Words seem too empty, when my heart is so full น้ำพระทัยจากในหลวง ส่งเสริมเติมเต็ม สู่ความสำเร็จทางการศึกษาของคนไทย
จากที่ทีมงาน ฤา ได้เคยนำเสนอเรื่อง มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ไปแล้วนั้น งานส่วนหนึ่งของมูลนิธิฯ ที่สมควรนำมาขยายความ คือฝ่ายการศึกษาสงเคราะห์ของมูลนิธิฯ
ตัวอย่างที่ดี คือ รศ.ดร.คุณหญิงอารมณ์ ฉนวนจิตร ผู้ซึ่งได้รับทุนการศึกษาจากมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ตั้งแต่ระดับชั้นปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก กระทั่งจบการศึกษาและนำความรู้กลับมาสร้างประโยชน์ให้แก่บ้านเมือง
คุณหญิงอารมณ์ฯ เล่าว่า …
“อาจารย์เป็นนักเรียนทุนก็จริง แต่อาจารย์คิดตลอดเวลาว่า นั่นเงินพระเจ้าอยู่หัว หลังจากจบปริญญาโทได้ 4-5 ปี อาจารย์ทำเรื่องขอยืมเงินมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ เพื่อไปเรียนต่อในระดับปริญญาเอก ทางมูลนิธิไม่อนุมัติ เนื่องจากขณะนั้นยังไม่มีระเบียบเกี่ยวกับเรื่องการอนุมัติทุนการศึกษาในระดับสูง ความทราบถึงพระเนตรพระกรรณ ทรงโปรดเกล้าฯ ให้เข้าเฝ้า ทรงมีรับสั่งว่า …
‘มูลนิธิเป็นเสมือนพ่อแม่ ลูกต้องการอะไร ถ้าไม่เหลือบ่ากว่าแรงต้องให้ ถ้าแม้เขาเรียนสูงแล้ว เมื่อเขาขอ ก็ต้องให้’ จากนั้นได้พระราชทานเงินให้เป็นทุนเรียนต่อ เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2524
ช่วงที่ไปเรียนเอก หลายครั้งที่เกิดความท้อแท้ บอกตนเองว่า ‘ไม่ได้ … ฉันเอาเงินพระเจ้าอยู่หัวมา จะมาทำเล่นๆ ไม่ได้ … ต้องสำเร็จ’ คิดอย่างนี้บางคืนอ่านหนังสือได้ถึงเช้า ไม่รู้กำลังใจมาจากไหน
นักเรียนทุนจะได้เข้าเฝ้าพร้อมๆ กันปีละครั้ง เราอยากเฝ้าพระองค์ท่านมากกว่านั้น ทางที่จะได้เฝ้า ก็รอวันสำคัญๆ อย่างวันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา พระองค์ท่านจะเสด็จฯ วัดพระแก้ว เราก็ไปรอ …
มีอยู่ปีนึง จะสอบก็ไปรอเฝ้า พระองค์ท่านเสด็จผ่าน เรากราบบังคมที่พระบาท พอเงยหน้าขึ้นก็ทูลพระองค์ท่านว่า ‘ขอพรให้สอบไล่ได้’ พระองค์ทรงสรวล แค่นั้นก็รู้สึกอิ่มใจ … กลับบ้านวันนั้น ไม่กินข้าว นั่งลงอ่านหนังสือเลย
ชีวิตลูกมีงาน มีเกียรติ มีเงินเดือนมาจนทุกวันนี้ เพราะพ่อพระองค์เดียว ในชีวิตเรา ไม่รู้จะหาคำพูดอะไรมาบรรยายพระมหากรุณาธิคุณ เมื่อหัวใจเต็มตื้นตัน … Words seem too empty, when my heart is so full.”
สำหรับเรื่องราวการได้รับทุนการศึกษาของคุณหญิงอารมณ์ฯ นั้น แต่เดิมบ้านของอาจารย์อยู่ที่แหลมตะลุมพุก นครศรีธรรมราช ประสบเหตุการณ์พายุร้ายเมื่อ ปี พ.ศ. 2505ต้นไม้ในสวนโค่นจนราบเรียบ บ้านพังเสียหายยับเยิน ชีวิตชาวสวนบ้านนอกอย่างครอบครัวของอาจารย์ไม่ได้มีเงินเก็บในธนาคารเหมือนดังเช่นคนในยุคปัจจุบัน เมื่อสวนล่มลง เงินเก็บในบ้านของครอบครัวก็พลอยหมดไปด้วย
สมัยช่วงที่อาจารย์เรียนจบการศึกษาขั้นมัธยมแล้ว ฐานะทางบ้านไม่สามารถส่งให้เล่าเรียนต่อได้ อาจารย์จำเป็นต้องหยุดการศึกษาไป 2-3 ปี เพื่อทำงานเก็บเงินเป็นทุนเพื่อการศึกษาจนมีทุนเพียงพอ แล้วสอบเข้าเรียนใหม่ โดยเอนทรานซ์เข้าคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากรได้ โดยรับจ้างทำงาน เช่น พิมพ์ดีด ไปด้วย ช่วงที่เรียนมหาวิทยาลัยศิลปากรไป 1 ปี ก็ได้ทราบว่า ทางมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ได้ให้ทุนสนับสนุนเพื่อการศึกษากับผู้ประสบอุทกภัย เป็นจำนวนเงิน 400 บาทต่อเดือน ปีหนึ่งได้ 10 เดือน จึงดำเนินการขอทุน และเมื่ออาจารย์ได้รับเงินทุนแล้ว ทำให้ไม่ต้องทำงานเพื่อหาเงินมาใช้จ่ายระหว่างการศึกษา เงินจำนวน 12,000 บาท ที่มูลนิธิได้ให้ความช่วยเหลือมานั้น ทำให้อาจารย์สามารถใช้เวลาเพื่อการเรียนได้เต็มที่ และสำเร็จการศึกษาโดยได้เกียรตินิยม
จากนั้นอาจารย์ได้เข้ารับราชการเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง เมื่อทำงานไปสักพัก ก็ขวนขวายหยิบยืมเงินไปเรียนปริญญาโทต่อที่สหรัฐอเมริกา โดยทำงานระหว่างการเรียนไป ซึ่งอาจารย์ก็สำเร็จการศึกษากลับมา จากการเว้นการศึกษาไป 5 ปี แต่อาจารย์ยังมีความต้องการเรียนจนถึงระดับปริญญาเอก อาจารย์ได้ทำหนังสือขอยืมเงินมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ เพื่อไปศึกษาต่อระดับดุษฎีบัณฑิต แต่เนื่องจากมูลนิธิฯ ไม่มีระเบียบว่าด้วยการนี้ จึงไม่สามารถให้เงินยืมให้ได้
ต่อมา เมื่อความทราบถึงพระเนตรพระกรรณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในหลวงรัชกาลที่ 9 อาจารย์ก็ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเงินให้ยืมส่วนพระองค์ ซึ่งทำให้ท่านอาจารย์คุณหญิง ได้ไปศึกษาต่างประเทศสมดังความตั้งใจ และร่ำเรียนจนสำเร็จได้กลับมารับราชการ ชดใช้เงินคืนพระองค์ท่าน แต่เมื่อท่านอาจารย์ได้ชดใช้ไปได้จำนวนหนึ่ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ทรงพระกรุณายกเงินยืมที่เหลือให้
รศ.ดร.คุณหญิงอารมณ์ ฉนวนจิตร ปัจจุบันเป็นหนึ่งในรองประธานกรรมการบริหารมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม และกรรมการบริหารมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ในพระบรมราชูปถัมภ์ อาจารย์ได้รับเกียรติสูงยิ่งจากที่ในหลวงทรงมีพระมหากรุณาธิคุณ โปรดเกล้าฯ พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้น “จตุตถจุลจอมเกล้า” มีสิทธิได้รับคำเรียกขานนำหน้านามว่า “คุณหญิง” อย่างเต็มภาคภูมิ
ในปัจจุบัน โรงเรียนราชประชานุเคราะห์มีการจัดตั้งขึ้น และกระจายอยู่ทั่วประเทศจำนวน 58 แห่ง ทั่วประเทศ และโรงเรียนที่มูลนิธิฯ ให้การสนับสนุน 8 แห่ง รวมเป็น 66 แห่ง
จะเห็นได้ว่าภารกิจของ “มูลนิธิราชประชานุเคราะห์” คือพระราชกรณียกิจที่เข้ามาช่วยอุดรูรั่วและส่งเสริมการบริหารงานของรัฐบาล เพื่อบรรเทาความเดือนร้อนแก่ประชาชนที่ตกทุกข์ได้ยาก รวมถึงให้ทุกคนได้มีสิทธิรับการศึกษา และนำความรู้ความสามารถกลับมาพัฒนาประเทศชาติบ้านเมืองนั่นเอง
ที่มา :
[1] พระมหากรุณาดับมหาวาตภัย, เรื่องจริงเหนือนิยาย ของ รศ.ดร.คุณหญิงอารมณ์ ฉนวนจิตร
[2] พระมหากรุณาธิคุณต่อนักเรียนทุนพระราชทาน, 6 ธันวาคม 2559
[3] รศ.ดร.คุณหญิงอารมณ์ ฉนวนจิตร รองประธานกรรมการบริหารมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม กรรมการบริหารมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ อาจารย์บัณฑิตพิเศษ นวัตกรรมหลักสูตรและการจัดการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยรามคำแหง