เปิดบันทึกสืบพยานคดี ‘กูKult’ เบื้องหลังคำตัดสินของศาล ที่ถูกต้องตามกระบวนการยุติธรรม

จากกรณี วันที่ 4 มีนาคม 2565 ศาลอาญา รัชดาฯ มีคำพิพากษาคดีของ นรินทร์ (สงวนนามสกุล) จำเลยในคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่ถูกกล่าวหาว่านำสติกเกอร์ “กูkult” ไปติดบนพระบรมฉายาลักษณ์ของในหลวง ร.10 หน้าศาลฎีกา ระหว่างที่มีการชุมนุม “19 กันยา ทวงอำนาจคืนราษฎร” เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2563 ที่สนามหลวง โดยศาลพิพากษาจำคุกนายนรินทร์ 3 ปี

ต่อมา นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.พรรคก้าวไกล ได้โพสต์ภาพบนเฟสบุ๊กพร้อมข้อความที่ตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับการพิจารณาคดีของศาล เช่น การไม่จดคำถามของทนายจำเลย การตัดพยานของทั้งฝ่ายโจทก์และจำเลยโดยอ้างว่าศาลสามารถตัดสินเองได้ รวมไปถึงการรีบนัดอ่านคำพิพากษาหลังสืบพยานเสร็จ

และได้แสดงความเห็นเพิ่มเติมว่า “การติดสติกเกอร์แค่แผ่นเดียวยังสามารถถูกผู้มีอำนาจเอามาตีความให้คนคนหนึ่งต้องรับโทษได้” ซึ่งเรื่องนี้จะทำให้กระบวนการยุติธรรมของประเทศไทย เปราะบางเกินกว่าจะคุ้มครองชีวิตของประชาชนได้

โดยในโพสต์ของนายรังสิมันต์นั้น ไม่ได้พูดถึงรายละเอียดในสาระสำคัญหลายประเด็น ซึ่งทีมงานฤา จะเอาการสืบพยานโจทก์ที่สำคัญๆ และการถามค้านของทนายจำเลยมาอธิบาย เพื่อยืนยันว่าการพิจารณาคดีของศาลเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย

พยานโจทก์ปากที่ 1 : พ.ต.อ. วรศักดิ์

พยานได้ให้การว่า จากการติดตามดูไลฟ์สดการชุมนุม และเห็นว่าพระบรมฉายาลักษณ์ของในหลวง ร.10 ที่ติดตั้งอยู่บริเวณประตูที่ 1 ของศาลฎีกามีสติกเกอร์คำว่า “กูkult” แปะคาดอยู่ที่บริเวณดวงตาทั้งสองข้าง พยานจึงได้สั่งการให้ผู้ใต้บังคับบัญชา (พ.ต.ท. นพโรจน์ พัชราจิระศักดิ์ พยานโจทก์ปากที่ 2) ลงพื้นที่ไปเก็บรวบรวมข้อมูลเพื่อตามหาตัวผู้ก่อเหตุ

ต่อมาทางเจ้าหน้าที่ได้พบตัวและพูดคุยกับผู้ก่อเหตุที่ติดสติกเกอร์ดังกล่าว ชื่อว่า “นรินทร์” ที่ทางเจ้าหน้าที่ทราบเพราะว่า นายนรินทร์ได้มาแจ้งความร้องทุกข์ว่าถูกกลุ่มชายฉกรรจ์ จำนวน 4-5 คน ติดตาม ระหว่างอยู่ในการชุมนุมที่สนามหลวงเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2563 โดยนายนรินทร์เป็นผู้ให้การด้วยตัวเองถึงสาเหตุของการถูกติดตามครั้งนั้นว่า น่าจะเกิดมาจากการที่ตนไปติดสติกเกอร์ ‘กูkult’ ลงบนรูป ร.10 ที่หน้าศาลฎีกา ระหว่างการชุมนุมเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2563

ทนายจำเลยได้ถามค้านพยานโจทก์ปากที่ 1 ดังนี้

คำถามที่ 1 : “ทำไมจึงต้องรอนานถึง 3 เดือนจากวันที่เกิดเหตุ แล้วถึงได้ดำเนินการแจ้งข้อกล่าวหากับนายนรินทร์”
คำถามที่ 2 : “พยานทราบไหมว่า ศาลอื่นตัดสินว่าการกระทำเช่นเดียวกับนายนรินทร์ เป็นการกระทำที่ทำให้เสียทรัพย์ ไม่ใช่การกระทำผิดตามมาตรา 112” คำถามนี้ทนายจำเลยพยายามพูดให้ศาลฟังว่า การกระทำของจำเลยแค่เข้าข่ายทำให้ทรัพย์สินเสียหายเท่านั้น
คำถามที่ 3 : “สติกเกอร์ถูกติดอยู่บนรูป ร.10 นานไหม”
คำถามที่ 4 : “เมื่อนายนรินทร์ไปแจ้งความว่ามีคนติดตาม พยานได้ทำการสืบสวนต่อหรือไม่”
คำถามที่ 5 : “มีข้อกฎหมายบังคับเรื่องการปฏิบัติต่อรูปพระมหากษัตริย์หรือไม่”

ข้อสังเกตของทีมงาน ฤๅ

ประเด็นสำคัญของคดีที่จำเลยจะต้องแก้ต่างคือ การกระทำของจำเลยที่เอาสติ๊กเกอร์ไปติดบนพระบรมฉายาลักษณ์ของในหลวง ร.10 เป็นการดูหมิ่นหรือไม่ แต่ทนายของจำเลยกลับตั้งคำถามค้านที่ “ไม่ได้เกี่ยวข้อง” กับประเด็นสำคัญของคดีเลย ไม่ว่าจะเป็น ระยะเวลา 3 เดือนก่อนที่จะแจ้งข้อกล่าวหา ซึ่งโดยข้อเท็จจริงแล้ว ระยะเวลาดังกล่าว เป็นกระบวนการรวบรวมหลักฐานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ และถือเป็นกระบวนการทางกฎหมายอยู่แล้ว

คำถามต่อมาที่ค้านว่า การกระทำของจำเลยเป็นแค่ความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ คำถามนี้ก็ไม่เกี่ยวกับสาระสำคัญของคดี เนื่องจากจำเลยถูกฟ้องว่าผิด มาตรา 112 จำเลยก็ต้องต่อสู้เพื่อพิสูจน์ว่า การกระทำของจำเลยไม่มีความผิดฐาน 112 ไม่ใช่ต่อสู้ว่าการกระทำของจำเลยมีความผิดฐานอื่น

ส่วนเรื่องระยะเวลาที่สติ๊กเกอร์ถูกติดบนพระบรมฉายาลักษณ์ ก็ไม่ใช่สาระสำคัญของคดีเช่นกัน เพราะประเด็นสำคัญมันอยู่ที่ว่า การกระทำที่เป็นการแปะสติ๊กเกอร์ต่างหาก ที่เป็นการลดทอนคุณค่า ทำให้เกิดความเสื่อมเสีย เป็นการดูหมิ่น และถือว่าเป็นความผิดสำเร็จแล้วนั่นเอง

และคำถามค้านใน 2 ข้อสุดท้าย โดยเฉพาะการถามถึงข้อกฎหมายบังคับเรื่องการปฏิบัติต่อรูปพระมหากษัตริย์นั้น ถือเป็นการเบี่ยงเบนประเด็น เพราะสาระสำคัญจะต้องดูที่ “การกระทำ” ของจำเลยว่าเป็นการดูหมิ่นหรือไม่ ถ้าใช่ ก็ถือว่าเป็นการกระทำกับบุคคลที่ดำรงตำแหน่งพระมหากษัตริย์ ก็จะเข้าข่ายความผิดมาตรา 112

ด้วยเหตุนี้ ศาลจึงไม่จดคำถามของทนายจำเลย และอาจตัดพยานปากนี้ออกไป เนื่องจากเห็นว่าไม่ใช่คำถามที่เกี่ยวข้องกับคดี

พยานโจทก์ปากที่ 2 : พ.ต.ท. นพโรจน์

พยานได้ให้การว่า ในวันเกิดเหตุได้รับแจ้งจากผู้บังคับบัญชา (พ.ต.อ. วรศักดิ์ พยานโจทก์ปากที่ 1) ว่ามีผู้ก่อเหตุนำสติกเกอร์ไปติดบนพระบรมฉายาลักษณ์ของในหลวง ร.10 ซึ่งตั้งอยู่ที่ประตูที่ 1 ของศาลฎีกา เมื่อได้รับแจ้งแล้วพยานก็รีบทำการสืบสวนหาข่าวทันที

พยานเบิกความต่อว่า หลังตรวจสอบภาพจากกล้องวงจรปิดพบว่า ในวันเกิดเหตุผู้กระทำความผิดแต่งกายด้วยเสื้อสีขาว กางเกงสีอ่อน

ต่อมา นายนรินทร์ ได้เดินทางไปเเจ้งความว่าถูกกลุ่มบุคคลคล้ายตำรวจติดตามระหว่างการชุมนุม และนายนรินทร์ได้ยอมรับว่า ตนเองเป็นผู้ติดสติกเกอร์ “กูkult” บนพระบรมฉายาลักษณ์ของในหลวง ร.10 ซึ่งพยานเป็นคนพิมพ์บันทึกที่นายนรินทร์เซ็นชื่อยอมรับ และนายนรินทร์ยังได้ให้การเพิ่มเติมด้วยว่า สาเหตุที่ติดสติกเกอร์ เพราะมีความรู้สึกร่วมกับกิจกรรม และเป็นความคึกคะนองในขณะนั้น

ทนายจำเลยได้ถามค้านพยานโจทก์ปากที่ 2 ดังนี้

คำถามที่ 1 : “เหตุใดรายงานการสืบสวนจึงไม่มีลายเซ็นของ พ.ต.ท. นพโรจน์ อีกทั้งไม่มีวันที่จัดทำ และไม่ตรงตามแบบฟอร์มที่ควรจะเป็นของเอกสารรายงานการสืบสวน” ซึ่งพยานได้ตอบว่า ข้อมูลที่ทนายจำเลยพูดถึงนั้นสามารถดูได้จากเอกสารต้นฉบับ ซึ่งส่วนที่ทนายจำเลยยกมาถาม เป็นเอกสารส่วนที่ใช้รายงานผู้บังคับบัญชาเท่านั้น
คำถามที่ 2 : “แนวทางการปฏิบัติตนต่อปฏิทินที่มีรูปพระมหากษัตริย์และราชวงศ์คืออะไร”
คำถามที่ 3 : “พยานดำเนินการอย่างไรกับปฏิทินที่เป็นรูปกษัตริย์หรือราชวงศ์ เช่น มีการแสดงความเคารพหรือนำไปทิ้งหรือไม่เมื่อขึ้นปีใหม่”
คำถามที่ 4 : “การติดสติกเกอร์ถือเป็นการผิด พ.ร.บ. ความสะอาดฯ ใช่หรือไม่”
คำถามที่ 5 : ทนายจำเลยถามพยานถึงความเสียหายของพระบรมฉายาลักษณ์ในหลวง ร.10

ข้อสังเกตของทีมงาน ฤา

คำถามค้านของทนายจำเลยในข้อที่ 1 ไม่เกี่ยวข้องกับประเด็นสำคัญของคดี และพยานก็ตอบแล้วว่าข้อมูลที่ถูกต้องของแบบฟอร์มรายงานการสืบสวนสามารถดูได้จากเอกสารต้นฉบับ

ส่วนคำถามค้านในข้ออื่นๆ จะเห็นว่า เป็นคำถามที่บีบให้พยานแสดงข้อคิดเห็น มากกว่าที่จะเป็นคำถามเข้าประเด็นในการพิสูจน์ข้อเท็จจริงว่า การแปะสติ๊กเกอร์ของจำเลยนั้นถือเป็นการดูหมิ่นหรือไม่ ดังนั้นจึงเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมศาลจึงไม่บันทึกคำถามเหล่านี้

พยานโจทก์ปากที่ 3 : พ.ต.อ.นิวัตน์

พยานได้ให้การว่า วันที่ 19 กันยายน 2563 พยานได้เดินทางไปหาข่าวที่บริเวณจุดเกิดเหตุ แต่เมื่อไปถึงพบว่า สติกเกอร์ที่ได้รับแจ้งว่าถูกติดอยู่บนพระบรมฉายาลักษณ์ของในหลวง ร.10 ได้หลุดออกไปแล้ว พยานจึงสั่งให้ศูนย์ควบคุมสั่งการ (CCOC) ตรวจสอบย้อนหลังจากภาพกล้องวงจรปิดในที่เกิดเหตุ

ทนายจำเลยได้ถามค้านพยานโจทก์ปากที่ 3 ดังนี้

“พยานเห็นด้วยไหม ว่าการปฏิรูปสถาบันฯ จะเท่ากับการทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์ดีขึ้น”

ข้อสังเกตของทีมงาน ฤา

คำถามค้านของทนายจำเลยในข้อนี้ยิ่งไม่เกี่ยวข้องกับสาระสำคัญของคดี เพราะเป็นคำถามที่ต้องการให้พยานโจทก์แสดงความเห็น ซึ่งถือเป็นเรื่องนึกคิดส่วนบุคคล และไม่เกี่ยวข้องกับข้อเท็จจริงที่สำคัญของคดีเลย

ประเด็นสำคัญของคดีนี้คือ การพิสูจน์ว่าจำเลยเป็นผู้กระทำความผิด มาตรา 112 จริงหรือไม่ และการต่อสู้คดีของจำเลยจะต้องต่อสู้เพื่อแสดงให้เห็นว่า การกระทำของจำเลยนั้นไม่ได้เป็นการดูหมิ่น ดังนั้น การถามค้านของทนายที่บีบให้พยานแสดงความเห็นเกี่ยวกับการปฏิรูปสถาบันฯ จึงไม่เกี่ยวข้องกับประเด็นสำคัญของคดี

จากข้อมูลทั้งหมดนี้ จะเห็นว่า นอกจากคำถามค้านของทนายจำเลยที่ไม่เข้าประเด็นสำคัญของคดีแล้ว นายนรินทร์ยังได้รับสารภาพเองในชั้นสอบสวนว่า ตนเองเป็นผู้ติดสติกเกอร์ “กูkult” บนพระบรมฉายาลักษณ์ของในหลวง ร.10 โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นพยานในคดี และนายนรินทร์ยังให้การเพิ่มเติมด้วยว่า สาเหตุที่ติดสติกเกอร์ เพราะมีความรู้สึกร่วมกับกิจกรรมและเป็นความคึกคะนองในขณะนั้น

การรับสารภาพในชั้นสอบสวนนี้ จึงทำให้ศาลพิจารณาคดีได้ง่ายขึ้น เนื่องจากจำเลยรับสารภาพด้วยตัวเอง การอ่านคำพิพากษาจึงเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว เนื่องจากคดีไม่มีความซับซ้อน

เป็นที่น่าสังเกตด้วยว่า คำถามค้านของทนายจำเลยเป็นคำถามที่จงใจชี้นำนอกประเด็น เพื่อให้ศาลจดบันทึกการเคลื่อนไหวประเด็นข้อเรียกร้องเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ลงในรายงานกระบวนการพิจารณา โดยไม่ได้คำนึงถึงผลเสียต่อรูปคดี

และหากศาลอนุญาตให้จดบันทึกคำถามเหล่านี้ ก็จะกลายเป็นการเปิดโอกาสให้บุคคลใดๆ ใช้ประโยชน์จากกระบวนการยุติธรรม นำประเด็นเรียกร้องทางการเมืองต่างๆ นอกสำนวน มาใส่ในรายงานกระบวนการพิจารณา และนำออกไปใช้งานเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่บิดเบือนต่อไปในอนาคต

สิ่งนี้ต่างหากที่จะนำความเปราะบางมาสู่กระบวนการยุติธรรม หรือแม้กระทั่งนำความพังพินาศมาสู่บ้านเมือง

ที่มา :

[1] เปิดบันทึกสืบพยานคดี 112 ติดสติ๊กเกอร์ กูKult รูป ร.10 ในม๊อบ 19 กันยาฯ
[2] แค่สติกเกอร์แผ่นเดียว บวกกับความเปราะบางของผู้มีอำนาจ ทำระบบกฎหมายไทยตกต่ำอย่างไม่น่าเชื่อ

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r