นิติสงครามแห่งประวัติศาสตร์ คณะราษฎรใช้อำนาจยึดทรัพย์สินพระมหากษัตริย์

ทุกวันนี้เรามักได้ยินคำว่า “นิติสงคราม” จากวาทกรรมสวยหรูของนักการเมืองบางคนที่อ้างว่า รัฐ ทำนิติสงครามกับประชาชน รัฐ คือ ผู้ผูกขาดการใช้ความรุนแรงอันชอบธรรม ใช้กำลังบังคับผ่านสิ่งที่ให้ชื่อว่า “กฎหมาย” เพื่อลิดรอนสิทธิและรังแกประชาชนมือเปล่าที่ไม่มีหนทางต่อสู้

วาทกรรมดังกล่าว ยังชี้นำให้ประชาชนเข้าใจผิด รวมถึงปลุกเร้าให้เยาวชนออกมาต่อต้านเรียกร้อง เล็ดรอด จนกระทั่ง “รุกล้ำ” ขอบเขตของกฎหมาย ถูกดำเนินคดี โดยที่หลายคนยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่า “นิติสงคราม” จากวาทกรรมสวยหรูนั้นคืออะไร

และหลายคนก็ยังไม่เคยรู้ว่า ในอดีต คณะราษฎร คือ ผู้ผูกขาดการใช้ความรุนแรงอันชอบธรรม ใช้กำลังบังคับผ่านสิ่งที่ให้ชื่อว่า “กฎหมาย” เพื่อลิดรอนสิทธิไปจากพระมหากษัตริย์ โดยที่พระองค์ไม่มีหนทางต่อสู้

นั่นคือ นิติสงครามแห่งประวัติศาสตร์ ที่คณะราษฎรใช้อำนาจยึดทรัพย์สินพระมหากษัตริย์

“นิติสงคราม” หรือ Lawfare คือ คำที่คิดค้นขี้นมาใหม่ ล้อเลียนไปกับคำว่า Warfare ที่แปลว่า การสงคราม โดยเปลี่ยนคำจาก War เป็น Law กลายมาเป็น “Lawfare” แปลได้ว่า “นิติสงคราม” หรือ “สงครามทางกฎหมาย”

เริ่มต้น Lawfare เป็นคำในแง่บวก หมายถึงการลดใช้อาวุธในการห้ำหั่นกัน แต่หันมาใช้กฎหมายและความยุติธรรมในการจัดการแทน อย่างไรก็ตาม Lawfare กลับมีความหมายในแง่ลบมากขึ้น เมื่อมีการใช้กฎหมาย ใช้ศาล เพื่อบรรลุเป้าประสงค์ในทางสงคราม หรือเพื่อกำจัดศัตรูทางการเมือง

Lawfare ทำงานโดยกลไกหลัก 2 ประการ คือ

  1. Judicilization of Politics กระบวนการทำให้ประเด็นทางการเมืองกลายไปเป็นคดีและอยู่ในมือศาล
  2. Mediatization of Judicial Political Case การนำประเด็นทางการเมืองจากมือศาลไปไว้ในมือสื่อ แม้ศาลยังไม่ได้ตัดสิน แต่สื่อนำมารายงานไปเรื่อย ๆ ทำให้คนเชื่อว่ามีความผิดจริง กระทั่งไม่มีใครสนใจรายละเอียดข้อกฎหมายที่เป็นเรื่องซับซ้อน และข้อเท็จจริงของเรื่องอีกต่อไป

นิติสงครามไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาทางการเมือง ไม่ได้ส่งเสริมประชาธิปไตย แต่กลับกลายเป็นเครื่องมือในการกำจัดศัตรูทางการเมืองโดยที่ไม่ต้องใช้อาวุธยุทโธปกรณ์ และไม่ต้องชนะการเลือกตั้ง ซึ่งนิติสงครามได้เกิดขึ้นกับหลายประเทศในโลก ไม่เว้นแม้กระทั่งดินแดนสยามในอดีตหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง

ในปี พ.ศ. 2478 รัฐบาลพลเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา ได้เสนอร่างกฎหมายฉบับหนึ่ง ซึ่งต่อมาได้ผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร และมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2479 กฎหมายดังกล่าวคือ “พระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พุทธศักราช 2479” ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีขึ้นเพื่อแบ่งเอาทรัพย์สินและผลประโยชน์ของพระมหากษัตริย์ไปเป็นของแผ่นดิน

โดยรัฐบาลได้ทำการแจกแจงทรัพย์สินที่เคยอยู่ในครอบครองของสถาบันพระมหากษัตริย์ แบ่งออกเป็นส่วน ๆ คือ “ทรัพย์สินส่วนสาธารณสมบัติของแผ่นดิน” “ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์” และ “ทรัพย์สินส่วนพระองค์”

“ทรัพย์สินส่วนพระองค์” คือทรัพย์สินที่ทรงมีอยู่ก่อนขึ้นครองราชย์ หรือทรงได้รับมาจากบุคคลอื่น ๆ ที่มิได้เป็นพระมหากษัตริย์ในพระราชวงศ์จักรี ถือเป็นพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ ทรงมีสิทธิตัดสินพระทัยทำอะไรกับมันก็ได้โดยอิสระ “ทรัพย์สินส่วนสาธารณสมบัติของแผ่นดิน” คือพระราชวังเป็นต้น และ “ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์” คือทรัพย์ที่สืบทอดมาในพระราชวงศ์ โดยจะทรงดำเนินการใด ๆ ก็ได้เพื่อประโยชน์ของทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ซึ่งเดิมนั้นอยู่ในการดูแลของกรมพระคลังข้างที่ หลังออกพระราชบัญญัตินี้แล้วกระทรวงการคลังจึงเป็นผู้ดูแล

เมื่อกฎหมายมีผลบังคับใช้แล้ว ก็ได้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อตรวจสอบทรัพย์สินตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายดังกล่าว โดยมีการรายงานจากคณะกรรมการชุดนี้ว่า มีเงินจำนวนหนึ่งถูกสั่งจ่ายไปโดยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว สำหรับภารกิจของพระองค์ “ตั้งแต่ครั้งยังไม่ทรงสละราชสมบัติ”

ต่อมากระทรวงการคลังจึงได้มอบให้อัยการเป็นโจทก์ ยื่นฟ้องพระปกเกล้าฯ และพระนางเจ้ารำไพพรรณีต่อศาลแพ่งเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2482 เรียกร้องให้ใช้เงินจำนวน 6 ล้านบาทเศษ คืนแก่รัฐบาลซึ่งมีจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น

ซึ่งการพิจารณาคดีครั้งนี้ ดำเนินไปในขณะที่ในหลวงรัชกาลที่ 7 ทรงประทับอยู่ที่ประเทศอังกฤษ

การสั่งจ่ายเงินสำหรับภารกิจต่าง ๆ โดยในหลวงรัชกาลที่ 7 เกิดขึ้นตั้งแต่ครั้งยังมิได้สละราชสมบัติและก่อนที่จะประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ ซึ่งตามสิทธิแล้วพระองค์ย่อมทรงมีสิทธิที่จะกระทำได้ เพราะพระคลังข้างที่ในครั้งนั้นเป็นพระราชทรัพย์ของพระองค์โดยตรง

การฟ้องของรัฐบาลครั้งนี้ ถือเป็นการฟ้องความผิดย้อนหลัง โดยในขณะนั้นอธิบดีศาลแพ่งคือ พระสุทธิอรรถนฤมนตร์ เมื่อชี้สองสถานเสร็จ (กำหนดประเด็นพิพาท และหน้าที่นำสืบ) โจทก์ก็ยื่นคำร้องขอยึดทรัพย์จำเลยทันที อธิบดีศาลแพ่ง เห็นว่าไม่สมควรอนุญาตให้โจทก์ยึดทรัพย์จำเลย แต่ยังไม่ทันจบคดี พระสุทธิอรรถนฤมนตร์ได้ถูกย้ายไปเป็นผู้พิพากษาศาลฎีกาทันที และต่อมาไม่นานก็ถูกให้ออกจากราชการฐานรับราชการมานาน (แต่ได้กลับเข้ามารับราชการอีกครั้งใน 4 ปี ข้างหน้า เมื่อเปลี่ยนรัฐบาลจากจอมพล ป. พิบูลสงคราม มาเป็น นายควง อภัยวงศ์์)

ในที่สุดวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2484 ศาลแพ่งก็ได้มีคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ 242/2482 คดีหมายเลขแดงที่ 404/2484 ให้โจทก์คือกระทรวงการคลังชนะคดี จำเลยจึงต้องคืนเงินจำนวน 6 ล้านบาทเศษให้กับกระทรวงการคลัง

โดยจำเลยคือในหลวงรัชกาลที่ 7 ซึ่งขณะนั้นพระองค์เสด็จสวรรคตไปแล้ว

ต่อมาเมื่อมีการสืบทรัพย์แล้วกลับพบว่า รัฐบาลยึดวังศุโขทัย และริบทรัพย์สินอื่น ๆ ของในหลวงรัชกาลที่ 7 เพื่อนำไปขายทอดตลาด การตีราคาทรัพย์ทั้งหมดปรากฏว่ามีราคาเพียง 3 ล้านบาทเศษเท่านั้น ไม่ได้มีมูลค่ามากมายมหาศาลตามที่รัฐบาลคาดการณ์เอาไว้

สุดท้ายแล้ว ขั้นตอนการขายทอดตลาดก็ไม่ได้เกิดขึ้น (อาจเป็นเพราะด้วยสถานการณ์ทางการเมืองเปลี่ยนแปลงไป หรือสาเหตุใดไม่ปรากฎชัด) ในปี พ.ศ. 2485 กระทรวงสาธารณสุขซึ่งเป็นกระทรวงที่ตั้งขึ้นใหม่ ก็ได้ขอเช่าวังศุโขทัยจากกระทรวงการคลังในอัตรา 5,000 บาท ต่อเดือน เพื่อใช้เป็นที่ทำการ จนกระทั่งสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี เสด็จกลับมาประทับที่ประเทศไทยอย่างเป็นทางการ แล้วจึงได้เสด็จมาประทับที่วังศุโขทัยอีกครั้งเมื่อ พ.ศ. 2511 จนเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2527 จากนั้นวังศุโขทัยก็ได้ถูกเปลี่ยนรูปแบบการใช้สอยโดยรัฐบาลเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

แม้คำว่า นิติสงคราม (Lawfare) จะเป็นถ้อยคำที่ถูกบัญญัติขึ้นมาใหม่ก็ตาม แต่ในทางข้อเท็จจริงแล้ว ข้อมูลข้างต้น ถือเป็นหลักฐานสำคัญที่แสดงให้เห็นว่า ในยุคสมัยหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองได้ไม่นาน รัฐบาลคณะราษฎร สามารถใช้กฤษฎาภินิหารทางกฎหมาย กระทำย่ำยีอะไรกับใครก็ได้ ไม่เว้นแม้แต่องค์พระมหากษัตริย์

และหากว่ากันตามหลัก “กฎหมายไม่มีผลย้อนหลังเป็นโทษ” (Ex post facto law)” หมายความว่า กฎหมายจะใช้บังคับแก่กรณีที่เกิดขึ้นในอนาคต นับแต่วันที่ประกาศใช้กฎหมายเป็นต้นไปเท่านั้น และกฎหมายจะไม่ใช้บังคับแก่การกระทำหรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนหน้าวันใช้บังคับแห่งกฎหมาย นั่นหมายความว่าการกระทำของคณะราษฎรไม่เป็นไปตามหลักการนี้โดยสิ้นเชิง

เมื่อมองกลับมายังปัจจุบัน จริงอยู่ที่ “นิติสงคราม” คือการใช้กฎหมายเพื่อกำจัดศัตรูทางการเมือง และไม่ได้ส่งเสริมประชาธิปไตยอย่างแท้จริง แต่ถ้าหากเรารับรู้กลไกกระบวนการของนิติสงครามด้วยความเข้าใจ และตระหนักรู้ในขอบเขตของกฎหมาย การใช้ช่องว่างใด ๆ มาทำร้ายทำลายกันก็จะไม่เกิดขึ้น และจะไม่มีนักการเมืองเปลือก ๆ นำวาทกรรมปลอม ๆ มายุยงปลุกปั่นให้บ้านเมืองเกิดความเสียหายได้อีก

ที่มา :

[1] นายหนหวย, เจ้าฟ้าประชาธิปก ราชันผู้นิราศ
[2] ปิยบุตร แสงกนกกุล, นิติสงคราม
[3] ธีระพงศ์ จิระภาค, ศาลยุติธรรมกับการบังคับใช้กฎหมายภายใต้หลักนิติธรรม

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า