‘อยุธยา ยุทธการ’ เกมอำนาจเมืองท่าขุมทองโลก ตอนที่ 3

บทความโดย นายปฎิพล อภิญญาณกุล

สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ครองราชย์มาได้ 25 ปี ช่วงระหว่างตลอดการครองราชย์ก็ได้บั่นทอนกำลังของกลุ่มขุนนางข้าราชการฝ่ายปกครอง ไม่ให้มีอำนาจสะสมจนสามารถก่อการแข็งข้อได้ ซึ่งพระองค์มีมเหสีหลายองค์และมีพระราชโอรสหลายองค์

กษัตริย์สมัยก่อน ไม่ว่าจะเป็นกษัตริย์ชนชาติใด ล้วนแต่มีมเหสีหลายองค์ โดยมีการตัั้งตำแหน่งขึ้นมาเพื่อบอกถึงลำดับขั้นความสำคัญของมเหสี เช่น พระราชชายา อัครมเหสี พระมเหสี พระชายา พระสนมเอก ฯลฯ ถ้าเป็นประเทศจีนสมัยฮ่องเต้ราชวงศ์ ภรรยาฮ่องเต้ก็มีชื่อตำแหน่งเป็น ฮองเฮา หวงกุ้ยเฟย กุ้ยเฟย เฟย ผิน ฯลฯ

ในอยุธยาสมัยก่อนนั้นยังไม่มีระเบียบหรือกฎหมายเกี่ยวกับการสืบราชสมบัติอย่างชัดเจน ดังนั้นจะใช้ยศตำแหน่งเป็นตัวกำหนดความสำคัญหรือระดับของบุคคล / ลูกชาย ลูกสาว หรือพระราชโอรส พระราชธิดา ที่เกิดจากภรรยาระดับพระราชชายา หรือ อัครมเหสี จะมียศ “เจ้าฟ้า” เป็นคำนำหน้า ส่วนลูกที่เกิดจากภรรยาระดับชั้นรองลงมาจะมียศเป็น “พระ” เท่านั้น เช่น เจ้าฟ้าไชย เป็นพระราชโอรสของแม่ที่มาจากตำแหน่งพระราชชายา , พระนารายณ์ราชกุมาร พระราชกัลยาณี เป็นพระโอรสของแม่ที่มาจากตำแหน่งพระมเหสี

ครั้นเมื่อสมเด็จพระเจ้าปราสาททองทรงพระประชวรหนัก พระองค์ไม่ได้ตัดสินใจมอบราชสมบัติให้ใคร เจ้าฟ้าไชยซึ่งถือสิทธิ์การเป็นพระราชโอรสองค์ใหญ่ และยังได้ “พระแสงขรรค์ชัยศรี” อยู่ในครอบครอง จึงถือเป็นสิทธิ์ขาดต่อราชสมบัตินั้น / อันการสืบราชสมบัติที่ผ่าน ๆ มา บางครั้งก็ตกแก่น้องชาย บางครั้งก็ตกแก่ลูกชาย แสดงให้เห็นว่าทั้งน้องชายกษัตริย์ และทั้งลูกชายโดยตรงหรือโดยอ้อมของกษัตริย์ ล้วนแต่มีสิทธิทั้งนั้น ขึ้นอยู่กับใครจะกุมราชสำนักส่วนใหญ่หรือทั้งหมดไว้ได้ดีกว่ากัน

เดี๋ยวก่อนจะไปต่อในเรื่องราวถัดไป พอเขียนมาถึง “พระแสงขรรค์ชัยศรี” จึงชวนให้น่าสนใจเพิ่มเติม

พระแสงขรรค์ชัยศรี คือ 1 ใน 5 ของเครื่องราชกกุธภัณฑ์ อันเป็นเครื่องใช้สำหรับพระบรมราชาภิเษกเพื่อแสดงความเป็นพระราชาธิบดี เครื่องราชกกุธภัณฑ์มีอยู่ 5 อย่างคือ พระพิชัยมงกุฎ พระแสงขรรค์ศรีชัย ธารพระกร วาลวิชนี และฉลองพระบาทเชิงงอน แต่ในที่นี้จะขอเขียนถึงเฉพาะ พระแสงขรรค์ชัยศรี อย่างเดียว

* (พระแสงขรรค์ชัยศรีในสมัยอยุธยาที่พระมหากษัตริย์ทรงใช้พระบรมราชาภิเษก “ไม่ใช่” พระแสงขรรค์ชัยศรีที่ราชวงศ์จักรีกรุงรัตนโกสินทร์รัชกาลที่ 110 ทรงใช้ประกอบพระราชพิธี)

“พระแสงขรรค์ชัยศรี” ปรากฎความขึ้นในจารึกวัดศรีชุม หรือจารึกสุโขทัยหลักที่ 2 เขียนบอกว่า เจ้าเมืองยโสธรปุระของขอม ซึ่งเป็นพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ได้ยกลูกสาวที่ชื่อนางสุขรมหาเทวี พร้อมกับขันชัยศรีให้แก่พ่อขุนผาเมือง มีการสันนิฐานว่า พ่อขุนผาเมืองได้นำเอาพระขรรค์ชัยศรีเล่มนั้นเดินทางเข้ามายังกรุงศรีอยุธยาในช่วงที่กำลังเริ่มต้นสถาปนาเมืองอยุธยาขึ้นมาใหม่ บ้างก็ว่าพ่อขุนผาเมืองเดินทางมายังละโว้ (ลพบุรี) และพระเจ้าอู่ทองที่สถาปนากรุงศรีอยุธยา เดิมก็คือคนละโว้แต่ไปสร้างอยุธยาแยกออกไปต่างหาก บ้างก็ว่าพ่อขุนผาเมืองคือคน ๆ เดียวกับพระเจ้าอู่ทอง .. แต่โดยรวมแล้วชนเผ่าสุโขทัย ละโว้ อยุธยา มีความเกี่ยวพันและอาจจะเกี่ยวดองกันในเครือญาติ

พระแสงขรรค์ชัยศรี เมื่อมาอยู่ในกรุงศรีอยุธยาจึงเป็นหนึ่งในตัวแทนสัญลักษณ์พระราชพิธีบรมราชาภิเษกของกรุงศรีอยุธยานับตั้งแต่นั้นมา – จนกระทั่งหลังสมัยพระเจ้าท้ายสระ (สมเด็จพระสรรเพชญที่ 9) ได้เกิดการชิงราชบัลลังก์กันวุ่นวายระหว่างน้องชายกษัตริย์ กับลูกกษัตริย์ หรือภาษาชาวบ้านคืออากับหลานทำศึกสงครามแย่งชิงกัน ฝ่ายหลานแอบเอาเครื่องราชกกุธภัณฑ์ที่ใช้ในพิธีพระราชาภิเษกหลบหนีไป เพื่อขัดขวางไม่ให้อาได้พระบรมราชาภิเษกเป็นกษัตริย์

เจ้าฟ้าพร ผู้เป็นอาจำขึ้นเป็นกษัตริย์โดยไม่มีเครื่องราชกกุธภัณฑ์ในพิธี .. เจ้าฟ้านเรนทร ผู้เป็นหลานหอบหิ้วเครื่องราชกกุธภัณฑ์ลงเรือหนีไป .. โชคร้ายที่เรือล่ม ทำเอาเครื่องราชกกุธภัณฑ์ตั้งแต่ตั้งกรุงศรีอยุธยาหายไปหมด

 ครั้งต่อมาไม่นานก็เกิดศึกใหญ่พม่า กรุงศรีอยุธยาแตกเป็นครั้งที่ 2 ทำให้ทรัพย์สมบัติมีค่าสูญหาย ทองคำตามยอดเจดีย์ถูกเผาหลอมละลาย ขนใส่เกวียนบรรทุกกลับพม่าไป หลักฐานทางประวัติศาสตร์หรือหนังสือตำราบันทึกต่าง ๆ มอดไหม้ไปกับเปลวไฟ

พอถึงสมัยสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก จึงพยายามรื้อฟื้นสมบัติเดิมสมัยกรุงศรีอยุธยาขึ้นมา รวมถึงศิลปะตำรับตำราเก่า ๆ รวม ๆ ข้อมูลต่าง ๆ เท่าที่พบเท่าที่ค้นหาหรือจดจำกันได้ มาเขียนเรียบเรียงใหม่ขึ้น เพื่อตกทอดเป็นมรดกให้ชนรุ่นหลังได้รับรู้

กรุงรัตนโกสินทร์ผ่านไป 2 ปี พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงมีความคิดที่จะสร้างพระแสงขรรค์ชัยศรี ขึ้นมาใหม่เพื่อใช้ในพระราชพิธีราชาภิเษกในครั้งที่ 2

* (พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก มีพระราชพิธีบรมราชาภิเษก 2 ครั้ง – ครั้งแรกเมื่อคราวตั้งกรุงรัตนโกสินทร์ พ.ศ.2325 เป็นพิธีเพียงแค่สังเขป , ครั้งที่ 2 คือในปี พ.ศ. 2328 เมื่อได้สร้างพระราชมณเฑียร เพื่อใช้ในการทำพิธีพระบรมราชาภิเษกเสร็จ)

แต่แล้วในช่วงเวลานั้น เจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ (แบน) [ซึ่งเป็นต้นตระกูล อภัยวงศ์] ดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการดูแลเมืองพระตะบองและเมืองเสียมราฐ ได้เข้าเฝ้าเอาพระแสงขรรค์ชัยศรี ที่มีอายุกว่า 1,000 ปี มาถวาย นับเป็นจังหวะอันมหัศจรรย์

เมื่อสืบย้อนอดีตของพระแสงขรรค์ชัยศรี เล่มใหม่ที่รัชกาลที่ 1 ได้รับ ความว่า เป็นพระแสงขรรค์ชัยศรีที่ถูกสร้างอยู่ในยุคสมัยของ พระเจ้าประทุมสุริย์วงษ์ ซึ่งเป็นกษัตริย์ในตำนานแห่งนครวัด นครธม ราชอาณาจักรขอม อันเป็นยุคสมัยเดียวกับพระร่วง

ทั้งหมดเป็นตำนานที่เล่าขานบันทึก ยังไม่มีนักประวัติศาสตร์โบราณคดีคนใดยืนยันชี้ชัดเรื่องพระเจ้าประทุมสุริย์วงษ์ และเรื่องพระร่วงส่วยน้ำลงไปอย่างชัดเจนได้

การเปลี่ยนแปลงและการสงครามต่าง ๆ ของแต่ละยุคสมัย ทำให้พระแสงขรรค์ชัยศรีเล่มยุคสมัยขอมนี้หายไป แล้วมีชาวประมงหาปลาในทะเลสาบเสียมราฐ (หรือเรียกอีกชื่อว่า โตนเลสาป) ทอดแหติดมันขึ้นมา จึงนำมามอบให้กับเจ้าเมือง

พระแสงขรรค์ชัยศรีที่พบอยู่ในสภาพดี ไม่มีผุกร่อน นับเป็นสิ่งอัศจรรย์ใจยิ่งนัก .. สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก จึงได้เชิญพระแสงขรรค์ชัยศรีเข้ามาไว้ในพระบรมมหาราชวัง .. ระหว่างทางที่พระแสงขรรค์ชัยศรีผ่านประตู ได้ปรากฏท้องฟ้าครึ้ม ฝนตกหนัก มีพายุ และเกิดอสุนีบาตลงมาที่ศาลาลูกขุน

ประตูที่เชิญพระแสงขรรค์ชัยศรีผ่าน มีประตูชั้นนอกและประตูชั้่นใน / ประตูชั้นนอกถูกตั้งนามว่า ประตูวิเศษไชยศรี ส่วนประตูชั้นในมีนามว่า ประตูพิมานไชยศรี

ครั้นต่อมา สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงได้ให้ช่างทำด้ามพระขรรค์หุ้มด้วยทองคำ ลงยาลวดลายเทพพนม และใช้สืบต่อกันมาจนถึงรัชกาลปัจจุบัน

กลับมายังเหตุการณ์ในสมัยอยุธยากันต่อ…

พระขรรค์ชัยศรี อันเป็นศาสตราวุธแสงความเป็นพระราชาธิบดีอยู่ในมือของเจ้าฟ้าไชย พร้อมกับฐานันดรยศเจ้าฟ้าและเป็นพระราชโอรสองค์โต .. เจ้าฟ้าไชยจึงขึ้นครองราชย์ได้พระนามว่า “สมเด็จเจ้าฟ้าไชย” แต่อยู่ได้เพียงประมาณ 9 เดือนเท่านั้น ถูกพระเจ้าอาคือพระศรีสุธรรมราชา กับพระอนุชาที่เป็นลูกคนละแม่คือพระนารายณ์ ร่วมกันชิงราชบัลลังก์

สถานการณ์ตอนปลายรัชกาลพระเจ้าปราสาททอง วิเคราะห์กันว่าอาจจะเกิดเป็นกลุ่มกำลังกัน 23 กลุ่ม กลุ่มหนึ่งคือกลุ่มเจ้าฟ้าไชย กลุ่มพระศรีสุธรรมราชา อีกกลุ่มเป็นของพระนารายณ์

อย่างที่ได้เขียนไป ตอนนั้นกฎหมายการสืบราชบัลลังก์สมัยอยุธยาก็ไม่ชัดเจน ลูกคนไหนจะเป็นก็ได้ น้องชายจะเป็นก็ได้ ไม่มีหลักเกณฑ์กำหนดออกมา ขึ้นอยู่กับว่าฝ่ายใดจะกุมสภาพราชสำนักได้

เมื่อสมเด็จเจ้าฟ้าไชยขึ้นเป็นกษัตริย์ คงจะเริ่มขจัดอำนาจฝ่ายตรงกันข้ามจนเกิดบาดหมางต่อกัน หรืออาจเกิดจากการขัดผลประโยชน์อะไรบางอย่าง พระนารายณ์จึงร่วมมือกับพระศรีสุธรรมราชา [พระปิตุลา-อา] ชิงราชบัลลังก์ กุมเอาสมเด็จเจ้าฟ้าไชยไปสำเร็จโทษ ณ วัดโคกพระยา แล้วพระศรีสุธรรมราชาขึ้นครองแผ่นดินเป็นกษัตริย์แทน

สมเด็จพระศรีสุธรรมราชา เป็นคนอ่อนแอแถมยังมีนิสัยกักขฬะ เมื่อขึ้นครองราชย์แล้วแทนที่จะเป็นผู้ปกครองควบคุมขุนนาง กลับกลายว่าพระองค์เป็นลูกไล่ของขุนนางที่มีอำนาจ

เอกสารของชาวฮอลันดาบันทึกให้เห็นว่า ขุนนางที่มีอำนาจคือออกญาจักรี – ออกญาจักรีได้ทำลายล้างพรรคพวกของสมเด็จเจ้าฟ้าไชย เพื่อไม่ให้กลับมาแก้แค้น จนเกิดการกระทบกระทั่งกับขุนนางฝ่ายของพระนารายณ์ ที่ดำรงตำแหน่งเป็นพระมหาอุปราช

เสือสองตัวไม่อาจอยู่ถ้ำเดียวกัน – ไม่นานขุนนางฝ่ายพระนารายณ์ถูกลอบสังหารและปล้นสะดม พระนารายณ์นับเป็นขุมกำลังเดียวที่เหลืออยู่ในเวลานั้น และยังเป็นขุมกำลังหลักแย่งชิงบัลลังก์สมเด็จเจ้าฟ้าไชย มาให้พระเจ้าอาศรีสุธรรมราชา ดังนั้นจึงมิอาจไม่กำจัด

สมเด็จพระศรีสุธรรมราชา อายุมากแล้วคงอยู่ได้ไม่นาน พระองค์นั้นไม่มีพระราชโอรส (ไม่แน่ใจว่ามีพระราชธิดาหรือไม่) ออกญาจักรีเสนาบดีคนสนิท แอบคาดหวังว่าตนเองต้องได้เป็นพระเจ้าแผ่นดินองค์ต่อไป จึงมีการวางแผนจะจับกุมพระนารายณ์ที่เป็นพระมหาอุปราช อันเป็นขวากหนามใหญ่ที่ต้องตัดให้สิ้นเสียก่อน

ข้อมูลอีกด้านหนึ่งบอกว่า สมเด็จพระศรีสุธรรมราชา เป็นคนมักมากมาตั้งแต่ยังหนุ่มจนแก่ชรา เมื่อเป็นกษัตริย์จึงเกิดความใจกล้าต้องการพระราชกัลยาณี ผู้มีศักดิ์เป็นพระขนิษฐา (น้องสาว) ของพระนารายณ์ ซึ่งมีรูปโฉมงดงาม สมเด็จพระศรีสุธรรมราชา จึงสั่งให้ขึ้นไปหาพระองค์โดยหวังจะร่วมสังวาสด้วย พระราชกัลยาณีตกใจหนีออกจากพระตำหนัก วิ่งไปหาพระนม (แม่นม)พระนมบอกให้ไปแอบในตู้พระสมุด (หนังสือ) แล้วสั่งบ่าวไพร่ยกตู้ออกไป ทำเหมือนกับกำลังขนย้ายสิ่งของ เพื่อหลบเลี่ยงสายตาคนอื่น ตู้หนังสือถูกยกตรงมาที่พระราชวังบวรสถานมงคล หรือเรียกกันง่าย ๆ ว่า “วังหน้า” อันเป็นที่ประทับของพระมหาอุปราช คือพระนารายณ์

* (เพิ่มเติมเกร็ดเล็กน้อย สำหรับท่านผู้อ่านที่ยังไม่ทราบหรืองง เกี่ยวกับคำว่า วังหน้า-วังหลัง

วังหน้า : เรียกแทนสถานที่อยู่อย่างเป็นทางการว่า พระราชวังบวรสถานมงคล ซึ่งจะตั้งอยู่ข้างหน้าพระราชวังหลวง , วังหน้าเป็นที่อยู่ของพระมหาอุปราช มีอำนาจราชศักดิ์รองจากพระมหากษัตริย์ ส่วนมากวังหน้าจะได้เป็นพระมหากษัตริย์องค์ต่อไป

วังหลัง : เรียกแทนสถานที่อยู่อย่างเป็นทางการว่า พระราชวังบวรสถานพิมุข (ต่างกันตรงคำว่า มงคลกับพิมุข) มักจะตั้งอยู่ทางด้านหลังของพระราชวังหลวง มีอำนาจเป็นอันดับ 3 รองจากพระมหากษัตริย์และรองจากพระมหาอุปราช)

เมื่อตู้หนังสือมาถึงพระราชวังบวรสถานมงคลหรือวังหน้า พระราชกัลยาณีรีบออกมาจากตู้ วิ่งไปหาพระนารายณ์ สะอื้นกรรแสงทูลเรื่องราวที่เกิดขึ้น

พระนารายณ์ ฟังแล้วทรงโทมนัสน้อยพระทัย ตรัสว่า “อนิจจาพระเจ้าอา เราว่าเสด็จพ่อสวรรคตแล้ว ก็ยังมีพระเจ้าอาที่เป็นเสมือนเสด็จพ่ออยู่ จะได้ปกป้องพระบรมวงศานุวงศ์ ควรหรือจะมาเป็นดังนี้ พระเจ้าอาปราศจากหิริโอตตัปปะแล้ว ไหนจะครองราชย์สมบัติเป็นยุติธรรมเล่า น่าจะเดือนร้อนถึงสมณชีพราหมณ์ อาณาประชาราษฎร์ ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินโดยแท้”

พระนารายณ์ทรงไตร่ตรองแน่วแน่ หวังเสี่ยงเอาบารมีเป็นที่พึ่ง จึงเรียกหาขุนนางฝ่ายพระองค์เข้ามาในพระราชวังบวรสถานมงคล แจ้งเรื่องราวที่เกิดขึ้นให้ฟังทุกประการ เหล่าขุนนางต่างเห็นพ้องต้องกันที่จะปลดและชิงบัลลังก์จากสมเด็จพระเจ้าศรีสุธรรมราชา – จากนั้นพระนารายณ์วางแผนเตรียมการร่วมกับกองกำลังอาสาชาวแขกเปอร์เซียเพื่อบุกไปยังพระราชวังหลวง

สงครามชิงบัลลังก์ครั้งนี้ กองทหารอาสาชาวเปอร์เซียนิกายชีอะห์มีบทบาทสูงมาก มีการวางแผนล่วงหน้าอย่างดี ด้วยการใช้จังหวะในงานเฉลิมฉลอง “พิธีตะเซยัต” (Taziyat) ซึ่งเป็นงานประจำปีที่ยิ่งใหญ่ของชาวมุสลิมในสยาม เป็นประเพณีรำลึกเหตุการณ์จำลองจากสงครามการสิ้นประชนม์ของอิหม่านฮุนเซ็นในอดีต

ในวันเริ่มงานพิธีตะเซยัต ผู้คนชนชาติเปอร์เซียและมุสลิมอื่น ๆ หลายร้อยหลายพันคนต่างพากันมาร่วมงานฉลองนี้ กลางท้องถนนเติมไปด้วยคนไทย มอญ ลาว จีน และพ่อค้าชาวต่างชาติอื่น ๆ พากันเฝ้าดูเฝ้าเดินตามอย่างคึกคัก

ในจำนวนผู้คนมากมายที่ร่วมพิธี ไม่มีใครแยกแยะออกว่าได้ว่า ใครคนไหนเป็นใคร ชาวเปอร์เซียคนไหนเป็นมุสลิมธรรมดา ชาวเปอร์เซียคนไหนเป็นทหารกองอาสาในสังกัดของพระนารายณ์

จุดหมายปลายทางของการแห่พิธีตะเซยัต อยู่ที่หน้าพระราชวังหลวง

โปรดติดตามตอนต่อไป ในตอนที่ 4

ติดตามอ่าน ‘อยุธยา ยุทธการ’ เกมอำนาจเมืองท่าขุมทองโลก ครบทุกตอนได้ที่นี่

อ้างอิง :

[1] พงศาวดารกรุงศรีอยุธยา. ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์
[2] พงศาวดารกรุงศรีอยุธยา. ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม)
[3] พงศาวดารกรุงศรีอยุธยา. ฉบับ วลิต
[4] ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 79 จดหมายเหตุวันวลิต – หอสมุดแห่งชาติ
[5] สำนักงานวิจัยแห่งชาติ (ว.ช) ภูมิรัฐศาสตร์กับความมั่นคงของประเทศไทย
[6] กรมศิลปากร. เอกสารของฮอลันดา สมัยอยุธยา
[7] กรมศิลปากร. ประชุมพงศาวดาร เล่ม 27 , เล่ม 34 , เล่ม 42
[8] กรมพระยาดำรงราชานุภาพ. พงศาวดารไทยรบพม่า
[9] จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. ย้อนรอยสายไหม
[10] มิวเซียมไทยแลนด์. (Museum Thailand) อยุธยาในบันทึกของสเปน
[11] นิธิ เอียวศรีวงศ์. การเมืองไทยในสมัยพระนารายณ์
[12] ลำจุล ฮวบเจริญ. เกร็ดพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา
[13] สถาปัตย์ เชื้อมงคล. สยามประกาศสงครามกับอังกฤษ 
[14] อานนท์ จิตรประภาส. การค้าและการเมืองในสมเด็จพระนารายณ์
[15] ศิลปวัฒนธรรม. ฉากแรกสัมพันธ์อยุธยา-โปรตุเกส การรับทูตตะวันตกครั้งแรกในอยุธยา
[16] นันทา สุตกุล. (แปล) เอกสารฮอลันดาสมัยกรุงศรีอยุธยา
[17] ภาณุดา วงศ์พรหม. พลิกแผ่นดิน จากใต้เงาปีกมหาอำนาจสู่อิสรภาพของประเทศในเอเซีย
[18] วชิรญาณ. จดหมายเหตุฟอร์บัง

TOP