‘คาร์เวียร์’ เมนูสุดหรูต้อนรับ APEC 2022 ผลผลิตชั้นเลิศจากโครงการหลวงดอยอินทนนท์

ในการประชุมสุดยอดผู้นำ APEC 2022 สิ่งหนึ่งที่สร้างชื่อเสียงและเป็นหน้าเป็นตาให้กับประเทศไทยคือ เมนูอาหารสุดหรูที่เสิร์ฟให้กับบรรดาผู้นำต่างชาติ ซึ่งถือเป็นการประชาสัมพันธ์คุณภาพและความโดดเด่นของอาหารไทยให้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น และหนึ่งในเมนูรสเลิศคือ “ไข่คาร์เวียร์” อาหารระดับพรีเมียมซึ่งเป็นผลผลิตจากไข่ปลาสเตอร์เจียน ปลาเศรษฐกิจสำคัญที่เป็นผลผลิตจากโครงการหลวงดอยอินทนนท์

ปลาสเตอร์เจียนมีอยู่ 25-27 ชนิด ใน 3 สายพันธุ์ หรือ 3 สกุล เป็นปลาขนาดใหญ่ลักษณะคล้ายปลาฉลาม เคยมีสถิติระบุว่าปลาสเตอร์เจียนในประเทศรัสเซียมีอายุกว่า 200 ปี หนักถึง 1.5 ตัน ยาว 5 เมตร พบมากในทะเลสาบแคสเปียนประเทศรัสเซีย แต่โดยทั่วไปจะพบขนาดที่มีน้ำหนักระหว่าง 75-100 กก. ปลาสเตอร์เจียนนั้นนิยมเลี้ยงเพื่อนำผลผลิตไข่มาบริโภค หรือที่เรียกว่า “ไข่คาร์เวียร์” ซึ่งมีราคาแพงมาก

สำหรับการเพาะเลี้ยงปลาสเตอร์เจียนในโครงการหลวงดอยอินทนนท์นั้น ตามภาพภูมิศาสตร์ พื้นที่บนดอยสูงทางภาคเหนือของไทยจะมีสภาพอากาศหนาว ทำให้น้ำเย็นตลอดปี ด้วยเหตุนี้ ทางศูนย์วิจัยพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด เขต 1 จังหวัดเชียงใหม่ จึงได้ศึกษาหาพันธุ์ปลาที่เหมาะสมกับสภาพอากาศ และพบว่าปลาสเตอร์เจียน เป็นปลาที่เหมาะสมในการเพาะเลี้ยง

และในปี พ.ศ. 2548 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง มีพระราชดำริให้กรมประมง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการหาแนวทางพัฒนาการเลี้ยงปลาสเตอร์เจียนบนพื้นที่สูง เพื่อสร้างอาชีพและรายได้ให้แก่ประชาชนและชาวเข่าเผ่าต่างๆ ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ รวมทั้งเพื่อใช้ในการบริโภคด้วย

และท่านยังพระราชทานเงินทุนส่วนพระองค์ ในการนำเข้าปลาสเตอร์เจียน จากประเทศเยอรมนี และรัสเซีย เป็นสายพันธุ์สเตอร์เจียนไซบีเรีย ที่ให้ไข่คาร์เวียร์ คุณภาพระดับกลาง จำนวน 10,000 ตัว เพื่อนำมาเพาะเลี้ยงในโครงการหลวงดอยอินทนนท์อีกด้วย

การริเริ่มเพาะเลี้ยงปลาสเตอร์เจียนของโครงการหลวงฯ ในขั้นแรกยังเป็นไปด้วยความยากลำบาก เนื่องจากสเตอร์เจียนไม่ได้เป็นปลาพื้นถิ่นดั้งเดิมของไทย ทำให้มีปัญหาในการขยายพันธุ์ แต่จากความอดทนมุ่งมั่นในการทดลองของเจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยฯ นานนับสิบปี ในที่สุด เมื่อปี พ.ศ. 2557 ปลาสเตอร์เจียนของโครงการหลวงฯ ก็เริ่มขยายพันธุ์เองได้เป็นครั้งแรก โดยปัจจัยสำคัญในการเพาะเลี้ยงคือ ความสะอาด และอุณหภูมิของน้ำที่เหมาะสม ซึ่งพื้นที่ของโครงการหลวงฯ ก็ตอบโจทย์ตรงนี้ได้เป็นอย่างดี เพราะสามารถใช้ระบบน้ำจากธรรมชาติซึ่งเป็นน้ำเย็นในพื้นที่สูงได้ตลอดทั้งปี

การเพาะเลี้ยงปลาสเตอร์เจียนของโครงการหลวงฯ ประสบความสำเร็จอย่างงดงาม และกลายเป็นหนึ่งในผลผลิตระดับพรีเมียมของโครงการหลวงดอยอินทนนท์ ที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ และสร้างรายได้ให้ประชาชนในพื้นที่อย่างมากมาย โดยการจำหน่ายไข่คาร์เวียร์ของโครงการหลวงนั้นจะบรรจุในกระปุกขนาด 100 กรัม ราคาจำหน่ายกระปุกละ 5,000 บาท และปัจจุบันนี้ ผลผลิตจากปลาสเตอร์เจียนมีราคาสูงมาก เนื้อขายกิโลกรัมละ 800 บาท ส่วนไข่นำมาทำ “คาเวียร์” ขายกิโลกรัมละ 6 หมื่นบาท ซึ่งต้องสั่งจองล่วงหน้า

โครงการเพาะเลี้ยงดังกล่าว ยังกระจายไปในพื้นที่สถานีเกษตรหลวงอินทนนท์ อำเภอจอมทอง และยังมีโครงการบ้านเล็กในป่าใหญ่ตามพระราชดำริ ดอยดำ อำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นสร้างงาน สร้างรายได้ที่ยั่งยืนให้กับประชาชนในพื้นที่อีกด้วย

นอกจากนี้ ยังมีการเพาะเลี้ยง “ปลาเรนโบว์เทราต์” ในโครงการหลวงดอยอินทนนท์ จากการทดลองนำไข่ปลาชนิดนี้มาเพาะในเมืองไทยตั้งแต่เมื่อ 25 ปีก่อน โดยที่ปลาเรนโบว์เทราต์ เป็นปลาที่อาศัยอยู่ในแหล่งน้ำเย็นที่มีอุณหภูมิไม่เกิน 20 องศาเซลเซียส ซึ่งเหมาะกับสภาพอากาศบนดอยอินทนนท์พอดี

โครงการหลวงดอยอินทนนท์สามารถผลิตเรนโบว์เทราต์ได้ปีละราว 20 ตัน ซึ่งกว่าครึ่งหนึ่งจำหน่ายอยู่ในร้านอาหารบนโครงการหลวงฯ และอีกส่วนหนึ่งก็ส่งขายให้กับโรงแรมและสายการบินต่างๆ นอกจากนี้ ทางโครงการหลวงฯ ยังมีการทดลองเลี้ยงกุ้งก้ามแดงในนาข้าว รวมถึงการเพาะปลูกองุ่นไร้เมล็ด ลูกพลับ พีช อาโวกาโด และดอกไม้เมืองหนาวอื่นๆ อีกมากมาย

ความสำเร็จจากผลผลิตของโครงการหลวงดอยอินทนนท์ เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ยืนยันได้ถึงความเป็นเมืองเกษตรกรรมชั้นเลิศของประเทศไทย ที่ได้รับการพัฒนามาอย่างต่อเนื่องจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ รวมถึงการดำเนินการผ่านโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริทุกโครงการ จนกลายเป็นผลสำเร็จที่นำไปสู่การสร้างงาน สร้างอาชีพ และสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับคนไทยอย่างยั่งยืน