ย้อนอดีตรัฐธรรมนูญฉบับแรก “การตกลงร่วมกันระหว่างพระมหากษัตริย์กับประชาชน”

ปัจจุบันมีการถกเถียงกันว่า รัฐธรรมนูญฉบับแรกอันเป็นรากฐานแห่งรัฐธรรมนูญของไทยฉบับต่อ ๆ มาจนถึงปัจจุบัน คือ “ธรรมนูญการปกครองสยาม พ.ศ. 2475” หรือที่เรียกว่า“ธรรมนูญฉบับชั่วคราว” ซึ่งเขียนขึ้นโดยหลวงประดิษฐ์มนูธรรม หรือ ปรีดี พนมยงค์ ผู้นำคณะราษฎรฝ่ายพลเรือน ใช่หรือไม่

คำตอบคือ “ไม่ใช่” เพราะรัฐธรรมนูญที่นับได้ว่าเป็นฉบับแรกจริง ๆ คือ “รัฐธรรมนูญฉบับ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475” ที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ได้ทรงขอให้ตั้งคณะกรรมการร่างขึ้นใหม่แทนธรรมนูญฉบับชั่วคราว ซึ่งได้รับการยอมรับว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่เกิดจากการ “ตกลงร่วมกันระหว่างพระมหากษัตริย์และประชาชน”

ทีนี้เราลองมาดูสถานภาพของ “ธรรมนูญฉบับชั่วคราว” ของ ปรีดี พนมยงค์ ที่หลาย ๆ คนยังเข้าใจผิดว่านี่แหละคือปฐมบทของรัฐธรรมนูญแห่งสยาม ที่เกิดจากความพยายามของคณะราษฎรเพียงฝ่ายเดียว

สาเหตุที่ไม่ใช้คำว่า “รัฐธรรมนูญ” เพราะคำว่ารัฐธรรมนูญเป็นคำใหม่ที่ถูกบัญญัติขึ้นในช่วงเดือนกันยายน พ.ศ. 2475 ซึ่งก่อนหน้านี้จะใช้คำว่า “ธรรมนูญ” อย่างเดียว เช่น ทหารพระธรรมนูญ

แม้ว่า “ธรรมนูญฉบับชั่วคราว” นี้จะได้รับประกาศใช้ตั้งแต่หลังปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ซึ่งโดยทฤษฎีอาจนับว่าเป็นรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษร (Written Constitution) ฉบับแรกของไทย แต่สถานภาพของ “ธรรมนูญฉบับชั่วคราว” นั้นไม่อาจนับเป็น “ธรรมนูญแห่งรัฐ” ได้อย่างเป็นทางการ เนื่องจากมีสถานะเป็นเพียงแค่พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) และได้รับการร้องขอให้มีผลบังคับใช้ “เป็นการชั่วคราว” จากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 จนกว่าประเทศสยามในเวลานั้นจะร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ อันเป็นลักษณะถาวร และเป็นไปตามหลักการปกครองแบบประชาธิปไตยอย่างอังกฤษมากกว่าฉบับชั่วคราวนี้

“ธรรมนูญการปกครองสยาม พ.ศ. 2475” หรือ “ธรรมนูญฉบับชั่วคราว” นี้จึงมีลักษณะเป็น “Convention” หรือกฎหมายที่ราษฎรร่วมกันถวายขึ้นมาเองฝ่ายเดียว

และถ้าว่ากันจริง ๆ แล้ว ผลงานการร่างธรรมนูญฉบับชั่วคราวนี้ ก็เป็นเพียงแค่ความคิดของ ปรีดี พนมยงค์ เพียงคนเดียวเท่านั้น เนื่องจากผู้นำคณะราษฎรคนสำคัญบางคน ก็ไม่ได้เห็นดีเห็นงามด้วยในหลักการทั้งหมด

เมื่อคณะราษฎรได้นำ “ธรรมนูญการปกครองสยาม พ.ศ. 2475” หรือ “ธรรมนูญฉบับชั่วคราว” ถวายให้ในหลวงรัชกาลที่ 7 ทรงลงพระปรมาภิไธย เมื่อได้ทอดพระเนตรแล้ว ปรากฏว่าท่านได้ทรงขอให้ตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ให้ดีกว่าฉบับนี้ โดยคณะกรรมการดังกล่าวจะต้องประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญจำนวนหนึ่ง

นี่เป็นสิ่งที่แสดงให้ประจักษ์ว่า พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ทรงมีความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญการปกครองที่ถูกต้องและเหมาะสมกับประเทศสยาม ดังที่พระองค์เคยทรงให้สัมภาษณ์แก่หนังสือพิมพ์ The New York Times ฉบับวันที่ 28 เมษายน 2474 ณ ประเทศสหรัฐอเมริกาว่า

ระบอบการปกครองที่ดีที่สุดก็คือ ระบอบที่เหมาะสมแก่ผู้คนที่อยู่ภายใต้ระบอบนั้น

ต่อมาคณะกรรมการได้ร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่เป็นผลสำเร็จ และเรียกกันว่า “รัฐธรรมนูญฉบับ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475”

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จออก ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม พระราชวังดุสิต ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทาน “รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475” เป็นรัฐธรรมนูญฉบับถาวรฉบับแรกของไทย

อนึ่ง แม้ชื่อพิธีจะเรียกว่าเป็นการ “พระราชทานรัฐธรรมนูญ” แต่นัยของการพระราชทานนี้ ไม่ใช่พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ ในการพระราชทานรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายแบบสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ที่เรียกว่าเป็น “Charter” เพราะอำนาจเด็ดขาดของพระมหากษัตริย์นั้นได้สิ้นสุดลงไปแล้วในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475

อย่างไรก็ตาม “รัฐธรรมนูญฉบับ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475” ก็ไม่อาจเรียกได้ว่าเป็น “Convention” หรือ “กฎหมายที่ราษฎรร่วมกันถวาย” เพราะโดยหลักการแล้วรัฐธรรมนูญถาวรฉบับนี้ ไม่ได้มาจากคณะราษฎรเพียงฝ่ายเดียว แต่มาจากคำแนะนำและโปรดเกล้าฯ ให้มีการร่างขึ้นใหม่จนสำเร็จลุล่วงตามความตั้งใจของในหลวงรัชกาลที่ 7 ผู้เป็นพระมหากษัตริย์พระองค์สุดท้ายในยุคเปลี่ยนผ่านจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตยด้วย

ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่า “รัฐธรรมนูญฉบับ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475”  มีสถานะเป็น “Pact” หรือ กฎหมายที่มาจากการตกลงร่วมกันระหว่างประมุข คือ ในหลวงรัชกาลที่ 7 และตัวแทนประชาชน คือ คณะราษฎร, ขุนนาง รวมถึงตัวแทนประชาชนนอกคณะราษฎร

จากข้อมูลข้างต้น จึงสรุปได้ว่า รัฐธรรมนูญแห่งประเทศไทยฉบับถาวร มีสถานะเป็น “การตกลงร่วมกันระหว่างพระมหากษัตริย์กับประชาชน” โดยสมบูรณ์ และเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรก อันเป็นรากฐานแห่งรัฐธรรมนูญของไทยฉบับต่อ ๆ มาจวบจนถึงปัจจุบัน

อ้างอิง :

นครินทร์ เมฆไตรรัตน์, การปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 (กรุงเทพฯ : 2553) สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน.