กรมพระยาชัยนาทนเรนทร ผู้ถูกใส่ร้ายโดยนักวิชาการเลี้ยงแกะ แม้สิ้นพระชนม์ไปแล้ว

หลายคนคงรู้จักและเคยได้ยินพระนาม สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร ซึ่งเป็นพระบรมวงศานุวงศ์พระองค์หนึ่ง ที่ได้สร้างคุณูปการมากมายให้กับประเทศชาติ ทั้งในด้านการแพทย์และเภสัชศาสตร์ แต่ด้วยความรู้และบารมี ตลอดจนการได้รับความเคารพจากประชาชน เป็นสาเหตุทำให้กรมพระยาชัยนาทนเรนทร ถูกรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม กลั่นแกล้ง ใส่ความและตั้งข้อหาร้ายแรงว่าเป็นกบฏ

ทั้ง ๆ ที่กรมพระยาชัยนาทนเรนทร มิได้มีความทะเยอทะยานแสวงหาอำนาจใด ๆ เลย แต่กลับตกเป็นเหยื่อของฝ่ายการเมืองในขณะนั้นที่เป็นผู้กระหายอำนาจเสียเอง ถูกกลั่นแกล้งกล่าวหา และดำเนินคดีด้วยความผิดที่พระองค์ไม่เคยได้ก่อ

กระทั่งกาลเวลาล่วงเลยมาจนปัจจุบัน แม้พระองค์ท่านสิ้นพระชนม์ไปแล้ว ก็ยังมิวายถูกใส่ร้ายป้ายสีด้วย “ข้อมูลเท็จ” จากนักวิชาการเลี้ยงแกะ ที่อ้างเสรีภาพทางวิชาการ แต่กลับใส่ข้อมูลบิดเบือนลงในผลงาน เพื่อหวังสร้างความเข้าใจผิดให้คนในสังคม นำไปสู่การด้อยค่าและมุ่งทำลายพระเกียรติของสถาบันพระมหากษัตริย์

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร (พระนามเดิม พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์) เป็นพระราชโอรสองค์ที่ 58 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาหม่อมราชวงศ์เนื่อง (ราชสกุลเดิม สนิทวงศ์; พระธิดาในพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์) ประสูติเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2428 หลังประสูติได้ 11 วัน พระมารดาก็ถึงแก่อนิจกรรม พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงอุ้มพระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์ มาพระราชทานสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวีด้วยพระองค์เอง พร้อมกับตรัสว่า “…ให้มาเป็นลูกแม่กลาง…” สมเด็จพระบรมราชเทวีก็ทรงรับพระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์พร้อมทั้งพระเชษฐภคินี คือ พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าเยาวภาพงศ์สนิท ไว้ในอุปการะ โดยทรงเลี้ยงดูพระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์ ซึ่งมีพระชันษาใกล้เคียงกับสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช เหมือนกับพระราชโอรสของพระองค์เอง

พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์ เสด็จไปศึกษาชั้นมัธยม ณ เมืองฮัสเบอรสตัด ประเทศเยอรมนี ใน พ.ศ. 2442 จากนั้นทรงเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยไฮเดลแบร์ก โดยมีพระประสงค์ที่จะศึกษาวิชาแพทย์ แต่ในระยะแรกทรงศึกษาวิชากฎหมาย ตามพระราชประสงค์ของพระบิดา ต่อมาจึงทรงเปลี่ยนไปศึกษาวิชาการศึกษา และยังทรงเข้าศึกษาวิชาที่เกี่ยวกับการแพทย์บางอย่างเป็นการส่วนพระองค์กับศาสตราจารย์ในมหาวิทยาลัยนั้นด้วย

ทรงสำเร็จการศึกษาและเสด็จกลับประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ. 2456 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นพระองค์เจ้าต่างกรมที่ “พระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นชัยนาทนเรนทร” เมื่อปี พ.ศ. 2457 ทรงรับราชการตำแหน่งผู้ช่วยปลัดทูลฉลองกระทรวงศึกษาธิการ และทรงเป็นผู้บัญชาการโรงเรียนราชแพทยาลัยเมื่อปี พ.ศ. 2458 ทรงปรับปรุงหลักสูตรการเรียนให้ได้มาตรฐาน โดยเฉพาะการพยาบาลผดุงครรภ์ ซึ่งในสมัยนั้นยังนิยมใช้การแพทย์แผนโบราณ คลอดบุตรโดยหมอตำแยกันอยู่ ทรงปลูกฝังความนิยมในการเรียนแพทย์และเภสัชศาสตร์ให้เป็นที่แพร่หลาย นอกจากนี้พระองค์ยังเป็นผู้โน้มน้าวสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช ให้ทรงสนพระทัยวิชาการแพทย์อีกด้วย

จากพระนิพนธ์ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร ในสารศิริราช ฉบับพิเศษ พฤษภาคม 2493 ได้บอกเล่าที่มาของการเริ่มต้นวิชาทางเภสัชกรรมสมัยใหม่ในสยาม “แผนกแพทย์ผสมยา” ในโรงเรียนราชแพทยาลัย โดยได้ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2456 ซึ่งถือเป็นวันสถาปนาคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเป็นวันสถาปนาวิชาชีพเภสัชกรรมในประเทศไทยอีกด้วย การดำเนินงานในระยะแรกนี้ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร ทรงจัดหลักสูตรแพทย์ผสมยา จำนวน 2 หลักสูตร ทำการเรียนการสอนตั้งแต่ พ.ศ. 2457 – 2463 นับเป็นรากฐานอันสำคัญยิ่งของการศึกษาวิชา “เภสัชกรรม” ในปัจจุบัน

จุดพลิกผันของกรมพระยาชัยนาทนเรนทร

ในปี พ.ศ. 2481 สมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม พระองค์ทรงถูกกล่าวหาว่ามีส่วนร่วมในเหตุการณ์กบฏพระยาทรงสุรเดช ซึ่งเจ้านายหลายพระองค์ถูกกล่าวหาว่าสมคบคิดกับฝ่ายกบฏ รวมถึงเสด็จในกรมฯ หรือพระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์ กรมขุนชัยนาทนเรนทร

สมเด็จฯ กรมพระยาชัยนาท ทรงถูกจับที่ลำปางขณะประทับอยู่กับหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ในข้อหาร่วมก่อการกบฏ ในการจับกุมครั้งนั้น คุณชายคึกฤทธิ์ได้บันทึกไว้ว่า

“ตั้งแต่เวลาที่นายตำรวจเข้าไปจับหรือเชิญเสด็จ ตลอดจนถึงเวลาที่เสด็จขึ้นรถด่วนไป ในห้องมีเจ้าพนักงานตำรวจยืนคุมหัวรถท้ายรถ เสด็จในกรม (กรมขุนชัยนาทนเรนทร) มิได้มีอาการผิดปรกติหรือสะทกสะท้านแม้แต่น้อย คำว่า “ขัตติยมานะ” นั้น ผู้เขียนเคยได้ยินคนพูดกันมาบ่อยครั้ง แต่ตีความหมายกันไปมากมาย แต่ผู้เขียนได้เห็น “ขัตติยมานะ” ของจริงก็ในครั้งนั้นครั้งเดียว”

พระองค์ทรงถูกนำไปคุมขังที่สถานีตำรวจพระราชวัง และส่งตัวไปยังเรือนจำคลองเปรม ต่อมาจึงย้ายพระองค์ไปจำคุกที่เรือนจำบางขวาง และทรงถูกถอดถอนพระอิสริยยศลงเป็น “นักโทษชายรังสิตประยูรศักดิ์ รังสิต ณ อยุธยา”

แม้ข้อเท็จจริงต่อมาจะปรากฏว่า พระองค์มิได้ทรงเกี่ยวข้องกับกิจการบ้านเมือง แต่ก็ไม่ทำให้ความระแวงแคลงใจของรัฐบาลหมดไป อันเนื่องมาจากการที่พระองค์ทรงเป็นที่เคารพรักของคนทั่วไปอย่างกว้างขวาง ทำให้รัฐบาลเกิดความระแวงไปว่าจะทรงเป็นอันตรายกับความมั่นคงของรัฐ

วิธีหนึ่งที่รัฐบาลสมัยนั้นใช้กำจัดผู้ที่คิดว่าจะเป็นอันตรายกับตนและพวกพ้อง คือการจับกุมคุมขังในข้อหากบฏล้มล้างรัฐบาล มีผู้คนจำนวนมากที่ถูกตั้งข้อหาดังกล่าว ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นผู้ที่กว้างขวางและได้รับความเคารพนับถือจากผู้คนทั่วไป รวมถึงผู้ที่มีความรู้สูง หรือมีผลงานอันเป็นประโยชน์ต่อราชการและสังคม บุคคลเหล่านี้ต่างมีบารมี สามารถที่จะชักจูงหรือชักชวนผู้คนให้เห็นถึงความบกพร่องของรัฐบาลในแง่มุมต่าง ๆ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะนำไปสู่การต่อต้านหรือล้มล้างรัฐบาลในที่สุด

เหตุผลต่าง ๆ ดังกล่าวนี้ ทำให้กรมพระยาชัยนาทฯ ถูกตั้งข้อหาคิดกบฏล้มล้างรัฐบาล มีการตั้งศาลพิเศษขึ้นเพื่อตัดสินคดีกบฏโดยเฉพาะ ศาลนี้ไม่มีทนายคอยช่วยเหลือแก้ต่างให้ จำเลยทุกคนต้องดำเนินกระบวนการพิจารณาคดีด้วยตนเอง รวมทั้งการซักค้านพยานโจทก์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพยานที่จำเลยไม่เคยเห็นและไม่เคยรู้จักมาก่อน อีกทั้งไม่เปิดโอกาสให้จำเลยได้พิสูจน์ความจริงใด ๆ ทั้งสิ้น แม้พยานโจทก์จะให้การเท็จอย่างไร หรือจำเลยพยายามจะพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนเพียงใด ศาลพิเศษซึ่งตั้งขึ้นโดยรัฐบาลก็จะไม่ฟัง

และในที่สุด ศาลพิเศษได้ตัดสินประหารชีวิตกรมพระยาชัยนาทฯ แต่ลดให้ 1 ใน 3 คงให้จำคุกไว้ตลอดชีวิต และถูกถอดถอนจากฐานันดรลงมาเป็นนักโทษชายรังสิต โดยครั้งหนึ่งหม่อมราชวงศ์นิมิตรมงคล นวรัตน์ ได้บันทึกไว้ เมื่อคราวที่ท่านถูกคุมขังที่สถานีตำรวจพระราชวัง ความว่า…

“ห้องขังนั้นกว้างยาวเพียง 2 วา ที่มุมห้องมีถังอุจจาระซึ่งไม่ได้ทำความสะอาดมาหลายวันแล้ว ผนังห้องเต็มไปด้วยเสมหะและน้ำลาย ที่พื้นเต็มไปด้วยฝุ่นละออง และในซอกกระดานเต็มไปด้วยเรือด ห้องเล็กซึ่งอับอากาศร้อนอบอ้าวเหม็นสกปรกนี้แหละ จะต้องเป็นที่อยู่ที่กินและที่นอนของข้าพเจ้าต่อไปอีก 3 เดือน แต่ถ้ากรมขุนชัยนาทนเรนทรทรงอดทนสิ่งเหล่านี้ได้ คนอย่างเราก็ไม่ควรบ่นเลย ข้าพเจ้าคิด… นี่เมืองไทยมาถึงยุคทมิฬจริงแล้วหรือ”

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร ทรงถูกกลั่นแกล้งใส่ความด้วยข้อหาที่ร้ายแรง และต้องทรงรับโทษที่พระองค์ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องเลยแม้แต่น้อย จากผู้มีอำนาจในบ้านเมืองขณะนั้น ช่างเป็นเรื่องที่สุดแสนจะอัปยศอีกเรื่องหนึ่งในประวัติศาสตร์ชาติไทย พระองค์ทรงเคยปรารภไว้หลายครั้งเมื่อขณะถูกจองจำในเรือนจำบางขวาง ความว่า…

“ถ้าฉันเป็นคนเหิมเห่อ ต้องการอำนาจ ธุระอะไรเล่าฉันจะไปเชิญพระปกเกล้าฯ มาเป็นกษัตริย์อีก คิดกบฏต่อหลานของฉัน ซึ่งฉันได้เลี้ยงดูมา เพื่อเอาไปคืนพระปกเกล้าฯ ซึ่งทรงเบื่อหน่ายเพราะรักษาไม่ได้จนต้องสละ เช่นนี้น่ะเห็นเหมาะงามได้อย่างไร…ทำไมหนอรัฐบาลหลายรัฐบาลมาแล้วจึงไม่ยอมที่จะเข้าใจว่า ฉันไม่มีความทะเยอทะยานในเรื่องอำนาจวาสนา…ฉันต้องการอยู่ลำพังอย่างคนสามัญทั้งหลาย”

ต่อมาในปี พ.ศ. 2487 ตรงกับสมัยรัฐบาลนายควง อภัยวงศ์ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร จึงทรงได้รับการคืนพระอิสริยยศและทรงพ้นจากข้อกล่าวหาทั้งปวง

นี่คือประวัติของบุคคลที่ได้สร้างคุณประโยชน์ให้กับชาติบ้านเมือง เป็นผู้ที่ไม่มีความทะเยอทะยานในอำนาจ หวังเพียงแต่ใช้วิชาความรู้ทำงานที่ตนเองรัก จนได้รับการยอมรับนับถือ มีลูกศิษย์ลูกหามากมาย แต่การได้รับความรักความนิยมชมชอบนั้น กลับเป็นสิ่งที่นำภัยร้ายมาถึงตัว

ซึ่งกรมพระยาชัยนาทนเรนทรนี้เอง เป็นบุคคลที่ถูกอ้างถึงและถูกกล่าวหาด้วย “ข้อมูลเท็จ” ในวิทยานิพนธ์เรื่อง “การเมืองไทยสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามภายใต้ระเบียบโลกของสหรัฐอเมริกา (พ.ศ. 2491-2500)” ของณัฐพล ใจจริง ที่สำเร็จการศึกษาในปี พ.ศ. 2552 และเป็นวิทยานิพนธ์ที่ได้รับการประเมินผลในระดับดีมาก โดยในหน้า 63 เขียนว่า “แต่การรัฐประหารครั้งนี้ (พ.ศ. 2490) ไม่อาจสำเร็จได้ หากปราศจากสถาบันกษัตริย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบทบาทของกรมขุนชัยนาทนเรนทร ผู้สำเร็จราชการฯ และทรงมีบทบาทในการรับรองการรัฐประหารอย่างแข็งขัน” โดยมีการอ้างว่า ได้ข้อมูลมาจากหน้า 210 ในหนังสือของ Edwin Stanton ชื่อ Brief Authority: Excursion of a Common Man in an Common World ที่ตีพิมพ์ปี พ.ศ. 2500

ซึ่งทั้งหมดนี้ ล้วนเป็น “ข้อมูลเท็จ” ทั้งสิ้น

สมัยดำรงพระชนม์ชีพ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร ถูกใส่ความกล่าวหา ถูกจองจำอยู่ในคุกตะรางกับความผิดที่พระองค์ไม่เคยก่อ และแม้ท่านจะสิ้นพระชนม์ไปแล้ว ก็ยังมิวายถูกใส่ร้ายโดยนักวิชาการเลี้ยงแกะ ผู้อ้างตัวว่าเป็นขวัญใจคนรุ่นใหม่ อย่างไร้จรรยาบรรณของนักวิชาการ พฤติกรรมดังกล่าวล้วนขาดความรับผิดชอบและเป็นสิ่งที่น่าละอายเป็นที่สุด

ที่มา :

[1] ไชยันต์ ไชยพร, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร กับ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
[2] 8 ธันวาคม 2563 : 107 ปีคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
[3] ดุเดือด! ดีเบตไชยันต์ vs ณัฐพล ประเด็นบทบาทกรมพระยาชัยนาทนเรนทร ใน รปห. 2490
[4] กรมพระยาชัยนาทฯ ฝันถึง “ทูนหม่อมพ่อ” ก่อนทรงพ้นโทษจากเรือนจำช่วงเปลี่ยนแปลงการปกครอง

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า