เพราะ ‘ไทยนี้รักสงบ’ 3 เหตุผลที่มุสลิมชนกลุ่มน้อยดำรงอยู่ได้อย่างกลมกลืนบนผืนแผ่นดินไทย

ความแตกต่างทางด้านความเชื่อทางศาสนาในอดีตนั้นเป็นบ่อเกิดและเป็นตัวจุดชนวนให้เกิดความขัดแย้งมาหลายครั้งหลายครา ไม่ว่าความขัดแย้งนั้นจะเกิดในยุคก่อนการมีรัฐสมัยใหม่หรือหลังการมีรัฐสมัยใหม่ก็ตาม ดังนั้นความยากประการหนึ่งของการดำรงอยู่ร่วมกันก็คือ ภายใต้ความแตกต่างทางความคิด ความเชื่อ และเหตุผลทางศาสนาอย่างมากมายหลายประการนี้ เราจะดำรงอยู่ร่วมกันได้อย่างไร?

บางประเทศก็สามารถหาทางดำรงอยู่ร่วมกันได้ บางประเทศก็ยังคงพยายาม หรือบางประเทศก็ไม่ได้คิดจะหาทางเลย ด้วยเหตุผลต่างๆ ในประเทศอันหลากหลายในโลกนี้ ประเทศไทยถือเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการดำรงอยู่ร่วมกันของคนหลากหลายเชื้อชาติและหลากหลายความเชื่อด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นของคนมุสลิมซึ่งนับเป็นชนกลุ่มน้อยหากมองจากภาพใหญ่ทั้งหมดของประเทศไทย แต่ถึงแม้จะเป็นชนกลุ่มน้อย และประเทศไทยเองก็เคยประสบกับปัญหาด้านความเชื่อและชาติพันธุ์มาในอดีต แต่ก็สามารถดำรงชาติมาได้อย่างสงบสุขเป็นอย่างมากเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน คำถามจึงมีว่า ด้วยสาเหตุอะไรประเทศไทยและชาวมุสลิมจึงสามารถกลมกลืนกันได้มากกว่าบางประเทศ

สำหรับสาเหตุที่ทำให้ประเทศไทยสามารถอยู่ร่วมกันอย่างกลมกลืนกับพี่น้องชาวมุสลิม (และอาจจะรวมถึงกลุ่มอื่นๆ ด้วย) มีเหตุผลหรือเงื่อนไขอยู่สามประการด้วยกัน [1] คือ สถานภาพทางกฎหมายของมุสลิมชนกลุ่มน้อย มุมมองของรัฐที่มีต่อมุสลิมชนกลุ่มน้อย และอิทธิพลของพุทธชาตินิยมและความชอบธรรมในการใช้ความรุนแรง

I. สถานภาพทางกฎหมายของมุสลิมชนกลุ่มน้อย

ประชาคมชาวมุสลิมในไทยนั้นมีความมั่นคงและได้รับการคุ้มครองในเชิงกฎหมายชัดเจนมากกว่าเพื่อนบ้าน สถานภาพและการดำรงอยู่ของมุสลิมจึงได้รบการรับรองจากรัฐ และไทยยังอนุญาตให้มีตำแหน่งดาโต๊ะยุติธรรมทำหน้าที่วินิจฉัยคดีแพ่งของมุสลิมอีกด้วย โดยมีอัตรากำลัง 9 อัตรา ครอบคลุมพื้นที่นราธิวาส ปัตตานี ยะลา และสตูล

อีกประการที่สำคัญคือการดำรงอยู่ของจุฬาราชมนตรี ที่ไม่ว่าใครจะว่าอย่างไรก็ตาม การมีอยู่ของสำนักงานจุฬาราชมนตรีทำให้ชาวมุสลิมมีช่องทางในการผลักดันนโยบายสาธารณะ และยังมีหน้าที่ให้คำปรึกษาแก่หน่วยงานรัฐอีกด้วย ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดคือการรักษาความสัมพันธ์กับพระมหากษัตริย์ซึ่งทำให้สถานภาพของชาวมุสลิมมั่นคงมากขึ้นไปด้วย ดังเช่นปรากฏเป็นพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 ที่เสด็จเปิดงานเมาลิดกลางแห่งประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง หรือการพระราชทานรางวัลแก่ผู้ชนะการทดสอบการอัญเชิญคัมภีร์อัลกุรอานระดับประเทศ และการสืบสานพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ในการแปลพระมหาคัมภีร์อัลกุรอานเป็นไทย

ด้วยพระราชกรณียกิจและความสำคัญของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 นี้ ในช่วงที่ไทยได้เปิดการเจรจาสันติสุขร่วมกับกลุ่ม มาราปตานี (MARA Patani) สุกรี ฮารี หัวหน้ากลุ่มคณะฝ่ายมาราปตานีได้ระบุกับ BBC ไทยเมื่อปี 2017 ว่า รัชกาลที่ 10 ทรงมีบทบาทสำคัญในการแก้ปัญหาชายแดนภาคใต้ ถ้ารัฐบาลเป็นอย่างนี้ ไม่มีทางที่จะแก้ปัญหาได้ นอกจากรัชกาลที่ 10 พระองค์เดียวที่จะแก้ปัญหาให้สำเร็จโดยเร็วที่สุด นอกจกานี้ชนมุสลิมไม่มีปัญหาเรื่องการมีตัวแทน เพราะมีนักการเมืองที่เป็นมุสลิมหลายท่านและมีการกำหนดโควต้าที่นั่งให้ในวุฒิสภา รวมไปถึงการมีสิทธิขั้นพื้นฐานและมีสถานะพลเมืองเทียบเท่าคนไทยทุกประการ

เหตุผลทั้งหมดในเชิงโครงสร้างนี้ ได้ทำให้คนมุสลิมต่างมีความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของชาติไทย

II. มุมมองของรัฐที่มีต่อมุสลิมชนกลุ่มน้อย

ไทยมองกลุ่มชนมุสลิมอย่างเป็นมิตรมากกว่าและยอมรับอัตลักษณ์มากกว่า ถึงแม้จะเคยเกิดเหตุการณ์กรณีตากใบขึ้น แต่หลังจากการรัฐประหาร พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรีขณะนั้นได้เดินทางมากล่าวคำขอโทษต่อชาวมุสลิมที่ปัตตานีในวันที่ 2 พฤศจิกายน 2549 ว่า

ผู้นำชุมชนได้ขอร้องผมว่าให้กล่าวคำขอโทษต่อกรณีที่เกิดขึ้นที่อำเภอตากใบ โดยธรรมเนียมของคนมุสลิมในช่วงที่ออกจากการถือศีลอดนั้น ต้องมีการขอโทษและให้อภัยกัน ผมก็ได้ขอโทษแทนรัฐบาลชุดที่แล้ว และในฐานะที่เป็นผู้นำของผู้บริหารในรัฐบาลปัจจุบันก็ขอโทษในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น… ผมขอโทษ ผมเคยเป็น ผบ.ทบ. มาก่อน และเคยพยายามคัดค้านการเปลี่ยนแปลงนโยบายของรัฐบาลชุดที่แล้ว แต่ไม่เป็นผล ถือว่าผมมีส่วนผิดด้วย ที่คัดค้านการยุบ ศอ.บต. ไม่สำเร็จ แต่วันนี้ พล.อ.สนธิ มาทำงานร่วมกัน น่าจะไม่มีปัญหาในทุกเรื่อง เราจะหาทางแก้ไขจากง่ายไปหายาก จากเล็กไปหาใหญ่

นอกจากนี้ยังมีการปรับเปลี่ยนปฏิสัมพันธ์เพื่อพยายามแสดงให้เห็นว่าไทยไม่ปฏิเสธคนมุสลิม และใช้วิธีการอย่างสันติมากขึ้นในการเจรจา และกลุ่มประชาสังคมยังช่วยผลักดันด้วยกระบวนการพูดคุยสันติภาพมาอย่างต่อเนื่องอีกด้วย

III. อิทธิพลของพุทธชาตินิยมและความชอบธรรมในการใช้ความรุนแรง

กระแสของพุทธชาตินิยมในไทยนั้นไม่ได้มีความรุนแรงเหมือนประเทศเพื่อนบ้าน และคนไทยทั่วไปก็ไม่ได้มีความรู้สึกต่อต้านคนมุสลิม ถึงแม้จะมีกลุ่มที่พยายามผลักดันกฎหมายหรือผลักดันแนวคิดที่ไปในทางต่อต้านคนมุสลิม แต่คนกลุ่มนี้ก็ไม่ได้มีอิทธิพลและไม่ได้รับการตอบรับ และองค์กรพุทธสายสันติก็มีบทบาทนำมากกว่าด้วย

จากเหตุผลทั้งสามข้อนี้ ทำให้คนไทยส่วนใหญ่สามารถดำรงอยู่กับคนมุสลิมกลุ่มน้อยได้อย่างกลมเกลียวไม่มีปัญหาต่อกัน และนอกจากนี้กระบวนการสันติภาพก็ยังสามารถดำเนินต่อไปได้ โดยที่ตอนนี้ยังไม่มีประเด็นน่ากังวลอะไรมากมายนัก

อ้างอิง :

[1] สรุปความจากเอกรินทร์ ต่วนศิริ และอันวาร์ กอมะ, มุสลิมชนกลุ่มน้อยภายใต้รัฐเมียนมาและรัฐไทย (ปัตตานี: คณะรัฐศษสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี, 2564).