‘เจ้าฟ้านักพัฒนา’ ตามรอยการทรงงาน และโลกแห่งการอ่านเขียนของ กรมสมเด็จพระเทพฯ

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันเสาร์ที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2498 ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต เป็นพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และได้รับการถวายพระนามจากสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ว่า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนสุดา กิติวัฒนาดุลโสภาคย์ พร้อมทั้งประทานคำแปลว่า นางแก้ว อันหมายถึง หญิงผู้ประเสริฐ

พระองค์ทรงเริ่มเข้ารับการศึกษาระดับอนุบาลที่โรงเรียนจิตรลดา ภายในพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต ทรงสำเร็จการศึกษาสอบไล่ได้คะแนนเป็นที่ 1 ของประเทศไทย ทั้งประโยคประถมศึกษาและประโยคมัธยมศึกษา แผนกศิลปะ ต่อมาทรงสอบคัดเลือกได้เข้าศึกษาต่อในคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทรงสำเร็จการศึกษา ได้รับปริญญาอักษรศาสตรบัณฑิต สาขาประวัติศาสตร์ เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง เหรียญทอง ด้วยคะแนนเฉลี่ย 3.98

ในปี พ.ศ. 2518 ในโอกาสที่ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระชนมายุ 20 พรรษา ได้ทรงก่อตั้ง มูลนิธิสายใจไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ในวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2518 ขึ้นเพื่อสืบสานพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงห่วงใยในความทุกข์ของราษฎรผู้เสียสละชีพเพื่อป้องกันประเทศชาติ ผู้ต้องบาดเจ็บ ทุพพลภาพ จนไม่สามารถประกอบอาชีพได้ดังเดิม มูลนิธิสายใจไทยจึงมีวัตถุประสงค์เพื่ออนุเคราะห์ทหาร ตำรวจ และพลเรือนที่บาดเจ็บ พิการ ในการปฏิบัติหน้าที่ป้องกันประเทศชาติ ด้วยการดูแลให้ฝึกอาชีพ ตลอดจนดูแลช่วยเหลือครอบครัว ไม่ให้รู้สึกว่าถูกทอดทิ้ง และถือกันว่าวันที่ 2 เมษายน เป็นวันสายใจไทย นับแต่นั้นมา

ในวโรกาส พระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา ครบ 50 พรรษา พ.ศ. 2520 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาพระอิสริยยศและพระอิสริยศักดิ์สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนสุดา กิติวัฒนาดุลโสภาคย์ ให้ทรงรับพระราชบัญชาและสัปตปฎลเศวตฉัตร เฉลิมพระนามตามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏว่า สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2520

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงสนพระทัยด้านศิลปวัฒนธรรมมาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ พระองค์ประกอบพระราชกรณียกิจมากมายเพื่อการอนุรักษ์และพัฒนาศิลปวัฒนธรรมไทยทั้งในด้าน การช่างไทย นาฏศิลป์ไทย งานพิพิธภัณฑ์ ประวัติศาสตร์และโบราณสถาน ภาษาและวรรณกรรมไทย โดยเฉพาะงานด้านนาฏศิลป์และดนตรีไทย ทรงร่วมแสดงและทรงดนตรีไทยในโอกาสต่างๆ อย่างสม่ำเสมอ ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีต่อวงการศิลปะและวัฒนธรรมของไทย ในปี พ.ศ. 2528 พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรี ได้มีมติคณะรัฐมนตรี ประกาศให้วันที่ 2 เมษายน ของทุกปี เป็น “วันอนุรักษ์มรดกไทย

พระอัจฉริยภาพด้านพระราชนิพนธ์ ของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีที่มาจากการที่พระองค์โปรดการอ่านและการเขียนหนังสือมาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ และยังทรงพระปรีชาสามารถด้านภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นความรู้ด้านภาษาบาลี ภาษาสันสกฤต และภาษาเขมร และทรงสามารถรับสั่งเป็นภาษาอังกฤษ ภาษาฝรั่งเศส และภาษาจีน จึงทำให้ทรงมีผลงานพระราชนิพนธ์หนังสือประเภทต่าง ๆ ออกมามากกว่า 100 เล่ม เฉพาะหนังสือพระราชนิพนธ์ชุดเสด็จพระราชดำเนินเยือนต่างประเทศ ที่ทรงบันทึกการเดินทางขณะทรงงานเสด็จพระราชดำเนินเยือนต่างประเทศ มีมากกว่า 53 เล่ม เป็นหนังสือพระราชนิพนธ์แปล มากกว่า 24 เล่ม และหนังสือพระราชนิพนธ์วิชาการ มากกว่า 31 เล่ม

ดังนั้นวันที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2548 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ ตามข้อเสนอของคณะกรรการนานาชาติด้านหนังสือเด็กและเยาวชน ได้ประกาศให้ วันที่ 2 เมษายนของทุกปี เป็นวันหนังสือเด็กแห่งชาติ ซึ่งวันดังกล่าวเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และโดยในปีพ.ศ. 2548 เป็นปีมหามงคลที่ทรงมีพระชนมายุ 50 พรรษา รัฐบาลเห็นสมควรน้อมเกล้าฯ ถวายพระเกียรติ เพื่อรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงส่งเสริมการอ่าน ทรงประพันธ์บทพระราชนิพนธ์สำหรับเด็กและเยาวชนมาตั้งแต่ครั้งทรงพระเยาว์ พระปรีชาสามารถด้านอักษรศาสตร์เป็นที่ประจักษ์แก่ปวงชนชาวไทยและชาวต่างประเทศ

และด้วยพระองค์เสด็จพระราชดำเนินเยือนต่างประเทศเป็นจำนวนหลายครั้ง โดยการเสด็จฯ นั้น พระองค์เสด็จฯ ทั้งในฐานะผู้แทนพระองค์ พระราชอาคันตุกะหรืออาคันตุกะของรัฐบาลประเทศต่าง ๆ อย่างเป็นทางการ รวมทั้ง เสด็จฯ เป็นการส่วนพระองค์ ซึ่งนอกจากจะทรงงานเพื่อเชื่อมสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศแล้ว พระองค์ยังเสด็จฯ ทอดพระเนตรสังคม วัฒนธรรม สถานที่ต่าง ๆ และทรงได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่าง ๆ ของประเทศนั้น ๆ และได้ทรงนำความรู้และประสบการณ์ที่ทรงได้ทอดพระเนตรและจดบันทึกมาประยุกต์ใช้กับการทรงงานภายในประเทศด้วย ซึ่งการเสด็จฯ ทรงงานในต่างประเทศของพระองค์ ทำให้หนังสือพิมพ์ฝรั่งเศสถวายพระราชสมัญญานามแด่พระองค์ว่า “เจ้าฟ้านักดูงาน” หรือ “Le Princesse Stagiaire

เฉพาะแต่การเสด็จพระราชดำเนินเยือนจีน ก็มากกว่า 20 ครั้ง สมาคมมิตรภาพวิเทศสัมพันธ์แห่งประชาชนจีนได้ยกย่องว่าทรงเป็น “ทูตสันถวไมตรี” ระหว่างประเทศไทยและประเทศจีน เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2547 และในปี พ.ศ. 2562 สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ได้มอบ เครื่องอิสริยาภรณ์รัฐมิตราภรณ์ เป็นเครื่องอิสริยาภรณ์สูงสุดของสาธารณรัฐประชาชนจีน ถวายแด่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในฐานะที่ทรงเป็นบุคคลชาวต่างประเทศ ที่มีคุณูปการอย่างสูงในการสร้างสรรค์สังคมนิยมของจีนให้ทันสมัย ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนและความร่วมมือระหว่างประเทศจีนและต่างประเทศ และการปกป้องสันติภาพโลก นับเป็นชาวต่างชาติคนที่ 4 ที่ได้รับเครื่องอิสริยาภรณ์รัฐมิตราภรณ์จากสาธารณรัฐประชาชนจีน

ทั้งหมดนี้คือพระราชกรณียกิจที่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงปฏิบัติต่อเนื่องมาอย่างยาวนาน ตามเจตนารมณ์ของในหลวง รัชกาลที่ 9 เพื่อนำประโยชน์สุขมาสู่ประเทศชาติและประชาชนของพระองค์

อ้างอิง :

[1] ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศ สถาปนา สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนสุดา, เล่ม 94, ตอน 131ก ฉบับพิเศษ, 21 ธันวาคม พ.ศ. 2520, หน้า 1
[2] ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศเฉลิมพระนามาภิไธย สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า.เล่ม 136, ตอน 16 ข, 5 พฤษภาคม 2562, หน้า 4
[3] ประวัติ มูลนิธิสายใจไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์
[4] มติคณะรัฐมนตรี ที่ 461/2548 เรื่อง เห็นชอบให้วันที่ 2 เมษายน เป็น วันหนังสือเด็กแห่งชาติ
[5] สำนักข่าวซินหัวไทย เรื่อง จีนทูลเกล้าฯ ถวายเหรียญรางวัลเกียรติยศแด่ “กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ” วันที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2562

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า