นายตี๋ ศรีสุวรรณ พยานเท็จในคดีสวรรคต ที่ศาลไม่ได้เชื่อถือมาตั้งแต่แรก

กรณีสวรรคตของในหลวง ร.8 หลายคนรับรู้กันว่าหนึ่งในพยานของคดีนี้คือ นายตี๋ ศรีสุวรรณ ผู้ซึ่งให้การแก่ศาลว่า นายปรีดี พนมยงค์ กับ นายชิต นายเฉลียว และนายบุศย์ ได้วางแผนกันเพื่อปลงพระชนม์ในหลวง จนกระทั่งศาลตัดสินประหารชีวิตนายชิต นายเฉลียว และนายบุศย์ และทำให้นายปรีดีฯ ต้องลี้ภัยไปต่างประเทศ

กระทั่งต่อมา นายตี๋ ซึ่งอยู่ในช่วงบั้นปลายชีวิต ได้ให้ลูกเขยของตนเอง เขียนจดหมายขอขมานายปรีดีฯ รวมถึงมีคลิปคำบอกเล่าของหลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ ที่กล่าวว่านายตี๋ได้มาสารภาพบาปที่วัดชลประทานรังสฤษฎ์

โดยนายตี๋ยอมรับว่าตนเป็นพยานเท็จ กล่าวหานายชิต นายเฉลียว นายบุศย์ และนายปรีดีฯ

เรื่องนี้ทำให้หลาย ๆ คน โดยเฉพาะกลุ่มคนที่พยายามใส่ร้ายสถาบันพระมหากษัตริย์ในกรณีสวรรคตของในหลวง ร.8 ออกมาทึกทักและพยายามชี้นำว่า คำสารภาพของนายตี๋ เป็นสิ่งยืนยันว่าจำเลยทั้ง 3 รวมทั้งนายปรีดี เป็นผู้บริสุทธิ์

ทั้ง ๆ ที่ในความเป็นจริง ศาลไม่เคยให้น้ำหนักกับคำพูดของนายตี๋เลย

เมื่อครั้งที่ได้มาถวายสังฆทานกับหลวงพ่อปัญญานันทภิกขุนั้น นายตี๋อ้างว่า พระพิจารณ์พลกิจ อธิบดีกรมตำรวจในขณะนั้น ได้ส่งคนมาเกลี้ยกล่อมตนให้เบิกความเท็จเรื่องคดีปลงพระชนม์ในหลวง ร.8 และจะให้เงินรางวัลแก่ตน โดยหลวงพ่อปัญญานันทภิกขุได้เล่าในตอนหนึ่งว่า…

“…แก (ตี๋ ศรีสุวรรณ ) ก็รับเพราะเขาจะให้เงินสองหมื่น แกก็ไปเบิกความว่า ท่านปรีดีกับ นายชิต นายเฉลียว นายบุศย์ มานั่งปรึกษากันที่บ้านพระยาศรยุทธเสนี (ข้างวัดชนะสงคราม) เพื่อวางแผนปลงพระชนม์ในหลวง…”

รวมถึงคำสารภาพที่นายตี๋พูดกับหลวงพ่อว่า…

“…ผมไปเบิกความครั้งนี้ไม่ใช่ความจริง เป็นความเท็จ ผมโกหก ตามตำรวจเขาขอร้อง แล้วสามคนก็ถูกประหาร ผมเสียใจมาก ถวายสังคทานทีไรก็อุทิศให้เขาทั้งสามคน เขาถูกประหารเพราะพยานสำคัญคือผมเอง…”

แต่รู้ไหมครับว่าทั้งหมดนี้เป็นเพียงการกล่าวอ้างลอย ๆ ของนายตี๋เท่านั้น

เพราะในความเป็นจริง ถ้าเราดูจากรายละเอียดทางประวัติศาสตร์ของคดี นั่นคือ ส่วนหนึ่งจากคำพากษาศาลฎีกาที่ 1544/2497 ลงวันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2497 จะเห็นว่า ศาลฎีกาให้น้ำหนักไปที่พยานส่วนอื่นมากกว่าคำให้การของนายตี๋ โดยส่วนหนึ่งจากคำพิพากษาระบุว่า…

“…หลังจากได้นายตี๋ฯ เป็นพยานแล้ว จึงได้ดำเนินการเรียกตัวพลเรือตรีกระแส และนางสาวทองใบ มาสอบสวนเป็นพยานดังกล่าว ตามที่พยานหลักฐานที่ได้ความมานี้ ศาลนี้เห็นควรฟังได้ว่า นายเฉลียวฯ นายชิตฯ กับพวก ไปที่บ้านพลเรือตรีกระแสฯ ก่อนหน้าวันพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวสวรรคตจริงดั่งคำพยาน ส่วนปัญหาว่า ไปเพื่ออะไรนั้น พลเรือตรีกระแสฯ ว่า นายปรีดีฯ มาเยี่ยม พูดกันเรื่องค้าไม้ ก็เมื่อยังไม่ได้ลงมือค้าจริงจัง เหตุใดจึ่งต้องพากันไปตั้งหลายหน และถ้าจำเลยไปที่บ้านพลเรือตรีกระแสโดยสุจริตแล้ว ก็ไม่น่าจะปิดบังถึงแก่เบิกความปฏิเสธข้อนี้ ยิ่งเมื่อระลึกถึงกิริยาอิดเอื้อนเป็นเวลานานหลายชั่วโมงของพลเรือตรีกระแสฯ ในการตอบคำถามชั้นสอบสวนถึงข้อนี้ประกอบด้วยแล้ว ย่อมส่อให้เห็นข้อพิรุธว่า มิได้ไปมาหาสู่กันอย่างปรกติ

ส่วนถ้อยคำของพวกที่ไปจะพูดจากันอย่างไรบ้างเพื่อแสดงให้เห็นความประสงค์ของผู้พูดนั้น ตอนนี้ พยานโจทก์เบาบางมีแต่คำนายตี๋ฯ ถึงจะได้แย้มพรายความข้อนี้แก่ผู้อื่นอย่างลับ ๆ โดยยั้งใจไม่อยู่ และมิได้มุ่งหมายจะให้เป็นเรื่องราวเกิดขึ้น แล้วตนก็กลับไปอยู่ต่างจังหวัดห่างไกล ไม่น่าจะถูกสงสัยว่าเป็นผู้เสกสรรปั้นเรื่องขึ้นก็ดี

แต่พยานที่สนับสนุนนายตี๋ฯ ในข้อที่ได้ยินพูดจาดั่งนั้นหามีไม่ นายตี๋อาจได้ยินได้ฟังถ้อยคำบางคำ แล้วเสริมความหมายหรือหมายความให้เกินไปกว่าความจริงของถ้อยคำก็ได้ หรือสังเกตเห็นจากอากัปกิริยา แล้วเดาความเอาตามเค้าเรื่องที่ตนคิดเห็นก็ได้ หรืออาจได้ยินข้อความเหล่านั้นจนจับเนื้อความก็ได้ ในเหตุต่าง ๆ ที่กล่าวมานี้ ศาลนี้เห็นว่า จะฟังความหรือถ้อยคำที่พูดกันให้เป็นแน่อย่างใดอย่างหนึ่งยังไม่ถนัด…

จากส่วนหนึ่งของคำพากษาศาลฎีกานี้ จะเห็นว่ามีการสอบพยานหลายปาก และศาลเชื่อว่า จำเลยได้ไปที่บ้านของพลเรือตรีกระแสฯ จริง แต่เป็นการให้น้ำหนักกับพยานคนอื่นที่เบิกความมากกว่าคำให้การของนายตี๋

ในส่วนของคำพิพากษาศาลชั้นต้น และศาลอุทธรณ์นั้น ก็ไม่เชื่อคำให้การของนายตี๋เช่นกัน โดยเฉพาะศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า นายตี๋มีพฤติการณ์ขี้โม้โอ้อวด จึงรับฟังไม่ได้

เป็นที่ชัดเจนว่าทั้งศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา เชื่อว่าจำเลยไปที่บ้านพลเรือตรีกระแสฯ จริง แต่ไปเพื่อเจตนาและวัตถุประสงค์อะไร ไม่มีพยานหลักฐานยืนยันหนักแน่นเพียงพอ พูดง่าย ๆ คือ ไม่มีพยานเบิกความที่ชัดเจน จะมีก็แต่เพียงนายตี๋ฯ เท่านั้น ที่เบิกความแบบนั้นแบบนี้ ซึ่งศาลไม่เชื่อและไม่ให้น้ำหนักใด ๆ

ถ้าเราพิจารณาจากรายละเอียดของคำพิพากษา ซึ่งเป็นสิ่งที่ควรให้คุณค่ามากกว่าคำกล่าวอ้างลอย ๆ ของนายตี๋ จะเห็นได้ว่า ศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา ต่างก็วินิจฉัยไปในทิศทางเดียวกันหมดคือ คำเบิกความพยานปากนายตี๋ ศรีสุวรรณ เชื่อถือไม่ได้ ส่วนที่ศาลฎีกาพิจารณาตัดสินคดีลงโทษจำเลยทั้ง 3 คนนั้น ก็มาจากการให้น้ำหนักกับพยานหลักฐานส่วนอื่น ๆ ในสำนวนมากกว่าคำให้การของนายตี๋นั่นเอง

ดังนั้น การยกเอาคำสารภาพของนายตี๋ ศรีสุวรรณ มาเพื่อชี้นำว่าจำเลยทั้ง 3 คน รวมทั้งนายปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้บริสุทธิ์ก็ดี หรือเพื่อทำลายและลดคุณค่าหลักฐานในส่วนอื่น ๆ ก็ดี ถือได้ว่าเป็นการพยายามบิดเบือนข้อเท็จจริงในกรณีสวรรคตของในหลวง ร.8

ซึ่งสุดท้ายการชี้นำนี้ ยังพยายามพุ่งเป้าไปสู่การใส่ร้ายสถาบันพระมหากษัตริย์อีกด้วย

ที่มา :

[1] สารคดี “ปรีดี พนมยงค์” คลิป 00.42.00-00.43.55
[2] คำพิพากษาฯ คดีประทุษฐร้ายต่อพระองค์พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 8

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า