กบฏภาคเหนือ EP.1 : สยามเข้าปกครองเชียงใหม่เพื่อคลี่คลายปัญหาภายใน ไม่ใช่การรวบอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางของ รัชกาลที่ 5

นับตั้งแต่ พ.ศ. 2369 เป็นต้นมา ภายหลังสงครามอังกฤษ-พม่า ครั้งที่ 1 อังกฤษเริ่มเข้ามาทำอุตสาหกรรมป่าไม้สักในพม่ามากขึ้น และขยายเข้ามาถึงเชียงใหม่ ในระยะแรกการทำสัมปทานในเชียงใหม่ยังไม่มีปัญหาอะไร แต่เมื่ออังกฤษเข้ายึดครองดินแดนพม่ามากขึ้น ทำให้ชาวพม่าตกอยู่ในบังคับของอังกฤษ อีกทั้งกรรมสิทธิ์ในผืนป่าแต่ละแห่ง เริ่มตกทอดจากเจ้าหลวงเชียงใหม่มาสู่เจ้านายชั้นสูง นานวันเข้าก็ขาดความชัดเจน จนส่งผลให้เกิดการออกสัมปทานซ้ำซ้อนบ้าง เขตสัมปทานซ้อนทับกันบ้าง รวมทั้งมีการใช้อำนาจบังคับไม่ให้ผู้เช่าชักลากไม้ที่ฟันแล้วออกไป

นานวันเข้าปัญหาจึงเริ่มสะสม จนในปี พ.ศ. 2414 ข้าหลวงใหญ่อังกฤษ ประจำอินเดีย ได้ทำหนังสือร้องเรียนต่อเสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศของสยาม ให้เข้ามาสะสางข้อพิพาทระหว่างคนในบังคับอังกฤษกับเมืองเชียงใหม่ ในหลวง ร.5 จึงโปรดเกล้าฯ ให้ พระยาจ่าแสนยบดี เจ้ากรมมหาดไทยฝ่ายพลัมภัง กับพระยาสุริยภักดี เป็นข้าหลวงขึ้นไปชำระคดีความระหว่างพวกพม่าตองซู่กับเจ้านายเชียงใหม่ ปรากฎว่าเป็นคดีความ 42 เรื่อง ยกฟ้องเสีย 31 คดี และตัดสินให้จำเลยซึ่งเป็นฝ่ายเจ้านายเมืองเชียงใหม่แพ้ 11 คดี ต้องรับผิดชดใช้สินไหมเป็นเงิน 466,015 รูปี โดยในหลวง ร.5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้ากรุงเชียงใหม่ยืมพระราชทรัพย์จากกรมพระคลังข้างที่เป็นจำนวน 310,000 บาท ไปจ่ายค่าปรับก่อน

จากเหตุการณ์ครั้งนั้น ทำให้รัฐบาลอังกฤษ ซึ่งเพิ่งชนะสงครามอังกฤษ-พม่า ครั้งที่ 2 มาได้หมาดๆ และกำลังพะวงอยู่กับการปราบปรามกลุ่มต่อต้านชาวพม่าอยู่ ได้พยายามเปิดการเจรจากับสยาม เพื่อควบคุมผลประโยชน์ของอังกฤษในเชียงใหม่ ไม่ให้กลายเป็นแนวปะทะใหม่ขึ้นมา จึงใช้การเมืองระหว่างประเทศ บีบให้สยามเข้ามาใช้อำนาจปกครองเชียงใหม่ให้เด็ดขาด จนนำไปสู่การลงนาม สนธิสัญญาเชียงใหม่ พ.ศ. 2416 (Treaty of Chiangmai 1873) ทำให้สยามต้องขึ้นไปตั้งศาลต่างประเทศที่เชียงใหม่ และส่งข้าหลวงไปประจำเป็นครั้งแรก ด้วยการแต่งตั้งพระนรินทรราชเสนี (พุ่ม ศรีไชยันต์) เป็นข้าหลวงสามหัวเมือง ประจำเชียงใหม่ มีหน้าที่สนับสนุนเจ้าหลวงเชียงใหม่ เฉพาะเรื่องกิจการป่าไม้และการศาล ให้สอดคล้องกับสนธิสัญญาเชียงใหม่ โดยไม่ได้เข้าไปแทรกแซงการบริหารงานภายในแต่อย่างใด

นอกจากปัญหากิจการป่าไม้แล้ว เมืองเชียงใหม่ยังมีปัญหาเกี่ยวกับพรมแดนมาตั้งแต่ยุคพระเจ้ากาวิละ เขตแดนของเชียงใหม่ฝั่งตะวันตกอยู่ติดกับเมืองยางแดง มีแม่น้ำสาละวินคั่นกลาง พระเจ้ากาวิละได้ทำสัญญาด้วยวาจากับเจ้าเมืองยางแดง ถือเอาแม่น้ำสาละวินเป็นเขตแดน ให้ดินแดนฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเป็นของเมืองยางแดง ส่วนดินแดนฝั่งตะวันออกห้าหัวเมือง อันประกอบไปด้วย เมืองหาง เมืองสาด เมืองต่วน เมืองทา และเมืองจวาด เป็นดินแดนของเชียงใหม่ แต่ต่อมาเมืองเชียงใหม่ไม่ได้มีการส่งคนไปกำกับ ทำให้หัวเมืองทั้งห้าเกิดความวุ่นวาย บางครั้งก็ถูกเมืองจากฝั่งตะวันตกของแม่น้ำสาละวินยกทัพมาตีอีกด้วย แม้แต่ชายแดนทางเหนือบางครั้งก็ถูกเมืองเชียงตุงซึ่งอยู่ในบังคับของพม่ายกทัพลงมาตี

หลังจากแพ้สงครามครั้งที่ 2 ให้กับอังกฤษ ดินแดนของพม่าเริ่มเข้ามาอยู่ใต้ความปกครองของอังกฤษเพิ่มขึ้น และดินแดนเหล่านั้น เคยยกทัพข้ามมาตีและมีอิทธิพลเหนือหัวเมืองที่อยู่ใต้การปกครองของเชียงใหม่ ทำให้เกิดปัญหาการอ้างสิทธิเหนือดินแดนระหว่างอังกฤษกับสยามขึ้นมา ประกอบกับเมืองขึ้นของพม่า เช่น เมืองเชียงตุง เห็นว่าพม่ากำลังอ่อนแอ ก็เริ่มสะสมอำนาจ เตรียมประกาศเอกราช และนำกำลังเข้าตีเมืองที่อ่อนแอรอบข้าง ซึ่งรวมถึงหัวเมืองชายแดนที่อยู่ภายใต้การปกครองของเชียงใหม่ด้วย

จากเหตุการณ์ภายในของพม่าที่กำลังตึงเครียด และกำลังปะทุกลายเป็นสงครามอังกฤษ-พม่า ครั้งที่ 3 ประกอบกับปัญหาการบริหารจัดการที่ไร้ประสิทธิภาพของเชียงใหม่ที่สะสมมานาน ส่งผลให้เกิดสนธิสัญญาระหว่างไทยกับอังกฤษ พ.ศ. 2426 ขึ้นมา และทำให้รัฐบาลสยามต้องแต่งตั้งให้ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นพิชิตปรีชากร ขึ้นมาเป็น “ข้าหลวงพิเศษจัดระเบียบปกครองสามหัวเมือง” และยกฐานะของพระยามนตรีสุริยวงษ์ (ชื่น บุนนาค) จากข้าหลวงสามหัวเมือง (นครเชียงใหม่ นครลำปาง นครลำพูน) เป็น “ข้าหลวงห้าหัวเมือง” (นครเชียงใหม่ นครลำปาง นครลำพูน นครเมืองน่าน เมืองแพร่)

สภาพการปกครองของเมืองเชียงใหม่ก่อนหน้านี้ ค่อนข้างมีความซ้อนทับและไม่ชัดเจน ทำให้การบริหารราชการไม่มีประสิทธิภาพ เกิดความไม่สงบเรียบร้อยทั้งชายแดน และในนครเชียงใหม่เอง การเมืองภายในมีการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายชิงอำนาจกันระหว่างชนชั้นนำ

พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นพิชิตปรีชากร ได้เข้ามาแก้ไขปัญหาชายแดนด้วยการประกาศให้หมู่เจ้าฟ้าเงี้ยว เจ้าเมืองตามชายแดน ทราบถึงแนวเขตของสยาม และส่งหนังสือไปยังเมืองต่างๆ ที่เคยถูกคุกคามจากเมืองที่ตั้งตนเป็นอิสระจากพม่า ให้กลับเข้ามาอยู่ในความปกครองของสยาม พร้อมทั้งตั้งเจ้าหน่อน้อยเมืองเป็นแม่ทัพ คุมกำลังคนไปรักษาดินแดนในหมู่น้ำแม่ต่วน น้ำแม่หาง เมืองจวด น้ำแม่ทา น้ำแม่สกุล โดยรวมพื้นที่ทั้งหมดนั้นขึ้นเป็นเมืองเวียงไชยปรีชา และให้เจ้าราชวงษ์คุมทหาร 5,000 คน ออกไปตั้งอยู่เมืองงาย เพื่อคุมสถาการณ์

นอกจากการวางแนวป้องกันตามชายแดนแล้ว พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นพิชิตปรีชากร ยังเข้ามาปฏิรูปการปกครองในนครเชียงใหม่ ให้เป็นระเบียบเรียบร้อย สอดคล้องกับสนธิสัญญาที่รัฐบาลสยามทำไว้กับอังกฤษ ด้วยการเปลี่ยนแปลงระบบการปกครอง จากระบบเจ้าขัน 5 ใบ และเสนาบดี 32 ตำแหน่ง ไปเป็นการปกครองแบบเค้าสนามหลวง โดยมีเจ้าหน้าที่ 6 ตำแหน่ง คือ กรมมหาดไทย กรมทหาร กรมคลัง กรมยุติธรรม กรมวัง และกรมนา โดยยังให้เจ้านายฝั่งเชียงใหม่ดำรงตำแหน่งที่สำคัญ แล้วแต่งตั้งข้าราชการที่ชำนาญงานด้านต่างๆ จากกรุงเทพฯ มาเป็นผู้ช่วย

ผลการปฏิรูปราชการและมาตราการเกี่ยวกับการดูแลรักษาความสงบ ทำให้การบริหารจัดการของเชียงใหม่เป็นระบบ โดยในตอนแรก พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นพิชิตปรีชากร ทรงตั้งใจนำมาตรการมาใช้เฉพาะภายในตัวเมืองเชียงใหม่เท่านั้น แต่ด้วยความที่มาตราการให้ผลดีมาก ทำให้มีการออกข้อบังคับตามแนวทางดังกล่าว และประกาศใช้ทุกท้องที่ในนครเชียงใหม่

นอกจากนี้ยังได้มีการแก้ปัญหาสัมปทานซ้ำซ้อน หรือเขตสัมปทานซ้อนทับกัน ด้วยการทำบัญชีป่าไม้ โดยมีแผนที่ประกอบ และมีการกำหนดขอบเขตที่แน่นอน

ในด้านเศรษฐกิจ มีการเปลี่ยนแปลงระบบภาษี ช่วยลดการจัดเก็บภาษีซ้ำซ้อน ตลอดจนเปลี่ยนวิธีการจัดเก็บจากเดิมที่ให้เจ้านายบุตรหลานเป็นผู้ดูแล มาเป็นให้เจ้าพนักงานควบคุมการจัดเก็บแทน ทำให้ช่วยลดการรั่วไหลของการจัดเก็บภาษีได้มาก

การจัดเก็บภาษีรูปแบบใหม่ทำให้เมืองเชียงใหม่มีรายได้เพิ่มขึ้นถึงเท่าตัว แต่ก็ทำให้กลุ่มเจ้านายบุตรหลานสูญเสียผลประโยชน์ไปมาก แม้ว่าเงินเดือนที่พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นพิชิตปรีชากร เสนอให้พวกเขาจะเป็นจำนวนเงินที่สูง แต่ก็เทียบไม่ได้กับรายได้จากภาษี ทำให้กลุ่มเจ้านายบุตรหลานเกิดความไม่พอใจ และอยากจะเข้ามาจัดเก็บภาษีเองตามเดิม

แต่ด้วยความเคารพยำเกรงต่อพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นพิชิตปรีชากร ซึ่งเป็นเจ้านายชั้นสูง และทรงเป็นถึงพระอนุชาของในหลวง ร.5 แม้ในหลายๆ เรื่อง เจ้านายบุตรหลานจะไม่เห็นด้วย แต่ก็ไม่มีการโต้แย้งอย่างรุนแรง และยังคงให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี แต่เพราะพระองค์ทรงเป็นข้าหลวงพิเศษ ประทับว่าราชการอยู่เชียงใหม่เพียงปีเดียวก็เสด็จกลับกรุงเทพฯ เหลือแต่ข้าหลวงและข้าราชการอื่นๆ ในตำแหน่งผู้ช่วย ซึ่งไม่มีบารมีมากพอ จึงทำให้บรรดาเจ้านายเชียงใหม่กล้าที่จะโต้แย้งมากขึ้น จนนานวันเข้าระเบียบต่างๆ ก็พลอยหย่อนยาน ไม่เอาใจใส่ในราชการเหมือนเก่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาเกี่ยวกับการจัดเก็บภาษี ที่ทำให้ชนชั้นนำเดิมเสียผลประโยชน์

จากปัญหาการเมืองในหมู่ชนชั้นปกครองของเชียงใหม่ ซึ่งยังคงแก่งแย่งชิงดีชิงเด่นกันนี้เอง ที่ทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงและลุกลามนำไปสู่เหตุการณ์กบฏใหญ่ในเวลาต่อมา

จะเห็นว่าการที่สยามส่งคนจากกรุงเทพฯ เข้าไปปกครองเมืองเชียงใหม่นั้น เกิดจากปัจจัยหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นข้อตกลงที่ทำไว้กับอังกฤษ และปัจจัยสำคัญคือสภาพการปกครองของเมืองเชียงใหม่ที่ไม่ชัดเจน ทำให้การบริหารราชการไม่มีประสิทธิภาพ เกิดความไม่สงบเรียบร้อย และส่งผลโดยตรงกับสยาม ประกอบกับการเมืองภายในที่มีแต่การชิงอำนาจกันระหว่างชนชั้นนำ ซึ่งทั้งหมดนี้ไม่ใช่การรวบอำนาจเบ็ดเสร็จของในหลวง ร.5 และด้วยความสามารถของพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นพิชิตปรีชากร ทำให้ปัญหาของเมืองเชียงใหม่คลี่คลาย ทั้งเรื่องพรมแดนและปัญหาเศรษฐกิจ ตลอดจนมีการปกครองที่เป็นระบบมากขึ้น และบรรดาเจ้านายของเชียงใหม่ก็ยังคงมีตำแหน่งหน้าที่ในการบริหารราชการอยู่เช่นเดิม

[กบฏภาคเหนือ EP.2 : เปิดเบื้องหลังกบฏภาคเหนือยุคปฏิรูปประเทศ ผลพวงการกดขี่ของรัฐ หรือปัญหาภายในหัวเมืองประเทศราชเอง]

อ้างอิง :

[1] พร้อมพงษ์ ณ เชียงใหม่. การปฏิรูปการปกครองหัวเมืองลาวเฉียงในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเหล้าเจ้าอยู่หัว ก่อนสมัยเป็นมณฑลเทศาภิบาล(พ.ศ.2427-2436), ปริญญานิพนธ์การศึกษามหาบัณฑิต วิทยาลัยวิชาการศึกษา, 2518

[2] วีระเทพ ศรีมงคล. การจัดเก็บภาษีอากรในล้านนา พ.ศ.2427-2445, วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2530

[3] นคร พันธุ์ณรง. การเจรจาข้อตกลงระหว่างรัฐบาลสยามกับรัฐบาลอังกฤษเกี่ยวกับหัวเมืองชายแดนล้านนาไทยและพม่า สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเหล้าเจ้าอยู่หัว ระยะ พ.ศ.2428-2438, ปริญญานิพนธ์การศึกษามหาบัณฑิต วิทยาลัยวิชาการศึกษา, 2516

[4] สรัสวดี ประยูรเสถียร. การปฏิรูปการปกครองมณฑลพายัพ (พ.ศ.2436-2476), ปริญญานิพนธ์การศึกษามหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, 2523

[5] เตช บุนนาค. ขบถ ร.ศ.121, กรุงเทพฯ : มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษย์ศาสตร์, 2551

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็