นโยบายเลิกทาส ความก้าวหน้าที่มาก่อนกาลในสมัย รัชกาลที่ 5

ตามที่เราทราบกันดีแล้วว่า วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2448 ในหลวงรัชกาลที่ 5 ทรงโปรดให้ออก “พระราชบัญญัติเลิกทาส ร.ศ. 124” ให้ลูกทาสทุกคนเป็นไท ส่วนทาสสยามประเภทอื่นที่มิใช่ทาสในเรือนเบี้ย ทรงให้ลดค่าตัวเดือนละ 4 บาท นอกจากนี้ยังมีบทบัญญัติป้องกันไม่ให้คนที่เป็นไทแล้วกลับมาเป็นทาสอีก และเมื่อทาสจะเปลี่ยนเจ้าเงินใหม่ ก็ห้ามมิให้ขึ้นค่าตัว เราจึงมักเรียกวันนี้เป็น “วันเลิกทาส

แต่การจะปฏิวัติสังคมแบบพลิกฟ้าพลิกแผ่นดินให้มีผลสำเร็จแบบที่เราๆ ทราบกัน สิ่งหล่านี้ไม่ง่ายนะครับ กว่าที่จะมีการเลิกทาสสำเร็จในหลวงรัชกาลที่ 5 ทรงริเริ่มและลงมือปฏิบัติอย่างเป็นขั้นเป็นตอนมาหลายปีแล้ว สิ่งที่พระองค์พบเจอจากนโยบายพลิกฟ้าพลิกแผ่นดินนี้ก็คืออุปสรรคแรงเสียดทานคัดค้านจากหลายฝ่าย พูดง่ายๆ ก็คือ การเลิกทาสที่ว่านี้ มีคนเสียประโยชน์และไม่พอใจแน่นอน

หากจะกล่าวโดยละเอียดกระบวนการเลิกทาส เกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2417 แล้วนะครับ หากจะนับตัวเลขกันให้เห็นชัดก็คือ ทรงริเริ่มลงมือปฏิบัติมาแล้วจนมาเห็นผลสัมฤทธิ์ในอีก 31 ปี ให้หลังนั่นเอง

เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2417 ทรงออก “พระราชบัญญัติพิกัดเกษียณลูกทาสลูกไทย” โดยมีการแก้พิกัดค่าตัวทาสใหม่ โดยให้ลดค่าตัวทาสลงตั้งแต่อายุ 8 ขวบ จนกระทั่งหมดค่าตัวเมื่ออายุได้ 20 ปี เมื่ออายุได้ 21 ปี ผู้นั้นก็จะเป็นอิสระ โดยจะมีผลกับทาสที่เกิดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2411 และห้ามมิให้มีการซื้อขายบุคคลที่มีอายุมากกว่า 20 ปีเป็นทาสอีก

การดำเนินการเลิกทาสตามพระราชบัญญัติพิกัดเกษียณลูกทาสลูกไทยก็ไม่ได้ราบรื่นนะครับ เพราะตามที่บอกไปแล้วว่านโยบายนี้ย่อมมีบุคคลเสียประโยชน์แน่นอน และคนที่เสียประโยชน์เองมีทั้งนายทาสที่เป็นขุนนางเอง หรือแม้แต่ตัวราษฎรที่เป็นทาสเองก็ยังคัดค้านนโยบายนี้

ในยุคนั้นแรงงานทาสในสยามเองส่วนหนึ่งก็ยังเต็มใจที่จะขายตัวเองเป็นทาสด้วยซ้ำ และการวิพากษ์วิจารณ์นโยบายของในหลวงรัชกาลที่ 5 นี้ ก็มาจากราษฎรเองนั่นแหละครับ แม้จะอยู่ในยุคสมัยที่ปกครองด้วยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ก็ตาม แต่ในหลวงก็ยังทรงมีพระทัยกว้างเปิดโอกาสให้มีการวิพากษ์วิจารณ์นโยบายของรัฐบาลในพระองค์ได้อย่างเต็มที่ผ่านทางหนังสือพิมพ์ “จดหมายเหตุสยามไสมย์”

จากบทความ “ความขัดข้องของคนสิ้นคิด” ในจดหมายเหตุสยามไสมย์ เล่ม 2 เดือนอ้าย ขึ้น 6 ค่ำ ปีมะแม จุลศักราช 1245 (หรือพุทธศักราช 2426) กรณีของอำแดงเอม บันทึกไว้ว่า …

“… อำแดงเอมปรับทุกข์ให้ฟังว่า เด็กเดี๋ยวนี้ขายไม่ได้ ไม่มีใครช่วย อำแดงเอมก็ได้แต่พาลูกอำแดงเอมไปขายไม่มีผู้ซื้อ ผัวอำแดงเอมก็ต้องติดตรวนเร่งเงินอยู่เหมือนกัน ด้วยอำแดงเอมรับเครื่องทองเขามาขาย ผัวอำแดงเอมลักเอาไปจำนำเล่นโปหมด ไม่มีเงินจะให้เขา เขาฟ้องสู้ความแพ้เขาต้องปรับเงินรวมเงิน 9 ชั่ง 7 ตำลึง ผัวเมียก็ขายตัวเป็นทาสเขาแล้วไม่พอ เอาลูกสองคนไปขายก็ไม่มีใครเอา เพราะเป็นเด็กต้องห้าม ตัวพ่อเด็กต้องติดตรวนอยู่จนทุกวันนี้ ข้าฯก็เป็นทอดอาลัย ไม่รู้จะหาเงินที่ไหนมาใช้หนี้ …”

หรือจากบทความ “เรื่องทาษ” ในจดหมายเหตุสยามไสมย์ เล่ม 4 เดือนห้า แรมสิบค่ำปีจอ จุลศักราช 1248 หรือพุทธศักราช 2429 บันทึกไว้ว่า …

“… คนจนที่ลูกมาก หากินไม่ทันเลี้ยงลูก ซึ่งห้ามไม่ให้ขายลูกเป็นทาส ทำอย่างไรลูกจะได้ข้าวกิน เราคนกลางเห็นว่าคนจนที่ควรขายลูกช่วยทุกข์พ่อแม่ก็เปรียบเหมือนอย่างได้ใช้แรงแทนคุณพ่อแม่ … ราษฎรเหมือนกับตีนปู คอเวิ่นแมนต ขุนนางเจ้านายเหมือนกับตัวปู ถ้าทิ้งไว้ให้ตีนมือเน่าเปื่อยมือด้วนตีนกุดไป วันหน้าตัวปูจะไปข้างไหนก็ไม่ได้ …”

จากข้อคัดค้านของราษฎรที่ลงหนังสือพิมพ์ข้างต้น จะเห็นว่า แม้แต่ในสมัยราชาธิปไตยซึ่งถือกันว่ากษัตริย์ทรงถืออำนาจเด็ดขาดในการบริหารบ้านเมืองดังเช่นในสมัยในหลวงรัชกาลที่ 5 นี้ เพราะองค์ก็ยังทรงมีน้ำพระทัยกว้างขวางที่จะให้ราษฎรที่มีสถานะเป็นทาส ได้มีสิทธิมีเสียงแสดงความคิดเห็นติชมนโยบายของรัฐบาลราชาธิปไตยได้อย่างเต็มที่

สิ่งที่เห็นได้ชัดจากการวิพากษ์วิจารณ์นโยบายเลิกทาสลงหนังสือพิมพ์อย่างตรงไปตรงมาคือ ความเดือดร้อนประการหนึ่งของราษฎรที่เอาตัวเองขายเป็นทาส ส่วนหนึ่งมาจากการติดการพนัน เมื่อเป็นดังนี้แล้ว ในหลวงรัชกาลที่ 5 จึงทรงมีนโยบายต่อมาคือ การเลิกบ่อนเบี้ยอันเป็นสาเหตุหนึ่งที่สำคัญของความเป็นทาสนั่นเอง

ส่วนในชั้นถัดไป ทรงริเริ่มขยายการศึกษาด้วยการส่งเสริมให้เยาวชนทั่วๆ ไปและลูกทาสได้เล่าเรียนหนังสือและวิชาการต่างๆ ที่จะได้เป็นหนทางในการประกอบการเลี้ยงชีพ เพราะตราบใดที่ประชาชนไม่รู้จักทางที่จะประกอบการทำมาหากินแล้ว ก็จะเลี้ยงตัวเองและครอบครัวไม่รอด จนต้องวนเวียนขายตัวลงเป็นทาสเขาอยู่ร่ำไป

เรื่องนโยบายส่งเสริมการศึกษานี้ มีหลักฐานชิ้นสำคัญที่ยืนยันว่า ในหลวงรัชกาลที่ 5 ทรงมองว่า “คนเท่ากัน” มาตั้งแต่แรกแล้วนะครับ หลักฐานที่ว่าคือ ประกาศการเรียนหนังสือ จากการประชุมกฎหมายประจำศก เล่ม 10 เมื่อเดือน 3 ขึ้น 2 ค้ำ ปีระกา สัปตศก จุลศักราช 1247 หรือพุทธศักราช 2428 ความว่า …

“… มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศแก่พระบรมวงษานุวงษ์ ข้าราชการผู้ใหญ่ ผู้น้อย แลพ่อค้าราษฎรทั้งปวงทั่วกัน ด้วยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริห์เห็นว่า วิชาหนังสือเป็นต้นเค้าคุณความเจริญของราชการบ้านเมืองยิ่งศิลปศาสตร์วิชาการอื่นๆ ทั้งสิ้น ถ้าผู้ใดเล่าเรียนรู้ถ่องแท้จริง แม้จะเป็นคนตระกูลสูงหรือตระกูลต่ำอย่างใด ก็สมควรที่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เลี้ยงให้มียศศักดิ์รับราชการบ้านเมืองรับสนองพระเดชพระคุณตามคุณานุรูปถ้วนทั่วกัน …”

ในส่วนของนโยบายการเลิกบ่อนเบี้ยนั้น ตามข้อติติงของราษฎรที่ไม่เห็นด้วยกับการเลิกทาส สาเหตุหนึ่งก็คือ หากไม่ขายตัวเองเป็นทาสก็จะไม่มีเงินมาใช้จ่ายเลี้ยงดูครอบครัว และการขัดสนเงินทองที่ว่าก็มาจากการที่ราษฎรติดการพนันนั่นเอง

จากเอกสารประชุมพงศาวดารภาคที่ 17 เรื่องเลิกหวยแลบ่อนเบี้ยในกรุงสยาม ของพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้เขียนเอาไว้ว่า …

“… อากรบ่อนเบี้ยมีมาตั้งแต่ครั้งกรุงเก่า แต่จะตั้งขึ้นในรัชกาลไหนทราบไม่ได้แน่ … ตกมาในสมัยรัตนโกสินทร์ อากรบ่อนเบี้ยในรัชกาลที่ 2 มีถึงปีละ 260,000 บาท ต่อมาในรัชกาลที่ 3 เงินอากรบ่อนเบี้ยก็มากถึงปีละ 400,000 บาท ในรัชกาลที่ 4 ได้ราวปีละ 5,000,000 บาท …”

เงินอากรบ่อนเบี้ยการพนันนั้น มีความสำคัญต่อสังคมและเศรษฐกิจของบ้านเมืองอยู่มาก แต่อย่างไรก็ดี ในหลวงรัชกาลที่ 5 ได้ทรงตัดสินพระทัยแล้วว่าหากสยามปล่อยให้มีการค้าทาสอยู่ ผลในระยะยาวจะได้ไม่คุ้มเสียแน่นอน พระองค์จึงทรงประกาศให้มีการเลิกบ่อนเบี้ยตามลำดับคือ

เริ่มจากจุลศักราช 1249 หรือพุทธศักราช 2430 จนถึง พุทธศักราช 2431 จาก 403 บ่อน ให้เลิกเสีย 336 บ่อน ให้อนุญาตเล่นต่อไปเพียง 67 บ่อนเท่านั้น

ต่อมาพุทธศักราช 2432 โปรดให้เลิกบ่อนเบี้ยในกรุงเทพอีก 10 ตำบล คงเหลือ 47 ตำบลเท่านั้น จนมาถึงพุทธศักราช 2435 ให้เลิกบ่อนในพระนครทั้งหมด 31 แห่ง เหลือเพียงบ่อนหลวง 16 แห่งเท่านั้น

ส่วนบ่อนเบี้ยตามหัวเมืองนั้น เมื่อได้ทรงแก้ไขวิธีปกครองใน จุลศักราช 125 หรือพุทธศักราช 2436 แล้ว จึงได้ทยอยเลิกบ่อนตามหัวเมือง และลดจำนวนบ่อนในพื้นที่ต่างๆ ทั้งในพระนคร และในหัวเมืองต่างๆ ลงมาตามลำดับ

จะเห็นได้ว่า การปรับเปลี่ยนนโยบายต่างๆ เหล่านี้ดำเนินไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพราะในหลวงรัชกาลที่ 5 ทรงเล็งเห็นว่า หากมีการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมแบบพลิกฟ้าพลิกแผ่นดินโดยทันทีทันใด ชีวิตความเป็นอยู่ของราษฎรอาจจะได้รับผลกระทบรุนแรงมาก พระองค์จึงทรงใช้วิธีการที่ไม่หักหาญ ทรงค่อยๆ ดำเนินการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมการเมืองแบบละมุนละม่อม ทั้งในส่วนของการเลิกบ่อนและการเลิกทาส จนในที่สุดก็นำมาซึ่งความสำเร็จของนโยบาย ส่งผลให้สยามหมดสิ้นระบบไพร่ทาสและเปลี่ยนผ่านสังคมไปสู่ความเท่าเทียม

ที่มา :

[1] “ความขัดข้องของคนสิ้นคิด” จดหมายเหตุสยามไสมย์ เล่ม 2 เดือนอ้าย ขึ้น 6 ค่ำ ปีมะแม จุลศักราช 1245 (หรือพุทธศักราช 2426) กรณีของอำแดงเอม
[2] “เรื่องทาษ” ในจดหมายเหตุสยามไสมย์ เล่ม 4 เดือนห้า แรมสิบค่ำปีจอ จุลศักราช 1248 หรือพุทธศักราช 2429
[3] ประกาศการเรียนหนังสือ จากการประชุมกฎหมายประจำศก เล่ม 10 เมื่อเดือน 3 ขึ้น 2 ค้ำ ปีระกา สัปตศก จุลศักราช 1247 หรือพุทธศักราช 2428
[4] ประชุมพงศาวดารภาคที่ 17 เรื่องตำนานเรื่องเลิกหวยแลบ่อนเบี้ยในกรุงสยาม, พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า