เปิดหลักฐานชิ้นสำคัญ กุญแจไขความจริง กรณีโจรสลัดแขกเมืองเซียะปล้นเมืองสงขลา สมัยรัชกาลที่ 1

บทความโดย จีรวุฒิ (อุไรรัตน์) บุญรัศมี

เมืองเซียะหรือเซียค (Siak) เป็นเมืองที่ตั้งอยู่บนเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซียในปัจจุบัน ทุกวันนี้หากมีใครกล่าวถึงเมืองเซียะ เชื่อว่าคนไทยจำนวนมาก รวมถึงชาวไทยเชื้อสายมลายูในพื้นที่ 3 จังหวัด (นายู) ก็คงไม่ทราบว่าเมืองนี้อยู่ที่ไหน และมีความสัมพันธ์อะไรกับเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ในอดีต

ปัจจุบันเป็นที่ทราบกันดีว่า เมืองเซียะเป็นเมืองของชาวมินนังกาเบา อันเป็นเผ่าพื้นเมืองกลุ่มหนึ่งในสุมาตราที่มีวัฒนธรรมคล้ายมลายูมาก โดยดั้งเดิมพวกเขานับถือศาสนาผี จนศาสนาอิสลามได้แพร่เข้ามา ชาวมินนังกาเบาส่วนใหญ่จึงหันไปนับถืออิสลาม และมีคติบางอย่างคล้ายชาวมลายู แต่อย่างไรก็ดี นักมานุษยวิทยาสากลในปัจจุบัน ก็ยังแยกชาวมินนังกาบาออกจากชาวมลายู เพราะมองว่าวิถีชีวิตและจิตสำนึกของกลุ่มชนยังมีความแตกต่างพอสมควร โดยเอกสารฝั่งไทยเรียกชาวมินนังกาเบาว่า ‘แขกเซียะ’ ตามชื่อเมืองที่พวกเขาอาศัย (และบางช่วงชนชั้นนำสยาม ยังเข้าใจว่าเป็นแขกมลายู ซึ่งเป็นการเข้าใจที่คลาดเคลื่อนผิดไปจากหลักความเป็นจริง)

แม้ที่ตั้งของเมืองเซียะจะอยู่บนเกาะสุมาตรา แต่ในช่วงปลายกรุงศรีอยุธยาจนถึงต้นรัตนโกสินทร์ ผู้คนในบริเวณเมืองพัทลุง สงขลา กระทั่งถึงปัตตานีทั้งเจ้านายหรือไพร่ คงไม่มีใครไม่รู้จักวีรกรรมของ ‘แขกเซียะ’ เป็นแน่ โดยเฉพาะในช่วงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ซึ่งปรากฏหลักฐานชั้นต้นทั้งของไทยและมลายูเขียนตรงกันว่า ครั้งหนึ่งเมืองสงขลาและปัตตานีเคยถูก ‘แขกเซียะ’ บุกปล้นเมืองและกวาดทรัพย์สินมีค่าไปอย่างราบคาบ

เมื่อพูดถึงเหตุการณ์แขกเซียะปล้นเมืองสงขลาในสมัยรัชกาลที่ 1 งานวิชาการส่วนมากมักอ้างอิงแต่เอกสารที่ปรากฏในภาษาไทยเท่านั้น กล่าวคือ เหตุการณ์นี้ได้ถูกกล่าวถึงในเอกสารชั้นต้นของไทยประเภทพงศาวดารจำนวน 4 ฉบับ ได้แก่ พงศาวดารเมืองสงขลา ฉบับพระยาวิเชียรคิรี (บุญสังข์), พงศาวดารเมืองสงขลา ฉบับพระยาวิเชียรคิรี (ชม), พงศาวดารเมืองปัตตานี ฉบับพระยาวิเชียรคิรี (ชม) และ พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 2 ซึ่งเอกสารไทยเหล่านี้ ถูกชำระเรียบเรียงขึ้นไล่เลี่ยกันในสมัยรัชกาลที่ 5

อย่างไรก็ดี เอกสารทั้ง 4 ชิ้นของสยามให้การในทำนองสับสน ขณะที่พงศาวดารเมืองสงขลา ฉบับพระยาวิเชียรคิรี (บุญสังข์) และ พงศาวดารเมืองสงขลา ฉบับพระยาวิเชียรคิรี (ชม) ระบุไปในทิศทางเดียวกันว่า กรณีแขกเซียะตีเมืองสงขลา เกิดขึ้นราวสมัยรัชกาลที่ 1 (พ.ศ.2334)หลังจากสยามแต่งตั้งให้ดาโต๊ะปังกาลัน (ระตูท่าหน้า) ขึ้นเป็นเจ้าเมืองปัตตานี (ปตานี) ซึ่งได้ย้ายศูนย์กลางไปที่เมืองยะหริ่ง ต่อมาเจ้าเมืองปัตตานีได้สมคบกับพวก ‘โต๊ะสาเหยด’ (ไซยิด – ผู้สืบเชื้อสายจากพระนบีมูฮัมหมัด) และ ‘แขกเซียะ’ นอกประเทศ จากฝ่ายทะเลตะวันตก โดยเหตุการณ์เริ่มที่ปัตตานีก่อนลุกลามมาถึงเมืองสงขลา ซึ่งต่อมาจบลงด้วยชัยชนะของกองทัพสยามอย่างหวุดหวิด และมีการระบุว่าหัวหน้าของกบฏซึ่งเป็นพวก ‘โต๊ะสาเหยด’ ถูกกองทัพสยามยิงเสียชีวิตด้วย

แต่ในพงศาวดารเมืองปัตตานี ฉบับพระยาวิเชียรคิรี (ชม) กลับระบุว่าเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นในช่วงที่ปัตตานีมีเจ้าเมืองเป็นคนไทยแล้ว (นายพ่าย) ซึ่งย่อมเป็นไปไม่ได้ เพราะทำให้เหตุการณ์ที่ระบุในเอกสาร 2 ชิ้นแรกกับชิ้นนี้มีระยะเวลาห่างกันถึง 20 กว่าปี น่าเชื่อว่าความผิดพลาดดังกล่าวอาจเกิดจากความสับสนของผู้เรียบเรียง เพราะปรากฏว่า พระยาวิเชียรคิรี (ชม) ที่มีชื่อเรียบเรียบเอกสารถึง 2 ฉบับ (พงศาวดารเมืองสงขลาและพงศาวดารเมืองปัตตานี) กลับระบุเหตุการณ์นี้ในเอกสารเหล่านั้นไม่สอดคล้องกัน ดังนั้น เพื่อเป็นการยืนยันหลักฐานเพิ่มเติม จึงต้องมีการสืบค้นเอกสารชิ้นอื่น ๆ มาเทียบเคียงข้อมูล ต่อมา ผู้เขียนได้พบหนังสือ ‘Tuhfat al-Nafis’ ซึ่งดั้งเดิมถูกเขียนขึ้นจากขุนนางมลายูเชื้อสายบูกิสชั้นสูงของราชสำนักยะโฮร์ –เรียว (Johor-Riau)

น่าสนใจว่า เอกสารชิ้นนี้ถูกเขียนขึ้นในช่วงรัชกาลที่ 4 ซึ่งหมายความว่าเอกสารมลายูชิ้นนี้ เก่าแก่ กว่าเอกสารภาษาไทยทั้ง 4 ฉบับข้างต้น

ข้อความจากหนังสือ ‘Tuhfat al-Nafis’ ที่เกี่ยวกับเหตุการณ์ดังกล่าว ขอคัดมาทั้งสิ้น ดังนี้

“…เมื่อกองเรือรบเพียบพร้อม ไซยิดอาลีก็ได้เดินทางออกจากเมืองเซียะ แลล่องไปกับกระแสลมสะลาตันจนถึงปากน้ำเมืองสงขลา ณ ที่นี้ เขาได้ออกบัญชาให้ระดมยิงสีหนาทปืนไฟใหญ่น้อยจากกองเรือใบของเขา พร้อมทั้งลั่นกลอง ตีฆ้องแลป่าวร้องสัญญาณแห่งชัยชำนะ ราษฎรสงขลาซึ่งมิได้ทันได้ตระเตรียมตนก็เกิดอารามตกใจแลตะโกนร้องว่า โจรสลัดบุก !และราษฎรเหล่านั้นก็ได้หลบหนีเข้าป่าไป บรรดาพวกที่หนีได้ก็หนีไปพร้อมกับภรรยาและลูกๆของเขาแลได้ทิ้งของมีค่าไว้เบื้องหลัง ไซยิดอาลีได้สั่งให้คนของเขาบุกเข้าปล้นบ้านเรือนเหล่านี้เสีย ทั้งนี้ บรรดาคนของไซยิดอาลีได้ระดมยิงปืนไฟต่าง ๆ ซึ่งได้สร้างความแตกตื่นให้กับราษฎรสงขลาที่หนีไปด้วยความเร่งรีบแลสับสนเป็นอย่างมาก ราษฎรเหล่านี้ได้ล่องเรือหนีขึ้นไปเหนือลำน้ำเพื่อนำความเรื่องโจรสลัดไปฟ้องแก่เจ้าเมืองสงขลาและขุนนางได้ทราบ  ในช่วงเวลาดังกล่าว ไซยิดอาลีจึงสั่งให้คนของเขายึดเอาของต่างๆของชาวบ้านมาเป็นของตนได้มาก พวกเขาบุกปล้นหยิบฉวยในสิ่งใดก็ตามที่พวกเขาพอจะคว้าเอามาได้แล้วนำมาใส่ในเรือของเขา ไซยิดอาลีได้รับของที่ปล้นมาจำนวนคณานับ ซึ่งส่วนมากเป็นทองคำ เงิน ทองแดง เสื้อผ้า ข้าว รวมถึงเสบียงอาหารอื่น ๆ เขาได้สั่งให้คนปล้นเมืองสงขลาต่อไปกระทั่งมืดค่ำและพบว่าเรือของพวกเขาล้วนเต็มไปด้วยสิ่งของที่ปล้นมาจากชาวบ้าน อย่างไรเสียพวกเขาก็ยังคงยิงปืนไฟข่มขู่ราษฎรสงขลาเป็นระยะ ๆ กระทั่งกองเรือของไซยิดอาลีได้เคลื่อนตัวออกจากปากน้ำเมือสงขลามุ่งหน้าสู่เมืองตรังกานู ในเวลานี้ ราษฎรชาวสงขลาซึ่งได้ลงเรือล่องหนีขึ้นเหนือไปตามลำน้ำ พวกเขาได้พบกับเจ้าเมืองและบรรดาขุนนาง เจ้าเมืองสงขลาได้มีบัญชาให้บรรดาแม่ทัพ เหล่าเสนาขุนนาง และนายกองเรือ พร้อมด้วยทหารอีกหลายพันคนล่องใต้ไปตามลำน้ำไปสู่ปากน้ำสงขลาเพื่อที่จะโจมตีผู้บุกรุก และเมื่อพวกเขามาถึงปากน้ำ ก็พบว่าพวกโจรสลัดได้หนีไปเสียแล้ว กองเรือรบจึงได้รับบัญชาให้ออกไปสู่ทะเลเปิด แต่กลับไม่พบเรือใดสักลำ กองทัพสงขลาจึงทำได้เพียงสบถและสาปแช่งโจรสลัดไซยิดอาลีเท่านั้น หลังจากต้องพบกับความสูญเสียอย่างคณานับจากการถูกปล้น ราษฎรสงขลาได้ทยอยเดินทางกลับสู่บ้านและรโหฐานของพวกเขา…”

และเมื่อมีการตรวจสอบปีของเหตุการณ์แขกเซียะตีเมืองสงขลา ใน ‘Tuhfat al-Nafis’ พบว่าตรงกับช่วงเวลาในสมัยรัชกาลที่ 1 สอดคล้องกับ พงศาวดารเมืองสงขลา ฉบับพระยาวิเชียรคิรี (บุญสังข์) และ พงศาวดารเมืองสงขลา ฉบับพระยาวิเชียรคิรี (ชม) หากแต่เอกสารมลายูไม่ได้ระบุถึงการสมคบคิดบุกตีสงขลาของแขกเซียะ (มินนังกาเบา) โต๊ะสาเหยด กับเจ้าเมืองปัตตานีแต่อย่างใด อีกทั้งโต๊ะสาเหยด (ไซยิดอาลี) ก็ไม่ได้ถูกยิงเสียชีวิตในสนามรบตามที่เอกสารสยามอ้างด้วย

แม้ข้อมูลบางส่วนของทั้งเอกสารไทยและมลายูชิ้นนี้ อาจจะคลาดเคลื่อนไม่ตรงกันบ้าง เช่น รายละเอียดของการสู้รบ หรือกระทั่งการกล่าวยกยอความสามารถของฝ่ายตนเอง แต่อย่างไรก็ดี การนำหลักฐาน/ เอกสารจากหลาย ๆ ฝ่ายมาตรวจสอบและศึกษา ทำให้เราอาจได้รายละเอียดและข้อมูลที่เจาะลึกถูกต้องมากขึ้นก็เป็นได้ อาทิ การยืนยันว่าเหตุการณ์โจรสลัดแขกเมืองเซียะปล้นเมืองสงขลาเกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1 หรือกระทั่งชื่อของหัวหน้าโจรสลัดที่ชื่อว่า“ไซยิดอาลี” จากเดิม หากอ่านแต่เอกสารภาษาไทย จะรู้แค่เพียงว่าหัวหน้าโจรสลัดคือ “โต๊ะสาเหยด” ซึ่งที่จริงแล้ว ‘ไซยิด’ หรือ ‘สาเหยด’ เป็นเพียงการบ่งบอกสถานะความเป็นเชื้อสายของพระนบีมูฮัมหมัดเท่านั้น แต่ไม่ได้ระบุรายละเอียดเฉพาะเจาะจง อย่าง “ชื่อเสียงเรียงนาม” แต่อย่างใด ซึ่งในที่นี้ เอกสาร ‘Tuhfat al-Nafis’ ทำให้ทราบว่าไซยิดผู้นั้นชื่อ “อาลี”

อ้างอิง :

[1] พงศาวดารเมืองสงขลา ฉบับพระยาวิเชียรคิรี (บุญสังข์)
[2] พงศาวดารเมืองสงขลา ฉบับพระยาวิเชียรคิรี (ชม)
[3] พงศาวดารเมืองปัตตานี ฉบับพระยาวิเชียรคิรี (ชม)
[4] พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 2
[5] Tuhfat al-Nafis (Translated). 1982
[6] ชุลีพร วิรุณหะ. บุหงารายา : ประวัติศาสตร์จากคำบอกเล่าของชาวมลายู. (กรุงเทพ : ศักดิโสภาการพิมพ์) 2551.

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า