แนวคิด จอห์น ล็อก ชี้ชัด การขูดรีดทรัพย์สินหรือภาษีด้วยการอ้างความเท่าเทียม คือนโยบายขั้วตรงข้ามประชาธิปไตยของ ‘รัฐบาลทรราชย์’

โดย : ไกอุส

สำหรับผู้ที่สนใจทฤษฎีและปรัชญาการเมืองตะวันตก คงไม่มีใครปฏิเสธได้ว่าแนวคิดของ จอห์น ล็อก (John Locke) นายแพทย์และนักปรัชญาการเมืองชาวอังกฤษชื่อดังช่วงศตวรรษที่ 17  ผู้ซึ่งได้วางรากฐานแห่งแนวคิดเรื่องสิทธิ เสรีภาพ รวมไปถึงบทบาทและหน้าที่ของรัฐบาลในอุดมคติที่พึงจะมี

แนวคิดของเขามีอิทธิพลต่อประเทศยุโรปโดยเฉพาะอังกฤษ รวมไปถึงอเมริกาในฐานะส่วนหนึ่งของเครือจักรภพอังกฤษก่อนประกาศแยกตัวเป็นเอกราชในเวลาต่อมา เป็นที่ประจักษ์ว่าด้วยความคิดของล็อกนี่แหละ ที่ได้ส่งผลอย่างยิ่งต่อการอ้างเรื่องสิทธิเสรีภาพของพลเมืองอเมริกาดังที่ปรากฏในคำประกาศอิสรภาพของอเมริกาในการต่อต้านอำนาจทรราชของรัฐบาลอังกฤษที่มีรัฐสภาเวสต์มินสเตอร์เป็นใหญ่

ทั้งนี้ ควรกล่าวด้วยว่า การอ้างว่าคู่ขัดแย้งของประชาชนอเมริกาว่าเป็นปฏิปักษ์ต่อกษัตริย์จอร์จที่ 3 ของอังกฤษนั้นเป็นเรื่องเข้าใจผิดของผู้ที่ไม่ได้ศึกษาระบอบการปกครองอย่าเคร่งครัดตามหลักวิชาการ ทั้งที่จริงแล้วในเวลานั้น อำนาจของกษัตริย์อังกฤษแทบไม่เหลือในการบริหารบ้านเมือง การออกกฎหมายและการขึ้นภาษีเป็นเรื่องของรัฐสภาล้วน ๆ จะเห็นได้ว่าหลังจากอเมริกาได้เอกราช รัฐธรรมนูญอเมริกันพยายามหาวิธีลดอำนาจรัฐสภาลงด้วยการเพิ่มอำนาจให้แก่ฝ่ายบริหาร นั่นก็คือประธานาธิบดี ซึ่ง 2 องคาพยพนี้แยกออกจากกันเด็ดขาด ไม่เหมือนการปกครองแบบรัฐสภาเป็นใหญ่เช่นอังกฤษหรือไทยที่อำนาจสูงสุดยังเป็นของรัฐสภา ไม่ใช่นายกหรือฝ่ายบริหาร

ล็อกให้ความสำคัญต่อเรื่องสิทธิและเสรีภาพของประชาชนอย่างมาก จนกล่าวได้ว่าเขาคือ ‘บิดาแห่งแนวคิดเสรีนิยมประชาธิปไตย’ ดังปรากฏในงานเขียนอันสำคัญชิ้นหนึ่งของเขาที่อ้างอิงกันในหมู่นักรัฐศาสตร์และปรัชญาจวบจนปัจจุบัน นั่นก็คือ ‘Second treatise of government’ (ความเรียงเรื่องที่ 2 ว่าด้วยการปกครอง) ที่แต่เดิมเขาเขียนขึ้นเพื่อโจมตีแนวคิดสมบูรณาญาสิทธิราชย์ภายใต้ราชวงศ์สจ๊วตของอังกฤษที่มีลักษณะโอนเอียงไปในทางกดขี่ประชาชนที่นับถือศาสนาคริสต์นิกายโปรเตสแตนต์ อีกทั้งต่อมางานเขียนชิ้นนี้ถูกนำไปใช้ในการปกป้องเจตนารมณ์ของการปฏิวัติอันรุ่งโรจน์ ค.ศ. 1688 ของเจ้าชายวิลลเยม ออฟ ออนเรนจ์แห่งเนเธอแลนด์ ที่เข้ามาชิงราชสมบัติของพระเจ้าเจมส์ที่ 2 ด้วยการสนับสนุนของฝ่ายรัฐสภาอังกฤษ เหตุการณ์นี้ทำให้อำนาจของกษัตริย์อังกฤษลดลงและอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐสภาเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

และข้ออ้างหรือเหตุผลสำคัญที่ล็อกนำมาใช้ในการต่อต้านรัฐบาลที่มีแนวโน้มจะใช้อำนาจอย่างเด็ดขาดหรืออาญาสิทธิ์ (ไม่ว่าจะระบอบกษัตริย์ ทรราชย์ หรือประชาธิปไตย) คือการที่รัฐบาลไม่สามารถที่จะพรากสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนไปได้ ไม่ว่าจะกรณีใด ๆ นั่นคือ สิทธิในทรัพย์สินของประชาชน ซึ่งล็อกอ้างว่าเป็นทั้งกฎของพระเจ้าและกฎของธรรมชาติที่มนุษย์ทุกคนล้วนมีติดตัวมาแต่เดิมก่อนที่จะมารวมตัวกันเป็นสังคมตามทฤษฎีสัญญาประชาคม(Social contract) ซึ่งสังคมที่ถูกสถาปนาขึ้นดังกล่าวก็คือประชาคมการเมืองที่เรียกว่า ‘รัฐบาล’ นั่นเอง

การอ้างกลับไปถึงคัมภีร์ไบเบิ้ลในเรื่องที่พระผู้เป็นเจ้าได้ประทานสิทธิ์อันเพิกถอนไม่ได้(inalienable rights) นั่นก็คือสิทธิ์ที่จะครอบครองทรัพย์สิน (property) ซึ่งทรัพย์สินในที่นี้หมายถึงการเป็นเจ้าของโดยมนุษย์ที่ไม่ได้หมายถึงทรัพย์สินอย่างที่เราเข้าใจในปัจจุบัน หากแต่หมายถึงชีวิตของเขาเองที่พระเจ้าประทานให้ เสรีภาพของเขาที่กระทำอะไรก็ได้ในสภาพธรรมชาติ (state of nature) รวมไปถึงสิทธิที่จะแสวงหาความสุขจากการลงแรงงาน (labour)ต่อสิ่งต่าง ๆ กรรมสิทธิ์เหล่านี้ย่อมตกเป็นของประชาชนเหล่านั้นโดยชอบธรรมด้วยกฎแห่งธรรมชาติ เมื่อมนุษย์ได้ตกลงปลงใจเข้ามาอยู่ในสังคมเพื่อให้ปลอดจากสภาพที่วุ่นวายแล้วด้วยการทำสัญญาประชาคม หน้าที่ของรัฐบาลจึงมีอยู่อย่างเดียวที่สำคัญที่สุดคือ การปกป้องทรัพย์สินของประชาชนที่มีมาแต่เดิม ส่วนประชาชนในสังคมก็ล้วนทำอะไรก็ได้ที่จะเป็นการแสวงหาความสุขความเจริญแก่ตน ตราบใดที่การกระทำเหล่านั้นไม่กระทบต่อสิทธิของผู้อื่น นี่คือรากฐานสำคัญที่สุดขงแนวคิดเสรีนิยมที่ยึดถือกันอย่างหนักแน่นในปัจจุบัน

ล็อกยังยืนยันหลักแน่นด้วยว่า ด้วยเหตุที่ชีวิต ทรัพย์สิน และเสรีภาพ เป็นสิทธิ์อันเพิกถอนไม่ได้ที่มีมาแต่เดิมก่อนการมีรัฐบาล ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลจึงไม่มีหน้าที่ในการไปพรากเอาสิ่งเหล่านั้นไปจากประชาชนโดยที่พวกเขาไม่ยินยอม เพราะประชาชนกระทำสัญญาประชาคมด้วยกันเอง หาใช่ทำกับรัฐบาลแต่อย่างใด จึงกล่าวได้ว่าหน้าที่รัฐบาลจึงเป็นไปในทางปกป้องสิทธิ์เหล่านี้เท่านั้นตามที่ได้รับมอบหมายจากประชาชน ไม่ใช่เป็นการก้าวก่ายกิจการประชาชน

เมื่อนำมุมมองของล็อกมามองการเมืองในปัจจุบัน เป็นที่ชัดเจนว่าเจตนารมณ์ของแนวคิดทางการเมืองของเขาได้รับการสืบทอดในสหรัฐอเมริกาอย่างเข้มข้น เพราะบรรดาบิดาแห่งประเทศนี้ล้วนเป็นผู้นิยมล็อก (Lockean) แทบทั้งสิ้น ดังที่กล่าวไปแล้วว่าในคำประกาศอิสรภาพของอเมริกา ก็ล้วนมีคำที่ล็อกใช้และบัญญัติความหมายขึ้นทั้งสิ้น โดยเฉพาะประโยควรรคทองที่ว่า ‘เราถือว่าความจริงต่อไปนี้เป็นสิ่งที่ประจักษ์แจ้งอยู่ในตัวเอง นั่นคือ มนุษย์ทุกคนถูกสร้างขึ้นมาอย่างเท่าเทียมกัน และพระผู้สร้างได้มอบสิทธิบางประการที่จะเพิกถอนมิได้ไว้ให้แก่มนุษย์ ในบรรดาสิทธิเหล่านั้นได้แก่ ชีวิต เสรีภาพและการเสาะแสวงหาความสุข’ประโยคข้างต้นสะท้อนความเป็นผู้นิยมล็อกออกมาได้ประจักษ์ชัดที่สุด และเป็นสิ่งที่อเมริกันชนยึดถือมาต่อเนื่องจวบจนปัจจุบัน

ดังนั้น หากรัฐบาลหรือนักการเมืองประเทศเสรีประชาธิปไตยประเทศใด ที่อ้างว่าตนมาจากการเลือกตั้งโดยประชาชน หากแต่กลับดำเนินนโยบายที่ส่อไปในทางคุกคามทรัพย์สินของประชาชน ไม่ว่าประชาชน/เอกชนเหล่านั้นจะเป็นบริษัทขนาดใหญ่หรือเป็นใครก็ตามที่ขยันทำมาหากินและสะสมความมั่งคั่งขึ้นมา หรืออาจเป็นศักดินาเก่าที่มีที่ดินมากมายที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษ หากรัฐบาลเหล่านั้นกำลังส่อไปในทางออกนโยบายโน้มเอียงไปยังการขูดรีดภาษีการถือครองทรัพย์สินหรือที่ดินเพื่ออ้างว่าต้องการสร้างความเท่าเทียมและกระจายรายได้แก่ประชาชนคนอื่นด้วยข้ออ้างของการสร้างความเท่าเทียมในสังคม ขอให้มั่นใจได้เลยว่ารัฐบาลชุดนี้หาใช่รัฐบาลเสรีประชาธิปไตยแต่อย่างใด หากแต่คือรัฐบาลในรูปแบบสังคมนิคมหรือคอมมิวนิสต์ที่ไม่ได้ให้ความสำคัญต่อทรัพย์สินเอกชนที่พวกเขาสะสมและได้มาด้วยหยาดเหงื่อ แรงกาย และความขยัน ‘การกระจายทรัพย์สินของเอกชนผู้อื่นไปยังประชาชนชนิดเลวที่ไม่ลงแรงกาย ดีแต่เรียกร้องและแบมือขอนั้น นับเป็นการทรยศต่อแนวคิดเสรีนิยมประชาธิปไตยโดยแท้พวกเขากำลังเพิ่มอำนาจให้แก่รัฐบาลโดยไม่รู้ตัว ซึ่งนั่นเท่ากับว่ากำลังถอยห่างจากการปกครองแบบประชาธิปไตยออกไปทุกที

อ้างอิง :

[1] John Locke. Second treatise of government (1689).
[2] Leo Strauss and Joseph Cropsey. History pf political philosophy (1987).

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า