การต่อสู้กับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ของฟ้าหญิงจุฬาภรณ์

การระบาดของโรคโควิด-19 ที่ผ่านมา เราได้เห็นถึงการออกปฏิบัติงานอย่างกล้าหาญและเสียสละของบุคลากรทางการแพทย์แนวหน้า ที่ตรากตรำทำงานอย่างหนัก เพื่อยับยั้งการระบาดของโควิด สร้างความมั่นคงทางสาธารณสุขของไทยเอาไว้ได้อย่างดี

นอกจากนี้ เรายังได้เห็นพระวิสัยทัศน์อันยาวไกลของในหลวงภูมิพล ที่เล็งเห็นความจำเป็นที่ประเทศไทยจะต้องมีขีดความสามารถในการผลิตวัคซีนได้เอง และก่อตั้งบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ เตรียมการล่วงหน้าเอาไว้ถึง 10 ปี

อีกส่วนหนึ่งที่มีความสำคัญต่อการสร้างขีดความสามารถในการต่อสู้กับโรคภัยไข้เจ็บของประเทศ และโลกอย่างมากคือ การมีอยู่ของ “สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์” ซึ่งถูกก่อตั้งมาตั้งแต่ พ.ศ. 2530 เพื่อที่จะเป็นรากฐานการวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดย กรมพระศรีสวางควัฒน ฯ หรือที่เราเรียกหาพระองค์ด้วยความเคารพรักว่า “ฟ้าหญิงจุฬาภรณ์” นั่นเอง

และในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 นี้ก็เช่นกัน ฟ้าหญิงจุฬาภรณ์ และสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์นั้นได้ทำงานอย่างหนัก ในฐานะนักวิจัย โดยทรงทำการวิจัยเพื่อแก้ปัญหาให้ประเทศถึง 2 เรื่อง

เรื่องแรก การพัฒนาตำรับยาฟาวิพิราเวียร์ ซึ่งแต่เดิมนั้น ถูกผลิตในรูปแบบยาเม็ดขนาด 200 มิลลิกรัม นั้น ผู้ป่วยเด็ก และผู้สูงอายุซึ่งพบว่ามีจำนวนสูงขึ้นเรื่อย ๆ กลับไม่สามารถกลืนได้โดยง่าย เป็นอุบสรรค์ต่อการรักษา จึงทรงพัฒนาตำรับยาขึ้นใหม่เป็น “ยาน้ำเชื่อม” ซึ่งกลืนได้ง่าย มีรสผลไม้น่ารับประทาน และไม่มีน้ำตาล

ประชาชนกลุ่มผู้ป่วยเด็กและผู้สูงอายุ 70 ปีขึ้นไป สามารถติดต่อขอรับยาได้ที่โรงพยาบาลจุฬาภรณ์โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

เรื่องที่สอง ทรงเล็งเห็นถึงค่าใช้จ่ายที่สูงในการนำเข้ายา “โมลนูพิราเวียร์” ซึ่งเป็นยาสำหรับการรักษาโรคโควิด-19 อีกตัวหนึ่ง ซึ่งการนำเข้านั้นมีมูลค่าสูงถึง 23,000 บาทต่อคอร์ส ซึ่งจะเป็นภาระแก่ประเทศ และทำให้ประชาชนคนทั่วไปยากจะเข้าถึงยานี้ได้

จึงทรงพัฒนาวิธีการสังเคราะห์ยาขึ้น 2 วิธี ซึ่งเป็นกระบวนการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีประสิทธิภาพ และต้นทุนต่ำ โดยประมาณการว่า มูลค่ายาอาจจะลดลงเหลือเพียง 750 บาทต่อคอร์สเท่านั้น อันจะเป็นการช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายลงได้มากกว่า 30 เท่าเลยทีเดียว

และทรงมอบเทคโนโลยีในการผลิตยานี้ให้ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นำไปใช้เพื่อช่วยเหลือประชาชนต่อไป

จากสองเรื่องนี้ เราจะเห็นได้ชัดเลยว่า ภายใต้วิกฤติการระบาดของโรคโควิด-19 นั้น สถาบันมีส่วนสำคัญในการช่วยเหลือประชาชนคนไทยเราอย่างมาก และเห็นได้ชัดถึงวิสัยทัศน์ที่ยาวไกลของสถาบัน ในการสร้างคน เตรียมคนให้มีความพร้อมในการวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาตั้งแต่ พ.ศ. 2530

ซึ่งการมีความพร้อมทางด้านบุคลากร สถานที่และเครื่องมือในการทำวิจัยนี่เอง ที่เป็นรากฐานให้ประเทศไทย สามารถวิจัยพัฒนาองค์ความรู้ทางการแพทย์ได้เอง โดยไม่ต้องพึ่งพาต่างประเทศ ลดภาระค่าใช้จ่ายให้แก่พสกนิกรชาวไทยทุกคน

อ้างอิง :

[1] Raksa Content Team (พ.ศ. 2564), “ฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir)”

[2] ข่าวสด (พ.ศ.2564), “กรมพระศรีสวางควัฒนฯ พระราชทานเทคโนโลยีการสังเคราะห์ “ยาโมลนูพิราเวียร์””

[3] สำนักวิจัย-สำนักวิชาการ สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ (พ.ศ. 2564), “องค์ประธานสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ทรงนำทีมวิจัยสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์สังเคราะห์ตัวยาใหม่ “โมลนูพิราเวียร์” ที่มีประสิทธิภาพในการรักษาโรคโควิด 19 สำเร็จพร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีแล้ว”

[4] สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ (2006), “History”

[5] ฐานเศรษฐกิจ (พ.ศ. 2564), “ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เปิดตัว”ยาน้ำเชื่อมฟาวิพิราเวียร์” ต้านไวรัสโควิด”

[6] สำนักวิจัย-สำนักวิชาการ สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ (พ.ศ. 2564), “องค์ประธานสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์พระราชทานเทคโนโลยีการสังเคราะห์ยาโมลนูพิราเวียร์ (Molnupiravir) ที่ทรงประสบความสำเร็จ 2 วิธีแก่ นายกรัฐมนตรี และกระทรวงสาธารณสุขเพื่อให้ผลงานวิจัยได้มีการนำไปใช้ประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรมแก่คนไทยทุกคน”