‘ธงแดงสามผืน’ และ ‘นโยบายก้าวกระโดด’ ของ เหมา เจ๋อตง แผนที่ชุบชีวิตจีนสำเร็จในระยะสั้น แต่กลับล้มเหลวในระยะยาว

ในปี ค.ศ. 1949 ที่พรรคคอมมิวนิสต์ซึ่งนำโดย เหมา เจ๋อตง ได้เข้ามาปกครองประเทศจีน เศรษฐกิจของจีนในขณะนั้นนับได้ว่าตกต่ำเป็นอย่างมาก เนื่องจากจีนต้องประสบกับภาวะเงินเฟ้อเกินกว่าที่จะควบคุมได้ รวมไปถึงเกิดปัญหาภัยพิบัติน้ำท่วมครั้งใหญ่ ส่งผลให้ผลผลิตทางการเกษตรเสียหายร้อยละ 40 ซึ่งก็ได้ส่งผลต่อผลผลิตทางด้านอาหารและผลผลิตทางอุตสาหกรรมเช่นเดียวกัน รัฐบาลของพรรคคอมมิวนิสต์จึงได้พยายามสร้างระบบเศรษฐกิจแบบพึ่งพาตนเอง โดยสร้างเงินตราใหม่ขึ้นและประกาศห้ามใช้สกุลเงินต่างประเทศทั้งหมด มีการขยายการผลิตด้านอุตสาหกรรม รวมไปถึงปฏิรูประบบภาษี ปฏิรูปการถือครองที่ดิน สร้างระบบคอมมูนในการผลิตพืชผลทางการเกษตร กำหนดค่าเช่าที่ดินในอัตราที่ต่ำเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนเพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ซึ่งมาตรการทางเศรษฐกิจดังกล่าวก็สามารถทำให้เศรษฐกิจจีนฟื้นตัวกลับสู่สภาพเดิมได้ในปี ค.ศ. 1950

แผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับที่ 1 ของสาธารณรัฐประชาชนจีนได้ประกาศใช้เมื่อปี ค.ศ. 1953-1957 โดยมีจุดประสงค์เพื่อดำเนินการบริหารประเทศทางด้านเศรษฐกิจอย่างเป็นระบบ ซึ่งแผนพัฒนาเศรษฐกิจดังกล่าวเป็นแผนที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจของสหภาพโซเวียต โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาอุตสาหกรรมหนักตามรูปแบบของโซเวียต ซึ่งโซเวียตก็ได้ให้ความช่วยเหลือผ่านการสนับสนุนในโครงการต่าง ๆ อาทิ การเงิน ทรัพยากรบุคลากร การก่อสร้างอุตสาหกรรม รวมไปถึงการสนับสนุนด้านการศึกษา เพื่อเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจจากประเทศเกษตรกรรมสู่ประเทศอุตสาหกรรม

ในส่วนของระบบการเกษตรนั้น ก็มีการเปลี่ยนแปลงจากการเกษตรแบบต่างคนต่างทำเป็นการเกษตรแบบรวมกลุ่ม ทั้งนี้ในส่วนของอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรมก็ได้มีการเปลี่ยนแปลงจากการร่วมทุนระหว่างเอกชนกับรัฐบาลสู่การเปลี่ยนเป็นของรัฐบาลในที่สุด เนื่องจากรัฐบาลมีความจำเป็นที่จะต้องหาเงินทุนเพื่อซื้อเครื่องจักร เทคโนโลยี อาวุธยุทโธปกรณ์ รวมถึงจัดหาทุนสำหรับการฝึกอบรมให้แก่แรงงาน รัฐบาลจึงยึดกิจการ ทุกอย่าง อาทิ อุตสาหกรรม พาณิชยกรรม และธุรกิจเอกชนเข้าสู่ระบบการผลิตแบบรวมศูนย์

ในระยะเวลาต่อมาจึงได้เริ่มดำเนินแผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับที่ 2 ในปี ค.ศ. 1958-1962 ตามนโยบายพัฒนาประเทศสู่สังคมนิยมของ เหมา เจ๋อตง โดยมีหลักการ “ธงแดงสามผืน” (Three Red Banners) ซึ่งธงแต่ละผืนมีความหมาย 3 ประการ ดังนี้ สนับสนุนแนวทางในการสร้างสรรค์เศรษฐกิจแบบสังคมนิยมโดยอาศัยการพัฒนาเกษตรกรรมควบคู่ไปกับอุตสาหกรรม ผลักดันนโยบายก้าวกระโดดเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจจีนให้มีความก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว และสร้างระบบคอมมูนของประชาชน (People’s Commune) ให้เป็นหน่วยพื้นฐานด้านการผลิต ซึ่งจะรวมไปถึงการบริหารงานในด้านอื่น ๆ ได้แก่ การสาธารณสุข การศึกษา รวมไปถึงการทหาร ทั้งนี้รัฐบาลยังได้ฝึกอบรมความชำนาญให้กับประชาชนในการก่อสร้าง และการวิจัยทางวิทยาศาสตร์เพื่อตอบสนองกับการพัฒนาประเทศในแบบสังคมนิยม ซึ่งผลลัพธ์จากการประกาศใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจดังกล่าวทำให้ผลผลิตทางการเกษตรและอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก รวมไปถึงรายได้ประชาชาติเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 50 ในปี ค.ศ. 1962

อาจกล่าวได้ว่าแผนพัฒนาเศรษฐกิจทั้ง 2 ฉบับของจีนได้ส่งผลให้การพัฒนาประเทศของจีนมีความก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น และการที่สหภาพโซเวียตได้เข้ามามีบทบาทในกิจการภายในของประเทศจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและการส่งเสริมด้านอุตสาหกรรม ซึ่งจากการกระทำดังกล่าวได้ส่งผลให้จีนได้รับอิทธิพลจากโซเวียตในด้านต่าง ๆ อาทิ ด้านการศึกษา จะเห็นได้ว่าในการศึกษาภาษาต่างประเทศของจีนมีการกำหนดภาษารัสเซียเป็นภาษาต่างประเทศที่เยาวชนภายในประเทศควรจะต้องศึกษา เป็นต้น นอกจากนี้การที่ประเทศจีนได้มุ่งเน้นการผลิตในภาคอุตสาหกรรมมากยิ่งขึ้นก็ได้ส่งผลให้ประชาชนภายในประเทศหันมาเป็นแรงงานในโรงงานและอาศัยอยู่ในเขตเมืองมากยิ่งขึ้น

ขบวนการก้าวกระโดดหรือนโยบายก้าวกระโดด (Great Leap Forward Movement) ปี ค.ศ. 1958-1960 ของ เหมา เจ๋อตง เกิดขึ้นหลังจากที่แผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับที่ 2 ของจีนได้เริ่มดำเนินการเพียงไม่นาน ซึ่งนโยบายก้าวกระโดดจะมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาประเทศโดยสร้างระบบคอมมูนเพื่อเป็นการเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรและเพิ่มผลผลิตทางอุตสาหกรรม มีการออกคำสั่งให้ทุกหมู่บ้านนำเหล็กและเศษเหล็กต่าง ๆ ที่ได้จากเครื่องมือเครื่องใช้ภายในบ้านหรือจากทรัพย์สินของตนเอง นำมาถลุงเป็นเหล็กเพื่อนำไปใช้ในทางอุตสาหกรรมและการก่อสร้าง มีการกล่าวบรรยายถึงสภาพของแต่ละหมู่บ้านว่า ในช่วงเวลา 20.00-22.00 น. ประชาชนในชนบทตามหมู่บ้านต่าง ๆ ของประเทศจีนจะทำการถลุงเหล็กตามที่รัฐบาลได้ออกคำสั่ง ซึ่งเตาที่ใช้สำหรับการถลุงเหล็กนั้นจะเรียกว่า The backyard furnace นอกจากนี้การที่จีนมีปัญหาความขัดแย้งกับโซเวียต ก็ส่งผลให้จีนต้องพึ่งพาตนเอง รัฐบาลจึงจำเป็นต้องสร้างและส่งเสริมทรัพยากรบุคคลในประเทศ เกิดการรวบรวมแรงงานฝีมือทุกแขนงในประเทศ ได้แก่ ครู อาจารย์ นักศึกษา ข้าราชการ รวมไปถึงชาวนาและกรรมกร อีกทั้งยังพัฒนาระบบการศึกษาให้แก่เด็กนักเรียน โดยมีเป้าหมายเพื่อกระตุ้นให้ประชาชนทุกคนมีความตื่นตัวและกระตือรือร้นทำงานหนักมากขึ้นเพื่อร่วมกันสร้างประเทศจีนให้สามารถยืนหยัดได้ด้วยตนเอง ซึ่งผลลัพธ์ของการดำเนินนโยบายในช่วงสองปีแรกค่อนข้างประสบความสำเร็จ อัตราทางเศรษฐกิจขยายตัวร้อยละ 30 แต่ในปี ค.ศ. 1960 กลับปรากฏว่าผลที่ได้นั้นล้มเหลว เนื่องจากการมุ่งพัฒนาอุตสาหกรรมหนักทำให้การเกษตรไม่ได้รับการพัฒนาเท่าที่ควร คุณภาพการผลิตจึงต่ำกว่าเกณฑ์ตลอดจนการเกิดภัยธรรมชาติติดต่อกันหลายครั้ง และการบังคับชาวนาทำนารวมทำให้ชาวนาเหน็ดเหนื่อยจากการทำงานหนักและส่งผลให้ผลผลิตลดลง เมื่อผลผลิตไม่เพียงพอต่อความต้องการก็ทำให้มีผู้คนอดอาหารจนเสียชีวิตเป็นจำนวนหลายล้านคนและนำไปสู่วิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจปี ค.ศ. 1960-1962

ที่มา :

[1] ศรุตม์ เพชรสกุลวงศ์, “การปฏิวัติวัฒนธรรมครั้งใหญ่ของชนชั้นกรรมาชีพในสาธารณรัฐประชาชนจีน ค.ศ.1966-1969,” (สารนิพนธ์, ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์เอเชีย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, 2549), 75
[2] ไทยไชนีส [นามแฝง], “ประวัติศาสตร์จีนยุคก้าวสู่จีนยุคใหม่-ประเทศสาธารณะรัฐประชาชนจีน
[3] ดำรงค์ ฐานดี, จีน: ประวัติศาสตร์การเมืองและเศรษฐกิจ, 86
[4] ลิขิต ธีรเวคิน, “บทเรียนทางการเมืองและการพัฒนาประเทศจากจีน,” ผู้จัดการ