SCG รากฐานอันยิ่งใหญ่ ที่มุ่งยกระดับชีวิตคนไทยมาตลอด 109 ปี

ในรัชสมัยของรัชกาลที่ 4 ประเทศอังกฤษได้ส่งเซอร์จอห์น เบาว์ริง เข้ามาทำสนธิสัญญาทางไมตรีและการค้ากับประเทศไทย ส่งผลให้นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2398 ไทยสามารถเรียกเก็บภาษีศุลกากรได้ 3% และต้องเปิดเสรีทางการค้า จากนั้นมาประเทศไทยจึงได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของระบบเศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจของไทยก็เริ่มขยายตัวอย่างรวดเร็ว

แต่การลงนามในสนธิสัญญาทางไมตรีและการค้ากับอังกฤษ รวมถึงประเทศต่างๆ อีกหลายสิบประเทศ ทำให้เกิดข้อจำกัดของอุตสาหกรรมการผลิต จากเงื่อนไขที่กำหนดให้รัฐสามารถเรียกเก็บภาษีศุลกากรได้ 3% ทำให้ไทยส่งสินค้าไปขายต่างประเทศได้ยาก เพราะถูกตั้งกำแพงภาษี ในขณะที่ต่างประเทศส่งสินค้าเข้ามาขายในไทยกลับตั้งภาษีได้ต่ำมาก การผลิตสินค้าอุตสาหกรรมในประเทศไทยจึงมีต้นทุนที่สูงกว่าประเทศอื่นๆ ดังนั้น สินค้าส่งออกของไทยส่วนใหญ่จึงเป็นสินค้าประเภททรัพยากรธรรมชาติ ที่มีการแปรรูปไม่สูงมาก เช่น ข้าว ไม้สัก และดีบุก เป็นต้น

เมื่อประเทศมหาอำนาจในยุโรปเริ่มแข่งขันกันล่าอาณานิคมในทวีปเอเชีย ประเทศส่วนใหญ่ต่างตกเป็นเมืองขึ้นของชาติมหาอำนาจแทบทั้งสิ้น มีเพียง 4 ประเทศเท่านั้นที่สามารถรักษาเอกราชไว้ได้ คือ อิหร่าน จีน ญี่ปุ่น และสยาม ทำให้ประเทศเหล่านี้ต้องมีการปรับตัวให้ทันสมัยเพื่อต่อสู้กับการล่าอาณานิคม

ในรัชสมัยของรัชกาลที่ 5 เป็นยุคสมัยที่ประเทศไทยต้องเร่งพัฒนาความเจริญให้เท่าทันประเทศยุโรป เพื่อไม่ให้ตกเป็นข้ออ้างของชาติมหาอำนาจในการเข้ามารุกราน ดังนั้น จึงเกิดการพัฒนาลงทุนในทุกๆ ด้าน โดยเฉพาะการสร้างสาธารณูปโภคเพื่อใช้ในการพัฒนาเศรษฐกิจ ทำให้เกิดการสร้างทางรถไฟเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาคต่างๆ ของประเทศเข้าด้วยกัน

ประเทศไทยได้ลงทุนสร้างทางรถไฟสายแรก คือ สายกรุงเทพฯ-โคราช โดยเปิดการเดินรถครั้งแรกเป็นปฐมฤกษ์ กรุงเทพฯ-อยุธยา ในปี พ.ศ. 2439 และขยายตัวไปเรื่อยๆ จนถึงสมัยรัชกาลที่ 7 ในปี พ.ศ. 2476 ทางรถไฟของประเทศไทยก็มีความยาวรวมเกือบๆ 3,000 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศ

ในการสร้างทางรถไฟนี้เอง ได้ส่งผลให้มีการตัดผ่านแหล่งพื้นที่ทรัพยากรธรรมชาติเป็นจำนวนมาก เช่น ในช่วงราวๆ พ.ศ. 2440-2450 มีการค้นพบแหล่งปูนขาว ในพื้นที่อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี ซึ่งเป็นแหล่งหินปูนที่มีคุณภาพสูง สร้างความสนใจให้กับนายทุนต่างชาติเป็นจำนวนมาก ทำให้ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 6 พระองค์ทรงเกรงว่า ต่อไปชาวต่างชาติจะเข้ามายึดครองทรัพยากรธรรมชาติของคนไทยไปจนหมด จึงโปรดเกล้าฯ ให้ เจ้าพระยายมราช เสนาบดีกระทรวงนครบาล รับหน้าที่ดำเนินการชักชวนคนไทยเข้าหุ้นกันลงทุนในอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์

แต่เนื่องจากคนไทยในขณะนั้นยังไม่มีความรู้เกี่ยวกับอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ประกอบกับมีเงินทุนไม่มาก การระดมทุนจึงทำได้เพียงเล็กน้อย จนเจ้าพระยายมราชต้องกราบบังคมทูลขอรับพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณให้ช่วยซื้อหุ้นที่ยังขาดอยู่ ในหลวงรัชกาลที่ 6 จึงโปรดเกล้าฯ ให้ กรมพระคลังข้างที่ รับซื้อหุ้นจำนวนที่เหลือทั้งหมด มากกว่า 50% ทำให้กรมพระคลังข้างที่กลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่มาตั้งแต่ต้น

ในส่วนของโครงการ เจ้าพระยายมราช ได้ดำเนินการส่งตัวอย่างหินและดินสำหรับการผลิตปูนซีเมนต์ไปตรวจสอบคุณภาพในยุโรปตั้งแต่ช่วงปี พ.ศ. 2455 อย่างเร่งรีบ จนกระทั่งได้ทราบผลว่า วัตถุดิบมีคุณภาพสูงเหมาะสมที่จะผลิตปูนซีเมนต์ จึงได้ดำเนินการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทในปี พ.ศ. 2457 ได้ทันท่วงที ก่อนที่นายทุนต่างชาติจะยื่นขออนุญาตทำเหมืองหินปูนและผลิตปูนซีเมนต์

บริษัทปูนซีเมนต์ไทย จำกัด นับเป็นความท้าทายของคนไทยในการเริ่มต้นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ภายใต้การแข่งขันที่ถูกจำกัดด้วยกำแพงภาษีในการส่งออกไปต่างประเทศ และขณะเดียวกันก็ต้องเผชิญกับปูนซีเมนต์จากต่างประเทศที่ถูกเก็บภาษีศุลกากรในอัตราที่ต่ำ แต่เนื่องจากโรงงานปูนซีเมนต์ไทยเกิดขึ้นจากความร่วมมือของเครือข่ายทางธุรกิจระหว่างประเทศสัญชาติเดนมาร์ก ทำให้บริษัทปูนซีเมนต์ไทยมีผู้จัดการใหญ่เป็นวิศวกรชาวเดนมาร์ก 4 คน ในช่วงเริ่มดำเนินกิจการตั้งแต่ปี พ.ศ. 2457-2517 และเทคโนโลยีการผลิตปูนของบริษัท F.L. Smidth จากเดนมาร์ก ก็ทำให้ปูนซีเมนต์ไทยมีคุณภาพสูงและสามารถแข่งขันในด้านราคากับปูนซีเมนต์ของบริษัทสัญชาติยุโรปอื่นๆ ได้เป็นอย่างดี

ในระยะ 60 ปีแรกของบริษัทปูนซีเมนต์ไทย ซึ่งบริหารงานโดยผู้จัดการใหญ่ชาวต่างชาติทั้งสิ้น ได้มีการวางรากฐานที่สำคัญทางวิศวกรรมที่ทำให้บริษัทปูนซีเมนต์ไทยมีความแข่งแกร่งในนวัตกรรมและองค์ความรู้พื้นฐานทางวิศวกรรม ที่ต่อยอดไปสู่การขยายการลงทุนในอุตสาหกรรมการผลิตอื่นๆ ทำให้นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2517 เป็นต้นมา เมื่อนายบุญมา วงศ์สวรรค์ ได้เข้ารับตำแหน่งผู้จัดการใหญ่ที่เป็นคนไทยคนแรก บริษัทปูนซีเมนต์ไทยจึงเริ่มเข้าสู่ยุคแห่งขยายการลงทุนไปยังอุตสาหกรรมต่างๆ อย่างกว้างขวาง ไม่ว่าจะเป็นการแปรรูปเหล็ก การผลิตรถยนต์ การผลิตกระดาษ และการผลิตเครื่องจักรอื่นๆ

ในยุคที่เศรษฐกิจไทยกำลังเฟื่องฟู เมื่อมีการขุดก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยได้สำเร็จในปี พ.ศ. 2424 บริษัทปูนซีเมนต์ไทยก็เป็นหนึ่งในผู้ลงทุนของไทยที่เข้าบุกเบิกอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมชนิดใหม่ที่ต้องอาศัยเงินทุนสูง และการที่ปูนซีเมนต์ไทยเข้าไปลงทุนในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีซึ่งก่อนหน้านั้นมีผู้เข้าลงทุนน้อยราย ทำให้ช่วยลดการผูกขาดในอุตสาหกรรม ส่งผลให้เกิดการแข่งขันอย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากการออกไปแสวงหาโอกาสใหม่ๆ ในอุตสาหกรรมนอกธุรกิจหลักแล้ว ปูนซีเมนต์ไทยยังมุ่งมั่นในการพัฒนานวัตกรรมอย่างไม่หยุดยั้ง จนกลายเป็นผู้นำในธุรกิจผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง ทำให้รายได้หลักของปูนซีเมนต์ไทยไม่ได้มาจากการจำหน่ายปูนซีเมนต์สำเร็จรูปเพียงอย่างเดียว หากแต่มาจากผลิตภัณฑ์ก่อสร้างอื่นๆ เช่น สินค้ากลุ่มกระเบื้องเซรามิกปูพื้นและผนัง ซึ่งมีกำลังการผลิต 181 ล้านตารางเมตร/ปี สูงที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลก และในขณะเดียวกัน ก็ยังคงเป็นผู้ผลิตปูนซีเมนต์สำเร็จรูปปีละ 30 ล้านตัน สูงที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

การเติบโตอย่างรวดเร็วในยุคที่เศรษฐกิจไทยเฟื่องฟู ทำให้ปูนซีเมนต์ไทยเข้าสู่กระบวนการเพิ่มทุนจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ และใช้ชื่อว่า เอสซีจี เพื่อความทันสมัย โดยใช้ตัวย่อในตลาดหลักทรัพย์ว่า SCG

ในปี พ.ศ. 2540 จากปัญหาวิกฤติทางเศรษฐกิจ ส่งผลให้ปูนซีเมนต์ไทยได้รับผลกระทบไปไม่น้อย และต้องลดการลงทุนในอุตสาหกรรมอื่นๆ ลง ทำให้ปูนซีเมนต์ไทยเหลือธุรกิจหลักเพียง 3 กลุ่ม คือ “กลุ่มปูนซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง” “กลุ่มปิโตรเคมี” และ “กลุ่มกระดาษและบรรจุภัณฑ์”

เมื่อเข้าสู่ยุค e-commerce ความต้องการในสินค้าบรรจุภัณฑ์ขยายตัวอย่างรวดเร็ว และมีมูลค่าสูงขึ้น ทำให้เอสซีจีแยกกลุ่มธุรกิจบรรจุภัณฑ์ออกมาจดทะเบียนเป็นบริษัทมหาชนต่างหากในชื่อ บริษัทเอสซีจีแพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) ในปี พ.ศ. 2563 โดยชื่อย่อว่า SCGP

และในปัจจุบัน เอสซีจี กำลังก้าวสู่โอกาสใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงการพัฒนาสินค้าเทคโนโลยีที่กำลังจะมีความสำคัญในอนาคตอย่างเช่น รถยนต์ไฟฟ้า ทางเอสซีจี จึงได้เตรียมธุรกิจปิโตรเคมีเพื่อแยกจัดตั้งเป็นบริษัท เอสซีจี ปิโตรเคมิคอลส์ จำกัด (มหาชน) หรือชื่อย่อ SCGC เข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ ในปี พ.ศ. 2565 อีกด้วย

ปัจจุบันในปี พ.ศ. 2565 เอสซีจี ได้ดำเนินกิจการมายาวนานถึง 109 ปี เป็นบริษัทชั้นนำในอาเซียนที่เติบโตอย่างมั่นคง และสร้างนวัตกรรมหลากหลายออกมาตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง นอกเหนือจากการวางเป้าหมายในด้านธุรกิจแล้ว เอสซีจี ยังได้วางบทบาทของการเป็นผู้ประกอบการที่ใส่ใจในสิ่งแวดล้อม และมุ่งมั่นให้ความสำคัญกับการส่งเสริมให้สังคมเติบโตไปพร้อมๆ กับธุรกิจด้วยความยั่งยืน เพื่อนำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้บริโภคอีกด้วย

อ้างอิง :

[1] รายงานประจำปี บริษัทปูนซีเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน)
[2] หนังสือ เอสซีจี 100 ปี แห่งนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน พ.ศ. 2556

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า