“มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช” มหาวิทยาลัยแห่งแรกในสังกัดกรุงเทพฯ ที่ตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ และชื่อเดิมว่า “มหาวิทยาลัยกรุงเทพมหานคร”

มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช” หรือชื่อเดิม คือ มหาวิทยาลัยกรุงเทพมหานคร (University of Bangkok Metropolis) มีต้นกำเนิดมาจาก “วชิรพยาบาล” ซึ่งในหลวง ร.6 เมื่อครั้งยังทรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ จำนวน 240,000 บาท รับซื้อบ้านของพระสรรพการหิรัญกิจ หรือที่รู้จักกันในชื่อ “สามเสนปาร์ก” ที่ธนาคารสยามกัมมาจลยึดไว้ เพื่อปลดหนี้อันเกิดจากการที่พระสรรพการหิรัญกิจบริหารงานธนาคารสยามกัมมาจลผิดพลาด เมื่อปี พ.ศ. 2451 และทรงมีดำริให้นำ สามเสนปาร์ก มาทำเป็นโรงพยาบาล วชิรพยาบาล โดยได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เพิ่มเติมอีกเป็นจำนวน 37,576 บาท เป็นค่าปรับปรุงซ่อมแซม และจัดซื้อเครื่องมืออุปกรณ์การแพทย์

เมื่อในหลวง ร.6 ขึ้นครองราชย์แล้ว ในปี พ.ศ. 2455 จึงได้พระราชทาน วชิรพยาบาล เป็นโรงพยาบาลสำหรับรักษาประชาชนในกรุงเทพฯ โดยพระราชทานให้อยู่ในความดูแลของกระทรวงนครบาล

ต่อมามีการควบรวมกระทรวงนครบาลเข้ากับกระทรวงมหาดไทย และเมื่อได้มีการเริ่มจัดการปกครองส่วนท้องถิ่น ในปี พ.ศ. 2480 จึงมีการโอนสิทธิและกิจการของวชิรพยาบาล มาอยู่ในความดูแลของเทศบาลกรุงเทพฯ นับได้ว่า วชิรพยาบาล เป็นโรงพยาบาลแห่งแรกที่อยู่ในสังกัดขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

เมื่อปี พ.ศ. 2497 โรงพยาบาลในสังกัดของกรุงเทพมหานครเกิดปัญหาขาดแคลนนางพยาบาล จึงได้มีการตั้งโรงเรียนพยาบาลผดุงครรภ์และอนามัยวชิรพยาบาลขึ้น และในปี พ.ศ. 2513 กรุงเทพมหานครยังได้ตั้งโรงเรียนพยาบาลโรงพยาบาลกลางขึ้นมาอีกแห่งหนึ่ง ซึ่งในเวลาต่อมา ได้มีการควบรวมโรงเรียนพยาบาลสองแห่งนี้เข้าด้วยกัน เพื่อจัดตั้งวิทยาลัยพยาบาล โดยได้รับพระราชทานนาม จากในหลวง ร.9 ว่า “วิทยาลัยพยาบาลเกื้อการุณย์” ในปีพ.ศ. 2519

วิทยาลัยพยาบาลเกื้อการุณย์ มีฐานะเป็นสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาแห่งแรกของกรุงเทพมหานคร จัดการศึกษาหลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิต โดยเข้าเป็นสถาบันสมทบของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ในปีพ.ศ. 2531 และเข้าเป็นสถาบันสมทบของมหาวิทยาลัยมหิดล ในปีพ.ศ. 2537

เนื่องจากกรุงเทพมหานครมีโรงพยาบาลในความดูแลหลายแห่ง จึงได้มีแนวคิดที่จะสร้างบุคลากรขึ้นมาทดแทนความขาดแคลน วชิรพยาบาลจึงริเริ่มก่อตั้งโรงเรียนแพทย์ขึ้น เมื่อปี พ.ศ. 2528 ด้วยความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ซึ่งร่วมกันตั้ง คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล เป็นโรงเรียนแพทย์แห่งที่ 8 ของประเทศไทย โดยนิสิตจะศึกษาชั้นปรีคลินิกที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และศึกษาชั้นคลินิกที่วชิรพยาบาล

ภายหลังกรุงเทพมหานครได้มีแนวคิดที่จะเปิดโรงเรียนแพทย์เป็นของตนเอง จึงได้มีการก่อตั้ง วิทยาลัยแพทยศาสตร์กรุงเทพมหานคร ภายใต้สังกัด สำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร ในปี พ.ศ. 2536 และเข้าเป็นสถาบันสมทบของมหาวิทยาลัยมหิดล โดยนิสิตชั้นปีที่ 1 ถึงภาคต้นของชั้นปีที่ 3 จะศึกษาระดับปรีคลินิกที่ มหาวิทยาลัยมหิดล แล้วเข้ามาศึกษาวิชาปรีคลินิกส่วนที่เหลือ และระดับชั้นคลินิก ที่โรงพยาบาลวชิรพยาบาล โดยบัณฑิตแพทย์จะได้รับพระราชทานปริญญาบัตรจากมหาวิทยาลัยมหิดล

จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2541 กรุงเทพมหานคร ได้รวมโรงพยาบาลและโรงเรียนแพทย์เป็นหน่วยงานเดียวกัน ภายใต้ชื่อ “วิทยาลัยแพทยศาสตร์กรุงเทพมหานครและวชิรพยาบาล” (วพบ.) ทำให้วิทยาลัยแพทยศาสตร์กรุงเทพมหานครและวชิรพยาบาลได้รับการบริหารจากวชิรพยาบาลโดยตรง

และในวโรกาสงานฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ของในหลวง ร.9 เมื่อปี พ.ศ. 2559 กรุงเทพมหานครได้มีแนวคิดที่จะตั้งสถาบันการศึกษาในระดับอุดมศึกษาเพื่อเฉลิมพระเกียรติ โดยให้เป็นหน่วยงานของรัฐในกำกับของกรุงเทพมหานคร และมีฐานะเป็นนิติบุคคล จึงได้มีการควบรวมวิทยาลัยแพทยศาสตร์กรุงเทพมหานคร และวชิรพยาบาล กับวิทยาลัยพยาบาลเกื้อการุณย์ เข้าเป็น “มหาวิทยาลัยกรุงเทพมหานคร” (University of Bangkok Metropolis) ในปี พ.ศ. 2555 และต่อมา ในหลวง ร.9 ได้พระราชทานนามมหาวิทยาลัยว่า “มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช” ในปี พ.ศ. 2556

นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2562 มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช ได้ย้ายสถานที่จัดการเรียนการสอนรายวิชาศึกษาทั่วไป เตรียมแพทย์ และปรีคลินิก จากมหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา ในชั้นปีที่ 1 และ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พญาไท ในชั้นปีที่ 2 มาจัดการเรียนการสอนโดยมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราชตลอดทั้งหลักสูตร โดยไม่เป็นสถาบันสมทบอีกต่อไป

จาก “วชิรพยาบาล” ที่ก่อตั้งขึ้นด้วยพระมหากรุณาธิคุณของ ในหลวง ร.6 เพื่อใช้เป็นโรงพยาบาลสำหรับรักษาประชาชนในกรุงเทพฯ มาจนถึง “มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช” หรือชื่อเดิมคือ “มหาวิทยาลัยกรุงเทพมหานคร” (University of Bangkok Metropolis) ที่นอกจากจะเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกภายใต้สังกัดกรุงเทพมหานครแล้ว ยังถือเป็นหนึ่งในจุดเริ่มต้นสำคัญของการศึกษาโดยเฉพาะสาขาแพทย์และพยาบาล ที่สถาบันพระมหากษัตริย์ได้ทรงวางรากฐาน เพื่อเป็นประโยชน์สุขแก่คนกรุงเทพฯ และชาวไทยทุกคน

อ้างอิง :

[1] หจช. , ร.5 ค.9.4ข/77 “เรื่องสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ขายตึกที่เมืองปีนัง” (11 มิถุนายน ร.ศ.129)
[2] พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2553, ราชกิจจานุเบกษา เล่ม127 ตอนที่ 69 ก วันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ.2553 หน้า 1
[3] พระราชบัญญัติ เปลี่ยนชื่อมหาวิทยาลัยกรุงเทพมหานครเป็นมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช พ.ศ. 2556, ราชกิจจานุเบกษา เล่ม130 ตอนที่ 53 ก วันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ.2536 หน้า 1
[4] เปิดศาลาวชิรพยาบาล, ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 29 วันที่ 22 มกราคม พ.ศ.2455 หน้า 2379
[5] ยกโรงวชิรพยาบาลให้เป็นสาะารณสถาน, ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 29 วันที่ 22 มกราคม พ.ศ.2455 หน้า 2401
[6] หนังสือ 96 ปี วชิรพยาบาล