รู้หรือไม่? ‘ระบบตัวแทน’ ของยุโรปถือกำเนิดจากคนเถื่อนบาวาเรียน ไม่ใช่อริสโตเติล!

ปัจจุบันเราน่าจะเห็นระบอบการปกครองทั่วโลกนั้นจะต้องมีระบบตัวแทนร่วมในการปกครองรวมไปถึงการได้รับความยินยอมของผู้ถูกปกครองในเรื่องสำคัญๆ ซึ่งเราอาจเห็นได้จากการทำประชามติอันเป็นการแสดงออกที่ชัดเจนที่สุด กลไกทั้งสองแบบนี้รวมอยู่ในระบอบประชาธิปไตยซึ่งเป็นที่แพร่หลายและยอมรับกันในปัจจุบันว่าเป็นสิ่งที่ขาดไปไม่ได้เสียแล้วในโลกไม่ว่าในประเทศหรือทวีปใดแม้ว่าทั้งระบบตัวแทนและความยินยอมของผู้ถูกปกครองจะมีต้นกำเนิดมาจากยุโรปก็ตาม

สิ่งที่น่าสนใจนั้นมีอยู่ว่าแม้ระบบตัวแทนและความยินยอมนี้ถูกใช้กันอย่างแพร่หลาย และมีต้นกำเนิดจากยุโรป แต่คำถามคือทำไมต้องเป็นยุโรปในเมื่อในอดีตนั้นก็มีหลายรัฐที่มีระบบคล้ายๆ กันและมีศักยภาพพอที่จะสามารถกลายเป็นระบบตัวแทนและความยินยอมแบบที่เราเห็นในปัจจุบันได้ ยุโรปกลับเป็นที่แรกและที่เดียวที่มีทั้งสองสิ่งนี้อย่างมีประสิทธิภาพและทำให้แพร่หลายได้ในที่สุด?

คำตอบของคำถามนี้อาจจะอยู่ที่ “อุบัติเหตุทางประวัติศาสตร์” ที่ทำให้ยุโรปมีทั้งสองกลไกนี้ขึ้น ซึ่งอุบัติเหตุที่ว่านี้รุนแรงมากพอที่จะฉีกเส้นทางประวัติศาสตร์ของยุโรปให้แตกต่างจากประวัติศาสตร์ของอารยธรรมอื่นๆ ในเวลาเดียวกันนั้นออกไป! [1]

หากเราลองไปดูที่อื่นๆ ของโลก อย่างจีนในยุคราชวงศ์ซ่งนั้น ผู้ปกครองมีหน้าที่ที่จะต้องทำตามหลักการของขงจื่อ นอกจากนี้การที่ฮ่องเต้ต้องทำตามอาณัติแห่งสวรรค์นั้นก็เป็นภาระผูกพันระหว่างผู้ปกครองกับผู้ใต้ปกครองด้วย หรือกล่าวอีกแบบหนึ่งก็คือโลกในยุคก่อนนั้นมีกลไกให้ผู้ปกครองต้องรับผิดชอบเหมือนกับโลกยุคสมัยใหม่ ต่างกันเพียงวิธีการก็เท่านั้น ดังปรากฏที่ Lü Gongzhu หนึ่งในปัญญาชนของจีนในยุคซ่งที่กล่าวถึงความคิดที่สามารถเทียบได้กับสำนวนกฎหมายของลาตินว่า “quod omnes tangit, ab omnibus tractari et approbari debet” ซึ่งแปลว่า สิ่งใดที่กระทบคนทั้งมวลจักต้องเห็นชอบด้วยคนทั้งปวงอันมีอยู่ในยุโรปว่า

แม้สวรรค์จะสูงและห่างไกล แต่สวรรค์ก็ยังคงสอดส่องจักรวรรดินี้ทุกเมื่อเชื่อวัน สวรรค์จักตอบสนองต่อพฤติกรรมของผู้ปกครอง หากท่านดูแลประชาด้วยยุติธรรม สวรรค์ก็จักส่งความเจริญรุ่งเรืองมาให้ และท่านจะปกครองแผ่นดินตลอดไป แต่หากท่านละเมิดความยุติธรรมและไม่เกรงกลัวบัญชาแห่งสวรรค์แล้ว แผ่นดินนี้จักลุกเป็นไฟ

คำกล่าวนี้คือสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงความคิดที่ผู้ปกครองมีภาระหน้าที่ต่อผู้ใต้ปกครอง แต่อย่างไรก็ดีแนวคิดของจีนนี้มิได้พัฒนาเข้าไปสู่การมีเรื่องความยินยอมของผู้ใต้ปกครองเข้ามา หรือจักรวรรดิไบแซนไทน์ที่มีการออกแบบระบบวุฒิสภาที่เกือบจะพัฒนาไปสู่การมีกลไกความยินยอมได้แต่ก็ไม่สามารถไปถึงจุดนั้นได้ หรือในตะวันออกกลางอย่างรัฐเคาะลีฟะฮ์อับบาซียะฮ์ ซึ่งมีทั้งระบบราชการและทหารที่เป็นมืออาชีพอย่างมาก โดยมีการปกครองแยกเป็น “ผู้ถือปากกา” และ “ผู้ถือดาบ” ซึ่งมีผลต่อการจำกัดผู้ปกครอง แต่อย่างไรก็ดี แม้ทั้งยุโรป จีน ไบแซนไทน์ และตะวันออกกลางนี้จะมีความคิดและพื้นฐานในการจำกัดผู้ปกครองที่คล้ายกัน แต่ยุโรปกลับเป็นที่เดียวที่พัฒนาสถาบันให้รองรับเรื่องการมีตัวแทนและการได้รับความยินยอมได้

เหตุผลที่ทำให้ยุโรปสามารถพัฒนาเรื่องนี้ขึ้นมาได้นั้นมีสิ่งที่รองรับไว้ก่อนหน้าอยู่สามปัจจัยด้วยกัน

I. ความคิดว่าด้วยการปกครอง

หลายคนอาจจะคิดว่าการค้นพบงานของกรีกโบราณทำให้ยุโรปสามารพัฒนาขึ้นมาได้ แต่จริงๆ แล้วงานของนักปรัชญากรีกโบราณ โดยเฉพาะ Aristotle นั้นไม่ได้โผล่มาในยุโรปจนกระทั่ง ค.ศ. 1260 เป็นภาษาลาติน และการแปลงานของ Aristotle นั้นหลายที่ก็ได้ค้นพบก่อนแล้วอย่างไบแซนไทน์หรือในตะวันออกกลางก็ได้พบ แต่พวกเขาไม่ได้ใช้ความคิดของ Aristotle เข้ามาในการพัฒนาการปกครองของตน แต่ยุโรปนั้นได้อิทธิพลมาจากกฎหมายสมัยโรมันมากกว่าผลงานของนักปรัชญากรีกโบราณโดยตรง

สำนวนกฎหมาย quod omnes tangit, ab omnibus tractari et approbari debet เดิมทีนั้นถูกใช้ในความหมายของเอกชนเท่านั้น กล่าวคือเมื่อมีการตกลงกันระหว่างกันแล้ว การจะเปลี่ยนแปลงข้อตกลงจะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงแก้ไขหรือจบลงได้ถ้าไม่ได้รับการยินยอมจากคนที่ร่วมตกลงกันนั้นก่อน กล่าวคือหลักการนี้เดิมทีไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องของรัฐเลย แต่อย่างไรก็ดีชาวยุโรปในศตวรรษที่ 12 ได้พลิกความหมายของสำนวนนี้ใหม่และประยุต์ใช้กับบริบทของตัวเอง โดยมีกลุ่มคนจาก University of Bologna เป็นหัวหอก กล่าวคือบริบทของยุโรปในยุคนั้นมีเมืองที่ปกครองตัวเองมากขึ้นประกอบกับมีกลุ่มต่างๆ เกิดขึ้นมาก ดังนั้นพวกเขาจึงต้องคิดหาวิธีในการติดต่อกันโดยไม่ละเมิดต่อกันทั้งโบสถ์และทั้งเอกชนโดยทั่วไป

วิธีที่พวกเขาคิดก็คือให้มีคนหนึ่งเป็นตัวแทนของกลุ่มไปพูดคุยเจรจากันที่เรียกว่า procuradors และ procurators ซึ่งทั้งสองแบบนี้ก็ถูกใช้โดยโรมเหมือนกันแต่ว่าเป็นคนละความหมาย กล่าวคือในอดีตหมายถึงคนที่มีหน้าที่ในการปกครองเขตเขตหนึ่ง ไม่ใช่คนที่เป็นตัวแทนใดๆ ซึ่งกลุ่มคนเช่นนี้ก็มีในจีนคือ cishi ซึ่งก็คือคนที่มีหน้าที่ปกครองแต่ไม่ได้ถูกพลิกให้ความหมายว่าเป็นตัวแทนใดๆ ซึ่งเมื่อเกิดการพลิกความหมายเช่นนี้แล้ว อย่างอื่นก็ตามมาด้วย กล่าวคือคำว่า reprasentare ในภาษาลาตินที่เป็นคำว่า representation ในปัจจุบันนั้นก็เป็นคนละความหมาย กล่าวคือคำว่า reprasentare ในอดีตนั้นโรมใช้ในความหมายที่ว่าทำให้บางสิ่งที่ไม่มีอยู่ได้มีอยู่ขึ้น หรืออธิบายบางสิ่งผ่านงานศิลปะ คำนี้จึงไม่ได้ใช้ในเชิงที่คนหนึ่งเป็นตัวแทนสำหรับผู้อื่น

จะเห็นได้ว่าจริงๆ แล้วหลักการเดิมที่มีอยู่สามารถพลิกให้ความหมายใหม่ได้ โดยไม่จำเป็นต้องคิดว่ามันเป็นสิ่งเก่าไม่สามารถเข้ากับยุคใหม่ได้ ในตะวันออกกลางเองก็มีแนวคิดคล้ายกันแต่เพียงไม่มีบริบทที่ทำให้พลิกความหมายแบบที่เกิดในยุโรปได้ก็เท่านั้น

II. อิทธิพลของการพัฒนาเศรษฐกิจ

แน่นอนว่าการพัฒนาเศรษฐกิจย่อมนำมาสู่การเกิดสิ่งใหม่ๆ ตามมา แต่อย่างไรก็ดียุโรปนั้นไม่ใช่พื้นที่ที่มีเศรษฐกิจดีที่สุด เพราะว่าจีนนั้นรวยกว่ายุโรป (อังกฤษ) มาก และตะวันออกกลางเองก็รวยกว่าด้วย หากเรายึดว่าการมีเศรษฐกิจดีทำให้เกิดระบบตัวแทนและความยินยอมนั้น จีนก็ต้องมีด้วย แต่กลับปรากฏว่าทิศทางของจีนนั้นเป็นคนละแบบกับยุโรป แต่ปัจจัยที่ซ่อนอยู่ในการพัฒนาเศรษฐกิจนี้เห็นจะเป็นเรื่องของารพิมพ์หนังสือมากกว่า เพราะเมื่อคนมีเงินมากขึ้นและมีความเป็นเมืองมากขึ้นแล้ว การอ่านออกเขียนได้ก็ตามมาด้วย แต่ว่าการพิมพ์หนังสือในยุโรปนั้นเสรีกว่ามากและไปในวงกว้างกว่ามาก ตรงกันข้ามกับจีนที่การพิมพ์หนังสือมักจะเป็นหนังสือที่ส่งเสริมความมั่นคงและอยู่ในวงที่แคบกว่า แต่การพัฒนาเศรษฐกิจนี้เมื่อไปประกอบกับแนวคิดการปกครองด้านบนก็ยังดูไม่พอที่จะอธิบายนัก

III. การทำสงคราม

การทำสงครามนั้นเป็ปัจจัยที่สามที่วางรากฐานให้เกิดระบบตัวแทนและความยินยอม เพราะยุโรปในอดีตนั้นขาดระบบราชการที่มีประสิทธิภาพในการเก็บภาษีทำให้การระดมทรัพยากรในการทำสงครามนั้นจะต้องนำผู้นำจากที่ต่างๆ มาซึ่งมีบทบาทในการเก็บภาษีโดยตรงเข้าร่วมประชุม ซึ่งกรณีนี้แตกต่างจากตะวันออกกลาง ไบแซนไทน์ และจีนที่ทำสงครามถี่ยิ่งกว่ายุโรปแต่ว่าไม่จำเป็นต้องใช้วิธีเดียวกับยุโรปนั้นก็เพราะว่าทั้งสามแห่งนี้มีระบบราชการที่มีประสิทธิภาพมากกว่ายุโรปมาก

แต่การทำสงครามนี้ไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่ามีการทำสงครามมากแค่ไหนเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงรูปแบบของการทำสงครามและวิธีการใช้ทรัพยากรด้วย กล่าวคือในยุโรปนั้นมีการใช้เทคโนโลยีการทำสงครามที่ก้าวหน้ามากและการทำสงครามนั้นมักจะมีลักษณะแบบผู้ชนะจะได้ไปทั้งหมด ซึ่งการทำสงครามของยุโรปเช่นนี้ และการต้องพึ่งผู้นำต่างๆ ในการเก็บภาษีให้พระมหากษัตริย์นี้ ประกอบกับอีกสองปัจจัยข้างต้น จะไปเจอเข้ากับอีก “อุบัติเหตุ” หนึ่งที่บีบให้ยุโรปต้องมีระบบตัวแทนและความยินยอมของผู้ใต้ปกครอง

IV. อุบัติเหตุ

ทั้งสามปัจจัยที่กล่าวมาข้างบนนั้นเป็นปัจจัยพื้นฐานที่รองรับการก่อตัวของระบบตัวแทนและความยินยอมเอาไว้ แต่ทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากขาดการ “ลั่นไก” จากอุบัติเหตุทางประวัติศาสตร์หนึ่งที่ทำให้ปัจจัยที่เข้ามาชุมนุมกันอยู่นี้สามารถจุดไฟให้เกิดระบบตัวแทนและความยินยอมขึ้นมาได้ กล่าวคือในยุโรปนั้นพระมหากษัตริย์มีตำแหน่งในจุดที่มีอำนาจในการต่อรองมิได้อยู่จุดสูงสุด แต่ตัวแสดงอื่นๆ นั้นสามารถมีอำนาจในการต่อรองกับพระมหากษัตริย์ได้ในการเอื้อให้การกระทำต่างๆ หรือเป้าหมายของพระมหากษัตริย์สามารถเป็นไปได้ การที่ตัวแสดงสามารถมีอำนาจที่สูงในเชิงเปรียบเทียบนี้ได้ก็เพราะในศตวรรษที่ 4 ซึ่งเกิดภัยแล้งที่รุนแรงที่สุดในรอบสองพันปีในเอเชียกลาง ทำให้ชาวฮันต้องเดินทางเข้าตะวันตกและส่งผลให้คนกลุ่มอื่นได้มุ่งหน้าเข้าสู่โรมด้วย ซึ่งสภาวะอากาศที่รุนแรงนี้ก็ได้ทำให้โรมอ่อนแอลงในตะวันตกด้วย

แต่ลำพังความอ่อนแอของกรุงโรมนั้นก็ยังไม่เพียงพอ แต่ยังมีการบุกของชาวเยอรมัน (คนเถื่อน) เข้าตีโรมและทำลายโรมทิ้ง แต่การทำลายนี้มิได้เป็นเพียงการตีโรมเท่านั้น แต่ยังเป็นการแทนที่ระบบการบริหารใหม่ทั้งหมดให้เป็นของชาวเยอรมันเอง ทำให้ไม่มีการควบคุมอย่างเข้มแข็งจากส่วนกลาง และโรมก็ได้แตกออกเป็นหลายรัฐเล็กๆ มากมาย การเป็นรัฐเล็กๆ มากมายนี้เองที่ทำให้ยุโรปมีต้นทุนต่ำลงในการสร้างระบอบตัวแทน เพราะการส่งคนเข้ามาในการประชุมแบบตัวแทนนี้ไม่ต้องส่งไปไกลมากและมีขนาดเล็กทำให้การรักษาสัญญาที่ทำไว้ต่อกันทำง่ายขึ้นด้วย และการเป็นรัฐเล็กๆ นี้เองทำให้ผู้นำในรัฐยุโรปนั้นมีอำนาจที่อ่อนแอโดยเปรียบเทียบกับผู้นำระดับต่ำลงไปในรัฐ รวมไปถึงการใช้ระบบราชการที่แตกต่างไปจากโรมทำให้ต้องได้รับความยินยอมจากคนที่อยู่ถัดลงไปเพื่อให้ช่วยเก็บภาษี แต่ในขณะเดียวกันผู้นำอย่างพระมหากษัตริย์ก็ต้องมีอำนาจมากพอในการเรียกคนให้เข้ามาประชุมได้ด้วย

ทั้งเรื่องภัยแล้งและการบุกของชาวเยอรมันนี้แตกต่างจากพื้นที่อื่นๆ กล่าวคือในจีนเองแม้จะถูกกุบไลข่านบุกและตีสำเร็จ แต่ว่ากุบไลข่านก็ยังใช้ระบบบริหารของจีนแบบเดิม รวมไปถึงอารยธรรมอื่นๆ ที่ถูกตีแล้วผู้บุกรุกก็มักจะใช้ระบบบริหารแบบเดิมในการควบคุมมากกว่าแทนที่ใหม่ทั้งหมด และขนาดของอาณาจักรอื่นๆ นั้นก็ยังคงใหญ่และมีระบบบริหารที่ยังมีส่วนกลางควบคุมชัดเจนมากกว่านั่นเอง

เส้นทางการพัฒนาของยุโรปจึงกล่าวได้ว่ามีส่วนที่ทำให้เกิดขึ้นได้เพราะเหตุการณ์อันเป็นอุบัติเหตุที่วางรากฐานไว้ให้ด้วย แต่ที่อื่นๆ ไม่ได้เผชิญแบบเดียวกันทำให้เส้นทางการพัฒนาเมืองของตนแตกต่างออกไป และการที่ไม่มีระบบตัวแทนและความยินยอมนั้นก็มิได้หมายความว่าที่อื่นจะแย่กว่ายุโรป เนื่องจากว่าแต่ละที่มีระบบที่สอดคล้องกับบริบทของตนในการบริหาร การมีระบบตัวแทนและการยินยอมจึงเป็นสิ่งที่จินตนาการได้ยากในบริบทของจีน ตะวันออกกลาง หรือไบแซนไทน์ โดยสรุปแล้วปัจจัยที่เอื้อให้เกิดการพัฒนาย่อมมีเงื่อนไขบางอย่างที่รองรับเอาไว้ และปัจจัยที่เกี่ยวข้องทั้งหมดไม่ว่าจะภูมิศาสตร์ เทคโนโลยีและอื่นๆ ล้วนแล้วแต่เป็นต้นทุนของการออกแบบระบบการปกครองทั้งสิ้น และบางทีอุบัติเหตุก็เป็นส่วนสำคัญในการผลักดันประวัติศาสตร์มนุษยชาติด้วย

อ้างอิง :

[1] เรียบเรียงจาก David Stasavage, “Representation and Consent: Why They Arose in Europe and Not Elsewhere,” Annual Review of Political Science Vol. 19 (2016): 145-162.

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด