล่าต่อๆ กันมาในทำนองว่า คณะราษฎรก่อตั้งขึ้นโดยกลุ่มนักเรียนไทยในฝรั่งเศส ผู้ซึ่งมีบทบาทอย่างสูงในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง อีกทั้งยังเป็นการรวมตัวกันของ “คณะนายทหาร” กับ “เหล่าราษฎร” เพื่อทำการอภิวัฒน์สยามและมอบประชาธิปไตยให้กับประชาชนคนไทย

แต่ถ้าลองวิเคราะห์ดูจากข้อเท็จจริงในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ตลอด 25 ปี ที่คณะราษฎรเรืองอำนาจ จะพบว่า สิ่งที่พูดมาทั้งหมดล้วนไม่เป็นความจริง

วันนี้ ฤๅ จึงขอนำเสนอ “เรื่องบิดเบือน 6 ประการ ของคณะราษฎร” จากการรวบรวมข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในห้วงเวลาสำคัญ โดยเฉพาะช่วงเปลี่ยนแปลงการปกครอง และยุคที่คณะราษฎรเรืองอำนาจ เพื่อแสดงให้เห็นว่า การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ไม่ได้เกิดขึ้นเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง

1. คณะราษฎร ไม่เคยให้ราษฎรเข้ามามีส่วนร่วม

ในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 คณะผู้ก่อการประกอบไปด้วยสมาชิกประมาณกว่าร้อยคน โดยแบ่งเป็น 3 สาย คือ สายทหารบก สายทหารเรือ และสายพลเรือน โดยในจำนวนนี้สมาชิกสายทหารบกและทหารเรือ มีทั้งหมด 59 นาย เป็นนายทหารสัญญาบัตร 58 นาย มีเพียงสมาชิกสายทหารเรือเพียงนายเดียวที่มียศจ่าโทซึ่งเป็นชั้นยศในระดับประทวน

สำหรับสมาชิกสายพลเรือนราวๆ 50 คน ส่วนใหญ่ก็ล้วนเป็นข้าราชการ นอกนั้นเป็นเพียงรายชื่อผู้ติดตามหรือคนใกล้ชิดของแกนนำที่ถูกยัดไส้ให้ดูเหมือนว่ามีผู้เข้าร่วมขบวนการมากมายหลากหลาย ทั้งที่จริงๆ แล้ว เป็นเพียงแค่กลุ่มบุคคลเพียงกลุ่มเดียวด้วยซ้ำไป แม้แต่นายถวัติ ฤทธิเดช ซึ่งเป็นนักกิจกรรมทางการเมืองที่เคลื่อนไหวมาเป็นระยะเวลานาน ก็ยังไม่เคยมีโอกาสได้เข้าไปมีส่วนร่วมกับคณะราษฎร ไม่ว่าจะก่อนหรือหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง

นอกจากจะไม่มีราษฎรเข้าไปมีส่วนร่วมแล้ว หลังประกาศใช้พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พ.ศ. 2475 และมีการตั้งสโมสรคณะราษฎรขึ้นมา ก็ไม่เคยมีการเปิดรับให้ราษฎรเข้าไปมีส่วนร่วมในขบวนการทางการเมืองเลย เพราะสโมสรคณะราษฎรเปิดรับแต่ชนชั้นข้าราชการและนายทุนเพื่อสร้างเครือข่ายระบอบอุปถัมภ์

2. คณะราษฎรที่แท้จริง ไม่ใช่กลุ่มนักเรียนไทยในฝรั่งเศส

คณะราษฎรถูกเคลมว่าก่อตัวขึ้นโดยนักเรียนนอก โดยกลุ่มนักเรียนไทยในฝรั่งเศส ซึ่งประกอบไปด้วย ร้อยโท แปลก ขีตตะสังคะ, นายปรีดี พนมยงค์, ร้อยโท ประยูร ภมรมนตรี, ร้อยตรี ทัศนัย มิตรภักดี, นายตั้ว ลพานุกรม, นายจรูญ สิงหเสนี และแนบ พหลโยธิน

แต่แท้จริงแล้ว คณะผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองตัวจริง ประกอบไปด้วยกลุ่มนายทหารระดับสูง ซึ่งมีพลเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) เป็นหัวหน้า และมีพันเอก พระยาทรงสุรเดช เป็นมันสมองผู้ซึ่งวางแผนการในการยึดอำนาจ กับนายทหารชั้นผู้ใหญ่อีก 2 คน คือ พันเอก พระยาฤทธิอัคเนย์ และพันเอกพระประศาสน์พิทยายุทธ โดยทั้งหมดได้รวมตัวกันเป็น 4 ทหารเสือ นำนายทหารจากกลุ่มทหารบกและทหารเรือเข้าก่อการปฏิวัติ

สำหรับมูลเหตุที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง ได้ก่อตัวขึ้นจากวิกฤติเศษฐกิจ Great Depression ในอเมริกา เมื่อปี ค.ศ. 1929 ก่อนที่จะส่งผลกระทบลามไปทั่วโลก และประเทศสยามเองก็ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง ส่งผลให้รัฐบาลสยามต้องใช้มาตราการทางเศรษฐกิจที่เด็ดขาด ด้วยการลดงบประมาณรายจ่ายเพื่อให้การคลังของประเทศเข้าสู่ดุลยภาพ ทำให้มีการตัดลดงบประมาณรายจ่ายที่ไม่จำเป็นลง และกระทรวงที่ได้รับผลกระทบหนักก็หนีไม่พ้นกระทรวงกลาโหม นอกจากนี้ยังทำให้ข้าราชการนับพันคนถูกเลิกจ้าง หรือที่เรียกว่า “ถูกดุลย์” แล้วยังตามมาด้วยมาตราการลดเงินเดือนแบบขั้นบันได

มาตราการทางการคลังที่ถูกใช้นี้ ถึงแม้จะทำให้ประเทศผ่านพ้นวิกฤติเศรษฐกิจไปได้ แต่บรรดาข้าราชการกลายเป็นกลุ่มคนที่ต้องแบกรับผลกระทบมากที่สุด ประกอบกับการที่ พันเอก พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช เสนาบดีกระทรวงกลาโหมในขณะนั้น ผู้ซึ่งหาญกล้าท้าทายเสนาบดีท่านอื่นๆ ได้ออกตัวคัดค้านการตัดลดงบประมาณของกระทรวงกลาโหม ทำให้พระองค์เจ้าบวรเดชกลายเป็นขวัญใจของเหล่านายทหาร ส่งผลให้เกิดกระแสการสนับสนุนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองแบบพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดินขึ้นมา และพระองค์เจ้าบวรเดชก็ตกเป็นเป้าสายตาของรัฐบาล ในฐานะเป็นบุคคลที่ปั่นกระแสการปฏิวัติ

การเปลี่ยนแปลงการปกครอง ในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ได้ก่อตัวขึ้นจากการเดินสายของคนกลางอย่างนายประยูร ภมรมนตรี ซึ่งเป็นบุตรของ พันตรี พระชำนาญคุรุวิทย์ (แย้ม ภมรมนตรี) ทูตทหารประจำจักรวรรดิเยอรมัน ทำให้นายประยูรรู้จักสนิทสนมกับนักเรียนทุนต่างประเทศอย่างกว้างขวาง เพราะว่านักเรียนที่จะได้รับทุนไปเรียนในยุโรป จะต้องถูกส่งมาเรียนภาษาที่บ้านของพระชำนาญคุรุวิทย์ก่อน นายประยูรจึงได้รับรู้ถึงกระแสความคิดทางการเมืองของคนกลุ่มต่างๆ จึงได้ติดต่อประสานกัน จนเกิดขบวนการขึ้นเป็นรูปเป็นร่าง และได้ยกให้สี่นายทหารเสือเป็นผู้นำ

ส่วนกลุ่มนักเรียนไทยในฝรั่งเศสที่มาเคลมกันภายหลังว่าเป็นผู้ก่อตั้งคณะราษฎร แท้จริงแล้ว เป็นผู้มีบทบาทในการเปลี่ยนแปลงการปกครองน้อยมาก นอกจากสมาชิกสายพลเรือนอย่างนายปรีดี พนมยงค์ ที่ต่อมาได้เขียนรัฐธรรมนูญยัดไส้รูปแบบสาธารณรัฐ ตามแบบฉบับรัฐธรรมนูญของพรรคบอลเชวิคที่สถาปนาสหภาพโซเวียต และให้มีพระมหากษัตริย์เป็นหุ่นเชิดของรัฐบาล

3. ประกาศคณะราษฎร จุดด่างพร้อยในชีวิตของนายปรีดี พนมยงค์

ประกาศคณะราษฎรฉบับของนายปรีดีฯ เป็นรอยด่างพร้อยทางประวัติศาสตร์การเมืองที่แม้แต่ในชั่วชีวิตของนายปรีดีฯ เอง ก็ไม่ได้มีความภาคภูมิใจในถ้อยคำโกหกที่เขียนในประกาศฉบับนี้เลย

เรื่องนี้แม้แต่ในเช้าวันปฏิวัติ 24 มิถุนายน หลังจากที่ได้หลอกทหารหน่วยต่างๆ ให้มาชุมนุมกันที่หน้าลานพระบรมรูปทรงม้าโดยลวงว่าจะมาทำการซ้อมรบ เมื่อถึงเวลาที่จะต้องประกาศความจริงว่าจะเข้าทำการยึดอำนาจปฏิวัติ พระยาพหลพลพยุหเสนา ยังต้องนำโพยประกาศส่วนตัวออกมาอ่าน แทนการอ่านถ้อยคำตามคำประกาศที่นายปรีดีฯ ได้ทำใบปลิวจ่ายแจก

ถ้อยคำในประกาศคณะราษฎรที่โจมตีกล่าวหาพระมหาษัตริย์ต่างๆ นานา ได้ถูกพิสูจน์ว่าล้วนแล้วแต่เป็นความเท็จทั้งสิ้น เพราะว่าคณะผู้ก่อการทั้งหลาย ซึ่งรวมไปถึงตัวของนายปรีดีฯ ด้วย ภายหลังได้พากันไปเข้าเฝ้าฯ และขอขมาต่อในหลวงรัชกาลที่ 7 เพื่อกราบขอพระราชทานอภัยโทษ และขอขมาที่ได้ล่วงเกินด้วยการสบประมาท หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ต่อในหลวงรัชกาลที่ 7 และพระราชวงศ์จักรี ซึ่งถ้าหากถ้อยคำในประกาศเป็นความจริง ก็ไม่เห็นต้องขอขมาเลย เหมือนดังเช่นกรณีของ นายพันเอกพระยาทรงสุรเดช ที่ท่านถือว่าท่านไม่ได้ทำผิด เพราะไม่รู้เห็นกับการใส่ร้ายพระเจ้าอยู่หัว พระยาทรงสุรเดชจึงเป็นผู้ก่อการเพียงไม่กี่คนที่ยืนกรานไม่เข้าเฝ้าฯ เพื่อขอขมาต่อในหลวงรัชกาลที่ 7

คำโกหกที่ร้ายแรงที่สุดในประกาศคณะราษฎร ก็คือ ถ้อยคำที่ว่า “กล่าวคำหมิ่นประมาทราษฎรผู้มีบุญคุณเสียภาษีอากรให้พวกเจ้าได้กินว่า ราษฎรยังมีเสียงทางการเมืองไม่ได้ เพราะราษฎรยังโง่ คำพูดของพวกรัฐบาลเช่นนี้ใช้ไม่ได้ ถ้าราษฎรโง่ เจ้าก็โง่ เพราะเป็นคนชาติเดียวกัน” ซึ่งคำประกาศดังกล่าวที่นายปรีดีฯ กล่าวหาว่าเจ้าดูถูกว่าราษฎรโง่นั้น จริงๆ แล้วเป็นคำที่นายปรีดีฯ ปั้นแต่งขึ้นมาเองทั้งนั้น

ในขณะเดียวกัน ในเค้าโครงการเศรษฐกิจของนายปรีดีฯ กลับดูหมิ่นดูแคลนประชาชนเสียเอง โดยตำหนิว่า “แม้ผู้ชำนาญจะพร่ำสอนสักเท่าใดๆ ราษฎรก็ไม่ใคร่จะเชื่อเพราะนิยมอยู่ในแบบโบราณไม่เบิกหูเบิกตา” การกล่าวเช่นนี้เป็นการสบประมาทสติปัญญาประชาชนที่รุนแรงอย่างมาก

หลักฐานที่แสดงให้เห็นว่านายปรีดีฯ มองว่าราษฎรโง่นั้น ดูได้จากร่างรัฐธรรมนูญของนายปรีดีฯ ที่ไม่ยอมให้ประชาชนเลือกผู้แทนสภาได้เต็มที่ ถ้าราษฎรยังมีการศึกษาในระดับประถมศึกษาไม่ถึงครึ่ง โดยให้มี ส.ส.ประเภทที่สองที่มาจากการแต่งตั้งไปก่อน และกำหนดให้กินระยะเวลาถึง 10 ปี ซึ่งถือเป็นการผูกขาดอำนาจเอาไว้เสียเอง ต่อมาเมื่อถึงปี พ.ศ. 2483 รัฐบาลของหลวงพิบูลสงคราม ก็ได้ขยายเวลาให้มี ส.ส. ประเภทที่สอง ต่อไปอีกเป็นเวลา 10 ปี โดยนายปรีดีฯ ได้ให้ความเห็นสำทับไปว่า ระยะเวลา 10 ปี ยังน้อยไปด้วยซ้ำ

เมื่อเป็นดังนี้ก็เห็นได้ชัดว่า คำโกหกในประกาศคณะราษฎรฉบับที่ 1 ของนายปรีดีฯ เป็นสิ่งปฏิกูลทางประวัติศาสตร์เพียงไร เพราะถ้าถ้อยคำในประกาศคณะราษฎรกล่าวไว้ถูกต้องแล้ว ถ้าอย่างนั้นคำพูดหรือความคิดของนายปรีดีฯ หลังจากนั้น ก็คงเป็นสิ่งที่กลับกลอก เพราะว่าเคยพูดไว้อย่างหนึ่งต่อมาก็พูดไปอีกอย่างหนึ่ง ดังนั้น ประกาศคณะราษฎรจึงเป็นความด่างพร้อยทางประวัติศาสตร์ของนายปรีดีฯ ที่ย้อนกลับมาทำร้ายตัวเอง

4. คณะผู้ก่อการเรียกร้องการปกครองในระบอบรัฐสภา (Parliamentary system) ไม่ได้เรียกร้องประชาธิปไตย (Republic)

หลังจากที่คณะราษฎรทำการปฏิวัติได้เพียง 3 วัน ยังไม่ทันจะได้มีอำนาจการปกครองอย่างเต็มที่ด้วยซ้ำ ความสัมพันธ์ภายในคณะราษฎร ก็ได้ปรากฎร่องรอยความแตกหักขึ้น เมื่อได้มีการยื่นทูลเกล้าถวายเค้าโครงร่างรัฐธรรมนูญให้ในหลวงรัชกาลที่ 7 ได้ทรงตรวจสอบ และปรากฏว่าเค้าโครงร่างรัฐธรรมนูญที่นายปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้ร่างนั้น เป็นรัฐธรรมนูญที่ถูกยัดไส้โดยพละการ

ความมุ่งหมายของสี่นายทหารเสือหัวหน้าคณะผู้ก่อการนั้น ต้องการให้ประเทศสยามมีการปกครองแบบรัฐสภาเหมือนอย่างประเทศอังกฤษ โดยให้สมาชิกรัฐสภาเป็นตัวแทนที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการปกครอง ซึ่งเป็นหลักการสำคัญของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย

แต่สิ่งที่นายปรีดีฯ เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ คือ การให้มีคณะกรรมการราษฎร (Politburo) มีอำนาจครอบงำการปกครองคณะรัฐมนตรี (เสนาบดีสภา) อีกชั้นหนึ่ง ซึ่งโครงสร้างแบบนี้มีเฉพาะในการปกครองแบบสาธารณรัฐในประเทศคอมมิวนิสต์เท่านั้น และในร่างรัฐธรรมนูญของนายปรีดีฯ ยังได้มีการจำกัดพระราชอำนาจพระมหากษัตริย์ให้ไม่สามารถมีบทบาทใดๆ ในทางการเมืองได้เลย ทั้งๆ ที่แม้แต่ในอังกฤษ กษัตริย์อังกฤษยังมีพระราชอำนาจในการแต่งตั้งสมาชิกสภาสูง หรือมีพระราชอำนาจในการยับยั้ง (veto) กฎหมายโดยเด็ดขาดได้อีกด้วย แม้ว่ากษัตริย์อังกฤษจะไม่เคยใช้อำนาจ veto มาเป็นร้อยๆ ปีแล้วก็ตาม แต่สำหรับพระมหากษัตริย์ไทยกลับมีพระราชอำนาจ veto กฎหมายแบบชั่วคราวเท่านั้น

นอกจากนี้ร่างรัฐธรรมนูญของนายปรีดีฯ ยังมีความบกพร่องในเชิงหลักการอีกหลายจุด เป็นต้นว่า มีการบัญญัติไม่ให้ผู้ใดฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในคดีอาญาได้ แต่กลับให้รัฐสภามีอำนาจวินิจฉัย การกำหนดบทบัญญัติแบบนี้ถือเป็นการให้อำนาจตุลาการแก่องค์กรฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งไม่มีประเทศไหนในโลกเขาทำกัน

จากความบกพร่องของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนายปรีดีฯ ทำให้ในหลวงรัชกาลที่ 7 มีพระราชดำรัสต่อคณะผู้ก่อการขอให้ประกาศใช้ร่างรัฐธรรมนูญเป็นการชั่วคราวไปก่อน ซึ่งทำให้คณะผู้ก่อการหลายๆ คน ไม่พอใจนายปรีดีฯ เป็นอย่างมาก ถึงขนาดที่พระยาทรงสุรเดชออกปากตำหนิความบกพร่องของนายปรีดีฯ อย่างรุนแรง ที่ทำการโดยพละการไปหลายๆ เรื่อง โดยเฉพาะการเขียนรัฐธรรนูญยัดไส้เอาตามชอบใจเกินกว่าที่ตกลงกันไว้เป็นอย่างมาก

อนึ่ง คำว่า “ประชาธิปไตย” ในบริบทสมัยนั้น เป็นคำที่แปลมาจากคำว่า Republic ซึ่งหมายถึงระบอบการปกครองที่ไม่มีพระมหากษัตริย์ (a government without king) และผู้ที่บัญญัติศัพท์นี้ขึ้นมา คือ ในหลวงรัชกาลที่ 6 ในปี พ.ศ. 2455 ดังนั้น การที่นายปรีดีฯ รู้อยู่แก่ใจว่า “ประชาธิปไตย” หมายถึงการปกครองแบบ “สาธารณรัฐ” แต่กลับสอดไส้คำๆ นี้ มาในประกาศคณะราษฎร เพื่ออธิบายถึงรูปแบบการปกครองในระบอบรัฐสภา จึงเป็นการอำพรางเจตนาส่วนลึก ซึ่งสะท้อนออกมาในรูปของรัฐธรรมนูญที่มีความย้อนแย้ง และพยายามทำให้พระมหากษัตริย์กลายเป็นเพียงหุ่นเชิดของบอลเชวิค (คณะกรรมการราษฎร)

จนกระทั่งต่อมา พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ ได้บัญญัติศัพท์โดยการแปลทับ ให้คำว่า “ประชาธิปไตย” หมายถึง Democracy แล้วแปลคำว่า Republic หมายถึง “สาธารณรัฐ” ทั้งนี้เพื่อไม่ให้ประชาชนหลงสับสนไปตามคำโฆษณาชวนเชื่อของพวก Anarchist ที่พยายามปลุกระดมให้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองไปในระบอบสาธารณรัฐตามแนวทางของพรรคบอลเชวิค เหมือนอย่างเช่นที่สตาลินกำลังดำเนินการอยู่ในขณะนั้น

5. ร่างรัฐธรรมนูญของนายปรีดี พนมยงค์ ที่ลอกมาจากประเทศสาธารณรัฐ

ในยุโรปมีแนวคิดว่าพระมหากษัตริย์ถืออำนาจเทวสิทธิเพื่ออ้างอำนาจจากพระเจ้ามาปกครองประชาชน ดังนั้นประเทศในระบอบสาธารณรัฐ จึงได้ก่อตั้งแนวความคิดเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับผู้ที่จะเข้ามาใช้อำนาจเทวสิทธินั้นแทนที่พระมหากษัตริย์

สำหรับสังคมไทยมีมุมมองว่า ปวงชนทั้งหลายเห็นพ้องต้องกันในการยอมรับให้พระมหากษัตริย์เป็นพระเจ้าแผ่นดิน ดังหลักที่เรียกกันว่า “อเนกชนนิกรสโมสรสมมติ” ดังนั้นพระมหากษัตริย์จึงมีสิทธิอันชอบธรรมที่จะใช้อำนาจอธิปไตย โดยที่ไม่มีการอ้างอิงอำนาจเทวสิทธิของพระเจ้าแบบในยุโรป

ในพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พ.ศ. 2475 นายปรีดีฯ ได้ออกแบบให้ มาตรา 1 วางหลักว่า “อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย” ซึ่งเป็นหลักการอ้างสิทธิอำนาจอธิปไตย ตามหลักแนวคิดของประเทศในระบอบสาธารณรัฐ

แต่ในมาตรา 2 นายปรีดีฯ ได้กำหนดให้อำนาจสูงสุดที่ว่านี้ ต้องมีบุคคลใช้อำนาจแทนประชาชน ได้แก่ พระมหากษัตริย์ สภาผู้แทนราษฎร คณะกรรมการราษฎร และศาล

การที่นายปรีดีฯ ออกแบบให้ มาตรา 1 ซึ่งเป็นการวางหลักการที่มาของอำนาจอธิปไตย แยกกับมาตรา 2 ซึ่งเป็นเรื่องของการใช้อำนาจอธิปไตย ถือเป็นการเขียนรัฐธรรมนูญแบบตัดแปะที่ลอกมาจากประเทศสาธารณรัฐ เพื่อหวังผลในทางการเมือง และเป็นรัฐธรรมนูญที่มีความบกพร่องอย่างมาก เพราะว่าไปแยกมาตรา 1 กับมาตรา 2 ไว้เป็นคนละเรื่อง ทั้งๆ ที่มันคือเรื่องเดียวกัน และต้องเขียนในมาตราเดียวกัน ดังเช่น รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. 2475 ที่ในหลวงรัชกาลที่ 7 โปรดเกล้าฯ ให้มีคณะร่างรัฐธรรมนูญจากนักกฎหมายผู้เชี่ยวชาญหลายคน สำหรับใช้แทนที่รัฐธรรมนูญที่นายปรีดีฯ ทึกทักเอาเองคนเดียวแบบผิดหลักวิชาการ

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. 2475 ตามมาตรา 2 จึงได้บัญญัติให้ถูกต้องเสียใหม่ว่า “อำนาจอธิปไตยย่อมมาจากปวงชนชาวสยาม พระมหากษัตริย์ ผู้เป็นประมุข ทรงใช้อำนาจนั้นแต่โดยบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้” ซึ่งเป็นการอ้างอิงถึงที่มาของพระราชอำนาจ (อำนาจอธิปไตย) ที่สืบทอดมาจากหลัก “อเนกชนนิกรสโมสรสมมติ” และปรับเข้ากับหลักสากล โดยให้พระมหากษัตริย์ใช้พระราชอำนาจผ่านสถาบันทางการเมือง 3 สถาบัน คือ ฝ่ายบริหารผ่านคณะรัฐมนตรี ฝ่ายนิติบัญญัติผ่านรัฐสภา และฝ่ายตุลาการผ่านองค์กรตุลาการ

6. การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นที่ล้มเหลวของคณะราษฎร

ก่อนที่จะเกิดการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองนั้น ในหลวงรัชกาลที่ 7 ได้ทรงริเริ่มวางรากฐานประชาธิปไตยให้กับประเทศ โดยทรงมีพระราชดำริจะให้ประชาชนมีสิทธิมีเสียงในทางการเมือง ด้วยวิธีการสองทาง คือ

ทางที่หนึ่ง ประชาธิปไตยจากบนลงล่าง ทรงวางรากฐานให้มี “องคมนตรีสภา” ทำหน้าที่เป็นสภานิติบัญญัติแทนพระมหากษัตริย์ โดยนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2471 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สภาทำหน้าที่นิติบัญญัติอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยในระยะแรกจะค่อยๆ พระราชทานกฎหมายมาให้สภาพิจารณา และต่อไปจะพระราชทานให้สภาทำหน้าที่พิจารณากฎหมายแทนพระมหากษัตริย์ทั้งหมด และจะให้มีผู้แทนจากประชาชนเลือกตั้งกันเข้ามาด้วย หลังจากที่ประชาชนมีความคุ้นเคยกับประชาธิปไตยในระดับท้องถิ่นแล้ว

ทางที่สอง ประชาธิปไตยจากล่างขึ้นบน ทรงวางรากฐานให้มี “เทศบาล” เป็นองค์กรปกครองตนเองในระดับท้องถิ่น เพื่อให้ประชาชนมีความคุ้นเคยกับการมีส่วนร่วมในการปกครองชุมชนของตนเอง ทำให้เกิดสำนึกประชาธิปไตย โดยก่อนหน้านั้นในปี พ.ศ. 2469 ในหลวงรัชกาลที่ 7 ได้เคยประกาศ พรบ.การจัดบำรุงสถานที่ชายทะเลทิศตะวันตก พ.ศ. 2469 เพื่อเป็นตัวอย่างของการจัดการปกครองแบบเทศบาล และต่อมาในปี พ.ศ. 2471 ได้พระราชทานร่างกฎหมาย พรบ.เทศบาล ให้กรมร่างไปพิจารณายกร่างเพื่อเตรียมประกาศใช้โดยเร็ว

แต่กรมร่างซึ่งมีนายปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้ช่วยเลขานุการ กลับดำเนินการอย่างล่าช้า จนกระทั่งเมื่อเกิดการปฏิวัติ พ.ศ. 2475 แล้ว คณะราษฎรกลับนำมาประกาศฉบับนั้นมาใช้อย่างรวดเร็วในปี พ.ศ. 2476 โดยเป็นกฎหมายที่ประกาศใช้ขึ้นมาแบบพอเป็นพิธี และด้วยข้อจำกัดของ พรบ.เทศบาล พ.ศ. 2476 ที่ยังตกผลึกไม่พอ จึงส่งผลให้การขยายตัวของเทศบาลเป็นไปอย่างเชื่องช้า โดยเมื่อถึงปี พ.ศ. 2498 มีการจัดตั้งเทศบาลไปได้เพียงร้อยกว่าแห่งเท่านั้น จาก 71 จังหวัดทั่วประเทศ โดยถ้าหากไม่นับรวมกับเทศบาลที่ยกฐานะมาจากสุขาภิบาลในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์แล้ว จะเท่ากับว่า ตลอดระยะเวลากว่า 22 ปี หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง มีการจัดตั้งเทศบาลเพิ่มขึ้นเฉลี่ยเพียงปีละแห่งสองแห่งเท่านั้น

จากเรื่องราวทั้งหมด จะเห็นได้ว่า การปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎรนั้น ไม่ได้มุ่งไปสู่การปลูกฝังหรือการมอบประชาธิปไตยให้กับประชาชนอย่างที่หลายคนเข้าใจเลย หากแต่เป็นการกระทำเพียงเพื่อมุ่งหวังผลประโยชน์หรือเพื่อสร้างฐานอำนาจให้แก่ตนเองเท่านั้น และประชาธิปไตยซึ่งในหลวงรัชกาลที่ 7 ได้ทรงวางรากฐานเอาไว้เพื่อเตรียมมอบให้แก่ประชาชน ก็กลับกลายเป็นเพียงความหวังที่ไม่มีวันเป็นจริงของคนไทย เนื่องมาจากการปฏิวัติ 2475 ได้เข้ามาสร้างวงจรอุบาทว์ให้กับการเมืองไทย ดังเช่นที่พระยาทรงสุรเดช เคยกล่าวไว้ตอนหนึ่งในช่วงท้ายของชีวิตว่า …

“… ไม่มีความผิดครั้งใดในชีวิตของฉันจะใหญ่หลวงเท่ากับการนำ ‘คนหิวเงิน หิวอำนาจ’ เข้าเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนา 2475 …”

อ้างอิง :

[1] กุหลาบ สายประดิษฐ์. เบื้องหลังการปฏิวัติ 2475. กรุงเทพฯ: บูรพาแดง. 2518.
[2] ชาลี เอี่ยมกระสินธุ์. พระปกเกล้าฯ กษัตริย์นักประชาธิปไตย. กรุงเทพฯ: สยาม. 2519.
[3] ทรงสุรเดช, พระยา. การปฏิวัติ 24 มิถุนายน 2475. ใน เบื้องแรกประชาธิปตัย: บันทึกความทรงจำของผู้อยู่ในเหตการณ์สมัย พ.ศ.2475-2500, 98-121. กรุงเทพฯ: สมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย. 2516.
[4] ประยูร ภมรมนตรี, พลโท. การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475. ใน เบื้องแรกประชาธิปตัย: บันทึกความทรงจำของผู้อยู่ในเหตการณ์สมัย พ.ศ.2475-2500, 80-97. กรุงเทพฯ: สมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย. 2516.
[5] ปรีดี พนมยงค์. บางเรื่องเกี่ยวกับการก่อตั้งคณะราษฎรและระบบประชาธิปไตย. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์นีติเวชช์. 2515.

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราไ