เปิดความจริง…จอมพล ป. ไม่เคยถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษให้นักโทษคดีสวรรคต

จากคดีสวรรคตของในหลวง ร.8 ศาลฎีกาได้พิจารณาตัดสินประหารชีวิต นายชิต นายเฉลียว และนายบุศย์ ฐานวางแผนกันเพื่อปลงพระชนม์ในหลวง ต่อมาได้มีการเปิดเผยบันทึกที่อ้างว่า จอมพล ป. พิบูลสงคราม เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ในปี พ.ศ. 2498 ได้ถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษให้กับจำเลยไปถึง 3 ครั้ง แต่ในหลวง ร.9 ทรงยกฎีกาทั้งหมด

บันทึกนี้เป็นคำบอกเล่าของ พล.ต.อนันต์ พิบูลสงคราม บุตรชายของ จอมพล ป. ซึ่งได้เขียนไว้ในหนังสือ “จอมพล ป. พิบูลสงคราม” ตีพิมพ์เมื่อปี พ.ศ. 2519 มีความตอนหนึ่งซึ่งเป็นบทสนทนาระหว่าง พล.ต.อนันต์ฯ (ผู้บอกเล่า) กับ จอมพล ป. ซึ่งขณะนั้นลี้ภัยการเมืองอยู่ในประเทศญี่ปุ่น ความว่า…

“…ข้าพเจ้าจึงระงับใจไม่ได้ที่ต้องเรียนถาม จอมพล ป. พิบูลสงคราม วันหนึ่งที่ประเทศญี่ปุ่นว่า ในฐานะที่เวลานั้น (พ.ศ. 2498) ท่านดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอยู่ เหตุใดท่านจึงไม่ขอพระราชทานอภัยโทษให้จำเลยสามคนที่ถูกศาลฎีกาพิพากษาประหารชีวิต ท่านตอบข้าพเจ้าทันทีอย่างหนักแน่นว่า พ่อได้ขอพระราชทานอภัยโทษขึ้นไปถึงสามครั้ง ได้พยายามทำหน้าที่ของพ่อจนถึงที่สุดแล้ว ในอดีตที่ผ่านมา มีน้อยครั้งที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม ต้องเสียใจบ้างเมื่อทำอะไรไม่สำเร็จ แต่ข้าพเจ้าไม่เคยเห็นครั้งใดที่ท่านจะเสียใจหนักยิ่งไปกว่าที่ข้าพเจ้ากำลังเห็นท่านครั้งนั้น ขณะเมื่อได้ตอบคำถามของข้าพเจ้าจบ ด้วยใบหน้าที่เคร่งขรึมและสนเท่ห์ใจไม่เปลี่ยนแปลง”

บันทึกนี้ได้ถูกโยงไปเกี่ยวข้องกับเรื่องที่จอมพล ป. ต้องการจะรื้อฟื้นคดีสวรรคตขึ้นมาพิจารณาใหม่ เพื่อให้ความเป็นธรรมแก่ผู้ถูกประหารชีวิตทั้งสามคนรวมถึงนายปรีดี พนมยงค์ อีกด้วย

แต่ถ้าเราพิจารณาดูจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์แล้ว จะพบว่า การถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษให้นักโทษคดีสวรรคตถึง 3 ครั้งของจอมพล ป. นั้น ไม่เป็นความจริง

หลักฐานชิ้นแรกที่มีน้ำหนักเชื่อถือได้มากกว่าคำบอกเล่าจาก พล.ต.อนันต์ พิบูลสงคราม คือ เอกสารหัวข้อการประชุมคณะรัฐมนตรี ครั้งที่ 74/2497 วันจันทร์ที่ 25 ตุลาคม 2497 เรื่อง คำพิพากษาศาลฎีกาลงโทษประหารชีวิตนายเฉลียว ปทุมรส นายชิต สิงหเสนี และนายบุศย์ ปัทมศริน ฐานสมคบกับพวกร่วมรู้ในการปลงพระชนม์ในหลวง ร.8 มีความผิดตามกฎหมายลักษณะอาญามาตรา 97

หลักฐานชิ้นนี้ยืนยันได้ว่า ในวันที่ 5 พฤศจิกายน 2497 จำเลยทั้งสามเป็นผู้ทูลเกล้าถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษ โดยยื่นผ่านกรมราชทัณฑ์ และฎีกาของทั้งสามถูกนำเข้าพิจารณาในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2497

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้สอบสวนพิจารณาแล้ว ไม่เห็นควรจะพระราชทานอภัยลดโทษให้ โดยอ้างว่าเรื่องนี้เป็นการประทุษร้ายแก่บุคคลสำคัญของประเทศ ตามหลักกการของกระทรวงมหาดไทยซึ่งคณะรัฐมนตรีเห็นชอบด้วยแล้วนั้น จะไม่ขอพระราชทานอภัยโทษให้ ควรยกฎีกาเสีย

หลักฐานที่สองคือ ท่าทีของจอมพล ป. เองที่มีพฤติการณ์ขัดแย้งกับคำบอกเล่าว่าตนเองถวายฎีกาไปถึง 3 ครั้ง

ช่วงเดือนธันวาคม พ.ศ. 2498 (10 เดือนหลังการประหารชีวิต) นางสุนี เตลานน ส.ส.นครสวรรค์ ได้เสนอ “ร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำความผิดฐานกบฏและจลาจล” ต่อสภาผู้แทนราษฎร โดยมีบทบัญญัติครอบคลุมทั้งหมด รวมทั้ง “ผู้ที่ได้ถูกฟ้องและรับโทษตามคำพิพากษาแล้ว หรือยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาล หรือในระหว่างสอบสวนของเจ้าพนักงานสอบสวน” ให้เป็นอันพ้นจากความผิดนั้น ๆ ทั้งสิ้น

ซึ่งจอมพล ป. ได้โต้แย้งว่าไม่ควรรับรองร่าง พ.ร.บ.นี้ เพราะคดียังไม่สิ้นสุด อีกทั้งในคดีสวรรคตนั้น ในหลวง ร.8 ก็เป็นถึงสมเด็จพระเชษฐาธิราชของรัชกาลปัจจุบัน ถ้าเราจะกราบบังคมทูลขอพระราชทานอภัยโทษขึ้นไป ทางรัฐบาลก็จำเป็นต้องระมัดระวังว่าจะเป็นการสมควรเหมาะสมหรือไม่ เพราะฉะนั้น คิดว่าในปัจจุบันนี้ประชาชนจะไม่ให้ความสนับสนุน ถ้าหากว่าเราได้ประกาศนิรโทษกรรมพวกเหล่านี้ไป

หลักฐานสุดท้ายคือ คำกล่าวของ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล จากบทความ เรื่อง “50 ปีการประหารชีวิต 17 กุมภาพันธ์ 2498” ที่แย้งบันทึกของ พล.ต.อนันต์ พิบูลสงคราม

โดยสมศักดิ์ฯ ตั้งข้อสังเกตเอาไว้ทำนองว่า โดยสามัญสำนึกใครที่อ่านเรื่องนี้แล้ว ควรต้องสงสัยว่าการขอพระราชทานอภัยโทษในคดีเดียวจะสามารถทำได้ “ถึงสามครั้ง” หรือ? ซึ่งคำบอกเล่าของ พล.ต.อนันต์ฯ ก็เป็นการรับฟังมาจาก จอมพล ป. อีกทอดหนึ่ง และการบอกเล่าของจอมพล ป. ก็เป็นเพียงคำบอกเล่าด้วยวาจาเท่านั้น

สรุปได้ว่า การที่จอมพล ป. กล่าวอ้างว่าตนได้ถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษให้นักโทษคดีสวรรคตถึง 3 ครั้งนั้น ไม่เป็นความจริง เพราะจากหลักฐานทั้งหมด เป็นที่ชัดเจนว่า จำเลยทั้งสามเป็นผู้ทูลเกล้าถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษ และแม้รัฐบาลจะทูลเกล้าถวายฎีกาไปยังในหลวง ร.9 ก็ตาม แต่รัฐบาลก็มีข้อแนะตามที่ลงมติไว้ด้วยว่า “ไม่ควรจะพระราชทานอภัยลดโทษให้ เนื่องจากเรื่องนี้เป็นการประทุษร้ายแก่บุคคลสำคัญของประเทศ”

และสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ผู้ตั้งคำถามต่อบันทึกของ พล.ต.อนันต์ พิบูลสงคราม ยังได้สรุปในประเด็นนี้เอาไว้ด้วยว่า การที่ในหลวงโปรดเกล้าฯ ให้ยกฎีกานี้ เพราะทรงอาศัยเหตุผลอย่างเดียวกับคณะรัฐมนตรีคือ “เป็นการประทุษร้ายแก่บุคคลสำคัญของประเทศ” ซึ่งเป็นเหตุผลที่อยู่บนความถูกต้องจากการพิจารณาและคำพิพากษาของศาลนั่นเอง

ที่มา :

[1] หนังสือจอมพล ป. พิบูลสงคราม โรงพิมพ์ศูนย์การพิมพ์ พ.ศ. 2519 หน้า 647
[2] หัวข้อการประชุมคณะรัฐมนตรี ครั้งที่ 74/2497 วันจันทร์ที่ 25 ตุลาคม 2497
[3] หัวข้อการประชุมคณะรัฐมนตรี ครั้งที่ 85/2497 วันจันทร์ที่ 9 ธันวาคม 2497
[4] บทความ 50 ปีการประหารชีวิต 17 กุมภาพันธ์ 2498

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า