จักรพรรดินโปเลียนที่ 3 ผู้กอบกู้ชื่อเสียงพระมหากษัตริย์ฝรั่งเศส และวางรากฐานแก่ฝรั่งเศสในปัจจุบัน

การปกครองในรูปแบบของกษัตริย์เป็นหนึ่งในรูปแบบการปกครองที่มีมาอย่างยาวนานเคียงคู่ประวัติศาสตร์ของมนุษย์ และถือว่าเป็นหนึ่งในระบอบการปกครองที่ได้ผ่านการตั้งคำถามมาทุกแง่มุมและผ่านบททดสอบมานับไม่ถ้วน ดังนั้นรูปแบบการปกครองแบบกษัตริย์แม้ในปัจจุบันจะถูกตั้งคำถามเช่นแบบที่มันเคยถูกถามมาในอดีตว่ายังมีประโยชน์แค่ไหน หรือควรกำจัดทิ้งไปดีหรือไม่ สิ่งหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ก็คือการปกครองแบบกษัตริย์อยู่มานานและยืนยงกว่าระบอบการปกครองใดๆ ที่เคยมีมา แม้กระทั่งประชาธิปไตยก็เป็นเพียงเศษเสี้ยวของอายุการปกครองแบบกษัตริย์เท่านั้น

ฝรั่งเศสเป็นอีกประเทศที่มีการปกครองที่มีการแกว่งมากที่สุดโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงหลังการปฏิวัติฝรั่งเศสเป็นต้นมาเมื่อค่านิยมใหม่ๆ ได้เกิดขึ้น หรือที่เราคุ้นกันที่สุดคือ เสรีภาพ เสมอภาพ และภราดรภาพ อันนำไปสู่ความพยายามออกแบบกลไกต่างๆ ให้สอดคล้องกับค่านิยมนี้ [1] แต่ภายใต้ความพยายามนี้กลับต้องประสบพบเจอกับปัญหามากมายทั้งความรุนแรงและความไม่ชัดเจนในการออกแบบระบบการปกครอง [2]

ในจังหวะของความไม่ชัดเจนและความไม่แน่นอนที่ทอดเวลาอย่างยาวนานนี้ หน้าต่างแห่งโอกาสได้ถูกเปิดขึ้นหลายครั้งเพื่อทดสอบทั้ง “ระบอบใหม่” และ “ระบอบเก่า” ว่าสิ่งใดจะตอบสนองอนาคตที่กำลังเข้ามาถึงได้ดีกว่ากัน จนกระทั่งเข้าสู่ ค.ศ. 1848 ราว 60 ปีหลังจากการปฏิวัติฝรั่งเศส หลุยส์ นโปเลียน (ภายหลังคือจักรพรรดินโปเลียนที่ 3) ผู้เป็นพระราชนัดดาในนโปเลียน โบนาปาร์ต (ภายหลังคือจักรพรรดินโปเลียนที่ 1) ได้ทรงรับการเลือกตั้งจากประชาชนฝรั่งเศสขึ้นเป็นประธานาธิบดีในสาธารณรัฐที่ 2 และภายหลังได้สถาปนาจักรวรรดิที่สองแห่งฝรั่งเศส และได้นำความภาคภูมิกลับมาสู่พระมหากษัตริย์ฝรั่งเศส ในขณะเดียวกันพระองค์ยังได้วางรากฐานให้ฝรั่งเศสเป็นฝรั่งเศสดั่งทุกวันนี้อีกด้วย

ย้อนกลับไปก่อนที่พระองค์จะได้รับการเลือกตั้งช่วง ค.ศ. 1830 [3] สมัยพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 10 พระองค์ทรงได้ท้าทายอำนาจของสภาด้วยการออกพระราชกฤษฎีกาสี่ฉบับซึ่งยกเลิกเสรีภาพของสื่อ การลดจำนวนผู้เลือกตั้ง และยุบสภาล่างทำให้เปรียบเสมือนว่าพระองค์ได้ทำลายมรดกของการปฏิวัติฝรั่งเศสลง การกระทำของพระองค์ทำให้ชาวฝรั่งเศสไม่พอใจอย่างมากจนเกิดการประท้วงที่เรียกว่าสามวันอันรุ่งโรจน์ (Three Glorious Days) ในวันที่ 26-29 กรกฎาคม ค.ศ. 1830 จนพระองค์ถูกบีบให้สละราชบัลลังก์และพระองค์ได้ลี้ภัยไปยังอังกฤษ ทำให้พระเจ้าหลุยส์ฟิลิปป์ ได้ขึ้นครองราชย์สืบต่อจากพระองค์ และการครองราชย์ของพระองค์ถูกเรียกว่าเป็นพระมหากษัตริย์แห่งเดือนกรกฎาคม (July Monarchy) ซึ่งพระองค์ได้ใช้แนวทางสายกลาง (Juste milieu) ในการบริหาร

ในรัชสมัยของพระองค์ พระองค์ถูกขนานนามว่าเป็นพระมหากษัตริย์แห่งชนชั้นกลางเพราะพระองค์เป็นที่นิยมของชนชั้นกลางและปัญญาชน รวมไปถึงนักการเมืองเสรีนิยมและฝั่งอนุรักษนิยมอีกด้วย จึงกล่าวได้ว่าพระองค์เป็นพระมหากษัตริย์พระองค์หนึ่งที่หลายฝ่ายต่างยอมรับเพราะพระองค์สนับสนุนการพัฒนาเชิงทุนนิยมอย่างมากทำให้อุตสาหกรรมในขณะนั้นของฝรั่งเศสรุดหน้าไปอย่างรวดเร็ว แต่ไม่เป็นที่ชอบใจนักของกลุ่มสาธารณรัฐนิยม ต่อมาพระองค์เริ่มเสื่อมความนิยมเพราะการบริหารแบบทุนนิยมทำให้กลุ่มนายทุนได้ประโยชน์มากเกินไปจนส่งผลต่อประชาชนกลุ่มอื่นๆ และสิทธิในการเลือกตั้งยังคงถูกจำกัดรวมไปถึงสภาพความเป็นอยู่ของชนชั้นล่างที่แย่มาก ทำให้เกิดความไม่พอใจมากขึ้นเรื่อยๆ

พระเจ้าหลุยส์ฟิลิปป์ทรงเพิกเฉยต่อสภาพการเมืองเช่นนี้ และฝ่ายเสรีนิยมของราชวงศ์ออร์เลอองส์ก็เกิดการหมางใจกับพระองค์จนไปเป็นฝ่ายตรงข้าม ประจวบกับที่อังกฤษในตอนนั้นมีการขยายสิทธิการเลือกตั้งพอดีทำให้ประชาชนของฝรั่งเศสได้รับแรงบันดาลใจจึงออกมาประท้วงให้ขยายสิทธิการเลือกตั้ง ในตอนนี้สื่อก็ได้ระดมกระพือความไม่พอใจและทำให้เกิดความโกลาหลขึ้นอีกครั้งที่กรุงปารีส

ความวุ่นวายทางการเมืองได้เกิดขึ้นทั่วปารีสซึ่งในครั้งนี้ฝูงชนได้รับการสนับสนุนจากชนชั้นกลางที่ต่อต้านพระองค์และได้จัดงานเลี้ยงระดมทุนอย่างต่อเนื่อง การวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของพระองค์ได้แพร่กระจายมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งบทบาทของ Friedrich Engels นักปรัชญาเยอรมันซึ่งพำนักในปารีสขณะนั้นได้พิมพ์บทความชื่อ The Reform Movement in France ลงหนังสือพิมพ์ จนในที่สุดรัฐบาลได้ออกกฎหมายห้ามจัดงานเลี้ยงและจำกัดเสรีภาพในการตีพิมพ์ลงซึ่งยิ่งไปกระพือความไม่พอใจมากขึ้นไปอีกทำให้ฝูงชนปารีสได้เดินขบวนไปยังหน่วยงานรัฐต่างๆ และตั้งสิ่งกีดขวางทั่วปารีสทำให้ทหารต้องออกมารักษาการเอาไว้โดยรัฐบาลสั่งว่าห้ามยิงใส่ฝูงชนเด็ดขาดแต่ให้ใช้ดาบปลายปืนเท่านั้น แต่เกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้นเมื่อมีทหารเกิดลั่นปืนใส่ฝูงชนทำให้นายทหารคนอื่นๆ กราดยิงเข้าไปด้วยส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตทันที 52 คน

เมื่อความวุ่นวายมากขึ้นชนชั้นกลางเสรีนิยมจึงตัดสินใจตั้งรัฐบาลเฉพาะกาลขึ้น และพระเจ้าหลุยส์ฟิลิปป์ถูกบีบให้สละราชบัลลังก์เช่นเดียวกับพระองค์ก่อนหน้า ซึ่งต่อมาพระองค์ได้ลี้ภัยไปยังอังกฤษ รัฐบาลเฉพาะกาลชุดนี้ถูกเรียกว่าสาธารณรัฐที่สองของฝรั่งเศสโดยมี Jacques-Charles Dupont de L’Eure เป็นประธานาธิบดีเฉพาะกาลชั่วคราว ต่อมาได้จัดการเลือกตั้งขึ้นโดยรัฐบาลเฉพาะกาลได้ให้สิทธิการลงคะแนนเสียงและช่วยเหลือบรรเทาภาวะตกงานของคนฝรั่งเศสในขณะนั้นเพราะวิกฤตเศรษฐกิจได้เกิดขึ้นโดยตั้งโรงงานแห่งชาติขึ้นมา แต่ก็ยังเกิดการชุมนุมเป็นบางพื้นที่เพราะการช่วยเหลือของรัฐบาลไปไม่ถึง

รัฐบาลเฉพาะกาลนี้ยังไม่มีอำนาจการบริหารที่เบ็ดเสร็จทำให้ไม่นานนัก นักการเมืองจึงเริ่มโจมตีว่าปกครองอ่อนแอและแก้ปัญหาอะไรไม่ได้ และมีการเรียกร้องจากฝรั่งอนุรักษนิยมว่าให้ฝรั่งเศสหวนกลับไปสู่สมัยราชาธิปไตยอีกครั้ง นอกจากนี้ฝรั่งเศสตอนนั้นยังเกิดการแตกแยกอย่างหนักระหว่างประชาชนในปารีสกับประชาชนในชนบท เพราะโรงงานแห่งชาติที่ตั้งขึ้นมานั้นจ้างคนจากชนบทมาทำงานในปารีสซึ่งทำให้เกิดปัญหาสังคม เช่น ความแออัด อาชญากรรม และยังมีปัญหาการจ่ายค่าจ้างเพราะต้องใช้เงินมหาศาลจึงต้องเก็บภาษีจำนวนมากโดยที่ชาวนาต่อต้านการเก็บภาษีที่ดินเพราะเห็นว่าไม่ยุติธรรมที่จะนำเงินไปช่วยคนในเมืองหลวงโดยเอาเงินพวกเขาไปทำให้รัฐบาลชั่วคราวประสบปัญหาอย่างมาก

เมื่อความวุ่นวายยังคงเกิดขึ้นไม่หยุดหย่อนจนกระทั่งการเลือกตั้งได้จบลง Dupont de L’Eureได้ยุติการบริหารแบบเดิมลงและปรับการบริหารประเทศเข้าสู่การบริหารแบบคณะกรรมาธิการโดยมีสถานะเป็นประธานาธิบดีร่วมถึง 5 คนจากผลการเลือกตั้ง แต่ผลการเลือกตั้งนี้ก็ทำให้ฝ่ายซ้ายในปารีสผิดหวังเพราะผู้ที่ได้รับเลือกเป็นกลุ่มที่กลางๆ รวมถึงกลุ่มอนุรักษนิยมทำให้เรียกร้องประเด็นต่างๆ ต่อมาเมื่อรัฐบาลได้จัดตั้งคณะรัฐมนตรีซึ่งรัฐสภาเป็นผู้เลือกกลุ่มสาธารณรัฐนิยมขึ้นมามากทำให้รัฐบาลไม่เป็นที่พอใจของกลุ่มอนุรักษนิยมในสภาและกลุ่มซ้ายสุดโต่งรวมถึงคณะกรรมาธิการอีกด้วย ทำให้การทำงานภายในนั้นความจริงก็ไม่ได้ราบรื่นนัก

ในตอนนี้ฝ่ายปกครองได้แสดงความไม่พอใจต่อปฏิกริยาของฝูงชนที่มีแนวโน้มว่าจะพาฝรั่งเศสกลับสู่ยุควิสัญญีเหมือนหลังการปฏิวัติฝรั่งเศสอีกครั้ง ฝูงชนกรรมกรในกรุงปารีสได้ตัดสินใจบุกเข้าสภาและตั้งรัฐบาลของพวกตนขึ้นแต่รัฐบาลได้ส่งกองกลังรักษาความสงบแห่งชาติเข้าปราบปรามอย่างหนัก ต่อมารัฐบาลได้ปิดโรงงานแห่งชาติลงเพราะไม่มีเงินพอจะจ้างและอาจเป็นหนี้สินในระยะยาวได้ การลุกฮือจึงได้เกิดขึ้นอีกในกรุงปารีสโดยคนราว 1.7 แสนคนได้ประท้วงตามท้องถนนและตั้งสิ่งกีดขวางไปทั่วเมือง ภาวะตกต่ำทางเศรษฐกิจและการบริหารนโยบายที่ผิดพลาดทำให้ผู้ชุมนุมมองว่ารัฐบาลหักหลังทำให้ฝรั่งเศสเกิดภาวะล้มละลายยิ่งกว่าเก่า สุดท้ายรัฐบาลฝรั่งเศสก็เลือกที่จะเพิกเฉยต่อมวลชนและยึดผลประโยชน์ของฝ่ายปกครองทำให้รัฐบาลยิ่งอ่อนแอลงไปอีก

เมื่อมีทีท่าว่าการจลาจลจะขยายออกนอกปารีสมากขึ้น รัฐบาลได้ตั้งนายพล Cavaignac เป็นผู้บัญชาการปราบจลาจล และนายพลได้ทำการปราบอย่างรุนแรงจนเกิดเหตุการณ์จลาจลมิถุนายน (June Days Uprising) และรัฐบาลได้แต่งตั้งให้เขาขึ้นเป็นผู้นำเผด็จการชั่วคราวเพื่อรักษาความสงบทำให้คณะกรรมาธิการยุติบทบาทลงและหน้าที่การบริหารได้ถ่ายเข้าสู่นายพลในการบริหารอย่างเต็มที่ ซึ่งการปราบฝูงชนนี้ทำให้เขาต้องใช้นายทหารเข้ามาประจำในปารีสถึง 1.2 แสนคนและใช้เวลาปราบถึงสองวันเต็มจนควบคุมความสงบไว้ได้

หลังจากที่ทุกอย่างจบลงก็ได้มีความพยายามในการสร้างความเป็นเอกภาพอีกครั้ง ต่อมาได้จัดให้มีการเลือกตั้งขึ้นเพื่อชิงตำแหน่งประธานาธิบดีซึ่งมีผู้สมัครเข้ามาถึง 4 คน ซึ่งเป็นผู้ที่มีชื่อเสียงและมีฐานคะแนนสำคัญๆ ทั้งสิ้น ซึ่งแต่ละคนนั้นเป็นคนที่อยู่ในสเปกตรัมทางการเมืองต่างกันทุกคน ซึ่งในนี้มีพระเจ้าหลุยส์นโปเลียนด้วย

การปรากฏตัวของพระองค์นี้นับว่ามีความสำคัญมาก เพราะก่อนหน้าพระองค์ลี้ภัยไปพำนักที่ลอนดอนและเคยพยายามยึดอำนาจรัฐบาลในช่วงที่เกิดความวุ่นวายมาแล้วแต่ไม่ประสบความสำเร็จ และขณะเดียวกันเมื่อฝรั่งเศสพบเจอกับความวุ่นวายและความตกต่ำ การที่พระองค์เป็นตัวเลือกใหม่ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับความรุนแรงหลายๆ ครั้งที่เกิดขึ้นมา และการที่พระองค์เป็นพระราชนัดดาของนโปเลียน โบนาปาร์ต ทำให้กระแสความนิยมในตัวพระองค์สูงขึ้น การปรากฏตัวของพระองค์คือสัญลักษณ์ว่าในเวลานี้ประชาชนชางฝรั่งเศสต้องการความปลอดภัยและผู้นำที่มีความสามารถ

พระเจ้าหลุยส์นโปเลียนทรงแสดงพระองค์ว่าอยู่เหนือการเมืองและความขัดแย้ง และประชาชนทุกชนชั้นนั้นต่างมองตรงกันว่าพระองค์จะสร้างความรุ่งโรจน์ของฝรั่งเศสให้กลับมาอีกครั้งได้ รวมถึงราชวงศ์สายบูร์บงและออร์เลอองส์ต่างก็มองว่าพระองค์คือสายใยที่จะเชื่อมความเป็นปึกแผ่นของสถาบันกษัตริย์ฝรั่งเศสได้ ทำให้ขณะนี้พระเจ้าหลุยส์นโปลียนได้รับความิยมอย่างมากและรวดเร็ว ในขณะนี้พระองค์ได้เป็นประธาธิบดีคนใหม่ของฝรั่งเศสและได้มอบสิทธิการลงคะแนนเสียงอย่างทั่วถึงอีกครั้ง และในอนาคตพระองค์จะเป็นพระมหากษัตริย์/จักรพรรดิพระองค์ใหม่ของฝรั่งเศส

พระเจ้าหลุยส์นโปเลียนนั้นในปัจจุบันนักวิชาการมักจะประเมินว่าพระองค์เป็นพระมหากษัตริย์ที่ล้มเหลวและบ้าอำนาจนั้นจริงเพียงบางส่วน โดยประเด็นเรื่องบ้าอำนาจนั้นคือพระองค์ได้สั่งจำคุกฝ่ายตรงข้ามของพระองค์ แต่เป็นการจำคุกกลุ่มคนที่พยายามยึดอำนาจของพระองค์ในปี 1851 และคนที่ถูกขังนั้นเป็นกลุ่มสาธารณรัฐนิยมเป็นส่วนมาก ซึ่งกลุ่มนี้ในภายหลังได้ขึ้นมามีอำนาจในช่วงสมัยสาธารณรัฐที่สามอีกด้วย ส่วนความล้มเหลวนั้นหากเป็นการต่างประเทศนั้นก็ใช่ แต่เป็นในระยะท้ายในการปกครองกว่า 20 ปีของพระองค์แล้ว แต่ประเด็นภายในนั้นพระองค์มิได้ล้มเหลวเลย

เมื่อพระเจ้าหลุยส์นโปเลียนทรงครองราชย์ พระองค์ได้ออกนโยบายในการปฏิรูปสังคมมากมาย โดยเฉพาะคุณภาพชีวิตของชนชั้นล่าง เช่น การให้คำแนะนำทางกฎหมายสำหรับผู้ไม่มีทรัพย์ การสร้างบ้านราคาถูกให้คนงาน การสร้างประกันให้กับคนงานที่ต้องพิการเพื่อช่วยเหลือครอบครัว [4] หรือกระทั่งเรื่องเล็กๆ น้อยๆ อย่างการหาสิ่งที่จะมาแทนเนยได้ เพราะในขณะนั้นเนยราคาสูงจึงทำให้เกิดการคิดค้านมาร์การีนในสมัยของพระองค์ [5] พร้อมกันนั้นพระองค์ยังได้มอบสิทธิให้คนงานที่จะสามารถ strike ได้รวมไปถึงการจำกัดเวลาทำงาน และที่สำคัญคือพระองค์ได้แก้ไขกฎหมายที่ให้ศาลเชื่อผู้จ้างงานมากกว่าลูกจ้างออกไป [6] รวมไปถึงการที่พระองค์ขยายสิทธิการศึกษาให้แก่ผู้หญิงอย่างกว้างขวางผ่านการตั้งโรงเรียนสำหรับสตรีกว่า 800 โรงเรียน [7]

ส่วนในทางเศรษฐกิจนั้นพระองค์ได้ดำเนินการหลายประการ แต่ที่โดดเด่นมากที่สุดคือการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานอย่างกว้างขวางทำให้อัตราการผลิตของอุตสาหกรรมฝรั่งเศสเพิ่มขึ้น 73% ซึ่งโตเร็วกว่าอังกฤษในขณะนั้นถึงสองเท่า และช่วง ค.ศ. 1850-1857 เศรษฐกิจของฝรั่งเศสโตที่ 5% ต่อปีและการส่งออกโตถึง 60% [8] นโยบายต่างๆ ของพระองค์นั้นสามารถส่งผลได้จริง แต่อย่างไรก็ดี ฝรั่งเศสมีปัญหาในเรื่องหนี้และพระองค์ก็หนีเรื่องนี้ไม่พ้น ทำให้พระองค์ต้องพยายามสร้างความเชื่อมั่นและเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เกิดฝ่ายที่ไม่พอใจพระองค์ตามมา อย่างไรก็ดีในรัชสมัยของพระองค์ได้ส่งผลให้ทุนนิยมของฝรั่งเศสนั้นเติบโตอย่างมากโดยเป็นรองแค่อังกฤษในบางแง่มุมเท่านั้น บริษัทยักษ์ใหญ่หลายบริษัท เช่น Société Générale ก็ได้เกิดในยุคของพระองค์และอยู่มาจนถึงปัจจุบัน แม้กระทั่งยุทโธปกรณ์อย่างปืนใหญ่ 12 ปอนด์พระองค์ก็ยังเป็นคนประดิษฐ์อีกด้วย

รัชสมัยของพระองค์ถือว่าเป็นยุคที่มีการถกเถียงทางวิชาการมาก เพราะพระองค์ก็มีความล้มเหลว แต่ก็ประสบความสำเร็จด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบรรเทาทุกข์ของชนชั้นแรงงาน มีหลายคนวิจารณ์พระองค์ว่าเป็นผู้นำเผด็จการและไม่มีประสิทธิภาพ แต่ผู้ที่วิจารณ์นั้นมักเป็นกลุ่มที่อยู่ตรงข้ามกับพระองค์ เช่น Victor Hugo ที่กล่าวว่าพระองค์เป็น “นโปเลียนกระจ้อย”(Napoleon the Small) อันเทียบไม่ได้กับนโปเลียน โบนาปาร์ตที่เป็น The Great ทั้งนี้ Hugo คือผู้ที่สนับสนุนสาธารณรัฐและถูกขับไล่จากฝรั่งเศสโดยผู้ที่นิยมโบนาปาร์ตทำให้เขาชิงชังต่อพระองค์ด้วย นอกจากนี้ความล้มเหลวทางทหารนั้นทำให้พระองค์ถูกมองในแง่ลบ ถึงขนาดที่ว่าเคยมีช่วงหนึ่งที่นักประวัติศาสตร์มองว่าสมัยของพระองค์คือรากฐานของฟาสซิสต์ แต่อีกไม่นานต่อมานักประวัติศาสตร์ได้เปลี่ยนมุมมองและมองว่าพระองค์คือผู้พัฒนาฝรั่งเศสเข้าสู่สมัยใหม่ต่างหาก [9]

ความสำเร็จของพระองค์นั้นเป็นเรื่องของการพัฒนาเชิงวัตถุและการพัฒนาทางกายภาพของเมืองฝรั่งเศสที่ทำให้ฝรั่งเศสเป็นเช่นในปัจจุบัน และสนับสนุนการค้าการส่งออก ดังนั้นพระองค์จึงเป็นผู้ที่ทำให้พระมหากษัตริย์ของฝรั่งเศสกลับมาเป็นที่ยอมรับอีกครั้งว่าพระมหากษัตริย์ของฝรั่งเศสไม่ได้แย่ทุกพระองค์ จึงได้มีการกล่าวถึงพระองค์โดย The Times ว่า พระองค์ผู้ทรงทำอย่างเต็มที่และมองการณ์ไกลได้สวรรคตลงเมื่อ 9 มกราคม 1873 หวังว่าสักวันหนึ่งความยุติธรรมจะบังเกิดแก่พระองค์[10]

นี่คือหนึ่งเรื่องราวของพระมหากษัตริย์ที่ถูกลืม และถูกจดจำในฐานะเผด็จการผู้ไม่มีอะไรดี ขอวิญญาณพระองค์ไปสู่อ้อมกอดของพระเจ้า

อ้างอิง :

[1] เช่น ประเด็นกฎหมายมหาชน ดู บวรศักดิ์ อุวรรณโณ, กฎหมายมหาชน. เล่ม 1, วิวัฒนาการทางปรัชญาและลักษณะของกฎหมายมหาชนยุคต่าง ๆ, พิมพ์ครั้งที่ 7 (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2564).
[2] F. W. Aveling, A Brief History of the French Revolution. It Causes, Events and Consequences (1789-1795) (London: George Allen & Unwin, 1915).
[3] เรียบเรียงจาก ธิติพงศ์ มีทอง, “การปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ.1848 กับหนทางการสร้างประชาธิปไตยใหม่ในสมัยสาธารณรัฐที่สองของประเทศ,” วารสารยุโรปศึกษา ปีที่ 24 ฉบับที่ 1 (มกราคม-มิถุนายน 2559): 11-47.
[4] Philippe Séguin, Louis Napoléon le Grand (Paris: Bernard Grasset, 1990), p. 314.
[5] Philippe Séguin, Louis Napoléon le Grand, 313.
[6] Philippe Séguin, Louis Napoléon le Grand, 314-317.
[7] Pierre Milza, Napoléon III (Paris: Tempus, 2006), p. 592.
[8] Philippe Séguin, Louis Napoléon le Grand, 306-307.
[9] Alan B. Spitzer, “The Good Napoleon III,” French Historical Studies Vol. 2, No. 3 (Spring, 1962): 308-329.
[10] Alan B. Spitzer, “The Good Napoleon III,” 308.

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า