การสำนึกบุญคุณชาติ ในแนวคิดของ ‘โสเครตีส’ นักปรัชญาผู้ยอมตาย ดีกว่าละเมิดกฎหมาย

ที่ผ่านมาเราจะเห็นว่ามีคนบางกลุ่มชอบออกมาเรียกร้องว่า พวกเขาถูกกฎหมายกดขี่ กดทับ แล้วอ้างว่ากฎหมายนั้นมีปัญหา ไม่ยุติธรรม ต้องยกเลิก หรือไม่ก็ต้องแก้ไข บางคนหนักถึงขนาดละเมิดกฎหมายรัฐ แล้วก็ลงเอยด้วยการโทษว่ารัฐไม่ดี ประเทศชาติไม่ดี ประเทศชาติไม่เคยมีบุญคุณต่อเขา แล้วทำไมพวกเขาต้องทำตามกฎหมายที่พวกเขาคิดเอาเองว่าไม่ยุติธรรมด้วย

ประเด็นนี้ทำให้นึกถึงเรื่องของนักปรัชญากรีกโบราณคือ ‘โสเครตีส’ ซึ่งหลายคนรับรู้กันดีว่า โสเครตีสเป็นคนที่มีทัศนคติในแง่ลบต่อรัฐในทุกๆ ประเด็น เพราะเขามักชอบตั้งคำถามในเรื่องต่างๆ ตั้งแต่เรื่องเล็กน้อยไปจนถึงความชอบธรรมของเทพเจ้าและอำนาจรัฐ

แต่อย่างไรก็ดี ในช่วงวาระสุดท้ายของชีวิต โสเครตีสกลับทำสิ่งที่ตรงกันข้าม นั่นคือ เขาได้เรียกร้องให้ผู้คนต้องสำนึกต่อบุญคุณของรัฐ กล่าวคือทุกคนในสังคมต้องนับถือและเชื่อฟังระเบียบของสังคม ไม่ว่าระเบียบนั้นจะถูกต้องชอบธรรมหรือไม่ในสายตาของตนก็ตาม

สิ่งนี้จึงนำไปสู่คำถามว่า เหตุใดโสเครตีสจึงตัดสินใจทำในสิ่งที่สวนทางกับพฤติกรรมที่เคยทำมาตลอดชีวิต ?

ช่วงวาระสุดท้ายของชีวิต โสเครตีสถูกจำคุกในข้อหาทำให้เด็กหนุ่มเสียคนและหมิ่นต่อพระเจ้าของนคร โดยมีโทษถึงประหารชีวิต ไครโตซึ่งเป็นสหายของโสเครตีสได้วางแผนรวบรวมเงินจากคนที่ศรัทธาในโสเครตีส เพื่อนำมาติดสินบนแก่เจ้าหน้าที่ แลกกับการพาโสเครตีสหนีออกจากคุกแล้วไปตั้งตัวที่นครอื่น

แต่โสเครตีสกลับปฏิเสธแผนการช่วยเหลือนี้ เพราะการแหกคุกถือเป็นการละเมิดกฎหมาย และการละเมิดกฎหมายถือเป็น ‘การกระทำที่ทำลายรัฐ’ ซึ่งเป็นสิ่งที่โสเครตีสรับไม่ได้อย่างที่สุด! ดังนั้น คำตอบของโสเครตีสที่มีต่อความหวังดีของไครโตจึงแจ่มแจ้ง เพราะเขาเห็นว่ารัฐและกฎหมายแห่งรัฐนั้นมี ‘บุญคุณ’ ต่อประชาชน (รวมถึงตัวโสเครตีสเองด้วย) อย่างไม่ต้องสงสัย

หากนำเรื่องนี้มาใช้พิจารณาประเด็นร้อนที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในสังคมบ้านเรา น่าจะมีคำตอบที่ชัดเจนอยู่ในตัวแล้วว่า ปรัชญาและคำตอบของโสเครตีสที่เชื่อมโยงระหว่างความยุติธรรม-กฎหมายแห่งรัฐ-ประชาชนของรัฐ จะมีคำตอบสำหรับประเด็นนี้อย่างไร และถ้ามีใครสักคนออกมาด่ารัฐ ออกมาบอกว่าประเทศชาติไม่มีบุญคุณต่อเขา หรือทำไมเขาต้องทำตามกฎหมายของรัฐที่เขาไม่ชอบหรือเห็นว่าไม่ยุติธรรมด้วย คนที่ออกมาพูดแบบนี้ควรต้องกลับไปพิจารณาตัวเองก่อนว่า ตั้งแต่เกิดจนโตมาถึงทุกวันนี้ พวกเขาเคยให้อะไรกับรัฐมากกว่าสิ่งที่รัฐให้กลับมาบ้าง

คนพวกนี้อาจจะต้องลองศึกษาเหตุผลของโสเครตีสในบทสนทนานี้ดู แล้วตอบตัวเองให้ได้ว่า ‘ประเทศชาติมีบุญคุณหรือไม่?’ และปัญหาหรือความทุกข์ที่เกิดกับตัวเราทุกวันนี้ จริงๆ แล้วเป็นเพราะกฎหมายของรัฐ หรือเป็นเพราะเราเองต่างหากที่ทำตัวไม่เหมาะสมกับสังคมนี้ ?

รับชมเรื่องราว ‘การธำรงรักษารัฐ’ ด้วยการไม่ละเมิดกฎหมาย และการสำนึกในบุญคุณของประเทศในสังคมกรีกโบราณ ได้ในคลิปวิดีโอนี้