เมื่อธงไตรรงค์ของไทย ไปโบกสะบัดอย่างสง่างามบนดินแดนฝรั่งเศส พร้อมความภาคภูมิของกองทัพสยามในสงครามโลกครั้งที่ 1

ธงสำหรับชาติสยามซึ่งได้ประดิษฐานขึ้นตามพระราชบัญญัติแก้ไขพระราชบัญญัติธง พระพุทธศักราช 2459 นั้น ยังไม่เป็นสง่างามพอสำหรับประเทศ สมควรจะเพิ่มสีน้ำเงินแก่เข้าอีกสีหนึ่ง ให้เป็นสามสีตามลักษณะธงชาติของประเทศที่เป็นสัมพันธมิตรกับกรุงสยามได้ใช้อยู่โดยมากนั้น เพื่อให้เป็นเครื่องหมายให้ปรากฏว่า สยามได้เข้าร่วมสุขทุกข์ และเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกับสัมพันธมิตรหมู่ใหญ่ ช่วยกันกระทำการปราบปรามความอาสัตย์อาธรรมในโลก ให้พินาจประลัยไป

อีกประการหนึ่งสีน้ำเงินนี้เป็นสีอันสิริแก่พระชนมวาร นับว่าเป็นสีเครื่องหมายเฉพาะพระองค์ด้วย จึงเป็นสีที่สมควรจะประกอบไว้ในธงสำหรับชาติด้วยประการทั้งปวง

พระบรมราชโองการประกาศ “พระราชบัญญัติแก้ไขพระราชบัญญัติธง พระพุทธศักราช 2460

ธงชาติไทย หรือที่เรียกว่า “ธงไตรรงค์” มีลักษณะ ขนาดกว้าง 6 ส่วน ยาว 9 ส่วน เป็นแถบริ้ว 3 สี คือ สีแดง สีขาว และสีน้ำเงินตรงกลาง ดังที่เราใช้ในปัจจุบันนี้ เดิมพัฒนามาจากธงรูปช้างเผือก ก่อนจะเปลี่ยนเป็นธงริ้วสีขาวสลับสีแดง โดยไม่มีรูปช้างเผือก ตามพระราชบรมราชโอการประกาศเพิ่มเติมและแก้ไขพระราชบัญญัติธง ร.ศ.129

พลันเมื่อมหาสงครามในทวีปยุโรปได้อุบัติขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2457 ระหว่างฝ่ายสัมพันธมิตรกับฝ่ายมหาอำนาจกลางซึ่งได้ส่งกำลังทหารเข้าเผชิญหน้ากัน สำหรับรัฐบาลสยามนั้น ในหลวง ร.6 ก็ประกาศรักษาความเป็นกลางโดยทันที และในขณะเดียวกัน ในช่วงต้นของสงคราม เมื่อในหลวง ร.6 ทรงทราบข่าว นายทหารกองพันที่ 1 กรมทหารราบเบา เดอรัม ซึ่งเคยเสด็จไปประจำการเมื่อปี พ.ศ.2441 ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กระทรวงการต่างประเทศ พระราชทานเงินส่วนพระองค์ ส่งไปให้รัฐบาลอังกฤษช่วยเหลือครอบครัวทหาร

หลังจากนั้นพระเจ้าจอร์จที่ 5 ก็โทรเลขอัญเชิญให้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงรับพระยศเป็น นายพลเอกพิเศษ แห่งกองทัพบกอังกฤษ ทั้งให้ทรงเครื่องยศนายทหารกรมทหารราบเบา เดอรัม เป็นกรณีพิเศษ ในขณะเดียวกันนั้น ในหลวง ร.6 ส่งพระโทรเลขทูลเชิญพระเจ้าจอร์จที่ 5 รับตำแหน่งนายพลเอกพิเศษ ประจำกองทัพบกสยาม ด้วยเช่นกัน

เมื่อล่วงเข้าปลายสงคราม สหรัฐอเมริกาก็ได้ประกาศสงครามกับมหาอำนาจกลาง ในวันที่ 6 เมษายน พ.ศ.2460 โดยเข้ากับฝ่ายสัมพันธมิตร ทว่าสำหรับสยาม แม้จะมีนโยบายเอนเอียงไปทางฝ่ายสัมพันธมิตรมาตั้งแต่ช่วงต้นสงคราม แต่ก็ยังมิได้ประกาศเข้าร่วมสงคราม เพราะเมื่อจะเข้าสงครามสยามได้ติดต่อไปยังฝรั่งเศสหรือรัสเซีย ประเทศทั้งหลายต่างตอบรับด้วยความยินดี ยังก็แต่ประเทศอังกฤษมหามิตรที่มีท่าทีเพิกเฉยกับสยาม

ความเฉยเมยของรัฐบาลอังกฤษในเวลานั้น ทำให้แม้ในหลวง ร.6 จะแสดงออกอย่างชัดเจนว่าให้การสนับสนุนกองทัพบกอังกฤษ แต่รัฐบาลสยามก็ทำได้เพียงสงวนท่าทีมาโดยตลอด จนกระทั่งเมื่อประเทศอังกฤษได้แสดงการตอบรับการเข้าสงครามของสยาม ประเทศสยามจึงได้ประกาศละทิ้งความเป็นกลาง เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2460 ในทันที

เมื่อประเทศสยามเข้ากับฝ่ายสัมพันธมิตรแล้ว รัฐบาลสยามแสดงความประสงค์จะส่งทหารเข้าร่วมรบ ทางฝ่ายอังกฤษเห็นว่ากองทัพบกสยามไม่เคยผ่านสมรภูมิใด จึงเสนอให้ไปช่วยรบในแอฟริกา การตัดสินใจของอังกฤษได้ส่งผลให้รัฐบาลสยามมองว่าอังกฤษไม่ได้ให้ความสำคัญกับท่าทีของสยาม รัฐบาลสยามจึงติดต่อไปยังฝรั่งเศสแทน และฝ่ายประเทศฝรั่งเศสกลับแสดงความกระตือรือร้นเป็นอย่างมากและเสนอให้สยามมาสนับสนุนการรบที่แนวหน้าในทวีปยุโรป

กองทัพบกสยาม ได้จัดกองบินทหารบก 3 กองร้อย และกองทหารบกรถยนต์ 8 กองร้อย รวมกำลังพล ประมาณ 1,200 นาย ส่งเข้าไปช่วยรบ ณ ประเทศฝรั่งเศส และกลับได้ผลตอบแทนอย่างคุ้มค่า กล่าวคือ กองทัพบกสยามได้รับการฝึกอบรมความพร้อมก่อนเข้าสมรภูมิ โดยทหารจากกองบินทหารบกสยามได้สอบผ่านประกาศนียบัตรการบินมากถึง 95 คน ส่วนที่เหลืออีก 225 คน ได้เข้ารับการฝึกหัดช่างเครื่องยนต์อากาศยาน ส่วนกองทหารบกรถยนต์ขึ้นตรงกับแม่ทัพที่ 4 เมืองชาลองค์ ออกปฏิบัติการลำเลียงทหาร 12,000 นาย บรรทุกสัมภาระ 3,1000 ตัน เดินทางระยะทางกว่า 36,000 กิโลเมตร และได้รับเหรียญกล้าหาญครัวซ์ เดอะ แกรร์ (Croix de Guerre) ประดับยอดธงชัยเฉลิมพล

ผลของสงครามโลกครั้งที่ 1 ได้ส่งผลให้ประเทศสยามเป็นประเทศฝ่ายชนะสงคราม และได้รับเชิญเข้าเป็นสมาชิกประเภทริเริ่มขององค์การสันนิบาตชาติ ทำให้สนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรมระหว่างไทยกับเยอรมัน และออสเตรีย-ฮังการี ถูกยกเลิก พร้อมกับประเทศต่างๆ ได้ยินดีแก้ไขสนธิสัญญา นับเป็นจุดเริ่มต้นของการสิ้นสุดสิทธิสภาพนอกอาณาเขต และการจำกัดอัตราภาษีศุลกากร

“เครื่องหมายแห่งไตรรงค์” อันเป็นพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยพระนามแฝง “วรรณสมิต” พิมพ์ในหนังสือดุสิตสมิต ได้นิยามความหมายของธงไตรรงค์ไว้ คือ สีแดง หมายถึง เลือดอันยอมพลีให้แก่ชาติ สีขาว หมายถึง ความบริสุทธิ์แห่งพระรัตนตรัยและธรรมะอันเป็นหลักสำคัญทางพระพุทธศาสนา และสีน้ำเงิน หมายถึง สีส่วนพระองค์ขององค์พระมหากษัตริย์

ธงไตรรงค์ เป็นสัญลักษณ์ที่แสดงถึงหมุดหมายความเป็นชาติ ผ่านตัวแทนของสีต่างๆ หล่อหลอมรวมจิตใจให้เกิดความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันเพื่อประโยชน์ส่วนรวม และเป็นครั้งแรกของธงไตรรงค์ ที่ได้นำพาเกียรติภูมิกองทัพบกสยามไปโบกสบัด ในขบวนสวนสนามฉลองชัยชนะ ที่อาร์กเดอทรียงฟ์ เดอ เลตวล ประเทศฝรั่งเศส เมื่อ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2462

อ้างอิง :

[1] วรชาติ มีชูบท. เกร็ดพงศาวดารรัชกาลที่ 6. กรุงเทพฯ: สร้างสรรค์บุ๊คส์, 2553.
[2] ราชกิจจานุเบกษา. พระบรมราชโองการประกาศ “พระราชบัญญัติแก้ไขพระราชบัญญัติธง พระพุทธศักราช 2460, วันที่ 30 กันยายน 2460 เล่ม 34 หน้า 436.
[3] ดุสิตสมิต ฉบับพิเศษ สำหรับเป็นที่ระลึกในงานเฉลิมพระชนม์พรรษา เล่มที่ 1 พ.ศ.2461

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า