ความทุ่มเทเพื่อชาติของ ‘พระบรมราชชนก’ ทั้งพระอัจฉริยภาพและความเพียร จนกลายเป็นรากฐานให้ประเทศไทยก้าวกระโดดในแทบทุกด้านจนปัจจุบัน

…ท่าน [สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก] …ทรงโปรดราชการทหารเรืออย่างยิ่ง แต่ท่านอยากจะทรงบังคับการเรือตอร์ปิโดและอยากออกทะเล บังเอิญทางราชการเห็นว่า ไม่สมควรที่เจ้าฟ้าจะทรงทำเช่นนั้น ท่านจึงไม่ได้บังคับเรือแต่อย่างใดหรือออกทะเลตามลำพังพระองค์เลย ท่านจึงเกิดเบื่อหน่ายเป็นอันมาก…

พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์, เกิดวังปารุสก์

สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี พระราชสมภพเมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2435 ทรงเสด็จไปศึกษา ณ ทวีปยุโรป โดยเข้าศึกษาที่โรงเรียนแฮร์โรว์ ในประเทศอังกฤษก่อน แล้วจากนั้นเสด็จเข้าศึกษาต่อในวิชาทหารบกที่โรงเรียนนายร้อยชั้นต้น เมืองพ็อทซ์ดัม ประเทศเยอรมนี และโรงเรียนนายร้อยชั้นสูงทหารบกที่โกรส-ลิชเทอร์เฟ็ลเดอ (Groß-Lichterfelde) เมืองเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี

สมเด็จพระมหิตลาธิเบศรสำเร็จการศึกษาวิชาการทหารบกและสอบได้เป็นเฟนริช (Fähnrich) คือ นักเรียนทำคะแนนได้ดีมาก โดยพระองค์เขียนและแต่งเรียงความได้อย่างดีไม่ต้องสอบปากเปล่า การสอบในครั้งนั้นมีนักเรียนเข้าสอบประมาณ 400 คน โดยมีคนที่ทำคะแนนได้เท่าพระองค์เพียงคนเดียว ซึ่งนับว่าพระองค์เป็นคนไทยคนแรกที่สอบไล่ได้คะแนนสูงสุดเช่นนี้

ด้วยความสนพระทัยในทหารเรือ ทรงเข้าศึกษาวิชาทหารเรือ ณ โรงเรียนนายเรือเฟล็นส์บวร์ค-เมือร์วีค (Marineschule Flensburg-Mürwik) โดยเป็นนักเรียนนายเรือเยอรมันรุ่น 2455 (CREW 1912) และสำเร็จการศึกษาตามหลักสูตรด้วยผลการศึกษาขั้นดีเยี่ยมทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ และในการศึกษาปีสุดท้ายทรงชนะการออกแบบเรือดำน้ำด้วย เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วทรงเข้ารับราชการในกองทัพเรือเยอรมัน 3 ปี และได้รับพระราชทานยศนายเรือตรีแห่งจักรวรรดินาวีเยอรมันจากจักรพรรดิวิลเฮ็ล์มที่ 2 แห่งเยอรมนี ก่อนจะเสด็จเข้ารับราชการในกองทัพเรือสยาม

สมเด็จพระมหิตลาธิเบศรทรงรับราชการอยู่ในกองทัพเรือสยามเป็นเวลา 9 เดือน 18 วัน ก็ลาออก เพราะทรงมีความเห็นขัดแย้งกับนายทหารชั้นผู้ใหญ่ในกองทัพ เพราะนายทหารชั้นผู้ใหญ่เห็นว่ากองทัพควรมีเรือขนาดใหญ่เพื่อที่จะได้ฝึกซ้อมกำลังพล แต่สมเด็จพระมหิตลาธิเบศรเห็นว่ากองทัพเรือสยามเล็กเกินกว่าทีควรจะมีเรือขนาดใหญ่ ควรที่จะมีเรือเล็กๆ เช่น เรือดำน้ำ เรือตอร์ปิโด ซึ่งเข้าแม่น้ำได้สะดวกจะมีประโยชน์มากกว่า ทำให้หมดพระทัยที่จะรับราชการ

แต่ถึงแม้จะไม่ได้ดังพระราชประสงค์ในช่วงเวลานั้น ทว่าในอีก 20 ปีต่อมา กองทัพเรือก็ได้สั่งต่อเรือดำน้ำจำนวน 4 ลำ นั่นคือ เรือหลวงมัจฉาณุ เรือหลวงวิรุณ เรือหลวงสินสมุทร และเรือหลวงพลายชุมพล

นอกจากนี้ พระองค์ยังได้ทรงร่างโครงการสร้างกำลังทางเรือทั้งกองทัพไว้อีกด้วย ซึ่งต่อมาได้รับการพัฒนามาจนถึงปัจจุบัน นั่นคือ ได้มีการจัดตั้งฐานทัพเรือและสถานีทหารเรือ พร้อมกับจัดส่งกำลังทางเรือ ไปประจำตามฐานทัพเรือและสถานีเรือ ซึ่งสอดคล้องกับแนวพระราชดำริโครงการสร้างกองเรือรบของพระองค์นั่นเอง

เมื่อลาออกจากกองทัพเรือแล้ว สมเด็จฯ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร จึงได้ทูลเชิญสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร เสด็จไปทอดพระเนตรการดำเนินงานของโรงพยาบาลศิริราช ทำให้ทรงเห็นว่าการสาธารณสุขของประเทศไทยยังล้าหลัง จึงทรงหันมาสนพระทัยกิจการสาธารณสุขแทน

นับแต่นั้นย่างก้าวของการปฏิรูปกิจการด้านสาธารณสุขของประเทศไทยก็เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ ในราวๆ ปี พ.ศ.2459 ได้มีความเห็นว่าโรงพยาบาลศิริราชเป็นโรงพยาบาลที่มาตราฐานต่ำที่สุดในโลก สมเด็จพระมหิตลาธิเบศรทรงสนพระทัยด้านการสาธารณสุขถึงขั้นทรงเสด็จเข้าศึกษาสาธารณสุข ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด จนกระทั่งได้สำเร็จการศึกษาในระดับประกาศนียบัตรด้านสาธารณสุข ในปีพ.ศ.2464 ซึ่งในระหว่างที่ทรงศึกษาอยู่นั้น ได้เสด็จไปที่ห้องปฏิบัติการพยาธิวิทยาของโรงพยาบาลศิริราช และเสด็จไปเจาะเลือดนักโทษในเรือนจำ 128 คน ในเวลากลางคืน เพื่อศึกษาโรคเท้าช้าง และได้ทรงเรียบเรียงเรื่อง “โรคทูเบอร์คุโลสิส คือฝีในท้องหรือวัณโรค” ประทานแก่กรมสาธารณสุข สำหรับจัดพิมพ์ในงานถวายพระเพลิงพระศพสมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษภูวนาท กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ

หลังจากสำเร็จการศึกษาระดับประกาศนียบัตรสาธารณสุขแล้ว พระองค์รับหน้าที่เป็นผู้แทนรัฐบาลไทยในการเจรจากับมูลนิธิร็อกกีเฟลเลอร์ เพื่อติดต่อขอรับความช่วยเหลือจากมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ ในการจัดตั้งหลักสูตรการแพทย์ในระดับอุดมศึกษา(หลักสูตรปริญญาตรี) ซึ่งมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ได้เชิญ Prof.A.G.Ellis เข้ามาปรับปรุงหลักสูตรการเรียนการสอนให้

มูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ได้ให้ความช่วยเหลือด้านการสาธารณสุขกับประเทศไทยครั้งแรก คือ การเชิญสมเด็จฯ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร อธิบดีศิริราชพยาบาล ไปดูงานต่างประเทศ แล้วหลังจากจบสงครามโลกครั้งที่ 1 ก็ได้เข้ามาช่วยปราบพยาธิปากขอ และมูลนิธิก็ยื่นคำเสนอจะช่วยสนับสนุนการพัฒนา ซึ่งนำไปสู่การเริ่มเจรจาข้อตกลงรับความช่วยเหลือเมื่อปี พ.ศ.2464 และสำเร็จในปี พ.ศ.2466

ในพ.ศ. 2463 Prof.A.G.Ellis ได้ระบุว่า สมเด็จพระมหิตลาธิเบศรประทานเงิน 200,000 บาท ตั้งเป็นทุนวิทยาศาสตร์แห่งการแพทย์ แก่ศิริราชพยาบาล เพื่อบำรุงการศึกษาและสนับสนุนการวิจัย และรวมถึงเขียนพินัยกรรม ให้บริจาคเงิน 500,000 บาท แก่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กำหนด 25 ปี ไว้หาผลประโยชน์บำรุงการศึกษาแพทย์ การศึกษาสุขาภิบาล(public health) การศึกษาพยาบาล และการศึกษาการปรุงยา

สมเด็จพระมหิตลาธิเบศรยังได้ซื้อที่ดินโรงเรียนกุลสตรีวังหลัง(วัฒนาวิทยาลัย) ซึ่งติดกับโรงพยาบาลศิริราชไว้ในราคา 85,000 บาท โดยนำมาให้โรงพยาบาลเช่าปีละ 1 บาท กับในการนี้ประทานเงินซ่อมอาคารสถานที่อีก 16,000 บาท กับประทานต่างหากสำหรับไว้เป็นค่าบำรุงรักษาอาคารอีกปีละ 5,000 บาท และในเวลาต่อมาได้ประทานที่ดินแปลงนี้ให้โรงพยาบาลทั้งหมด และนอกจากนี้ยังทรงชักชวนให้สมเด็จฯ กรมหลวงเพชรบุรี ซึ่งเป็นพระพี่นางเธอซื้อที่ดินแปลงซึ่งติดกับแม่น้ำเจ้าพระยาเอาไว้ และประทานให้กับโรงพยาบาลทำให้โรงพยาบาลมีที่ดินติดแม่น้ำเจ้าพระยาในที่สุด

นอกจากนี้ยังทรงทูลขอให้พระราชมารดา ซึ่งก็คือสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ช่วยออกเงินสร้างท่อประปาลอดท่อข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา กับทำระบบระบายน้ำ ใช้เงินประมาณ 17,000 บาท แต่สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ประทานเงินให้ทั้งสิ้น 25,000 บาท จากเดิมที่ทรงประทานเป็นกุศลประจำปีให้กับโรงพยายาลศิริราชอยู่แล้วทุกๆ ปี ปีละ 2,000 บาท ไม่เพียงเท่านั้นสมเด็จพระศรีพัชรินทรา พระราชทานเงินให้กับโรงพยาบาลศิริราชเป็นประจำทุกปี ปีละไม่ต่ำกว่าหมื่นบาท แม้สวรรคตก็ยังพระราชทานจากกองมรดกให้กับโรงพยาบาลเสมอเรื่อยมา

สมเด็จพระมหิตลาธิเบศรยังได้ทรงชักชวนเจ้านายเชื้อพระวงศองค์อื่นๆ มาร่วมกันพัฒนาโรงพยาบาลศิริราชอีกมาก เช่น  ตึกอัษฎางค์ ใช้เงินกองมรดกกรมหลวงนครราชสีมาสร้าง เป็นจำนวน 76,000 บาท ตึกตรีเพชรและตึกจุฑาธุช ในหลวง ร.7 พระราชทานเงินจำนวน 180,000 บาท และตึกพระองค์หญิง กรมพระนครสวรรค์ประทานเงินในการสร้าง

เฉพาะในส่วนพระองค์ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศรประทานทรัพย์ส่วนพระองค์สมทบสร้างตึกอำนวยการเกือบครึ่งหนึ่ง กว่า 90,000 บาท ทรงประทานเงิน 80,000 บาทสร้างตึกศัลยกรรมชาย(ตึกมหิดลบำเพ็ญ) และรวมทั้งประทานเงินสร้างตึกพยาธิวิทยา 80,000 บาท

ทั้งนี้ยังไม่นับเงินซึ่งประทานเงินส่วนพระองค์ให้สำหรับเป็นทุนนักเรียนแพทย์/พยาบาล นับหลายสิบคน และรวมถึงประทานเงินให้กรมประมง 100,000 บาท สำหรับส่งนักเรียนออกไปศึกษา จำนวน 3 ทุน

ไม่เพียงแต่สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร จะทุ่มเทกำลังพระทัยและกำลังทรัพย์นับล้านบาทให้กับการยกระดับการพัฒนาด้านการแพทย์ ไม่ว่าจะเป็นด้านวัตถุ บุคคล และระบบการศึกษาแล้ว ยังทรงอุทิศพระวรกาย โดยเป็นผู้สอนเองในวิชาชีววิทยา สำหรับชั้นปี 1 กับวิชากายวิภาค สำหรับชั้นปี 2 ในนักเรียนเตรียมแพทย์รุ่นแรกที่หอวัง และรวมถึงทรงปรารถนาที่จะช่วยชีวิตคนจริงๆ กระทั่งอยากเป็นแพทย์รักษาคนจริงๆ ถึงกับเสด็จไปเชียงใหม่เพื่อเป็นหมอที่โรงพยาบาลแมคคอร์มิคเนื่องจากสังคมในสมัยนั้น ยากเกินกว่าจะยอมรับให้เจ้าระดับเจ้าฟ้าลงมารักษาคนไข้ได้

เหตุผลที่สมเด็จพระมหิตลาธิเบศรทรงเรียนทหารบกในตอนแรกนั้น เพราะเป็นพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ครั้นเมื่อในสมัยรัชกาลที่ 6 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวขอให้เรียนทหารเรือในกองทัพเรือเยอรมัน ก็ทรงเรียนได้ดีเยี่ยม รวมถึงชนะการประกวดออกแบบเรือดำน้ำ เหตุที่ทรงออกจากราชการทหารเรือเพราะขณะนั้นเป็นเวลาที่การคลังของประเทศกำลังมีปัญหา ทำให้แผนการกองทัพเรือถูกจำกัด ทำให้ทรงไม่สามารถจัดหายุทโธปกรณ์ได้ จึงหมดกำลังใจและขอออกจากราชการ กระนั้นก็ทรงหันมาสนใจการพัฒนาด้านการแพทย์ โดยเฉพาะการสาธารณสุข จนกระทั่งทรงเข้าศึกษาจนได้ปริญญาทางแพทย์ในระดับเกียรตินิยม จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดได้ในที่สุด

สมเด็จพระมหิตลาธิเบศรเป็นผู้ผลักดันให้เกิดการปรับปรุงหลักสูตรในโรงเรียนแพทย์ จนเป็นโรงเรียนระดับอุดมศึกษา(ประกาศนียบัตร)โรงเรียนแรก ที่สามารถจัดชั้นการศึกษาในระดับปริญญาบัตรได้สำเร็จเป็นหลักสูตรแรก คือ หลักสูตรเวชศาสตรบัณฑิต คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีนิสิตสำเร็จปริญญาบัณฑิตครั้งแรกในปี พ.ศ.2471 และสำเร็จปริญญาดุษฎีบัณฑิตครั้งแรกในปี พ.ศ.2475

หลังจากที่สมเด็จพระมหิตลาธิเบศรสวรรคตในปี พ.ศ.2472 อีก 4 ปีต่อมา ศ.นพ.หลวงเฉลิมคัมภีรเวชช์(เฉลิม พรมมาศ) และ ศ.นพ.สวัสดิ์ แดงสว่าง ได้ส่งบทความ Preliminary report of a study on the life cycle of Gnathostomiasis spinigerum ซึ่งเป็นผลงานการค้นพบวงจรชีวิตของพยาธิตัวจี๊ดครั้งแรกของโลก ไปตีพิมพ์ลง Journal of Parasitology ในปีพ.ศ.2476 เป็นครั้งแรกของแพทย์ชาวไทยที่ได้รับการยอมรับให้เผยแพร่งานศึกษาในวารสารระดับนานาชาติ ซึ่งเป็นระยะเพียง 10 กว่าปี หลังจากที่ผู้แทนมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ได้เคยให้ความเห็นว่าโรงพยาบาลศิริราชและราชแพทยาลัย เป็นโรงพยาบาลที่มาตรฐานต่ำที่สุดในโลก

ศ.นพ.หลวงเฉลิมคัมภีรเวชช์(เฉลิม พรมมาศ) และ ศ.นพ.สวัสดิ์ แดงสว่าง สองท่านนี้คือผลผลิตของโรงเรียนราชแพทยาลัย ในยุคก่อนได้รับความช่วยเหลือจากมูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์เข้ามาสนับสนุนการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอน และทั้งสองท่านดังกล่าวยังเป็นผู้ที่สมเด็จพระมหิตลาธิเบศรพระราชทานทุนส่วนพระองค์คัดเลือกไปศึกษาที่ต่างประเทศ

ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีขุนศรีภิษัช(เทียบ สุ่นสวัสดิ์) ก็เป็นนักเรียนทุนส่วนพระองค์อีกเช่นกัน ได้เคยมีผลงานร่วมวิจัย ลงตีพิมพ์รายงานใน American Journal of Physiology ปี 1931 ถึง 2 เรื่อง ซึ่งงานศึกษา 2 เรื่องดังกล่าว เป็นส่วนหนึ่งของคณะวิจัยของ Prof.Whipple ที่ส่งผลให้ได้รับรางวัลโนเบล ปี 1934 จากการค้นพบวิธีรักษา pernicious anemia ด้วยอาหารที่มีตับผสมอยู่ และโดยเฉพาะรายงานของขุนศรีภิษัช ที่ตรวจพบการสะสมไขมันและกรดไขมันในเนื้อเยื้อของลำไส้และต่อมน้ำเหลืองที่ mesentery ซึ่งต่อมารู้จักกันในชื่อโรค Whipple disease

และนอกจากนี้ หม่อมเจ้าพูนศรีเกษม เกษมศรี คณบดีคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เสนอให้ยอมรับให้ผู้หญิงได้เรียนมหาวิทยาลัยได้ด้วย แม้ว่าจะเป็นความคิดที่ได้รับการคัดค้าน แต่ด้วยสมเด็จพระมหิตลาธิเบศรได้สนับสนุนแนวคิดของหม่อมเจ้าพูนศรีเกษม เกษมศรี จึงทำให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยยอมรับให้ผู้หญิงเรียนระดับปริญญาบัตรได้เป็นครั้งแรก และนิสิตหญิง 4 คนที่รับเข้าศึกษา ได้สำเร็จการศึกษาในปี 2475 ถึง 3 คน

นิสิตหญิงหนึ่งในสามคนนั้นคือ ศ.พญ.มรว.ส่งศรี เกษมศรี เป็น 1 ใน 3 ผู้หญิงคนแรกที่ได้เรียนและเรียนจบปริญญาในประเทศ และเป็น 1 ใน 2 ผู้หญิงคนแรกที่ได้ตำแหน่งศาสตราจารย์ และเป็นหญิงไทยคนแรกที่ได้ Doctor of Medicine จากเยอรมัน และเป็นคู่สมรสของคุณหมออวย เกตุสิงห์

ในปีพ.ศ. 2471 สมเด็จพระมหิตลาธิเบศรเขียนจดหมายถึงนักเรียนทุนของพระองค์คนหนึ่ง ซึ่งก็คือ ศ.นพ.สวัสดิ์ แดงสว่าง ลงวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2471 ใจความตอนหนึ่งว่า “ขอให้ถือประโยชน์ส่วนตนเป็นที่สอง ประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เป็นกิจที่หนึ่ง ลาภทรัพย์และเกียรติยศจะตามมาแก่ท่านเอง ถ้าท่านทรงธรรมมะแห่งอาชีพไว้ให้บริสุทธิ์”

สมเด็จพระมหิตลาธิเบศรเสด็จไปศึกษาวิชาแพทย์ต่ออีกครั้ง ในปีพ.ศ.2469 ณ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐ จนกระทั่งทรงสำเร็จการศึกษาได้ปริญญาแพทยศาสตร์ เกียรตินิยมระดับ Cum Laude เมื่อปี พ.ศ. 2471 และเสด็จไปโรงพยาบาลแมคคอร์มิค จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อเป็นแพทย์รักษาคนไข้ พระองค์ได้ประทับที่เมืองเชียงใหม่ประมาณ 3 สัปดาห์ ก็ต้องเสด็จกลับมาร่วมพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระราชปิตุลา บรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช แต่เนื่องด้วยปัญหาพระพลานามัยจึงต้องทรงประทับ ณ วังสระปทุม และเสด็จสวรรคตในวันที่ 24 กันยายน 2471 ด้วยพระโรคฝีบิดในพระยกนะ (ตับ) โดยมีโรคแทรกซ้อนคือพระปัปผาสะบวมน้ำและพระหทัยวาย

Prof.A.G.Ellis ได้สดุดีสมเด็จพระมหิตลาธิเบศรไว้ในหนังสือ “พระกรณียกิจปฏิบัติของสมเด็จพระราชบิดา เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมหลวงสงขลานครินทร์ (C.P.H., M.D.) ที่ทรงอุปการะการแพทย์ในกรุงสยาม” ตอนหนึ่งว่า

การที่พระองค์อุบัติมาในโลกนี้นั้น ทำให้โลกนี้ดีขึ้นเป็นแน่แท้

สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร ได้รับการถวายพระสมัญญา พระบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบันของไทย ในวันที่ 24 กันยายน ของทุกปี ตรงกับวันคล้ายวันสวรรคต ซึ่งเป็นวันระลึกถึงสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ประชาชนชาวไทยถือกันว่าเป็น วันมหิดล

อ้างอิง :

[1] พระกรณียกิจปฏิบัติของสมเด็จพระราชบิดา เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมหลวงสงขลานครินทร์ (C.P.H., M.D.) ที่ทรงอุปการะการแพทย์ในกรุงสยาม. โรงพิมพ์เจตนาผล, 2479.
[2] สวัสดิ์ แดงสว่าง และไชยวัฒน์ แดงสว่าง. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมเสด็จพระราชดำเนินพระราชทานเพลิงศพ ศาสตราจารย์นายแพทย์ สวัสดิ์ แดงสว่าง ม.ว.ม., ท.จ.ว. ณ เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส วันเสาร์ที่ 12 มิถุนายน 2536 เวลา 17.00 น.. บริษัทศรีสมบัติการพิมพ์ จำกัด, 2536.
[3] ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย. กรุงเทพฯ : แพทยสภา, 2563.
[4] พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์, เกิดวังปารุสก์ ฉบับ 100 ปีจุลจักรพงษ์. –กรุงเทพฯ : บริษัท สำนักพิมพ์ริเวอร์ บุ๊คส์ จำกัด, 2552

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r