กบฏภาคเหนือ EP.2 : เปิดเบื้องหลังกบฏภาคเหนือยุคปฏิรูปประเทศ ผลพวงการกดขี่ของรัฐ หรือปัญหาภายในหัวเมืองประเทศราชเอง

[กบฏภาคเหนือ EP.1 : สยามเข้าปกครองเชียงใหม่เพื่อคลี่คลายปัญหาภายใน ไม่ใช่การรวบอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางของ รัชกาลที่ 5]

สภาพบ้านเมืองของเชียงใหม่ ตั้งแต่ก่อนพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นพิชิตปรีชากร จะขึ้นมาจัดระเบียบการปกครอง ก็มีปัญหาการเมืองภายในสะสมมายาวนานอยู่แล้ว แม้ว่าผลของการจัดระเบียบจะช่วยให้เชียงใหม่มีการบริหารราชการที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่กระนั้นกลุ่มก้อนการเมืองในหมู่ชนชั้นปกครอง ก็คงยังแก่งแย่งชิงดีชิงเด่นกัน และการเปลี่ยนคนกลุ่มใหม่ขึ้นมาทำหน้าที่จัดเก็บภาษี ก็ได้สร้างปัญหาขึ้น เพราะเจ้าหน้าที่ในท้องถิ่นต่างใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ จนสถานการณ์บานปลายกลายเป็นเหตุการณ์ กบฏพระยาปราบสงคราม

กบฏพญาผาบ หรือพระยาปราบสงคราม มีต้นเหตุมาจากการเก็บภาษีต้นหมาก มะพร้าว และพลู ในเชียงใหม่นั้น แต่เดิม หนานทา ได้เป็นผู้ประมูลภาษีโดยขอผูกเงินหลวงเป็นเงิน 2,500 รูปี แต่ต่อมาในปี พ.ศ. 2432 ได้มีการเปิดประมูลใหม่ และ น้อยวงษ์ เป็นผู้ชนะประมูล โดยผูกเงินหลวงเป็นเงิน 4,000 รูปี หรือสูงกว่าเดิมถึง 60% ดังนั้นการเก็บภาษีจึงมีความเข้มงวดขึ้นมาก

พระยาปราบสงคราม เป็นนายแคว้นในแขวงจ๊อม ปกครองในเขต 3 ตำบล ราษฎรในเขตปกครองของพระยาปราบได้รับความเดือดร้อนจากการเก็บภาษีของเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น ถูกกดขี่ข่มเหง มัดมือมัดเท้าจำคุก หรือยิงปืนขู่หากไม่ยอมเสียภาษีให้ครบ อีกทั้งมีการเรียกภาษีเกินอัตรา การเก็บซ้ำซ้อน หรือการไม่ออกใบเสร็จให้ ทำให้พระยาปราบพร้อมด้วยลูกบ้านแขวงแม่คือ หนองกอก ได้ทำการร้องเรียนพฤติกรรมฉ้อฉลของเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น

แม้พระยาปราบจะเข้าร้องเรียนต่อเจ้าหลวงเชียงใหม่ แต่ก็ยังไม่มีอะไรคืบหน้า เมื่อเห็นว่าการร้องเรียนไม่ได้ผล พระยาปราบจึงหันมาใช้กำลังระดมชาวบ้านในสังกัดเข้าต่อสู้เจ้าภาษี และช่วยราษฎรที่ถูกคุมขัง ซึ่งทำให้บรรดาเจ้าภาษีเอามาเป็นข้ออ้าง เรียกร้องให้เมืองเชียงใหม่นำกำลังทหารเข้ามาปราบปราม แม้จะมีหลักฐานว่าพระยาปราบใช้กำลังคนและอาวุธเข้าต่อสู้กับเจ้าภาษี แต่ก็ไม่มีเจตนาจะก่อกบฏ ครั้นต่อมาชาวบ้านแขวงแม่คือถูกพวกเจ้าภาษีทำร้ายหนักขึ้น ทำให้พระยาปราบตัดสินใจตั้งกองกำลังต่อสู้กับเจ้าหน้าที่บ้านเมืองขึ้นมาจริงๆ

การที่พระยาปราบและชาวบ้านลุกขึ้นต่อสู้กับเจ้าหน้าที่รัฐ สาเหตุก็มาจากการประพฤติมิชอบของเจ้าภาษี ซึ่งร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นใช้อำนาจหน้าที่แสวงหาผลประโยชน์ ความเดือดร้อนของชาวบ้านในครั้งนี้ ทำให้เจ้านายที่สูญเสียผลประโยชน์จากการจัดเก็บภาษีแบบใหม่ มองเห็นช่องทาง จึงถือโอกาสเก็บพระยาปราบไว้ เพื่อเป็นข้ออ้างในการล้มล้างระบบภาษีแบบใหม่ และให้พวกเขากลับไปมีอำนาจในการจัดเก็บภาษีตามเดิม ดังนั้นการปราบปรามพระยาปราบแม้จะมีความรุนแรง แต่ก็ไม่ได้ทำแบบเด็ดขาดจริง สิ่งนี้ยิ่งทำให้พระยาปราบมีความโกรธแค้นเมืองเชียงใหม่และข้าราชการชาวใต้อย่างมาก

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเจ้าพระยาพลเทพ ออกหนังสือประกาศถึงพระยาปราบสงครามว่า ถ้าได้รับความเดือดร้อนอย่างไรก็ให้มาร้องเรียน การกะเกณฑ์คนตั้งเป็นกองทัพเช่นนี้มีความผิดอาญา ให้มามอบตัวเสียดีกว่า แล้วจะตัดสินให้ด้วยความยุติธรรม แต่ผลของประกาศนี้ทำให้พระยาปราบเข้าใจว่าตนเองถูกตัดสินให้มีความผิดไปแล้ว การมอบตัวคงจะได้รับโทษฐานกบฏ และในเมื่อเคยทำหนังสือร้องเรียนไปแล้ว แต่ไม่ได้รับการตอบรับ ดังนั้นพระยาปราบจึงไม่สนคำประกาศ พร้อมทั้งนำกองกำลังเข้ายึดเมืองฝาง

ส่วนหนึ่งที่พระยาปราบสงครามกล้าคิดการกบฏขึ้นมาจริงๆ เพราะได้รับการสนับสนุนจากเมืองเชียงตุง เมื่อเชียงตุงรู้ว่าพม่ากำลังจะแพ้สงครามให้กับอังกฤษ ก็ได้สะสมกำลังและเข้าตีเมืองรอบข้างมาไว้ภายใต้การปกครอง รวมถึงรุกล้ำเข้ามาในเขตแดนเชียงใหม่ ทำให้เชียงตุงระแวงว่าจะถูกสยามเพ่งเล็งว่าเป็นภัยคุกคาม ดังนั้นเชียงตุงจึงได้ให้การสนับสนุนพระยาปราบ เพื่อเบี่ยงเบนความสนใจให้สยามพะวงอยู่กับการปราบปราม และไม่มีเวลามาสนใจเชียงตุง

ในการปราบปรามพระยาปราบ แม้เชียงใหม่จะมีกำลังทหารสูงกว่า แต่พระยาปราบก็สามารถหลบหนีไปได้ทุกครั้ง แสดงให้เห็นว่าเชียงใหม่ไม่ได้มีความคิดที่จะปราบพระยาปราบอย่างจริงจัง การปราบแบบทีเล่นทีจริงนี้เหมือนเป็นการสนับสนุนพระยาปราบทางอ้อม เพราะยิ่งพระยาปราบกลายเป็นปัญหามากเท่าไหร่ ก็ยิ่งเป็นข้ออ้างให้เจ้านายชั้นสูงของเชียงใหม่ที่เสียผลประโยชน์ ยกมาล้มเลิกวิธีการจัดเก็บภาษีใหม่ เพื่อที่พวกตนจะได้กลับเข้าไปมีอำนาจเหมือนเดิม

สุดท้ายแม้จะสามารถยึดเมืองฝางคืนมาได้ แต่ก็ไม่สามารถจับตัวพระยาปราบที่หลบหนีไปเชียงตุงได้ และถึงแม้พระยาปราบจะรวมกำลังคนขึ้นมาใหม่ แต่ก็ไม่มีกำลังมากพอที่จะสู้กับเชียงใหม่ได้ ในที่สุดพระยาปราบสงครามก็เลิกราไปเอง

ภายหลังกบฏพระยาปราบสงคราม ในปี พ.ศ. 2432 ได้มีการเริ่มใช้ระบบมณฑลเทศาภิบาลเข้ามาปกครองหัวเมืองทุกเมืองในพระราชอาณาจักร และไม่เกิดการต่อต้านอย่างรุนแรงอีกเลย จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2444 ได้เกิดเหตุการณ์ กบฏผีบุญทางภาคอีสาน และกบฏเงี้ยวเมืองแพร่ขึ้นมา

เงี้ยว เป็นชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ทางภาคเหนือในฝั่งพม่า ยึดอาชีพค้าขายระหว่างเมือง ดังนั้นจึงเป็นกลุ่มคนในบังคับของอังกฤษ แต่จะเข้ามาค้าขายหรือบางทีก็เข้ามาตั้งถิ่นฐานเป็นกลุ่มๆ ในสยาม เงี้ยวจึงมักไม่ค่อยถูกนับเป็นพลเมือง การสัญจรของชาวเงี้ยวจึงต้องมีหนังสือผ่านแดน และชาวเงี้ยวมักได้รับความลำบากในการติดต่อราชการ จากระเบียบที่มีความยุ่งยากและไม่เป็นธรรม ทำให้ชาวเงี้ยวจำนวนมากไม่ค่อยพอใจรัฐบาลสยาม

เหตุการณ์กบฏเงี้ยวเมืองแพร่เริ่มมาจาก กองกำลังเงี้ยว 40 กว่าคน เข้าโจมตีเค้าสนามหลวงและกองตำรวจภูธรเมืองแพร่ ที่มีกองกำลังเพียงสิบกว่านาย ในวันที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2445 แต่ก่อนที่กองกำลังเงี้ยวจะเข้าโจมตีเมืองแพร่ ได้มีเหตุการณ์ก่อนหน้านี้คือ ราษฎรในแขวงเมืองลำปางได้รับความเดือดร้อนจากชุมโจรเงี้ยว ที่ยึดเอาเหมือร้างเก่าเป็นรังโจร ออกสร้างความเดือนร้อนให้กับประชาชน โดยเฉพาะแขวงบ่อแก้ว เมืองลอง ในลำปาง ดังนั้นพระมนตรีพจนกิจ ข้าหลวงเมืองลำปาง จึงส่งกองกำลังไปปราบเงี้ยวในวันที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ.2445 ในแขวงบ่อแก้วแต่ไม่สำเร็จ จนต้องถอยทัพกลับเมืองลอง พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงดำรงราชานุภาพ เสนาบดีมหาดไทย จึงส่งโทรเลขสั่งให้มณฑลพิษณุโลกและเมืองตาก เตรียมกำลังพลเสริมทัพยกขึ้นมาช่วย และพระยานริศรราชกิจ ข้าหลวงเมืองเชียงใหม่ ก็ส่งโทรเลขไปให้ พระยาไชยบูรณ์ ข้าหลวงเมืองแพร่ คอยรับมือเงี้ยวเช่นกัน

กลุ่มเงี้ยวที่แขวงบ่อแก้ว นำโดยสล่าโปชัย สามารถรับมือกับกองกำลังตำรวจภูธรได้ ทำให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงดำรงราชานุภาพ สั่งระดมพลทันที แต่สล่าโปชัยซึ่งร่วมมือกับพกาหม่อง เมื่อรู้ว่าจะต้องถูกปราบปรามแน่ๆ จึงเคลื่อนกำลังจากลำปางเข้าตีเมืองแพร่ทันที

ฝ่ายเมืองแพร่ เจ้านายชั้นผู้ใหญ่ต่างเหมือนรู้ตัวว่าแพร่จะเกิดเหตุใหญ่ จึงพากันหนีไปตรวจปางไม้อย่างพร้อมเพรียง เหลือก็แต่เจ้านายผู้เฒ่าเฝ้าคุ้มหลวง เมืองแพร่ไม่ใช่เมืองใหญ่ แต่ก็เป็นหัวเมืองประเทศราช ในระดับเดียวกับเชียงใหม่และน่าน ไม่มีทางที่ลำพังแค่กองกำลังโจร 40 คน จะบุกมาปล้นเมืองเอาได้ง่ายๆ และสำหรับคนที่ถูกปล้นนั้นก็มีแค่ 2 ทางคือ ถ้าไม่หนี ก็ต้องสู้ แต่ปรากฏว่าเจ้าหลวงเมืองแพร่นอกจากไม่สู้แล้ว กลับไปสนับสนุนเงี้ยวเสียอีก แถมราษฎรชาวแพร่เองก็ให้ความร่วมมือ ไม่ว่าข้าราชการสยามจะไปหลบที่ไหน ชาวบ้านก็จะบอกที่ซ่อนให้เงี้ยวจับตัวมาสังหารได้เป็นส่วนมาก

จากสถานการณ์ในขณะนั้น ปรากฏหลักฐานว่าก่อนที่เงี้ยวจะเข้าโจมตีเมืองแพร่ ได้เกิดข่าวลือในภาคเหนือมาระยะหนึ่งแล้วว่า เจ้าหลวงหลายเมืองในภาคเหนือได้ติดต่อกับเงี้ยว เพื่อเตรียมทำการบางอย่าง และพกาหม่องพ่อค้าชาวเงี้ยว ซึ่งติดหนี้เจ้าเชียงตุงและได้หลบหนีลงมาอยู่ในสยาม ได้รับข้อเสนอให้ปล้นเค้าสนามหลวง เพื่อที่จะหาช่องให้เกิดความวุ่นวายขึ้น เปิดโอกาสให้อังกฤษและฝรั่งเศสเข้ามาแทรกแซง ให้เมืองต่างๆ มีอำนาจต่อรองกับสยามมากขึ้น

เมื่อเงี้ยวยึดเมืองแพร่ได้แล้ว ก็พยายามติดต่อกับเมืองลำปาง ฝ่ายลำปางเมื่อได้ทราบถึงการเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็วของกองทัพสยาม จึงไม่ได้ตอบกลับเงี้ยวเมืองแพร่ในทันที กองกำลังเงี้ยวจึงลังเลว่าเมืองลำปางอาจเปลี่ยนใจไม่เข้าร่วมแล้ว จึงได้บุกเข้าโจมตีก่อน ประกอบกับสยามยกกองทัพขึ้นมาได้ทันท่วงที ทำให้สามารถยุติความวุ่นวายได้อย่างรวดเร็ว ส่งผลให้อังกฤษไม่มีช่องที่จะเข้ามาแทรกแซงได้

ส่วนเจ้านายเมืองอื่นๆ ซึ่งต้องสงสัยว่ามีส่วนรู้เห็นกับเงี้ยวเมืองแพร่ ก็ได้รับโอกาสจากสยามนำกำลังเข้าปราบเงี้ยวเพื่อสร้างความดีความชอบลบล้าง ทำให้เหตุการณ์ความไม่สงบยุติลง ส่วนทางด้านฝรั่งเศส เดิมทีฝ่ายสยามคิดว่าน่าจะมีส่วนรู้เห็นหรือให้การสนับสนุนเงี้ยวเมืองแพร่ แต่การคาดการณ์นั้นผิดคาด เพราะฝรั่งเศสกลับระแวงว่าเมืองตามชายแดนที่ติดกับสยามจะมีพฤติกรรมเลียนแบบ ฝรั่งเศสจึงให้ความร่วมมือกับสยามตั้งแต่แรก ในการจัดการกองกำลังเงี้ยวเมืองแพร่ ดังนั้น ภายใน 2 สัปดาห์ กองกำลังเงี้ยวจึงถูกตีจนแตกพ่าย โดยกองทัพของเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี ที่ขึ้นมาสะสางด้วยตัวเอง

ปัญหาเงี้ยวปล้นเมืองแพร่นั้น ทางฝ่ายกระทรวงมหาดไทยรู้มาแต่แรกแล้ว ว่าเจ้าหลวงเมืองแพร่อยู่เบื้องหลัง แต่ไม่ต้องการให้เหตุการณ์บานปลาย จึงกำชับให้เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรีแสดงออกให้เห็นว่ารัฐบาลไม่ได้สงสัยเจ้านายเมืองแพร่เลย แต่ว่ายิ่งสอบสวนข้อเท็จจริงก็ยิ่งพบว่า เจ้านายเมืองแพร่และญาติวงศ์ทั้งหลายเกี่ยวข้องพัวพันกันไปหมด รวมถึงเจ้าราชบุตรซึ่งเป็นลูกของพระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช เจ้าหลวงเมืองน่านด้วย

ดังนั้นเพื่อระงับไม่ให้เรื่องบานปลายไปกว่านี้ กระทรวงมหาดไทยจึงมีนโยบายไม่เอาโทษเจ้านายฝ่ายเหนือให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรีจึงออกอุบาย ให้เจ้าราชบุตรทำผลงานไถ่โทษ ด้วยการยกทัพไปปราบเงี้ยวจนเป็นผลสำเร็จ เจ้าราชบุตรจึงพ้นความผิดไป และจากนั้นไม่นานเจ้าราชบุตรก็ได้รับโปรดเกล้าฯ ให้เป็นเจ้าราชดนัย และกลับไปอยู่เมืองน่าน

ส่วนเจ้าหลวงเมืองแพร่ เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรีออกอุบายปล่อยข่าวว่า เจ้าหลวงเมืองแพร่มีหลักฐานแน่นหนาต้องได้รับโทษประหาร เพื่อให้เจ้าหลวงเกิดความหวาดกลัวแล้วหนีไป และเจ้าหลวงเมืองแพร่ก็หนีออกไปอยู่หลวงพระบางจริงๆ เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรีจึงอำนวยความสะดวก ให้การหลบหนีเป็นไปอย่างราบรื่น เพื่อที่จะได้ไม่ต้องลงโทษเจ้านายฝ่ายเหนือให้ชอกช้ำกัน ในเมื่อเจ้าหลวงทิ้งบ้านเมืองหนีไปแล้ว จึงแค่ถูกสั่งให้ปลดออกกจากตำแหน่งเท่านั้น เมื่อขบวนการสร้างความวุ่นวายถูกปราบปรามลงจนหมด สถานการณ์ก็คลี่คลายกลับมาอย่างรวดเร็ว

ทั้งหมดนี้ทำให้เห็นถึงที่มาที่ไป ของเหตุการณ์กบฏครั้งสำคัญในยุคปฏิรูปประเทศสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งมีสาเหตุมาจากการประพฤติมิชอบของเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นของหัวเมืองประเทศราชเอง หรือกบฏเงี้ยวที่เป็นการหาช่องให้เกิดความวุ่นวายขึ้น เพื่อเปิดโอกาสให้อังกฤษเข้ามาแทรกแซง ดังนั้นการทึกทักเอาว่า เหตุการณ์กบฏเหล่านี้เป็นการสู้กับอำนาจรัฐหรือการกดขี่ของรัฐบาลสยาม ซึ่งเป็นผลพวงมาจากการรวบอำนาจเบ็ดเสร็จผ่านการปฏิรูปประเทศของรัชกาลที่ 5 จึงเป็นการกล่าวอ้างที่คิดเอาเองและเต็มไปด้วยอคติ

อ้างอิง :

[1] พร้อมพงษ์ ณ เชียงใหม่. การปฏิรูปการปกครองหัวเมืองลาวเฉียงในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเหล้าเจ้าอยู่หัว ก่อนสมัยเป็นมณฑลเทศาภิบาล(พ.ศ.2427-2436), ปริญญานิพนธ์การศึกษามหาบัณฑิต วิทยาลัยวิชาการศึกษา, 2518

[2] วีระเทพ ศรีมงคล. การจัดเก็บภาษีอากรในล้านนา พ.ศ.2427-2445, วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2530

[3] นคร พันธุ์ณรง. การเจรจาข้อตกลงระหว่างรัฐบาลสยามกับรัฐบาลอังกฤษเกี่ยวกับหัวเมืองชายแดนล้านนาไทยและพม่า สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเหล้าเจ้าอยู่หัว ระยะ พ.ศ.2428-2438, ปริญญานิพนธ์การศึกษามหาบัณฑิต วิทยาลัยวิชาการศึกษา, 2516

[4] สรัสวดี ประยูรเสถียร. การปฏิรูปการปกครองมณฑลพายัพ (พ.ศ.2436-2476), ปริญญานิพนธ์การศึกษามหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, 2523

[5] เตช บุนนาค. ขบถ ร.ศ.121, กรุงเทพฯ : มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษย์ศาสตร์, 2551

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r