Lue Podcast EP 50 – การก่อตั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ปาดหน้ามาจากไอเดียของ หม่อมเจ้าวรรณไวทยากร

มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ก่อตั้งขึ้นจากการสืบสานนโยบายทางการศึกษา อันเกิดจากความคิดริเริ่มของหม่อมเจ้าวรรณไวทยากร อีกทั้งยังรักษาโครงสร้างหลักสูตรของคณะนิติศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์เอาไว้ โดยจัดให้มีการศึกษาในสาขาวิชากฎหมายเป็นจำนวนมาก และยังคงใช้ชื่อหลักสูตรปริญญาเดิม คือ “ปริญญาธรรมศาสตร์บัณฑิต” ซึ่งเป็นนามพระราชทานของในหลวงรัชกาลที่ 6

ชื่อของ “มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง” จึงมีที่มาสืบเนื่องมาจากโครงสร้างหลักสูตรเดิมของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ซึ่งเรื่องนี้ยังยืนยันได้จากหนังสือของ สิงโต ภาสวัสดิ์ นิสิตมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง รุ่นแรกๆ โดยสิงโต ภาสวัสดิ์ ได้จัดทำหนังสือธงคำตอบข้อสอบกฎหมายขึ้นมาเล่มหนึ่ง ในปี พ.ศ. 2477 มีชื่อว่า “ธงชัยของนักศึกษา : เป็นคู่มือผู้ศึกษาวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง มีวิธีศึกษาวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองแบบใหม่กับมีคำถามคำตอบธรรมศาสตร์ตั้งแต่ พ.ศ. 2462 ถึง พ.ศ. 2476 ประมวลแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยบุคคล ธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยามและพระราชบัญญัติการเลือกตั้ง”

หนังสือธงคำตอบเล่มนี้ได้ให้คำนิยามความหมายของคำว่า “ธรรมศาสตร์” ซึ่งเคยอยู่ในข้อสอบกฎหมายปี พ.ศ. 2476 (ก่อนก่อตั้งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง 1 ปี) ไว้ว่า ในอดีตใช้เรียกชื่อกฎหมายลักษณะหนึ่งว่า ลักษณะธรรมศาสตร์ แต่ว่าในปัจจุบัน คำว่าธรรมศาสตร์ ถูกใช้เป็นชื่อเรียกวิชากฎหมายวิชาหนึ่ง ในคณะนิติศาสตร์ ซึ่งเป็นหลักกฎหมายทั่วๆ ไป โดยเรียกว่า “วิชาธรรมศาสตร์”

ดังนั้น เมื่อนายปรีดี พนมยงค์ ต้องการจะยกระดับโรงเรียนกฎหมายขึ้นเป็นสถาบันการศึกษาระดับปริญญาบัตร จึงได้คัดลอกเอาโครงสร้างพร้อมทั้งชื่อปริญญาบัตรของหลักสูตรในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมาทั้งดุ้น และนำชื่อเรียกวิชากฎหมายที่ใช้ในจุฬาลงกรณ์ ซึ่งเรียกตามชื่อหลักสูตร มาตั้งเป็นชื่อมหาวิทยาลัยว่า “มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง” ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น “มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์” จนถึงปัจจุบัน

TOP