สัจจะของโจรทิม ผู้ชนะใจรัชกาลที่ 5

มีเรื่องเล่าในหนังสือ “นิทานโบราณคดี” ซึ่งเป็นพระนิพนธ์ของ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้กล่าวถึงนักโทษคดีปล้นทรัพย์คนหนึ่งไว้อย่างน่าสนใจ เรื่องนี้เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2433 ซึ่งเป็นยุคที่สยามเริ่มมีกิจการไปรษณีย์ วันหนึ่งในระหว่างประชุมเสนาบดีสภาซึ่งวันนั้นมีราชการน้อย ในหลวง ร.5 ได้ตรัสว่าได้ทรงรับฎีกานักโทษทูลเกล้าฯ ถวายทางไปรษณีย์ฉบับหนึ่ง และทรงเห็นว่าเป็นเรื่องแปลก

ไปรษณีย์ฉบับนั้นเป็นของ “โจรทิม” ที่ได้ทูลเกล้าฯ ถวายฎีกา เพื่อขอพระราชทานอภัยโทษ

โจรทิมเป็นชาวเมืองอินทบุรี (จังหวัดสิงห์บุรี) เป็นนักโทษฉกรรจ์ที่ต้องโทษในคดีปล้นทรัพย์ ซึ่งในสมัยนั้นโทษจำคุกยังไม่มีการกำหนดระยะเวลา นักโทษที่ถูกจำคุกจะถูกจองจำไปตลอด จนกว่าจะมีการได้รับพระราชทานอภัยโทษ ซึ่งโจรทิมในขณะนั้นถูกจำคุกมาได้ 10 ปีแล้ว จึงได้ทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาทางไปรษณีย์ เพื่อขอพระราชทานอภัยโทษ และจะขอบวชตลอดชีวิต

ในหลวง ร.5 ได้โปรดให้อ่านฎีกาฉบับนั้นให้เสนาบดีฟัง โดยเนื้อความที่กราบบังคมทูลในฎีกามีอยู่ว่า นักโทษทิมตั้งแต่ได้รับโทษจำคุก พัศดีได้จัดให้ไปทำงานในกองจักสาน และได้ฝึกหัดฝีมือจนมีความชำนาญ ได้มีความตั้งใจว่าจะพัฒนาฝีมือให้ดีกว่าคนอื่น ๆ เพื่อที่จะทำสิ่งของทูลเกล้าฯ ถวายให้ทรงเห็นฝีมือ ถ้าทรงเห็นและโปรดของสิ่งนั้น นักโทษทิมจะขอพระราชทานอภัยโทษแล้วออกบวชตลอดชีวิต บัดนี้นักโทษทิมต้องโทษจำคุกมา 10 ปีแล้ว และได้ทำสิ่งของถวายจนสำเร็จแล้ว จึงขอพระราชทานทูลเกล้าฯ ถวาย ถ้าทรงโปรดฝีมือก็จะขอพระราชทานอภัยโทษ

และในท้ายฎีกานักโทษทิมยังให้คำสัญญาด้วยว่า ถ้าความที่กราบทูลเป็นความเท็จแม้เพียงข้อเดียวนักโทษทิมจะขอรับพระราชอาญาประหารชีวิต

ในอดีตการถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษนั้น ญาติ ๆ ของนักโทษจะเป็นผู้ทูลเกล้าฯ ถวาย แต่เมื่อในหลวง ร.5 ก่อตั้งกิจการไปรษณีย์ จึงทำให้นักโทษในคุกสามารถทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาทางไปรษณีย์ได้ด้วยตัวเอง ในส่วนของการพิจารณาอภัยโทษนั้น ในหลวง ร.5 ยังได้กำหนดหลักเกณฑ์สำหรับพิจารณาฎีกาเอาไว้ด้วยว่า จะต้องเป็นนักโทษที่มีความชอบพิเศษ หรือเป็นนักโทษที่ต้องโทษจำคุกมาได้ระยะตามเกณฑ์แล้ว จึงจะทรงพิจารณาฎีกานั้น ๆ

ซึ่งฎีกาของนักโทษทิมก็เข้าเงื่อนไข ที่จะได้รับพิจารณา ในหลวง ร.5 จึงดำรัสสั่งให้สอบสวนข้อเท็จจริงเรื่องนี้ และพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นนเรศวรฤทธิ์ ผู้บัญชาการกระทรวงพระนครบาลก็ได้ยืนยันว่า คำกราบบังคมทูลของนักโทษทิมตามฎีกานั้น เป็นความจริงทุกประการ พร้อมทั้งได้นำกาถังน้ำร้อนที่นักโทษทิมบรรจงสานมาถวาย

เมื่อในหลวง ร.5 ทอดพระเนตรกาถังน้ำร้อนที่สานขึ้นด้วยฝีมืออันประณีตแล้ว จึงมีพระราชดำรัสว่า “มันพูดจริง ฉันก็จะให้มันเห็นผลความจริง”

นักโทษทิมจึงได้รับพระราชทานอภัยโทษ แล้วถูกส่งตัวไปบวชเป็นนาคหลวง บวชพระราชทานและจำพรรษาที่วัดพระเชตุพน กระทั่งผ่านไป 2 พรรษา จึงได้ขอย้ายไปจำพรรษาที่วัดในเมืองอินทร์บุรี เนื่องจากพระทิมอาพาธเป็นโรคเหน็บชา และมีญาติโยมอยู่ในเมืองนั้น เจ็บไข้จะได้พอให้เขาอุปการะ

แล้วข่าวคราวของพระทิมก็เงียบหาย กระทั่งในปี พ.ศ. 2436 เกิดเหตุการณ์ ร.ศ.112 ฝรั่งเศสส่งเรือรบมาปิดปากอ่าวสยาม บ้านเมืองเกิดความตึงเครียด และสุ่มเสี่ยงที่จะสูญเสียเอกราช พระทิมได้เดินทางจากเมืองอินทร์บุรี มาเฝ้ากรมหมื่นดำรงราชานุภาพที่วังและทูลว่า…

“อาตมภาพอยู่ที่เมืองอินทร์ได้ยินว่ามีศึกฝรั่งเศสมาติดเมือง อาตมภาพคิดถึงพระเดชพระคุณของพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งได้ทรงพระกรุณาแก่อาตมภาพมาแต่ก่อน เมื่ออาตมภาพยังเป็นหนุ่มได้เคยเรียนคาถาอาคมสำหรับต่อสู้ศัตรูอยู่บ้าง จึงลงมาเฝ้าหมายจะถวายพระพร ลาสึกไปอาสารบฝรั่งเศส สนองพระเดชพระคุณพระเจ้าอยู่หัว เมื่อเสร็จการรบพุ่งแล้วจะกลับบวชอีกอย่างเดิม”

กรมหมื่นดำรงราชานุภาพได้ฟังเช่นนั้นก็ “นึกรักใจพระทิม” และได้บอกกับพระทิมว่า ท่านเป็นนาคหลวงของพระเจ้าอยู่หัว ให้รอฟังข่าวที่วังนี้อยู่ก่อน กรมหมื่นดำรงราชานุภาพจะนำความไปกราบบังคมทูล

เมื่อในหลวง ร.5 ทรงทราบก็พอพระราชหฤทัย พร้อมตรัสชมว่า “มนุษย์เรานี้ถึงตกต่ำเป็นโจรผู้ร้ายแล้ว ถ้ากลับใจได้จริง ๆ ก็ยังเป็นคนดีได้” และโปรดให้เชิญกระแสรับสั่งไปบอกพระทิมว่า ความกตัญญูคิดจะสนองพระเดชพระคุณนั้น ทรงขอบใจนัก แต่การรบพุ่งในเวลานี้ใช้แต่คนฉกรรจ์ที่ยังมีกำลังมาก พระทิมอายุเกินขนาดเสียแล้ว ให้บวชเอาบุญต่อไปเถิด

เมื่อได้รับพระราชทานกระแสรับสั่งแล้ว พระทิมจึงได้ลากลับไปยังเมืองอินทร์บุรี และจำพรรษาอยู่ที่นั่นจนกระทั่งมรณภาพในอีกหลายปีต่อมา เจ้าเมืองอินทร์บุรีเห็นว่าพระเจ้าอยู่หัวโปรดบวชพระราชทานให้ และกรมหมื่นดำรงราชานุภาพได้สั่งให้อุปการะ จึงได้ปรึกษากับบรรดาญาติให้รอการปลงศพพระทิมไว้ก่อน จากนั้นจึงทำหนังสือใบบอกแจ้งมายังเสนาบดีมหาดไทยให้ทรงทราบ

เมื่อความทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท ในหลวง ร.5 ได้มีพระราชดำรัสว่า พระทิมเป็นคนซื่อสัตย์ ถึงไม่ทรงรู้จักตัว แต่ก็ได้ทรงอุปการะมาแต่ครั้งก่อน จึงโปรดเกล้าฯ ให้กรมหมื่นดำรงราชานุภาพเบิกศิลาหน้าเพลิงกับผ้าสำหรับชักบังสุกุลของหลวง ส่งไปพระราชทานเพลิงศพ

งานศพพระทิม หรืออดีตโจรทิม จึงเป็นงานศพที่ยิ่งใหญ่ของเมืองอินทร์บุรี มีข้าหลวงพระราชทานเพลิง มีกรมการเมืองไปช่วยงาน และได้รับพระราชทานสัญญาบัตรเป็นเกียรติยศใหญ่โต

พระทิม แม้จะเริ่มต้นจากการเป็นโจรมาก่อน แต่เมื่อได้รับโทษแล้วก็รู้สำนึก ตั้งใจฝึกฝนวิชาความรู้จนได้พิสูจน์ตัวเองเมื่อโอกาสมาถึง อีกทั้งยังเป็นคนกตัญญูรู้คุณ มุ่งมั่นตั้งใจที่จะสนองพระเดชพระคุณพระเจ้าอยู่หัว และเป็นคนมีสัจจะ พูดจริง จึงได้เห็นผลของความจริง นั่นคืออิสรภาพที่ได้รับ และเกียรติยศที่ยิ่งใหญ่ในบั้นปลายของชีวิต

อ้างอิง :

[1] นริศรานุวัดติวงศ์, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้า กรมพระยา, 2406-2490 และ ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยา, 2405-2486. สาส์นสมเด็จ (ภาค 42). [ม.ป.ท.]: โรงพิมพ์รุ่งเรืองธรรม; 2501.

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า